งานวิจัยจุฬาฯ เรื่อง “พระสงฆ์กับทรัพย์สินส่วนตัว” ระบุชัดเจนในพระวินัยปิฎกภิกษุสงฆ์ไม่สามารถรับ จับ หรือมีเงินทองเป็นของส่วนตัวได้ อีกทั้งการมีทรัพย์สินมาก เกิดจากการฉ้อโกงเงินวัด การฆาตกรรมเรื่องผลประโยชน์ การเรี่ยไรเงินบริจาคที่ไม่เหมาะสม การปลอมบวชเพื่อหวังสร้างรายได้ ที่สำคัญการรับเงินทองส่งผลต่อความมั่นคงของพระพุทธศาสนา แนะการปฏิรูปพุทธศาสนาที่ถูกต้อง ควรยึดหลักพระธรรมวินัย พระไตรปิฎก และกฎหมาย สอดคล้องกับแนวทางการปฏิรูปศาสนาชุดนายไพบูลย์ นิติตะวัน
ข่าวฉาวๆ ของวงการสงฆ์ที่ปรากฏเป็นข่าวในโลกสังคมออนไลน์มีให้เห็นอย่างต่อเนื่อง ทั้งในเรื่องผลประโยชน์วัดและของส่วนตัว การทุจริต ฉ้อโกงทรัพย์สินวัด การซื้อตำแหน่งในวงการสงฆ์ หรือการประพฤติตนไม่เหมาะสม มั่วสีกา เมาสุรา รวมไปถึงการเข้ามาข้องเกี่ยวทางการเมืองด้วยการออกมาเดินขบวน หรือขู่จะมีการเดินขบวนบ้าง ล้วนเป็นสาเหตุสำคัญให้พุทธศาสนามัวหมอง และนำไปสู่การเรียกร้องให้มีการปฏิรูปศาสนาเกิดขึ้น
อย่างไรก็ดี คณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา ที่มี “นายไพบูลย์ นิติตะวัน " เป็นประธาน ได้เสนอแนวทางและมาตรการปฏิรูป 4 ประเด็นหลักต่อสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ประกอบด้วย
1. ให้มีการเสนอร่างพระราชบัญญัติ ว่าด้วยการจัดการทรัพย์สินของวัดและพระภิกษุ
2. เสนอให้แก้กฎหมายมหาเถรสมาคม ฉบับที่ 24 (พ.ศ. 2541) ว่าด้วยการแต่งตั้งถอดถอนพระสังฆาธิการ หรือ พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 ในสาระสำคัญ คือ การกระจายอำนาจในการปกครองคณะสงฆ์ แทนการปกครองแบบรวมศูนย์อำนาจ
3. ต้องมีกลไกนำหลักปฏิบัติตามพุทธบัญญัติที่ทรงไว้ซึ่งความดี ถูกต้อง และบริสุทธิ์ของพระพุทธศาสนามาปฏิบัติ เพื่อไม่ให้มีการบิดเบือนหรือแอบอ้างพระธรรมวินัย
4. ปฏิรูปการศึกษาของคณะสงฆ์ให้ทันเหตุการณ์ โดยราชการต้องให้ความสำคัญด้านการศึกษาของคณะสงฆ์ด้วย โดยเน้นเรื่องกฎหมายเกี่ยวกับการจัดการทรัพย์สินของพระและวัด
สำหรับแนวทางการปฏิรูปชุดนายไพบูลย์นั้นยังได้นำไปสู่เหตุการณ์ที่พระสงฆ์และเครือข่ายชาวพุทธกว่าหมื่นคนประกาศจะออกมาเคลื่อนไหวปกป้องพุทธศาสนาเมื่อวันที่ 31 มีนาคม ที่ผ่านมา แต่สุดท้ายก็ยุติไม่มีการชุมนุมเกิดขึ้นเมื่อรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยืนยันว่าจะให้มหาเถรสมาคมเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดแนวทางในการปฏิรูปพุทธศาสนาด้วย
สิ่งที่น่าสนใจสำหรับแนวทางการปฏิรูปศาสนาซึ่งทีม Special Scoop พบงานวิจัยเรื่อง “พระสงฆ์กับทรัพย์สินส่วนตัว” ของ “ดนัย ปรีชาเพิ่มประสิทธิ์” อาจารย์ภาควิชาปรัชญา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ศึกษาวิจัยไว้อย่างละเอียดสะท้อนถึงการปฏิรูปพุทธศาสนาที่ถูกต้อง ต้องยึดหลักการตามแนวทางพระธรรมวินัย พระไตรปิฎก และกฎหมาย ซึ่งจะเป็นแนวทางในการทำนุบำรุงพุทธศาสนาและจะเป็นประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตที่มีคุณภาพตามพระธรรมวินัยของพระภิกษุสงฆ์สืบต่อไป
โดยงานวิจัย “พระสงฆ์กับทรัพย์สินส่วนตัว” เป็นส่วนหนึ่งในโครงการวิจัยพุทธศาสน์ศึกษาของ ศูนย์พุทธศาสน์ศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี พ.ศ. 2552 ซึ่งเป็นรูปแบบงาน “วิจัยเอกสาร” ที่ได้จากเอกสารต่างๆ ตั้งแต่เอกสารปฐมภูมิเช่นคัมภีร์พระไตรปิฎกและอรรถกถา เอกสารทางประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง เอกสารทุติยภูมิ เช่นงานวิจัยและหนังสือทางวิชาการต่างๆ รวมทั้งเอกสารอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งผู้วิจัยได้วิเคราะห์เรื่องทรัพย์สินส่วนตัวของพระภิกษุสงฆ์ โดยเฉพาะเรื่องเงินและทองว่าขัดกับหลักพระธรรมวินัยด้วยเหตุผลหลายประการ
นับตั้งแต่การตีความหมาย “ทรัพย์ของสงฆ์” ที่มีความหมายหลากหลายในบริบทตามที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงความหมายของทรัพย์ เช่น “ทรัพย์สินทางโลก” ซึ่งเป็นวัตถุกามและทรัพย์สินทางธรรมที่เป็นคุณธรรม โดยสามารถเป็นทั้งคำนามและคำอุปมาได้ โดยทรัพย์สินของพระภิกษุสงฆ์นั้นแบ่งได้เป็นสองอย่างตามพระธรรมวินัยที่พระพุทธองค์ทรงอนุญาตคือ “ทรัพย์สินหลัก” กับ “ทรัพย์สินเสริม” ซึ่งมีข้อจำกัดในการใช้และครอบครองโดยขึ้นอยู่กับประเภทของทรัพย์สินนั้นๆ ว่าจะมีระยะเวลาและจำนวนที่เก็บได้เท่าใด เช่น เก็บได้ 1 วัน 7 วัน เหตุผลก็เพื่อมิให้พระภิกษุสงฆ์ทำการสะสมและยึดถือทรัพย์สินเหล่านั้นว่าเป็นของของตนนั่นเอง
สิ่งที่ชี้ว่าเหตุใดพระสงฆ์จึงไม่สามารถสะสมทรัพย์สินเงินทองได้ เนื่องจากข้อจำกัดทางด้านพระวินัย ซึ่งการสะสมทรัพย์สินเงินทองนั้น ย่อมเป็นการขัดกับวิถีชีวิตของนักบวชที่มุ่งจะประพฤติปฏิบัติเพื่อการหลุดพ้น เพราะ “การบวช” ไม่ว่าจะเป็นสมัยพุทธกาลหรือสมัยปัจจุบันล้วนมีจุดมุ่งหมายเพื่อเป็นการ “ละความสุขทางโลก“ และเพื่อออกบำเพ็ญเพียรจนบรรลุถึงความ “หลุดพ้น” อันเป็นจุดหมายปลายทางของพระพุทธศาสนา พระสงฆ์ในสมัยพุทธกาลมีสมบัติเพียงไตรจีวรกับสิ่งของจำเป็นไม่มากนักตามพระวินัยบัญญัติ
แต่สิ่งที่เห็นกันในปัจจุบันพระสงฆ์มีทรัพย์สินเงินทองเป็นสมบัติส่วนตัวกันมากจนเป็นที่รับรู้กันอยู่ในสังคมไทย ซึ่งที่ผ่านมาไม่มีการศึกษาวิจัยว่าการสะสมทรัพย์สินเงินทองดังกล่าวของพระสงฆ์ในปัจจุบันนั้นขัดกับหลักพระธรรมวินัยหรือไม่ เรื่องดังกล่าวจึงสืบเนื่องกันต่อมาโดยไม่มีเสียงคัดค้านจากวงวิชาการหรือสังคมแต่อย่างใด
การรับเงินทองของสงฆ์ขัดกับพระธรรมวินัย
ขณะที่วิถีชีวิตของพระภิกษุสงฆ์เป็นอยู่ด้วยความเรียบง่ายโดยมีทรัพย์สินติดตัวเท่าที่จำเป็น ปัจจัยทั้งหลายที่จะได้ก็แล้วแต่จะมีผู้บริจาคและเป็นไปเพียงเพื่อการดำรงชีวิตอยู่ตามอัตภาพแก่สมณภาวะเท่านั้น การถือนิสัยที่เรียบง่ายและเป็นไปตามธรรมชาตินี้ย่อมมีไว้เฉพาะพระภิกษุที่เป็นลัชชีเท่านั้น
ดังนั้นการที่พระพุทธองค์ทรงอนุญาตทรัพย์สินต่างๆ ก็เพื่ออนุเคราะห์แก่การประพฤติพรหมจรรย์ของพระภิกษุสงฆ์ให้เป็นไปได้ด้วยดีต่อการประพฤติปฏิบัติธรรม ดังนั้นทรัพย์สินเหล่านี้จึงมีเพิ่มขึ้นตามลำดับ แต่ทั้งนี้ ทรัพย์สินเหล่านั้นย่อมเป็นไปเพื่อการเข้าถึงพระนิพพานนั่นเอง
บุคคลที่จะบวชเป็นบรรพชิตนั้นต้องสละทรัพย์สินทั้งปวง เช่น เงินและทอง เมื่อเป็นพระภิกษุสงฆ์แล้วก็จะต้องละเว้นเช่นเดียวกันและเป็นการไม่สมควรเลยที่บรรพชิตจะกลับมามีเงินทองอีก
ในพระวินัยปิฎก พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติสิกขาบทไว้อย่างชัดเจนไม่ให้ภิกษุรับ ใช้ให้คนอื่นรับ หรือแม้กระทั่งยินดีในเงินทองที่เขาเก็บไว้ให้ตน นอกจากนี้ยังรวมถึงอะไรก็ตามที่มีค่าในการแลกเปลี่ยนซื้อขายได้ เช่น ธนบัตร เหรียญ เช็ค บัตรกดเงินสด บัตรเอทีเอ็ม บัตรเดบิต บัตรเครดิต ฯลฯ การรับเงินทองจึงเป็นการผิดพระวินัยและเป็นอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์แก่ภิกษุที่รับไม่ว่าจะโดยเหตุผลใดๆ เช่น การรับเพื่อตัวหรือเพื่อสงฆ์ก็ตาม
นอกจากนี้ การต้องอาบัตินั้นย่อมเป็นไปตามจำนวนของเงินทองนั้นอีกด้วย การที่พระภิกษุสงฆ์เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับเงินทอง เช่น การรับ การแลกเปลี่ยน และการซื้อขายก็ย่อมเป็นอาบัติ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าการเข้าไปยุ่งเกี่ยวนั้นมีระดับความสำคัญมากน้อยเท่าใด ความผิดที่เป็นอาบัตินั้นก็จะมากยิ่งขึ้นตามเท่านั้น ในคัมภีร์อรรถกถาได้อธิบายว่าเพราะเงินและทองเป็นสิ่งที่เรียกว่า “อนามาส” คือวัตถุอันภิกษุไม่ควรจับต้อง การที่พระภิกษุสงฆ์ยุ่งเกี่ยวกับเงินทองที่มีค่ามากกว่า 5 มาสก ยังอาจทำให้ต้องอาบัติถึงขั้นปาราชิกได้อีกด้วย
หากพระภิกษุสงฆ์รับเงินทองมาแล้วก็ต้องสละเงินทองนั้นในที่ประชุมสงฆ์ โดยให้ฆราวาสช่วยเปลี่ยนเป็นปัจจัย 4 โดยห้ามบอกว่าต้องการอะไรเป็นการเฉพาะ ส่วนภิกษุที่เป็นผู้รับเงินทองนั้นไม่มีสิทธิ์รับปัจจัย 4 ที่เกิดจากเงินทองนั้น หากไม่มีฆราวาสช่วยจัดการเงินทองดังกล่าว สงฆ์ต้องสมมติพระรูปหนึ่งเพื่อทิ้งเงินทองนั้น คัมภีร์อรรถกถาอุปมาเงินทองว่าเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจดุจคูถและการบริโภคปัจจัย 4 ที่เกิดจากเงินทองนี้ว่าน่ารังเกียจเทียบเท่าการอวดอุตริมนุสธรรมและกุลทูสกกรรมคือการประทุษร้ายตระกูล
แนวคิดดังกล่าวย่อมแสดงชัดเจนว่าการรับเงินทองของพระภิกษุสงฆ์เป็นเรื่องขัดกับพระธรรมวินัยเพียงใด ดังนั้นจึงสรุปได้ว่าพระภิกษุสงฆ์จะรับเงินทองได้นั้นมีเพียงการให้กัปปิยการกหรือผู้ที่มีจิตศรัทธาเป็นผู้ถือเงินทองให้แล้วเปลี่ยนเป็นปัจจัย 4 ที่เหมาะสมกับความต้องการของพระภิกษุสงฆ์จึงจะไม่อาบัติ
พระภิกษุสงฆ์ห้ามยุ่งเกี่ยวแม้กระทั่งสั่งว่าให้เงินทองนั้นไปวางไว้ที่ใด ในพระสุตตันตปิฎก พระพุทธเจ้าทรงแสดงว่าเงินและทองเป็นปัจจัยต่อการผิดคุณธรรมอื่นๆ เช่น การพูดปด พระภิกษุสงฆ์จึงไม่พึงยินดี แสวงหาเงินทองโดยปริยายอะไรเลย เงินทองเป็นเรื่องของกามคุณที่เกี่ยวกับความเศร้าหมองของสมณะเพราะถูกกิเลสครอบงำเป็นทาสของตัณหา และหากยึดติดกับเงินทองก็ย่อมไม่เข้าใจในคุณธรรมชั้นสูงด้วย เงินทองไม่สามารถทำให้พ้นจากความแก่และความตายได้ เพราะความแก่ความตายเป็นของไม่เที่ยง เงินและทองก็เป็นเพียงปฐวีธาตุหามีสาระอันใดไม่
ที่สำคัญ การรับเงินทองของพระภิกษุสงฆ์ยังเป็นชนวนเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่สอง การรับเงินทองของพระภิกษุสงฆ์จึงมีผลต่อความมั่นคงของพระพุทธศาสนาอีกด้วย
ส่วนข้อมูลเกี่ยวกับทรัพย์สินของพระภิกษุสงฆ์ในปัจจุบันนี้ เช่น เรื่องรายรับ รายจ่าย การบริหารจัดการ รวมถึงทรรศนะต่างๆ ผู้วิจัยได้นำเสนอจากข้อมูลเอกสารและจากการสัมภาษณ์ซึ่งพบว่ารายได้และรายจ่ายของพระภิกษุสงฆ์นั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ เช่น สภาพพื้นที่ กิจกรรมต่างๆ ศรัทธาของฆราวาส ซึ่งการบริหารจัดการนั้นก็มีหลายรูปแบบทั้งที่ถูกต้องและไม่ถูกต้องตามพระธรรมวินัยและกฎหมายของสงฆ์
ทรัพย์สินไม่ใช่ของสงฆ์แต่เป็นของศาสนา
ในงานวิจัยพบข้อมูลจากการสัมภาษณ์ทำให้ทราบว่าพระภิกษุสงฆ์ในปัจจุบันมีทรรศนะเรื่องเงินทองแตกต่างกันไป เช่น ทรรศนะว่าเงินทองเป็นเพียงสิ่งสมมติ ทรรศนะว่าเงินทองเป็นของส่วนตัว ทรรศนะเคร่งครัดตามพระธรรมวินัยและทรรศนะที่จะปรับเปลี่ยนพระธรรมวินัย แต่โดยรวมแล้วไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าพระภิกษุสงฆ์ในปัจจุบันล้วนมีเงินทองเป็นของส่วนตัวแทบทั้งสิ้น
การมีเงินทองเป็นทรัพย์สินส่วนตัวยังทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมาอีกมากมาย เช่น ปัญหาการฉ้อโกงทรัพย์สินวัด ปัญหาการเรี่ยไรเงินทอง ปัญหาการล่อลวงและขโมยทรัพย์สินพระภิกษุสงฆ์ ปัญหาด้านอาชญากรรม และปัญหาการปลอมบวช
นับว่าปัญหาเหล่านี้ก่อให้เกิดผลกระทบทั้งในเชิงลึกและเชิงกว้างทั้งในระดับบุคคลและระดับสังคม โดยเฉพาะผลกระทบต่อพระพุทธศาสนาไม่ว่าจะเป็นเรื่องศรัทธา คุณภาพของพระภิกษุสงฆ์ รวมถึงความมั่นคงของพระพุทธศาสนาในสังคมไทยอีกด้วย หากการเป็นพระภิกษุสงฆ์ไม่ทำให้ได้รับศรัทธาจากประชาชนอย่างมากมายโดยเฉพาะเรื่องเงินและทองเช่นนี้แล้ว ปัญหาต่างๆ เช่น การปลอมบวช การเรี่ยไร การฉ้อโกงคงเกิดขึ้นได้ยาก
งานวิจัยนี้ได้วิเคราะห์เรื่องทรัพย์สินส่วนตัวของพระภิกษุสงฆ์โดยเฉพาะเรื่องเงินและทองว่าขัดกับหลักพระธรรมวินัยด้วยเหตุผลหลายประการ นอกจากในพระวินัยปิฎกที่แสดงไว้ชัดเจนแล้วว่าการรับเงินและทองเป็นความผิด การมีเงินทองและสิ่งของแทนเงิน เป็นของส่วนตัวนั้นยังขัดกับหลักมหาประเทศ 4 เพราะเงินทองเป็นสิ่งที่ไม่ควร ขัดกับสิ่งที่ควร จึงเป็นสิ่งไม่ควร
ทั้งนี้หากพระภิกษุสงฆ์มีการใช้บัตรเดบิตหรือเครดิตที่ไม่มีบัญญัติในพระวินัย แต่สิ่งเหล่านี้ตรงกับหลักมหาประเทศที่ว่า แม้พระพุทธเจ้ามิได้ทรงห้ามเรื่องบัตรเครดิต ฯลฯ แต่ทรงห้ามการรับเงินและทอง บัตรเครดิต ฯลฯ เข้ากับเงินและทองที่พระพุทธเจ้าทรงห้าม
ดังนั้นบัตรเครดิต ฯลฯ จึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรด้วย หากพิจารณาเรื่องของกามคุณแล้ว เงินทองเป็นกามคุณที่บรรพชิตต้องงดเว้นทั้งก่อนบวชและเมื่อบวชแล้ว เงินทองเหล่านี้เป็นสิ่งไม่ประเสริฐเพราะเป็นกามคุณที่ไม่เที่ยงจึงมีโทษมากมาย และยังเป็นปัจจัยให้เกิดการประพฤติผิดคุณธรรมต่างๆ เพราะตกอยู่ใต้อำนาจของตัณหาอีกด้วย เงินทองจึงเป็นสิ่งที่พระภิกษุสงฆ์ควรงดเว้น
นอกจากนี้การมีเงินทองยังขัดกับหลักความไม่สะสมและยังเป็นปัจจัยแก่ความยึดมั่นถือมั่นอีกด้วย หากการบวชของพระภิกษุสงฆ์เป็นไปเพื่อการสะสมทรัพย์สินเงินทองย่อมไม่ใช่เป้าหมายของพระพุทธศาสนาเพราะมิได้เป็นไปเพื่อความมักน้อย สันโดษ ขัดเกลา เลี้ยงง่าย ปรารภความเพียร และยังต่ำทรามเมื่อเทียบกับสุนัข สิ่งเหล่านี้ล้วนขัดกับหลักการเรื่องการปล่อยวางและการไม่ยึดมั่นถือมั่นในตัวตนที่เป็นหัวใจประการหนึ่งของพระพุทธศาสนา
หากพิจารณาด้วยเกณฑ์นี้ ทรัพย์สินเงินทองจึงขัดกับหลักธรรมดังกล่าวด้วย ดังนั้นการที่พระภิกษุสงฆ์มีเงินทองเป็นของส่วนตัวย่อมผิดหลักพระธรรมวินัยด้วยเหตุผลหลายประการดังที่ได้กล่าวแล้ว และหากพิจารณาในมุมของกฎหมาย การที่พระภิกษุสงฆ์มีเงินทองเป็นของส่วนตัวก็ถือว่าไม่เหมาะสมเช่นเดียวกัน
แม้ว่ากฎหมายบางมาตราอาจมีช่องที่เปิดโอกาสให้พระภิกษุสงฆ์มีเงินทองเป็นของส่วนตัวได้ แต่กฎหมายเหล่านั้นก็มิได้มีเจตนารมณ์ที่จะให้พระภิกษุสงฆ์มีทรัพย์สินเป็นของส่วนตัว เพราะถือว่าทรัพย์สินที่พระภิกษุสงฆ์ได้มานั้นล้วนเป็นทรัพย์สินของศาสนาทั้งสิ้นจึงไม่ควรที่จะยึดถือมาเป็นสมบัติส่วนตัว หากจะมีช่องทางให้พระภิกษุสงฆ์มีทรัพย์สินได้นั้นก็เพื่อจะได้ทำกุศลเพื่อช่วยมวลมนุษย์ด้วยการให้ทาน
ดังนั้นในมุมมองของกฎหมายทางโลกก็ไม่ได้เห็นด้วยกับการที่พระภิกษุสงฆ์จะมีทรัพย์สินส่วนตัว การมีทรัพย์สินส่วนตัวของพระภิกษุสงฆ์จึงขัดกับพระธรรมวินัยและกฎหมายทางโลก
พระสงฆ์กับทรัพย์สินส่วนตัว
จากการสัมภาษณ์ ข้อมูลรายได้ส่วนตัวของพระภิกษุสงฆ์ เช่น เงินนิตยภัต เงินค่าสอน เงินจากกิจนิมนต์ทั่วไป เงินจากกิจกรรมพิเศษทางศาสนา หากจะวิเคราะห์ตามพระธรรมวินัย การมีรายได้ของพระภิกษุสงฆ์ที่เป็นเงินทองไม่ว่าจะเป็นส่วนตัวหรือส่วนรวมก็ตามย่อมผิดพระวินัยบัญญัติ ทำให้ทราบว่าเมื่อพระภิกษุสงฆ์มีเงินทองแล้วก็สามารถนำไปเปลี่ยนเป็นทรัพย์สินต่างๆ ได้อย่างมากมาย ซึ่งอาจจะถูกต้องหรือไม่ถูกต้องตามพระธรรมวินัยก็เป็นได้ จึงผิดพระวินัยบัญญัติในข้อการนำเงินทองไปแลกเปลี่ยน
ส่วนเรื่องรายจ่ายส่วนตัวของพระภิกษุสงฆ์ เช่น รายจ่ายส่วนตัว รายจ่ายการกุศล รายจ่ายด้านการศึกษา หากการใช้เงินทองในเรื่องเหล่านี้ไม่มีไวยาวัจกรจัดการให้แล้วก็ย่อมเป็นอาบัติอยู่นั่นเอง ส่วนเรื่องการจัดการกับทรัพย์สินส่วนตัวนั้น เนื่องจากไม่มีกฎหมายประกาศไว้ชัดเจน วิธีการปฏิบัติของพระภิกษุสงฆ์จึงมีความแตกต่างกันไป เช่น การเปิดบัญชีรวมเงินส่วนตัวเข้ากับบัญชีวัด การเปิดบัญชีส่วนตัว ไม่เปิดบัญชีแต่เก็บไว้ในตู้บริจาค กุฏิเจ้าอาวาส ฯลฯ เรื่องนี้ก็เช่นเดียวกัน หากการเก็บรักษาเงินทองเหล่านี้ไม่มีไวยาวัจกรช่วยจัดการให้พระภิกษุสงฆ์แล้วก็ย่อมเป็นอาบัติอยู่นั่นเอง
ส่วนการวิเคราะห์ทรรศนะจากการสัมภาษณ์นั้น ทรรศนะที่กล่าวว่าเงินทองเป็นเพียงแค่สิ่งสมมติเพราะเป็นเพียงกระดาษที่ใช้ในการแลกเปลี่ยนไม่มีค่าในตัวเอง ซึ่งต่างจากสมัยพุทธกาลที่เป็นเงินทองจริงๆ คำกล่าวนี้ย่อมขัดกับพระวินัยเพราะพระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงห้ามเงินทองเท่านั้น แม้ยางไม้ กระดูก หนัง เมล็ดผลไม้ที่สมมติเป็นเงินทองได้นั้นก็ย่อมผิดพระวินัย
นอกจากนี้ หากเงินเป็นเพียงกระดาษจริงแล้ว ปัญหาการฉ้อโกงทรัพย์สินวัด ปัญหาการเรี่ยไรเงินทองโดยไม่สมควร และปัญหาการปลอมบวชเป็นพระเพื่อหวังทรัพย์สินเงินทองก็คงไม่เกิดขึ้นเพื่อแย่งชิงกระดาษซึ่งเป็นเพียงสิ่งสมมติอย่างแน่นอน การอ้างว่าเงินทองเป็นเพียงสิ่งสมมติแล้วสามารถใช้ได้นั้นยังขัดกับที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในอภิธรรมปิฎกว่าเงินทองนั้นเป็นเพียงธาตุดิน จึงเป็นเพียงสิ่งสมมติและไม่ได้มีคุณค่าอะไรเลย จึงไม่ควรยึดมั่นถือมั่นและไม่ควรใช้แต่อย่างใด
แต่พระภิกษุสงฆ์ในปัจจุบันกลับอ้างตรงกันข้ามกับพระพุทธเจ้าว่าเงินทองเป็นสิ่งสมมติที่ควรใช้ได้ ทรรศนะต่อมาที่ว่าเงินทองนั้นเป็นของส่วนตัวได้หากฆราวาสถวายเจาะจง คำกล่าวนี้ก็ผิดกับพระวินัยเพราะการรับเงินทองย่อมเป็นอาบัตินิสสัคคีย์ปาจิตตีย์และต้องสละเงินทองนั้นเสียก่อนเพราะเงินทองไม่ใช่บริขาร 8 และไม่ใช่ทั้งทรัพย์สินหลักและทรัพย์สินเสริมแต่ประการใด เพราะเงินทองนั้นเป็นอนามาสคือสิ่งที่ไม่ควรจับต้องเช่นเดียวกันกับร่างกายและเครื่องแต่งกายสตรี เงินทอง อาวุธ
นอกจากนี้ พระภิกษุสงฆ์ที่กล่าวอ้างเรื่องนี้ยังบกพร่องต่อหน้าที่ในการให้ความรู้เรื่องพระธรรมวินัยแก่ฆราวาส แตกต่างจากท่านพระยสกากัณฑกบุตรที่ทำให้ชาวเมืองวัชชีเกิดความเข้าใจที่ถูกต้องว่าพระภิกษุสงฆ์ไม่สามารถรับเงินและทองได้ พระภิกษุสงฆ์เหล่านั้นยังควรนำพระพุทธพจน์ที่ตรัสว่าควรถวายสงฆ์หรือส่วนรวมมากกว่ามาชี้แจง
ทรรศนะอีกประการหนึ่งที่นำมาสนับสนุนการประพฤติย่อหย่อนในพระธรรมวินัยก็คือข้ออ้างที่ว่าสมัยปัจจุบันนี้มีความแตกต่างจากสมัยพุทธกาล ข้ออ้างดังกล่าวย่อมผิดกับหลักมหาประเทศ 4 เพราะหลักมหาประเทศสามารถใช้ได้ในทุกกรณีที่พระพุทธเจ้ามิได้ทรงบัญญัติไว้และมีความทันสมัยและยืดหยุ่น
อย่างไรก็ดี การรับเงินทองของพระภิกษุสงฆ์นี้ พระพุทธเจ้าตรัสไว้ชัดเจนแล้วว่าไม่ถูกต้องจึงไม่จำเป็นต้องนำหลักมหาประเทศ 4 มาอ้างอีก ในทางตรงกันข้ามการอ้างว่าต้องปรับพระธรรมวินัยนั่นเองที่เป็นการทำให้ขัดกับหลักการของพระธรรมวินัย การกล่าวอ้างว่าต้องปรับพระธรรมวินัยยังลดค่าพระธรรมวินัยอีกด้วย เพราะพระธรรมวินัยกลายเป็นของใช้ได้ชั่วคราวไม่ใช่สัจธรรมแต่อย่างใด
วิธีคิดดังกล่าวยังขยายผลไปถึงความไม่เคารพในพระพุทธเจ้าได้ด้วย เพราะพระธรรมวินัยนั้นย่อมเกิดจากพระพุทธองค์และมีผลต่อความเสื่อมของพระพุทธศาสนาอีกด้วย พุทธศาสนาเถรวาทยอมรับมติในการสังคายนาที่พระมหากัสสปะเป็นประธานจึงไม่มีการลดทอนสิกขาบทแต่อย่างใด
ดังนั้น คำกล่าวอ้างว่าพระภิกษุสงฆ์สามารถใช้เงินทองได้เพราะพระพุทธเจ้าทรงให้ลดทอนสิกขาบทเล็กน้อยได้นั้นจึงไม่ถูกต้อง ส่วนคำกล่าวอ้างที่ว่า พระภิกษุสงฆ์ในสมัยนี้ไม่สามารถประพฤติสิกขาบทตามพระธรรมวินัยได้เพราะเป็นเรื่องยาก คำกล่าวนี้ก็ย่อมแสดงว่าพระภิกษุสงฆ์เหล่านี้ไม่น่าสรรเสริญตามพระธรรมวินัยเพราะประพฤติพรหมจรรย์ไม่บริสุทธิ์และยังล่วงสิกขาบท ทั้งๆ ที่ความยากลำบากนี้ยังไม่ได้ทำให้พระภิกษุสงฆ์เหล่านี้น้ำตานองหน้าหรือถึงแก่ชีวิตแต่ประการใด
เสนอทางแก้เพื่อรักษาพระธรรมวินัย
จะเห็นได้ว่าทรรศนะต่างๆ ที่ขัดกับพระธรรมวินัยย่อมมีข้อโต้แย้งได้หลายประการ ทรรศนะการรักษาพระธรรมวินัยจึงน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดของเรื่องทรัพย์สินส่วนตัวของพระสงฆ์นี้ ผู้วิจัยมีความเชื่อว่าหากใช้วิธีแก้ไขตามพระธรรมวินัยก็น่าจะเป็นทางออกที่สามารถทำได้และจะเป็นการแก้ไขปัญหาเรื่องทรัพย์สินส่วนตัวกับพระสงฆ์นี้อย่างถาวรอีกด้วย
นอกจากการแก้ปัญหาโดยอาศัยพระธรรมวินัยแล้ว ดนัย ปรีชาเพิ่มประสิทธิ์ ในฐานะผู้วิจัย คิดว่าทางออกของการแก้ไขปัญหาเรื่องทรัพย์สินของพระสงฆ์นี้ยังต้องอาศัยวิธีส่งเสริมคุณภาพพระภิกษุสงฆ์ตามพระธรรมวินัย เช่น การปลูกฝังอุดมการณ์การบวช การศึกษาพระธรรมวินัย และการปฏิบัติตามพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัดผสมผสานกับการแก้ไขเชิงระบบโดยอาศัยรัฐ เช่น การสร้างระบบกลั่นกรองพระภิกษุสงฆ์ให้มีคุณภาพมากขึ้น โดยมีบทลงโทษที่เข้มงวดเพื่อป้องกันการปลอมบวชต่อไป และควรทำฐานข้อมูลพระภิกษุสงฆ์เพื่อจะได้ทราบประวัติเพื่อป้องกันผู้เคยมีพฤติกรรมเสื่อมเสียบวชซ้ำและนำมาซึ่งความเสื่อมเสียต่อคณะสงฆ์ ทั้งยังเป็นการป้องกันการปลอมบวชได้อีกด้วย
ส่วนการจัดการทรัพย์สินและการอุปถัมภ์ปัจจัย 4 โดยรัฐนั้นสามารถทำได้โดยตั้งกองทุนของวัดเพื่อให้พระภิกษุสงฆ์ใช้เป็นกองกลางโดยบริหารจัดการภายในวัด ให้รัฐเป็นผู้สนับสนุนอุปถัมภ์งบประมาณทั้งหมด โดยอาศัยข้อกฎหมายในการดูแลจัดการทรัพย์สินแทนวัดและทรัพย์สินส่วนตัวหรือเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของคณะสงฆ์ให้มีการตรวจสอบระบบบัญชีได้อย่างโปร่งใสในทุกระดับ โดยมีการแบ่งแยกบัญชีส่วนตัวกับของวัดให้ชัดเจน
นอกจากนี้ การจัดตั้งองค์กรของภาคสังคมและสภาชาวพุทธแห่งชาติที่ประกอบด้วย รัฐ คณะสงฆ์ และประชาชนเพื่อพัฒนาการพระศาสนาและอุปถัมภ์คณะสงฆ์ก็ดี การจัดตั้งธนาคารพระพุทธศาสนา เพื่อทำหน้าที่ดุจไวยาวัจกรในการจัดการด้านการเงินให้แก่คณะสงฆ์ก็ดี และการกลับเข้าไปหาพระธรรมวินัยดั้งเดิม เช่น อาศัยระบบไวยาวัจกรที่ซื่อสัตย์ ทำหน้าที่ดูแลการเงินประจำวัดก็อาจเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาได้
คัดเลือกไวยาวัจกรที่มีคุณภาพโปร่งใส
งานวิจัยนี้ยังได้ชี้ทางออกของการแก้ปัญหาเรื่องทรัพย์สินส่วนตัวของพระสงฆ์ว่า เป็นเรื่องของปัจเจกบุคคล วิธีแก้ไขก็คือการประพฤติพระธรรมวินัยให้ถูกต้องโดยมีไวยาวัจกรที่ซื่อสัตย์เป็นผู้สนับสนุน
หากเป็นกิจการของวัดก็ใช้วิธีแก้ด้วยพระธรรมวินัย โดยมีไวยาวัจกรประจำวัดทำหน้าที่จัดการด้านการเงิน ทั้งนี้ต้องได้รับการสนับสนุนและตรวจสอบจากภายในวัดและชุมชนรอบวัดเพื่อความโปร่งใส และมีการตรวจสอบได้จากส่วนกลางซึ่งอาจเป็นมหาเถรสมาคมหรือสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติก็เป็นได้
ขณะที่ปัญหาการจัดการทรัพย์สินส่วนรวมหรือของคณะสงฆ์นั้นต้องมีการสนับสนุนจากภาครัฐ โดยให้มีงบประมาณเพียงพอแก่การใช้สอยผ่านสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ หรือมหาเถรสมาคม ซึ่งอาจจะใช้งบประมาณจากเงินที่ได้โดยการบริจาคหรือจากธนาคารพุทธศาสนาก็เป็นได้ โดยให้ธนาคารพุทธศาสนาทำหน้าที่ดุจไวยาวัจกรในการดูแลทรัพย์สินของพระสงฆ์ไม่ให้ผิดพระธรรมวินัยและต้องมีระบบตรวจสอบที่โปร่งใสชัดเจน ทั้งจากฝ่ายพระสงฆ์และจากรัฐ
แนวความคิดดังกล่าวจะเป็นไปไม่ได้เลยหากไม่มีระบบไวยาวัจกรที่มีคุณภาพ ทั้งนี้การรับไวยาวัจกรก็จำเป็นต้องมีระบบคัดเลือกและตรวจสอบจากส่วนกลางอย่างมีคุณภาพเพื่อป้องกันปัญหาการฉ้อโกงและทุจริต เช่นเดียวกับระบบบัญชีรายรับรายจ่ายของวัดที่จะต้องสามารถเปิดเผยข้อมูลได้อย่างเที่ยงตรงโปร่งใสและตรวจสอบได้ ทั้งจากภาคประชาชน คณะสงฆ์ และรัฐ โดยรัฐต้องออกกฎหมายสนับสนุนให้กิจกรรมเหล่านี้ดำเนินไปได้ด้วยดี
โดยทั้งหมดนี้ล้วนต้องอาศัยหลักการในพระธรรมวินัยทั้งสิ้น พระภิกษุสงฆ์จึงต้องศึกษาและประพฤติปฏิบัติตามหลักพระธรรมวินัยที่ถูกต้อง จึงจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดทั้งต่อพระภิกษุสงฆ์ต่อพระธรรมวินัยและต่อสังคมไทยสืบไป ถ้าหากพระภิกษุสงฆ์ไม่ศึกษาและประพฤติตามพระธรรมวินัยอย่างถูกต้องแล้ว ระบบใดๆ ก็ตามก็คงไม่สามารถแก้ไขปัญหาเรื่องทรัพย์สินส่วนตัวของพระสงฆ์นี้ได้อย่างที่เคยเป็นมาตลอด
อย่างไรก็ดี ปัญหาเรื่องทรัพย์สินเงินทองของพระสงฆ์นี้มีมานานในสังคมไทยแล้วอย่างน้อยก็กว่าสองร้อยปี นับตั้งแต่ปรากฏอยู่ในกฎหมายตราสามดวง หากสืบค้นไปแล้ว ปัญหาเหล่านี้ก็มีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาลแล้ว ผู้วิจัยจึงมีความเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าบัณฑิตในกาลก่อนก็พยายามที่จะแก้ปัญหาเหล่านี้มาตลอดประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา
แต่ผลก็ยังคงเป็นดังเช่นที่ได้เห็นกันอยู่ในปัจจุบันทั้งปัญหาและแนวทางแก้ไขที่ใกล้เคียงกันเพียงแต่เปลี่ยนรูปแบบไปบ้างตามบริบทของสังคมเท่านั้น คำตอบของปัญหาและวิธีการแก้ไขเรื่องทรัพย์สินส่วนตัวของพระสงฆ์นี้ก็อาจจะเป็นคำตอบเดียวกันตลอดมา ก็คือการกลับไปสู่จุดเริ่มต้นของพระธรรมวินัยที่ต้องแก้ไขปัญหาทุกอย่างที่ใจด้วยการดับกิเลส
ดังนั้นงานวิจัยนี้จึงอาจเป็นการย้อนรอยเดิมที่บัณฑิตทั้งหลายในกาลก่อนได้ย่อมาแล้ว และอาจเป็นการเปิดทางให้บัณฑิตในอนาคตได้เห็นร่องรอยของปัญหา รวมทั้งการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ในอนาคตที่น่าจะต้องมีอยู่ต่อไป ตราบที่มนุษย์ทั้งหลายยังไม่พ้นจากวงจรของกิเลสและความทุกข์