xs
xsm
sm
md
lg

พบเมรีขี้เมาพุ่ง ห่วง “ไวน์-เหล้าน้ำหวาน” ล่อใจหญิง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ห่วง! เมรีขี้เมาพบ 4 ปี พุ่งกว่า 6 แสนราย นักวิชาการชี้มายาคติดื่มน้อยกว่าผู้ชาย ทำสังคมละเลยดูแล เหตุไม่ใช่กลุ่มเสี่ยง หวั่นไวน์ เหล้ารูปแบบน้ำหวานล่อใจผู้หญิง ขณะที่นายทุนคว้าเรือนร่างผู้หญิงเป็นสินค้าล่อใจเชื่อมลูกค้า ขายความเป็นแม่

วันนี้ (5 มี.ค.) เมื่อเวลา 10.00 น. ที่ลานกิจกรรมเกาะพญาไท อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดกิจกรรมรณรงค์วันสตรีสากล 8 มี.ค. โดยมีการแสดงละครชุด “ห้องสีขาว” สะท้อนปัญหาผู้หญิงกับสุรา จากนั้นนิสิตนักศึกษาหญิงเดินรณรงค์บริเวณป้ายรถเมล์ สถานีรถไฟฟ้า BTS แจกสติกเกอร์ “ไม่เสี่ยง...เลี่ยงดื่ม” และแผ่นพับการ์ตูนเล่าเรื่องราวผู้หญิงตกเป็นเหยื่อน้ำเมาสู่การถูกล่วงละเมิดทางเพศ

น.ส.วสุนันท์ นิ่มบุตร ฝ่ายส่งเสริมภาคีเครือข่าย มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวในเวทีเสวนา “ผู้หญิงกับสุรา มายาคติและผลประโยชน์” ว่า จากข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ผู้หญิงมีแนวโน้มดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้น ปี 2554 - 2557 ดื่มเพิ่มขึ้นถึง 636,428 ราย เฉลี่ย 159,107 รายต่อปี ส่วนผลวิจัยวิถีการดื่มสุราของแรงงานหญิงปี 2557 ของคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ พบว่า แรงงานหญิงเริ่มดื่มสุราครั้งแรก จำพวก Spy สาโท กระแช่ เหล้าแดงผสมโค้ก แล้วเพิ่มดีกรี ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการดื่ม ได้แก่ ปัญหาครอบครัว 28.91% ความรัก 25.59% การทำงาน 23.63% โดยส่งผลกระทบต่อตนเองคือ อุบัติเหตุ เสี่ยงต่อความรุนแรงทางเพศ ถูกล่วงละเมิด และครอบครัว

“ที่ผ่านมา ผู้หญิงเข้ามาขอรับคำปรึกษาจากมูลนิธิฯ เพิ่มมากขึ้น เกือบทั้งหมดถูกมอมเหล้า นำมาสู่การล่วงละเมิดทางเพศ ดังนั้น ทางออกคือผู้หญิงต้องพยายามห่างไกลจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่เข้าไปในพื้นที่เสี่ยง เช่น ร้านเหล้า ผับ บาร์ หรือกิจกรรมที่มีของมึนเมา หากต้องเข้าไปต้องระมัดระวัง ทั้งนี้ ปัญหาคุกคามทางเพศส่วนใหญ่มักจะเกิดกับวัยรุ่น นิสิตนักศึกษา จึงเห็นด้วยกับนโยบายให้ร้านเหล้าอยู่ห่างไกลสถานศึกษาและควบคุมใบอนุญาตขายไม่ให้มีมากเกินไป” น.ส.วสุนันท์ กล่าว

ดร.ชเนตตี ทินนาม อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ ม.เกษมบัณฑิต กล่าวว่า เรื่องผู้หญิงกับสุรามีมายาคติบางอย่าง ทำให้การแก้ปัญหาคลาดเคลื่อน คือ 1. ผลวิจัยผู้ชายดื่มมากกว่า จนเกิดมายาคติว่า ผู้หญิงมีความเสี่ยงน้อย สังคมจึงละเลยไม่ดูแลเอาใจใส่ปกป้อง ถูกผลักให้เป็นคนชายขอบในการรณรงค์แก้ปัญหา 2. ผู้หญิงดื่มเหล้าถูกนำเสนอในภาพที่บิดเบี้ยวจากความเป็นจริง เช่น ภาพยนตร์ ทำให้ผู้หญิงกลายเป็นนักดื่ม เป็นเมรีขี้เมา กลายเป็นสภาวะเหนือจริง และตีกรอบให้คนเชื่อว่านั่นคือภาพความเป็นจริงของผู้หญิง 3. สร้างความเชื่อผิดๆ ว่า ไวน์ เป็นเครื่องดื่มที่ทำลายสุขภาพน้อยกว่าเหล้า จึงเป็นเครื่องดื่มยอดนิยมสำหรับผู้หญิง กลายเป็นความเชื่อทางวัฒนธรรมที่ถูกตำหนิน้อยกว่าการดื่มเหล้า ที่น่าตกใจคือ การพัฒนารสชาติใหม่ๆ เพิ่มรสหวาน เช่น สุราผสมน้ำผลไม้ เหล้าปั่น เหล้าถัง ค็อกเทล เป็นการทำให้เหล้ากลายพันธุ์ ดูภายนอกจะมีสีสันสวยหวานสดใส เด็กวัยรุ่นผู้หญิงจะรู้สึกว่าเหมาะกับตัวเอง ไม่คิดว่าจะเมาและไม่ได้เป็นการทำผิดอะไรกับการดื่ม เพราะรูปลักษณ์ถูกทำให้ดูห่างจากความเป็นเหล้าที่สังคมคอยห้ามปราม

“พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ได้ตีกรอบ ไม่ให้โฆษณาส่งเสริมการขายในรูปแบบต่างๆ ทำให้ธุรกิจเหล่านี้ย้ายไปจับจองพื้นที่บนเรือนร่างผู้หญิง เช่น สาวเชียร์เบียร์ พริตตีชงเหล้า ผู้หญิงจะถูกสร้างอัตลักษณ์ขึ้นมาใหม่ ต้องสวมเสื้อผ้าที่เต็มไปด้วยเครื่องหมายการค้า การอวดเรือนร่าง เย้ายวนดึงดูดทางเพศ เหล้าถูกทำให้เป็นสินค้าที่เชื่อมโยงกับการเป็นวัตถุทางเพศ สินค้าที่ถูกขนานนามว่า “แบรนด์บาป” เหล่านี้ ยังได้ทำให้คุณลักษณะของความเป็นแม่ของผู้หญิงถูกใช้เป็นเครื่องมือทำการตลาดน้ำเมาแบบ CSR โดยชักชวนคู่แม่ลูกมาทำกิจกรรมเพื่อสังคม ในวาระสำคัญต่างๆ” ดร.ชเนตตี กล่าว

น.ส.เบญจพร บัวสำลี อาจารย์ประจำคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์และสวัสดิการสังคม ม.หัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ กล่าวว่า จากบทเรียนชีวิตของตนเอง ประเด็นสำคัญคือ ร้านเหล้าข้างมหาวิทยาลัย ที่ส่งผลต่อพฤติกรรมในการดื่ม หากไม่มีร้านเหล้าก็ยากที่นักศึกษาจะออกไปดื่มได้อย่างเสรี ดังนั้น เพื่อตัดวงจรเส้นทางการดื่ม ร้านเหล้ารอบมหาวิทยาลัยต้องไม่มี แน่นอนว่านี้คือเรื่องยาก เพราะมันเป็นเรื่องผลกำไร ผลประโยชน์ และเป็นความสัมพันธ์เชิงอำนาจกับมหาวิทยาลัยที่เปิดช่อง ซึ่งมหาวิทยาลัยต้องต่อสู้ ในฐานะที่มีหน้าที่ดูแลกำกับนักศึกษา วางกฎระเบียบ กติกา เหมือนที่มหาวิทยาลัยหัวเฉียวได้มีแนวปฎิบัติอยู่ในขณะนี้ ซึ่งได้ผล โดยทำงานร่วมกัน ทั้งกับตำรวจในพื้นที่ กรมสรรพสามิต และส่วนท้องถิ่น ธุรกิจนี้อยู่ได้เนื่องจากมีกลุ่มเป้าหมาย คือ นักศึกษา เมื่อมีกฎระเบียบเคร่งครัด ดูแลไม่ให้นักศึกษาเข้าไปยุ่งเกี่ยว ร้านเหล้าก็อยู่ไม่ได้ เมื่อก่อนร้านเหล้าข้างมหาวิทยาลัยมีจำนวนมากแต่ล่าสุดเหลือแค่ 2 ร้าน

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่



กำลังโหลดความคิดเห็น