เรามักจะได้ยินคำถามอยู่บ่อยๆ ว่า “ทำบุญอย่างไรถึงได้บุญ” และบุญ คืออะไร เฉกเช่นการใส่บาตรให้พระสงฆ์ในทุกๆ เช้า เราได้บุญจริงหรือ? ขณะเดียวกันมีคำถามถึงเรื่องนรก-สวรรค์ รวมไปถึงการทุ่มเงินทำบุญมากๆ เหมือนดั่งที่ผู้คนเชื่อมั่นตามคำสอนของธรรมกายที่ว่า “บุญนิยม” จะมีโอกาสเข้าสู่ “นิพพาน” ซึ่งความจริง “นิพพาน” ในพุทธศาสนาแท้จริงแล้วคืออะไร และเราทุกคนจะก้าวสู่ “นิพพาน” ได้ด้วยวิธีใด
ที่สำคัญความวุ่นวายของวงการพระสงฆ์ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและปรากฏให้เห็นในสื่อต่างๆ นั้น “การปฏิรูปศาสนา” ใช่ทางออกหรือไม่? ทีม Special Scoop มีโอกาสสัมภาษณ์ พระ ดร.อนิลมาน ธมฺมสากิโย ผู้ช่วยเลขานุการ สมเด็จพระสังฆราช วัดบวรนิเวศวิหาร ผู้มีบทบาททางวิชาการด้านพระพุทธศาสนาและมนุษยวิทยา และดำรงตำแหน่งรองอธิการบดีฝ่ายกิจการต่างประเทศ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ได้เทศนาธรรมไว้ดังนี้
นรก-สวรรค์อยู่ที่ไหน
ตามหลักศาสนาพุทธที่ว่า “นรก-สวรรค์” มีจริงหรือไม่นั้น เป็นหลักคำสอนและความเชื่อของทุกศาสนาที่นำมาสอนให้คนเกรงกลัว โดยให้รางวัลต่อคนที่ทำ “ดี” ด้วย “สวรรค์” และขู่คนที่ทำ “บาป” ด้วยการ “ตกนรก”
แต่พระพุทธเจ้าไม่ได้บอกอย่างนั้น ตามพระไตรปิฎกที่พระพุทธเจ้าท่านสอนให้คนเชื่อในเรื่องนรก-สวรรค์ ที่อธิบายถึงความเป็นจริงที่ว่า นรก คือ การที่ตาหูจมูกลิ้นกายใจซึ่งหมายถึงสัมผัสทั้ง 6 ได้เห็นรูป ฟังเสียง ได้กลิ่น ลิ้มรส และสัมผัส แล้วมีปฏิกิริยาว่า “ชอบ” หรือ “ไม่ชอบ” ถ้าเห็นแล้วชอบนั่นคือ “สวรรค์” ถ้าไม่ชอบคือ “นรก”
ในวิธีการง่ายๆ ทุกวันนี้พวกเราตื่นเช้ามาทำมาหากิน ทำงาน จนถึงเข้านอน นี่คือวัฏจักรชีวิตของเรา แต่บางครั้งเราอาจไปสนุกสนานไปเที่ยวที่นู่นที่นี่ บางครั้งมีปัญหาชีวิตเศร้า ซึ่งวนเวียนอยู่ตรงนี้ นรก - สวรรค์ มันก็แค่นั้น ถ้าเราเปรียบเทียบชีวิตของเราตั้งแต่ตื่นเช้าจนถึงเข้านอน มีสีสันเข้ามามากมาย ดังนั้นนรก-สวรรค์ คือสีสันของชีวิตที่มีเข้ามา
“สวรรค์ คือสิ่งที่เราชอบ สิ่งที่ไม่ถูกใจ คือนรก ก็แค่นั้นเอง คือ สิ่งที่เรามีอยู่ทุกวัน”
แต่สิ่งที่พระพุทธเจ้าสอนก็คือ เมื่อเราเจอแบบนี้จะแก้ปัญหาอย่างไร และจะหลุดจากวงจรอุบาทว์นี้ได้อย่างไร นี่คือ เป้าหมายพุทธศาสนา จะทำชีวิตให้มีความสุขโดยไปเที่ยวตลอด หรือสุดท้ายก็ต้องกลับมาเจอความทุกข์วนเวียนอยู่อย่างนี้ ไปเที่ยวมีความสุข เหมือนสวรรค์ แต่เมื่อมีโจรมาล้วงพาสปอร์ต กินอาหารผิดท้องเสีย ความทุกข์ก็เกิด นรกก็เกิดแล้ว
นี่คือ การสอนนรก-สวรรค์ จากวิถีชีวิตของเรา
จะเห็นว่ามีวัดต่างๆ ที่สอนเรื่องนรก-สวรรค์ในระดับของชาวบ้านนั้นก็ดี แต่เราต้องการแค่ขั้นนั้นหรือ พุทธศาสนาไม่มีเป้าหมายเพียงนรก-สวรรค์เท่านั้น แต่ต้องออกจากกิเลส คือ นิพพาน นั่นเอง
หนทางสู่นิพพาน
ดังนั้น ความหมายของการเข้าถึง “นิพพาน” คือ ไม่ติดอะไรแล้ว และเลยคำว่า ดีหรือไม่ดีไปแล้ว เราทำลายเหตุหมดแล้ว ตราบใดที่เรายังวนเวียนอยู่กับคำว่า ดี-ไม่ดี ซึ่งมาจากองค์ความรู้ วัฒนธรรมองค์กร ที่เป็นกิเลสทั้งนั้น ส่วนนิพพานของธรรมกายกับของพระพุทธเจ้านั้นไม่เหมือนกันเลย เพราะไม่ได้เป็นสถานที่ หรือเป็นการซื้อบุญแต่ประการใด แต่หมายถึงเท่ากับศูนย์ ไม่มีเหตุ ไม่มีความดีความชั่วใดๆ ทั้งสิ้น
พระ ดร.อนิลมาน ขยายความในเรื่องของนิพพาน โดยชี้ให้เห็น “เทียน” เมื่อจุดเทียนแล้วความร้อนมาจากไหน และเมื่อดับเทียนความร้อนและเปลวเทียนไปไหน ซึ่งขณะนั้นยังมีไขเทียน ไส้เทียน ออกซิเจนจะติดไฟได้ก็ต้องมีไม้ขีดไฟ และเมื่อเทียน ก็อยู่ส่วนของเทียน ทุกอย่างจะเกิดขึ้นได้เพราะองค์ประกอบ หากองค์ประกอบขาดหายไปไฟก็ดับ นั่นคือ นิพพาน ซึ่งไม่มีอัตตา หรืออนัตตา ก็คือความไม่มีเหตุและไม่มีผล
ดังนั้นนิพพาน คือการแยกกันอยู่ก็ไม่มีอะไรที่จะมาทำให้จุดได้ มันก็เท่านั้นเอง
สำหรับวิธีการตัดกิเลสตามหลักธรรมะแบบง่ายๆ ที่เรามักจะท่องกันอยู่นั้น ก็คือ “นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ” นั่นหากเราเข้าใจในแก่นแล้วและปฏิบัติได้ก็จะทำให้เราพบแต่ความสุข
นะโม แปลว่า นอบน้อม ตัสสะ คือพระผู้มีพระภาคเจ้า ซึ่งหมายถึง การนึกถึงคนอื่น ให้คนอื่น นึกถึงคนที่อยู่ในสังคมด้วยการยอมรับอีกชีวิตหนึ่ง นี่คือกรุณา ไม่เห็นแก่ตัว และคือข้อที่ทำให้ตัดโลกแล้ว
ภะคะวะโต อะระหะโต …..แปลว่า ฆ่าศัตรู คือ ฆ่ากิเลส โลภ โกรธ หลง ที่อยู่ในใจ ต้องฆ่าให้ได้
สัมมาสัมพุทธัสสะ คือ ปัญญา รู้ความจริงด้วยตัวของเราเอง ในสิ่งที่ถูกต้อง
“ทำบุญ-กรวดน้ำ” ได้บุญจริง?
พระ ดร.อนิลมาน กล่าวถึงวิธีการทำบุญที่ถูกต้องตามหลักศาสนาว่า ถ้าจะทำบุญแล้วให้ได้ “บุญ”
อันดับแรกต้องรู้ว่าบุญแปลว่าอะไร โดยในภาษาบาลี คือ การชำระล้างจิตใจโดยใช้ธรรมะ ทำให้จิตใจปราศจากกิเลส โลภ โกรธ หลง และความอยากได้ ซึ่งเมื่อเราสามารถลดความโลภ โกรธ หลงได้ นั่นคือบุญ ดังนั้นการทำบุญ คือ การที่เราลดจากกิเลสทั้งปวง
ดังนั้นการใส่บาตรที่ถูกต้อง ต้องไม่ใส่เพราะ “หวัง” หรือต้องการสิ่งตอบแทน แต่ใส่เพราะเห็นความสำคัญของพระ อยากให้พระมีสุขภาพดี อยาก “ให้” พระมีอาหารฉัน นั่นคือ “การแบ่งปัน” ซึ่งจะเป็นการลดกิเลส คือ ความโลภ นั่นเอง
“ทุกวันนี้เวลาคนใส่บาตรจะอธิษฐานแล้วอธิษฐานอีก ใส่เสร็จก็รอขอพรจากพระด้วย ซึ่งสมัยก่อนที่อาตมาเป็นเณรไม่ได้เป็นแบบนี้ กลายเป็นว่าการลงทุน 30 บาทนั้น ยิ่งกลายเป็นความโลภ ต้องการจะขออานิสงส์ที่ได้จากการใส่บาตรทุกๆ อย่าง ซึ่งการที่ไม่เข้าใจการทำบุญ กลับยิ่งเพิ่มกิเลส เพิ่มความโลภ ความหลงมากยิ่งขึ้น”
ดังนั้นหากทุกคนเข้าใจ และต้องการพรจากพระคืออยากได้อายุ วรรณะ สุขขะ พละ ทุกคนก็สร้างเหตุแห่งการได้มาด้วยสิ่งเหล่านั้น ได้ด้วยตัวเอง ไม่ต้องมาขอจากพระ เพราะพระมีหน้าที่ตักเตือน ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้นได้เพราะมีเหตุ และมีผล เท่านั้น
ส่วนการกรวดน้ำหลังใส่บาตรนั้น เพราะเราใช้น้ำเป็นสื่อสัญลักษณ์ในการอุทิศส่วนกุศลให้คนที่ล่วงลับไปแล้ว ซึ่งอันที่จริงกุศลจะไปถึงแค่กลุ่มๆ เดียว คือ เปรตที่รอรับ และจะได้รับอนุโมทนานั้น ซึ่งการใส่บาตรที่ถูกต้องไม่ต้องไปหวังผล เพราะเป็นการลดโลภ และเป็นการให้ที่ลดกิเลส
นอกจากนี้ยังมีกิเสสตัวที่ 2 คือ ความโกรธ ที่เราจะต้องรู้จักการให้อภัย ซึ่งเป็นสิ่งที่ยากขึ้นกว่าการให้ของ เพราะความจริงการให้อภัยไม่ได้เป็นการให้คนอื่น แต่เป็นการให้กับตัวเอง เพราะอภัยในความเป็นจริงเกิดจากเราสร้างเงื่อนไขหรือสิ่งแวดล้อมของตัวตนเพื่อให้เราปลอดภัยไม่ต้องพบกับอันตรายต่างๆ
ดั่งที่พระพุทธเจ้าบอกไว้ว่า การให้ธรรมะ คือ การให้ปัญญา ชนะการให้ทั้งปวง เพราะถ้าเรามีปัญญา ความโลภ โกรธ หลงทั้งปวงนี้เราก็สามารถฆ่าได้
อย่างไรก็ตาม พิธีกรรมเป็นเพียงกุศโลบายของบรรพบุรุษเพื่อให้มีการเตรียมพร้อม แต่หากเข้าใจในแก่นแท้จริงๆ ก็ไม่ต้องมีพิธีกรรมก็ได้ สำหรับคนที่ไม่เข้าใจ ทั้งจากการเตรียมการที่ทำให้ต้องปฏิบัติตามว่า ในพิธีกรรมต้องทำอย่างไรบ้าง ก็ไม่ใช่ว่าพิธีกรรมจะไม่สำคัญเลย แต่เพราะเป็นกุศโลบายของบรรพบุรุษที่ให้ไว้ สำหรับคนที่หยาบ คนที่ไม่เข้าใจ แต่ถ้าเราเข้าใจทั้งหมดนั้นก็ไม่จำเป็น
การทำบุญอุทิศให้คนตาย
ส่วนความเชื่อของการอุทิศบุญไปให้กับคนที่ล่วงลับไปแล้วนั้น พระ ดร.อนิลมาน กล่าวว่า อันที่จริงก็ไม่สามารถส่งไปได้ ซึ่งเป็นเรื่องของคนที่ยังมีชีวิตอยู่ทำให้กับคนตาย แต่ความเป็นจริงเป็นเพราะคนที่มีชีวิตอยู่ต้องการจะเติมเต็มในสิ่งที่เศร้าโศกเสียใจ
ดังนั้นการทำบุญที่ถูกต้อง ความจริงก็คือ ความกตัญญู คือ ระลึกถึงความดีและรู้ในบุญคุณในเหตุที่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้วได้ทำให้กับเรา หรือ “การรับรู้” และ “ตอบแทน” นั่นเอง
ซึ่งเป็นไปตามหลักของพระพุทธเจ้าที่กล่าวว่า “ศาสนา” คือ ความเป็นตัวตนของเรา ที่ไม่ได้เกิดขึ้นมาด้วยตัวตนของตัวเอง แต่มีเหตุแห่งปัจจัยหลายๆ อย่าง คือ อะไรที่ทำให้เรามีตัวตนตรงนี้
ปฏิรูปศาสนาแก้ที่ปลายเหตุ
พระ ดร.อนิลมาน ให้มุมมองในเรื่องการปฏิรูปศาสนาว่า เป็นกฎหมายเรื่องของทางโลกที่สร้างขึ้นมา เมื่อนำมาใช้แล้วจะช่วยได้ในระดับหนึ่ง สักระยะจะมีวิธีการอื่นๆ เข้ามาอีก นั่นเพราะสังคมเปลี่ยนไปทุกวัน มีสิ่งใหม่เกิดขึ้นทุกๆ วัน จึงทำให้กฎหมายตามไม่ทัน ซึ่งในปัจจุบันเราจะเห็นได้ว่ามีเรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาเลย ทั้งไซเบอร์ การุณฆาตหรืออุ้มบุญ แล้วมีกฎหมายฉบับไหนที่ตามทันบ้าง
การปฏิรูปศาสนาให้มีกฎหมายสงฆ์นั้น เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ โดยสร้างกรอบมาตรฐานขึ้นมาอีก 1 กรอบ เพื่อจะรักษาศาสนาไว้
ทั้งนี้เชื่อว่าปฏิรูปศาสนาทำได้ แต่ก็แก้ปัญหาไม่ได้ยั่งยืน เพราะการที่จะมีกฎหมายให้พระแสดงทรัพย์สินนั้นคิดว่าไม่มีประโยชน์ เพราะถ้าเราจะศึกษาจากการดำเนินชีวิตของฆราวาสในทุกวันนี้ ก็อยู่ด้วยกฎหมายแต่เราก็ไม่เคารพกฎหมายกัน เพราะแม้สังคมพยายามจะสร้างกฎหมาย แต่คนก็หาวิธีการเลี่ยงบาลีกันไปเรื่อย
นี่คือส่วนของคน แต่ของพระก็ไม่แตกต่างกัน เพราะพระก็มีกิเลสมีชีวิตไม่ต่างกับคนทั่วไป
ดังนั้นการที่พระอยู่ได้ นั่นคือ “วินัยไม่ใช่เพราะกฎหมาย” ซึ่งหมายถึง ศีล 227 ข้อ ซึ่งจะไม่มีกฎหมายข้อไหนที่บอกว่าพระต้องสวมจีวร และมีศีลแต่ละข้อที่กำหนดว่าห่มจีวรแบบไหน ในวัด หรืออยู่นอกวัดอย่างไรบ้าง
สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่กฎหมาย แต่เป็นวิธีการที่พระพุทธเจ้าสร้างกรอบไว้ให้กฎทางสังคม เพื่อจะเป็นที่เคารพศรัทธาแค่นั้นเอง และทำให้เป็นพระปกติ ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของประชาชน ไม่ใช่ห่มจีวรแล้วมีสเกิร์ตอยู่ข้างในนั้นไม่ได้แล้วใครจะศรัทธา
ทุกวันนี้ก็เห็นแล้วว่าที่มีศีล 227 ข้อ และพระราชบัญญัติสงฆ์ที่มีอีกตั้งกว่า 40 - 50 ข้อแล้วเป็นอย่างไรบ้าง ดังนั้นจึงต้องมาดูที่การศึกษาของพระ นับตั้งแต่การบวชของพระที่เป็นลูกหลานของพวกเรานั้น มีทั้งคนดีและคนไม่ดี และเมื่อเข้ามาห่มผ้าเหลืองแล้วก็ไม่ได้ปฏิบัติตัวตามวินัยสงฆ์
กระบวนการที่จะไปดัดแปลงขัดเกลาตรงนี้ยังไม่มี ในกรณีการสอนนักธรรมตรี โท เอก ก็สอนเพื่อใบปริญญา ที่เป็นกระดาษแผ่นหนึ่ง ไม่ได้สอนเพื่อเข้าใจ เวลาสอนท่องจำมาก็นำตรงนั้นมาพูดกับคนอื่นต่อ เปรียญก็เช่นเดียวกัน ทำให้กระบวนการตรงนี้ไม่ได้สะท้อนออกมา
ดั่งที่สมเด็จพระสังฆราชฯ ได้ตรัสไว้ว่า ในเรื่องการศึกษาเพื่อความเป็นคนที่สมบูรณ์ ว่า “มนุษย์นิกรทั้งเด็กและผู้ใหญ่มักรับคำสอนทางธรรมจรรยาไปบรรจุไว้ในสมองกันเสียหมด ไม่นำไปบรรจุไว้ที่กาย วาจา และดวงใจ เมื่อบรรจุผิดที่ฉะนี้ คำสอนทางธรรมจรรยาก็กลายเป็นคำสอนทางโลกไป”
พระ ดร.อนิลมาน ย้ำว่า ถ้าวงการสงฆ์นำคำสอนของสมเด็จพระสังฆราชฯ ไปปฏิบัติ ความวุ่นวายต่างๆ ก็จะไม่เกิดขึ้น เพราะนี่คือกฎของสงฆ์ที่มีอยู่แล้ว
ส่วนการปฏิรูป วงการสงฆ์จัดการกันเองได้ถ้ามีความรู้พอ และก็ต้องปฏิบัติตามตัวอย่างที่ดีด้วย เช่น มีฆราวาสมาถวายรถยนต์ให้สมเด็จพระสังฆราชฯ “ท่านไม่รับ” ท่านบอกว่าเราไม่มีที่จอดรถ เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับบุคคล ซึ่งการตั้งกฎ ดูแลตรวจสอบนั้น ไม่มีทางเพราะจะมีช่องว่างตลอด แม้จะมีกฎหมายขึ้นมาก็ตาม ก็สู้กิเลสไม่ได้หรอก เพราะเมื่อไหร่ที่พระตัดกิเลสได้คงไม่ต้องปฏิรูปแล้ว แต่จะได้ขนาดไหนก็ไม่แน่ใจ
เพราะการปฏิรูปที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้ เกิดจากอคติทั้งนั้น ผิดตั้งแต่วิธีการคิดว่าทำไมพระรวย ทำไมวัดรวย คำเหล่านี้มาจากไหน มาจากระบบตรงนี้ วัดอยู่ได้ด้วยอะไร ด้วยการบริจาคของญาติโยม ซึ่งวัดต้องมีค่าใช้จ่ายไม่เหมือนสมัยพุทธกาลแรกๆ ที่อยู่ใต้ต้นไม้ พระต้องเร่ร่อนหาต้นไม้ปักกลดสักที่
แต่กระบวนการตรงนี้ในปัจจุบัน เป็นอีกยุคสมัยที่เปลี่ยนไป สังคมเปลี่ยนไป อย่ามองในมุมเดียว ต้องมองจากความเป็นจริง ซึ่งวิถีชีวิตได้เปลี่ยนไป
ในแง่ของการแก้ปัญหา ต้องแก้เรื่องนี้ให้พระด้วย เพราะถ้าจะบอกว่าปฏิรูปเพราะปัญหา แต่ปัญหาไม่ได้อยู่เป็นก้อน ที่หากเจอปัญหาที่ไหนก็ตัดไป ขณะเดียวกันพระแต่ละวัดเองก็มีการสร้างจุดเด่นให้คนไปกราบไหว้ ซึ่งบางครั้งไม่ใช่พุทธศาสนา ถ้าจะว่ากันในเชิงวิชาการแล้วดูเหมือนประเทศไทยจะเป็นเถรวาทที่ฉาบด้วยความเป็นคนไทยไปแล้ว เป็นพุทธศาสนาเถรวาทแบบไทยๆ อะไรๆ ก็เอา จีนมาเราก็ฉลองแบบจีน ฝรั่งมาคริสต์มาสเราก็เอา ไม่รู้ว่าความเป็นไทยอยู่ตรงไหน เช่นเดียวกับศาสนาเหมือนกัน สอนสวรรค์เชื่อในสวรรค์ ซึ่งประเทศอื่นๆ ยังรักษาเอกลักษณ์ของตัวเองไว้ได้