โฉมหน้ารถไฟรางคู่ ยุค “บิ๊กตู่” บรรดาทุกหน่วยงานเกี่ยวข้องขานรับ ให้เป็นทั้งทางคู่และความเร็วสูง ขณะที่วงในคมนาคมเชื่อระบบนี้จะทำให้รัฐสูญเสียมากกว่า แต่ไม่มีใครกล้าคัดค้าน ส่วนรัฐบาลสมประโยชน์ เพราะเป็นนโยบาย “บิ๊กตู่” จริงๆ ไม่ได้เดินตาม 2 พี่น้องชินวัตร ด้านวงการค้าที่ดินโคราชคึกคักเพราะโครงการตัดถนนยุค คสช. ทั้งวงแหวนรอบเมือง มอเตอร์เวย์ และรถไฟรางคู่ทำให้เมืองโคราชบูมอีกครั้งหนึ่ง
นโยบายพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ ถือเป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. โดยเฉพาะในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาจะพบว่าโครงการรถไฟความเร็วสูงและรถไฟรางคู่ ที่ค้างคามาหลายรัฐบาล ได้รับการผลักดันและเดินหน้าอย่างชัดเจน จนทำให้เกิดกระแสวิจารณ์ว่าเป็นการเดินตามนโยบายของ 2 พี่น้องตระกูลชินวัตร และอาจมีการหมกเม็ดเกิดขึ้นในโครงการก่อสร้างเมกะโปรเจกต์ที่มีการผสมผสานระหว่างความเร็วสูงและรางคู่เข้าด้วยกัน
ในแผนพัฒนาเดิมนั้น จะมีการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงในเส้นทางกรุงเทพฯ-หนองคาย, กรุงเทพฯ-ระยอง, พร้อมกับมีการก่อสร้างรถไฟรางคู่ เพื่อใช้ในการเดินทางและบรรทุกสินค้าได้สะดวกและรวดเร็วขึ้น ซึ่งเป็นการก่อสร้างรถไฟรางคู่ขนาดราง 1.435 เมตร วิ่งความเร็วสูงสุด 160 กม.ต่อชั่วโมง รวม 2 เส้นทางคือ สาย หนองคาย-นครราชสีมา-ท่าเรือแหลมฉบัง ระยะทาง 737 กม. วงเงิน 392,570 ล้านบาท และสายเชียงของ-เด่นชัย-บ้านภาชี ระยะทาง 655 กม. วงเงิน 348,890 ล้านบาท รวม 2 เส้นทางวงเงิน 741,460 ล้านบาท
เปลี่ยนจาก 2 เป็น 3 เส้นทาง
อย่างไรก็ดี ภายหลังการเข้ายึดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้า คสช. ได้ให้นโยบายชัดเจนในเรื่องการก่อสร้างรถไฟรางคู่ แต่จะไม่ให้ความสำคัญกับรถไฟความเร็วสูง เนื่องจากรถไฟความเร็วสูงต้องใช้งบประมาณในการก่อสร้างมาก อีกทั้งเชื่อว่าจะได้ประโยชน์ไม่คุ้มค่า แต่ก็มีเสียงกระซิบจากคนในรัฐบาลเล็ดลอดออกไปถึงการรถไฟแห่งประเทศไทยว่า ความจริง พล.อ.ประยุทธ์ ก็สนใจและอยากให้มีการพัฒนารถไฟความเร็วสูง ซึ่งจะช่วยในการพัฒนาทั้งในเชิงธุรกิจและการท่องเที่ยวในอนาคตภายหลังการเปิด AEC
“พล.อ.ประยุทธ์ต้องการให้โครงการรถไฟความเร็วสูงและรถไฟทางคู่เกิดทั้งคู่ แต่ต้องไม่ใช่เป็นการเดินตามนโยบายของอดีตนายกฯ ทักษิณ หรือ นายกฯ ยิ่งลักษณ์ และต้องเป็นโครงการที่เกิดจากรัฐบาล พล.อประยุทธ์จริงๆ”
แหล่งข่าวบอกว่า ด้วยสัญญาณดังกล่าวที่สื่อไปยังหน่วยงานปฏิบัติ ทั้งการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.) กระทรวงคมนาคม จึงเป็นที่มาของการปรับแผนการก่อสร้างทั้งหมดเกิดขึ้น โดย สนข .ได้มีการสอบถามไปยัง รฟท.ในฐานะผู้ใช้ว่า ให้คัดเลือกโครงการเร่งด่วนมาว่าต้องการจะก่อสร้างเส้นทางสายใดบ้าง และจากนั้น สนข.ในฐานะหน่วยแผนจะดำเนินการศึกษา ออกแบบและนำไปสู่การประมูลงานก่อสร้างต่อไป
ดังนั้นด้วยนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ และความต้องการใช้ของ รฟท. จึงเป็นที่มาของการปรับแผนและเปลี่ยนเส้นทางพร้อมเปลี่ยนวงเงินเป็น 3 ล้านล้านบาท ด้วยการก่อสร้างเป็นรถไฟรางคู่ขนาดราง 1,435 เมตร วิ่งด้วยความเร็วสูงสุด 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมงใน 2 เส้นทางดังกล่าว ถูกเปลี่ยนเป็น 3 เส้นทาง ประกอบด้วย 1.กรุงเทพฯ-นครราชสีมา-มาบตาพุด 2.กรุงเทพฯ-ระยอง 3. นครราชสีมา-หนองคาย พร้อมปรับเพิ่มความเร็วสูงสุดเป็น 180 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
สำหรับการก่อสร้างรถไฟรางคู่ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จึงมีรูปแบบเป็นรางทางคู่ขนาด 1.435 เมตร (Standard Gauge) ใช้ระบบรถไฟที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าเพื่อรองรับการเชื่อมต่อกับเส้นทางรถไฟที่จะเชื่อมกับ สปป.ลาวและจีนในอนาคตซึ่ง นางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ ปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวไว้ว่า โครงการเดินรถรางคู่ดังกล่าว จะเป็นการนำโครงการรถไฟความเร็วสูงที่ สนข. ได้ศึกษาไว้มาศึกษาเพิ่มเติมในการปรับเปลี่ยนให้เป็นรถไฟรางคู่ระบบไฟฟ้าที่สามารถทำความเร็วสูงสุดได้ประมาณ 160กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งจะใช้งบประมาณน้อยกว่าและมีความคุ้มค่ามากกว่ารถไฟความเร็วสูง เพราะสามารถขนส่งได้ทั้งคนและสินค้า และในอนาคตประเทศไทยจะมีโครงการรถไฟความเร็วสูงก็สามารถใช้รางขนาด 1.435 ที่จะมีการสร้างใน 2 เส้นทางนี้ในการเดินรถได้ด้วย
ที่สำคัญในการเดินทางไปเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีกลาโหมเมื่อปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ประเทศจีนให้ความสนใจร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเส้นทางหนองคาย-นครราชสีมา-มาบตาพุด ด้วยเช่นกัน
สร้างรางคู่เผื่อความเร็วสูง ได้ไม่คุ้มเสีย
แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม ระบุว่า การผลักดันโครงการรถไฟรางคู่ที่สามารถรองรับรถไฟความเร็วสูงได้นั้นเป็นการสมประโยชน์กันทุกฝ่าย โดยเฉพาะรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ก็ถือว่าเป็นโครงการที่เกิดขึ้นตามนโยบาย ไม่ใช่ไปนำของรัฐบาลทักษิณและยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มาจัดทำ เพราะต้องมีการศึกษาและออกแบบกันใหม่หมดเนื่องจากระบบรางทั้งรางคู่และความเร็วสูงนั้นต่างกัน แต่โครงการทางคู่ของ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องมาใช้ด้วยกันได้ ขณะที่ รฟท.ก็สามารถผลักดันโครงการรถไฟรางคู่ออกมาได้ ส่วน สนข.ก็จะมีงบประมาณในการสำรวจ ศึกษา และออกแบบใหม่เช่นกัน
“ตอนนี้ต่างฝ่ายต่างได้ประโยชน์ โดยหารู้ไม่ว่า จริงๆ แล้วรถไฟรางคู่ และรถไฟความเร็วสูงไม่ควรจะอยู่ในที่เดียวกัน หรือสร้างเผื่อเอาไว้มันไม่คุ้มค่าและสิ้นเปลือง ในด้านวิศวกรรมการออกแบบเพื่อใช้ประโยชน์ 2 ประเภท บนรางเดียวกัน แม้จะทำได้ แต่เมื่อเราไม่รู้ว่ารถไฟความเร็วสูงจะเกิดเมื่อไหร่ และการขนส่งระบบรางที่ต้องใช้น้ำหนักกดทับจะทำให้รางเสียหายแค่ไหน หากต้องการใช้เพื่อความเร็วสูงก็อาจต้องยกเครื่องกันใหม่”
แหล่งข่าวอธิบายอีกว่า โดยทั่วไปอาจทำความเข้าใจกันว่าโครงการรถไฟทั้ง 2 ประเภท คือ “รถไฟความเร็วสูง” และ “รถไฟทางคู่” สามารถสร้างและออกแบบให้ไปด้วยกันได้ แต่ในความเป็นจริง ในทางเทคนิคจะมีปัญหา แม้ว่ารถไฟรางคู่จะมีประโยชน์หลายด้าน ทั้งช่วยลดต้นทุนโลจิสติกส์การขนส่งสินค้า และการขนส่งคน แต่การปรับทางให้เป็นแบบรถไฟความเร็วสูงออกแบบให้เป็นลูกผสม คือเป็น “รถไฟรางคู่” ที่มีการออกแบบเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคตพร้อมจะปรับมาเป็น “รถไฟความเร็วสูง” นั้น ในทางเทคนิควิศวกรรมไปด้วยกันไม่ได้ เพราะการออกแบบร่วมกันนั้น เป็นสิ่งที่ไปด้วยกันไม่ได้ ซึ่งถ้าจะสร้างต้องเลือกว่า รถไฟความเร็วสูง หรือรถไฟรางคู่ จะต้องเป็นอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น
อย่างไรก็ดี การที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ปรับเปลี่ยนเส้นทางรถไฟรางคู่และรถไฟความเร็วสูง ทำให้รัฐเสียงบประมาณในการศึกษาและออกแบบ ซึ่งในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีการสำรวจและออกแบบรายละเอียดเส้นทางรถไฟความเร็วสูงจากนครราชสีมา-หนองคายไว้แล้ว เหลือเพียงเส้นทางจากนครราชสีมา-มาบตาพุด
“รัฐบาล พล.อประยุทธ์ มาเปลี่ยนอีกก็ต้องศึกษากันใหม่ตลอดเส้นทาง เพราะไม่ใช่ความเร็วสูงแล้ว ต้องมาศึกษาออกแบบใหม่เป็นความเร็วสูงแต่เป็นรางคู่ ซึ่งก็ต้องมีการออกแบบใหม่ทั้งหมดด้วย ต้องมาใช้เงินจากการออกแบบครั้งนี้อีกครั้ง ทั้งที่หากว่าลองสืบค้นดูจะเห็นได้ว่า โครงการนี้เปลี่ยนมากี่รัฐบาลแล้วก็ยังไม่สามารถทำให้สำเร็จออกมาได้“
สำหรับโครงการรถไฟรางคู่ ที่เริ่มอย่างจริงจังในวันนี้ และพร้อมวางแผนจะเปิดตัวเป็นรถไฟความเร็วสูงในอนาคตนั้น จะเกิดความเสียหาย และมีปัญหาตามมาเยอะมาก รัฐบาล พล.อ ประยุทธ์ ต้องคิดให้รอบครอบ และ สนข.ต้องเป็นมันสมอง เพราะจะต้องเสียงบประมาณในการก่อสร้างทั้งหมด เนื่องจากอุปกรณ์ทั้งหมดไม่สามารถจะไปด้วยกันได้
นับตั้งแต่ “ราง” ของรถไฟความเร็วสูง จะต้องมีความแข็งแรงของตัวยึดไม้หมอนและอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อรองรับการวิ่งด้วยความเร็วสูงและเวลาเบรก ซึ่งในความเป็นจริงแล้วการออกแบบไม่เหมือนกันเลยโดยความเร็ว 180 กม./ชม. เหมาะสำหรับการจัดส่งสินค้า ซึ่งความเร็วสูงที่ใช้กันในต่างประเทศประมาณ 350 กม./ชม.ขึ้นไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับตัวรถ
รวมทั้งในแง่ของ “พื้น” รางรถไฟรางคู่นั้นภายในรางจะโรยด้วยกรวดธรรมดา ส่วนพื้นรถไฟความเร็วสูงจะมีลักษณะคล้ายๆ กับบีทีเอส จะยึดด้วยตัวตะขอ “งอ” เพราะด้วยลักษณะการกดทับของการบรรทุกสินค้า และบรรทุกคน ที่มีน้ำหนักไม่เท่ากัน และเมื่อน้ำหนักของรถไฟรางคู่ที่กดลงบนเพลาจะมีน้ำหนักมาก เพราะบรรทุกสินค้าแล้วยังมีถ่านหินแร่ น้ำมัน เมื่อน้ำหนักส่วนนี้ไปกดลงในรางรถไฟความเร็วสูง จะมีความเสียหายทรุดโทรมอย่างรวดเร็วไม่เกิน 5 ปีรางจะพัง รวมทั้งอุปกรณ์ก็เสียหาย ซึ่งหากจะนำรถไฟความเร็วสูงมาวิ่งอาจต้องเปลี่ยนราง หรือมีการลงทุนอีกครั้งเพราะต้องรื้อทำใหม่ทั้งระบบ
“ถ้าการออกแบบสำหรับการวิ่งในความเร็ว 200 และ 300 กม./ชม. แล้วให้มาวิ่งเพียงแค่ 160 -180กม./ชม. อุปกรณ์ที่นำมาใช้สำหรับยึดรางนั้นจะเสียประโยชน์ไปเลย จึงทำให้เป็นโครงการก่อสร้างรถไฟรางคู่ที่มีราคาแพง เพราะรางเหมือนกันแต่อุปกรณ์คนละแบบ ไม่ว่าจะเป็นขนาดของราง ตัวยึดรางกับไม้หมอน สถานีควบคุม ระบบอาณัติสัญญาณทั่วประเทศ ซึ่งในความจริงแล้ว รถไฟความเร็วสูงและรถไฟรางคู่นั้นมีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง โดยเฉพาะวิถีโค้ง ลองนึกว่าล้อเหล็กของรถไฟความเร็วสูงนั้นเป็นล้อเหล็กที่ไม่สามารถหดตัวได้ ถ้าระยะวิถีโค้งไม่ได้ แล้วรถไฟวิ่งมาเร็วมาก จะเกิดปัญหากับชีวิตผู้โดยสาร”
“บิ๊กตู่”ทำราคาที่ดินบูมรอบใหม่
อย่างไรก็ดี การที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ได้ประกาศเปลี่ยนเส้นทางการก่อสร้างเป็นระบบรางคู่นั้น สร้างความคึกคักให้กับวงการค้าที่ดินจังหวัดนครราชสีมาอีกครั้งหนึ่ง เพราะรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ยังมีการสั่งการให้เร่งออกแบบและก่อสร้างถนนวงแหวนรอบใหม่ที่จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป็นการเปิดพื้นที่ในตำบลต่างๆ เช่น ตำบลสีมุม พลกรัง ตำบลขามทะเลสอ และบริเวณโดยรอบ ซึ่งส่งผลให้ราคาที่ดินเริ่มมีการปรับราคาและมีการประกาศออกเสียงตามสายในงานทอดกฐินที่วัดแห่งหนึ่งที่ตำบลสีมุมว่า ขอให้ชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่นี้ทุกคน อย่ารีบร้อนขายที่ดิน
“ขอให้ชาวบ้านอย่ารีบร้อนขายที่ดินกัน เพราะรัฐมีโครงการตัดถนนวงแหวนเข้ามาในพื้นที่ของเรา ตอนนี้มีการปั่นราคากันเป็นไร่ละ 1.5 ล้านแล้ว จากเดิมเพียงไร่ละ 4-5แสนบาท และเชื่อว่าราคาที่จะขยับขึ้นไปอีก ขอให้ทุกคนใจเย็นๆ ถือไว้ก่อน”
นอกจากนี้ยังมีการประกาศซื้อ-ขายที่ในโลกออนไลน์กันมาก รวมไปถึงนายหน้าซื้อขายที่ดินพากันลงพื้นที่กันจำนวนมาก
สำหรับโคราชนอกจากจะมีโครงการตัดถนนวงแหวนแล้ว ยังมีการสำรวจเพื่อก่อสร้างมอเตอร์เวย์สายใหม่ “บางปะอิน-โคราช” ระยะทาง 196 กิโลเมตร รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ยังได้เร่งโครงการก่อสร้างรถไฟรางคู่ ที่สามารถรองรับโครงการรถไฟความเร็วสูงด้วยคือ สายหนองคาย-โคราช และโคราช-มาบตาพุด จะยิ่งเพิ่มศักยภาพให้จังหวัดนครราชสีมาบูมขึ้นไปอีก เพราะจะทำให้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ทั้งบ้านจัดสรร ห้างสรรพสินค้า โรงแรม แห่ไปลงทุนที่นี่มากขึ้น
“ยิ่งถ้ารัฐออกแบบสถานีรถไฟให้มีจุดสถานีเพิ่มขึ้น ราคาที่ดินตรงบริเวณสถานีก็จะพุ่งขึ้นไปอีก ตอนนี้ต้องคอยฟังว่ารัฐจะกำหนดแบบออกมาอย่างไร บริเวณไหนจะถูกเปิดพื้นที่บ้าง”
ขณะเดียวกัน แหล่งข่าวบอกอีกว่า ในทุกๆ รัฐบาลที่ผ่านมาจะหาประโยชน์จากโครงการก่อสร้างเหล่านี้มาก ด้วยการนำโครงการมาปัดฝุ่นศึกษากันใหม่ทุกรัฐบาล และบริษัทที่เป็นที่ปรึกษามาศึกษาโครงการต่างๆ ก็ล้วนแต่เป็นเครือข่ายนักการเมืองย่อมได้ประโยชน์ตามไปด้วย และทุกครั้งที่มีการสำรวจ ออกแบบกันใหม่ ก็มักจะมีใบสั่งให้มีการขยับเส้นทางไปผ่านที่ดินตนเองและพวกพ้องเพื่อให้ได้ประโยชน์เช่นกัน
“นักการเมืองปั้นกันทุกยุค ใครมานั่งคมนาคมก็หยิบโครงการมาปั้น มาปัดฝุ่นใหม่ ศึกษาใหม่ โดยเฉพาะสมัยที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งถือว่าเป็นคนที่คิดโครงการพวกนี้เก่งมาก”
การปัดฝุ่นโครงการเก่ามาปั้นใหม่ จึงเป็น “สัจธรรม” ที่สามารถค้นพบได้ในการเข้ามาเป็นรัฐบาลทุกยุคทุกสมัย ขณะที่รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะเดินตามรอยรัฐบาลที่มาจากพรรคการเมืองหรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องติดตาม
แต่ที่แน่ ๆ พล.อ.ประยุทธ์ ย้ำเสมอว่า การปราบปรามทุจริตคอร์รัปชันจะเป็นปัญหาที่ต้องจัดการใหม่เป็นอันดับแรกในการปฏิรูปประเทศ เพราะการคอร์รัปชันคือการบ่อนทำลายเศรษฐกิจและชื่อเสียงของประเทศไทยโดยตรง!