แคมเปญ "สร้างบุญด้วยเงิน" ล่อคนด้วยบุญไฮเทคผ่านกิจกรรมทางการตลาดของวัดบางวัด นอกจากนำไปสู่ปรากฏการณ์ "พุทธพาณิชย์" ที่เกินพอดีจนน่าเป็นห่วงแล้ว ยังทำให้คนบางคน "เมาบุญหลงบุญ" ชอบทำบุญแต่ไร้น้ำใจ ชวนให้ตั้งคำถาม คนไทยนับถือพุทธศาสนากันอย่างไร การทำบุญไม่ช่วยให้คนไทยบางกลุ่มมีเมตตากรุณาต่อผู้อื่นเลยหรือ
แคมเปญ "บุญ" ยุคไฮเทค
ปัญหาทางสังคมอันเกิดจากการบิดเบือนคำสอน และความเชื่อทางพระพุทธศาสนาไปสู่ปรากฏการณ์ "พุทธพาณิชย์" โดยอาศัยกุศโลบายต่างๆ เพื่อกระตุ้นการบริจาคของพุทธศาสนิกชน ซึ่งภายหลังปรากฏชัดว่า ประชาชนจำนวนไม่น้อยเริ่มเข้าใจการบริจาคในทางที่ผิด อาทิ ทำบุญหวังผล หรือมองว่าปริมาณบุญขึ้นอยู่กับปริมาณทรัพย์ที่บริจาค จุดประเด็นชวนคิด พร้อมตั้งคำถาม การทำบุญที่แท้จริงคืออะไรกันแน่
หากย้อนกลับไปเมื่อกลางปี 2557 หลายคนคงจำกันได้กับปรากฏการณ์ "บุญตู้" โอนเม็ดเงินแห่งศรัทธาผ่านตู้ ATM ของวัดพระธรรมกายที่เคยตกเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก แม้จะออกคอนเฟิร์มว่าไม่ใช่บัตรเครดิต แต่เป็นเดบิต แถมอ้างเพื่ออำนวยความสะดวกแก่สาธุชนในการทำบุญ โดยไม่ต้องนำเงินสดมา รวมไปถึงการเน้นย้ำว่า ไม่มีการซื้อบุญ เพราะบุญซื้อไม่ได้ และทางวัดไม่สนับสนุนการกู้เงินมาทำบุญ
ต่อกรณีดังกล่าว แหล่งข่าวผู้คลุกวงใน หนึ่งในเครือข่าย "ต่อต้านลัทธิจานบิน ต่อต้านบริษัทธรรมกาย" ได้เคยให้ความเห็นแบบไม่ประสงค์นาม โดยบอกถึงโปรโมรชั่น "แจกบุญผ่านตู้ ATM" ว่า "ก่อนที่เราจะมาพูดกันถึงเรื่องบุญ เราต้องพูดถึงหลักการก่อน คำว่า บุญ คือการชำระจิตใจให้สะอาดบริสุทธิ์ คือการทำสิ่งที่ดี สิ่งที่มีประโยชน์ คำถามคือเราจะทำสิ่งที่ดี-สะอาดบริสุทธิ์ โดยผ่านหลักการแบบผิดๆ มันเป็นไปได้หรือเปล่า"
หรืออีกเรื่องที่โลกออนไลน์ออกมาวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างมากถึงความเหมาะสม คงหนีไม่พ้นกรณี "วัดบ้านไร่" ต.กุดพิมาน อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา มีจุดบริการให้พุทธศาสนิกชนได้ร่วมเติมบุญชีวิตร่วมกับ "หลวงพ่อคูณ" ผ่าน "บัตรเติมบุญ" ที่มีลักษณะเป็นบัตรสมาร์ทการ์ด เพียงแค่เติมเงินใส่ในบัตรสมาร์ทการ์ด "สุคโต สุคโต สุตโต" ก็สามารถใช้ทำบุญตามจุดต่างๆ ในวิหารเทพวิทยาคมกันได้เลย
ที่ยกมากล่าวอ้างในข้างต้น คงพอสะท้อนให้เห็นการทำบุญ สร้างบุญที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งไม่ต่างจากการสร้างแคมเปญทางการตลาด เพื่อหวังนำเงินไปก่อสร้างสิ่งต่าง ๆ ซึ่งกุศโลบายที่สร้างขึ้นมานั้น ทำให้หลายฝ่ายเริ่มเป็นห่วง กลัวว่าประชาชนจะเมาบุญหลงบุญทั้งที่ความจริงแล้วควรกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนก่อนว่านิพพานคืออะไร นับถือศาสนาพุทธเพื่ออะไร แล้วจะทำให้การทำบุญเพื่อเสริมศรัทธานั้นถูกต้อง
"เมาบุญหลงบุญ" โรคนี้น่ากลัว
ความน่าเป็นห่วงนี้ "พิสุทธิ์ เกรียงบูรพา" นักเขียน และนักแต่งเพลงธรรมะ ครั้งหนึ่งเขาได้เคยให้สัมภาษณ์ผ่านทีมข่าว ASTVผู้จัดการ Live ถึงนิสัยส่วนใหญ่ของพวกเราชาวพุทธไว้อย่างตรงไปตรงมา โดยมองว่า ชาวพุทธส่วนใหญ่ยังคงยึดติดเรื่องพิธีกรรมมากเกินไป
"ผมว่าพวกเราชาวพุทธยึดติดกับเรื่องพิธีกรรมกันเยอะเกินไป รู้สึกว่าอยากตักตวงบุญ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าเรายังยึดความมีตัวตนกันอยู่เยอะ เวลาแผ่เมตตา เอ่ยชื่อเยอะไปก็กลัวว่าคนรับส่วนบุญจะแย่งบุญกัน ซึ่งเป็นความคิดที่ผิดนะ แผ่เมตตาให้แก่กัน แผ่ยังไงก็ไม่หมดครับ มันเหมือนการต่อเทียนไข เพราะฉะนั้น ไม่ต้องกลัวหมด ยิ่งกลัวบุญหมด ยิ่งหมด ยิ่งไม่กลัวบุญหมด ยิ่งไม่หมด มีความเชื่อผิดๆ อยู่เยอะมากครับ แผ่เมตตา ถ้าไม่ต่อตัวกันจะไม่ได้บุญ ถ้าไม่กรวดน้ำบุญจะส่งไปถึง จริงๆ มันไม่ใช่นะ มันเป็นเรื่องของจิตล้วนๆ
หรืออย่างเรื่องทำบุญพระพุทธรูป ไม่ต้องสลักชื่อก็ได้ แต่ถ้าใครสบายใจจะทำก็แล้วแต่ครับ เพราะเรายังอยู่ในโลก ถ้าพ่อแม่ใครสบายใจให้ต้องมีชื่อติดไว้ เราก็ทำตามใจโลกไป แต่ลึกๆ ในใจขอให้เรารู้ว่าเราไม่ยึดติดก็พอแล้ว ถ้าเขาไหว้เจ้ากัน ต้องเอาส้มไปวางแล้วกราบไหว้ เราก็ทำตามนั้นก็ได้ ทำแบบปากอย่างใจอย่าง ท่านพุทธทาสสอนไว้ครับ หมายความว่าเราทำตามโลกไป แต่ใจเราไม่ยึด ผมชอบธรรมะของท่านอาจารย์ครับ เป็นธรรมะที่เน้นเรื่องการหลุดพ้น ไม่แม้แต่จะติดดี คือทำดีมันได้ดีอยู่แล้ว แต่ไม่ใช่ว่าทุกคนทำดีแล้วต้องคิดอยากตักตวงบุญกุศล"
ด้าน ภิกษุณีธัมมนันทา ได้ให้ความเห็นบนเวทีฟังธรรมเสวนาในหัวข้อ "การบิดเบือนความเชื่อทางพุทธศาสนา พุทธพาณิชย์ ผิดหรือถูก" จัดโดยภาควิชาศิลปะการแสดง มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เมื่อเร็วๆ นี้ว่า คนสมัยนี้ทำบุญเหมือนจะบ้าบุญ ขณะที่พระภิกษุสงฆ์ต้องการจะเอาใจคนทำบุญ ก็คิดหาวิธีเพื่อให้คนเข้าวัด โดยเอาบุญมาเป็นตัวจูงใจ ซึ่งการทำบุญควรพิจารณาว่าพระรูปนั้นรักษาสมณะสัญญา หรือดำรงตนให้พ้นจากวัตถุ และมุ่งสู่พระนิพพาน
"สิ่งที่ถวายไปอาจจะเกินพอดี ทำให้พระเสีย ทั้งนี้โครงสร้างของพุทธศาสนานั้น คือพุทธบริษัทสี่ ประกอบด้วยภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก และอุบาสิกา ดังนั้นเรื่องของศาสนาหากถูกบิดเบือนไป ก็ไม่ใช่แค่เรื่องของมหาเถรสมาคม หรือเป็นเรื่องของภิกษุเท่านั้น ประชาชนควรมีส่วนร่วมในการดูแลพระพุทธศาสนาให้เป็นไปตามหลักคำสอนที่ถูกต้องด้วย" ภิกษุณีธัมมนันทาเผย
"ทำบุญ" ตามคำสอนของพระพุทธเจ้า
เมื่อถามความเห็นไปยัง วชิระ สว่างแก้ว ในฐานะที่เป็นพุทธศาสนิกชนที่ศึกษาพุทธวจน เขาบอกว่า เมื่อก่อนมีมุมมองการทำบุญแบบเดียวคือ ทำบุญเพื่อสั่งสมบุญไว้ (เหมือนการเก็บเงินออม) แต่หลังจากได้ศึกษาแนวทางตามคำสอนของพระพุทธเจ้า ทำให้การทำบุญ หรือการให้ทานค่อยๆ เปลี่ยนไป
"เมื่อก่อนมองแต่ทำบุญเพื่อเก็บบุญออมไว้ก่อน (เหมือนการเก็บเงินออม) ถึงเวลาเราก็จะได้มีบุญไว้ใช้ ซึ่งเป็นการทำบุญและการให้แบบทำตามที่ผู้ใหญ่สอน ถือว่าเป็นการทำบุญที่สร้างประโยชน์ในทางสังคมโลกได้ แต่หลังจากได้ศึกษาคำพระพุทธเจ้า จึงได้มุมมองว่า การทำบุญ หรือการให้ทานนั้น อย่างไรเสียก็เป็นสิ่งที่ดี ควรทำ และไม่ควรห้ามผู้อื่น แต่เราควรรู้ว่าการให้ทานนั้น มีการให้ทานที่ให้ผลและอานิสงส์หลายระดับ
การให้ทานที่ดีที่สุดคือ การให้ทานโดยตั้งจิตเพื่อละความตระหนี่ จากเดิมที่เข้าใจว่าเราต้องมีบุญ เก็บบุญไว้ก่อนนั้น ก็ยังเป็นการให้หรือทำบุญที่ยังอยู่บนพื้นฐานของความมีตัวตนอยู่ เพราะอยากได้บุญ แต่ที่ว่าบุญนั้นก็ยังมีการให้ผลและหมดไปได้ จึงทำให้เห็นว่าบุญนี้ก็เป็นสิ่งที่ยังไม่ทำให้เราหลุดพ้นไปจากความทุกข์หรือการเวียนว่ายได้ ดังนั้น การให้ทานเพื่อละความตระหนี่นั่นเองจึงเป็นการขูดเกลาตัวตนของตนออกไปทีละน้อยๆ ในที่สุดแล้วเมื่อเราปล่อยวางละตัวตนได้มากเท่าไหร่ อานิสงส์และความสุขสงบที่แท้จริงก็จะมีแก่เราเท่านั้น"
นอกจากนี้ เขายังบอกด้วยว่า ต้องอย่าลืมการให้ธรรมะกับผู้อื่นด้วย เพราะการให้ทานเป็นวัตถุสิ่งของทรัพย์สินเงินทองมีประโยชน์ต่อผู้รับในส่วนหนึ่งซึ่งอาจหมดไป แต่การให้ธรรมะจะมีประโยชน์ต่อผู้รับไปตลอดสิ้นกาลนาน น้อยที่สุดคือเขาจะมีความสุขในปัจจุบัน และสูงที่สุดคือถึงการบรรลุนิพพาน หลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวง และนิพพานเป็นสุขอย่างยิ่งเมื่อถามว่า มองการทำบุญทุกวันนี้เป็นอย่างไร เขาบอกว่า มีการทำบุญให้เห็นในหลายแบบ ทั้งแบบอยู่บนพื้นฐานของสติ และหลงมัวเมา
"พระพุทธเจ้าสอนว่า การให้ทานก็ควรจะต้องคิดให้ดีก่อน ควรมีการเลือกผู้รับด้วย เปรียบเหมือนชาวนาต้องเลือกหว่านเมล็ดพืชลงในนาดี ถึงจะได้ผลดี เปรียบกับปัจจุบันคือเวลาเราจะให้ทานใคร เราก็ควรจะต้องเลือกให้ทานกับผู้สมควรรับ เช่น ให้กับคนดี ไม่ให้กับโจร เป็นต้น ดังนั้นการทำบุญในทุกวันนี้ หากพูดกันตามจริงก็มีกันทุกแบบ ขึ้นอยู่กับเจตนาของผู้ให้ด้วย รวมถึงความรู้ความเข้าใจในคำสอนที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนแนวทางการให้ทานเอาไว้แล้ว
หากผู้ใดทำบุญโดยไม่คิดให้ดี เขาอาจเป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนสิ่งไม่ดีให้เกิดในสังคม แต่ถ้าคิด และเลือกผู้รับอย่างถูกดีแล้ว เขาก็จะเป็นผู้หนึ่งที่ทำให้สังคมดีขึ้น พร้อมกันนั้นก็วางจิตในการให้ทานของตนนั้นว่าเป็นไปเพื่อการละความตระหนี่ ขูดเกลาความยึดมั่นถือมั่นในตนเองลง ผลดีก็จะเกิดกับทั้งสังคมและทั้งตัวเองด้วย" เขาบอก พร้อมกับฝากไว้ว่า
"วันนี้ สิ่งที่ควรจะให้ความสำคัญ ก็คือการทำให้ศาสนิกชนได้รู้ และเข้าใจว่าพระพุทธเจ้าสอนเรื่องการให้ทานว่าอย่างไรเมื่อผู้ให้ให้อย่างมีสติ ผู้ที่ควรได้รับก็จะเจริญ ผู้ที่ไม่ควรได้รับก็จะเสื่อมลง แต่ถ้าผู้ให้ให้ด้วยความหลงมัวเมา ผู้ที่ควรได้รับก็จะเสื่อมลง และผู้ที่ไม่ควรได้รับก็จะเจริญขึ้นมา ซึ่งถ้าถามว่าการทำบุญกันในวันนี้ พุทธศาสนิกชนทำบุญกันเป็นอย่างไร สิ่งที่เป็นตัวชี้วัดคงจะเป็นคำถามที่ว่า แล้วพุทธศาสนิกชนในวันนี้ รู้เจตนาคำสอนของพระพุทธเจ้า และนำไปปฏิบัติใช้กันมากแค่ไหนล่ะ"
ดังนั้น คงพอจะสรุปได้ว่า การทำบุญ จุดหมายสูงสุดอยู่ที่การลดความยึดติดถือมั่นในตัวกู ของกู นอกจากจะทำบุญต่อสิ่งที่อยู่สูงกว่าอย่างพระสงฆ์ หรือวัดแล้ว คนยากจนหรือสัตว์น้อยใหญ่ก็ไม่ควรมองข้ามเช่นกัน เพราะนี้คือโอกาสดีที่จะได้ทำบุญ ลดละอัตตาตัวตนและบำรุงพระศาสนาอย่างแท้จริง
ข่าวโดย ASTVผู้จัดการ Live
มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram
"ASTVผู้จัดการ Live" และ "@astv_live" กันได้ที่นี่!!
และสามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754