xs
xsm
sm
md
lg

คนยุคใหม่เลือกรับราชการ ชี้ “บิ๊กตู่” แม่เหล็กดูด- “เงินดี-มั่นคงสูง”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เทรนด์รับราชการกำลังกลับเข้ามาอยู่ในกระแสการเลือกอาชีพของคนไทยในยุค “บิ๊กตู่” ค่านิยมจากเจเนอเรชันพ่อแม่ ถ่ายทอดมาสู่ยุคปัจจุบัน จนถึงกลุ่มคนทำงานในอนาคต ที่มีผลวิจัยของกรมการจัดหางาน ระบุคนยุค Gen-Y และ Gen-Z เลือกอาชีพรับราชการหลังจบปริญญาตรี เพราะค่าตอบแทนดี-มีความมั่นคงสูง

ผลวิจัยของกองวิจัยการตลาดแรงงาน กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ในหัวข้อเรื่อง “การเตรียมความพร้อมเพื่อการศึกษาต่อของนักเรียน ม.3 และ ม.6” พบว่า เป้าหมายในอนาคตต้องการรับราชการมากกว่าที่จะเลือกทำงานในบริษัทเอกชน โดยกลุ่มตัวอย่างจากเด็กนักเรียน ม.3 ร้อยละ 36.03 ต้องการทำงานราชการหรือรัฐวิสาหกิจ ส่วนร้อยละ 15 ต้องการทำงานบริษัทเอกชน ขณะที่กลุ่มตัวอย่างของนักเรียน ม.6 พบว่าต้องการทำงานในหน่วยงานราชการหรือรัฐวิสาหกิจร้อยละ 47 ขณะที่ทำงานเอกชนร้อยละ 14

โดยการสำรวจในระดับ ม.6 ยังสะท้อนให้เห็นว่า การเข้าสู่การศึกษาในระดับปริญญาตรีกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 35 ต้องการศึกษาสายการแพทย์ วิศวกรรมศาสตร์ บัญชี เป็นต้น ส่วนร้อยละ 26 ต้องการเรียนด้านเศรษฐศาสตร์ บริหารธุรกิจ เป็นต้น ขณะที่สายการศึกษามีเพียงร้อยละ 20

“เงิน-มั่นคง” จูงใจให้คนอยากรับราชการ

สำหรับผลในการศึกษาครั้งนี้ กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน มีการนำไปจัดทำแผนการปฎิรูปตลาดแรงงานต่อไป โดย นายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมการจัดหางาน ระบุว่าจากข้อมูลในการสำรวจครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงค่านิยมของคนไทยที่สืบทอดกันมา ซึ่งเด็กในยุคนี้ได้รับอิทธิพลจากครอบครัวหรือผู้ปกครอง ที่พ่อและแม่มีอาชีพรับราชการ จึงอยากให้ลูกรับราชการเช่นกัน อีกทั้งด้วยความมั่นคงทั้งในเรื่องอัตราเงินเดือน สวัสดิการและเงินบำเหน็จบำนาญหลังเกษียณนั้น น่าจะทำให้นักเรียนชั้น ม.ต้น และ ม.ปลายวางเป้าหมายเป็นราชการ ถือเป็นธรรมชาติโดยทั่วไปของคนไทยที่ถูกปลูกฝังมาตั้งแต่รุ่นก่อนๆ
นายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมการจัดหางาน

“สังคมไทยเชื่อว่าอาชีพรับราชการเป็นอาชีพที่มั่นคงและมีเกียรติ ซึ่งปัจจุบันคนไทยยังไม่ได้เปลี่ยนความคิดนี้รวมทั้งสิ่งที่เข้ามาเสริมอาจจะเป็นเพราะอาชีพของครอบครัวผู้ปกครอง ซึ่งเป็นสภาพแวดล้อมที่ใกล้ตัวเด็กนักเรียนกลุ่มที่เราทำการวิจัยมากที่สุด ทำให้มีความคิดอยากทำงานที่คล้ายๆกับครอบครัวทำมาก่อน”

ดังนั้นหากมองย้อนไปจะพบว่าความต้องการให้ลูกหลานเข้ารับราชการไม่ใช่เรื่องใหม่ของสังคมไทย เพราะสมัยรุ่นพ่อแม่นั้นค่านิยมในการทำงานราชการก็บูมมานานแล้ว ตั้งแต่เจเนอเรชันแรกๆ เบบี้บูมเมอร์ (พ.ศ.2489-2507) ที่พ่อแม่ในยุคก่อนๆ มักตอกย้ำให้ลูกหลานเรียนหนังสือเก่งๆ เติบโตขึ้นไป “จะได้เป็นเจ้าคนนายคน”

ขณะเดียวกันคนในยุคนั้น ก็มักจะชี้แนะหรือสั่งสอน ด้วยการยกสุภาษิตโบราณมาเป็นเครื่องเตือนใจลูกหลานให้เห็นอนาคตว่า “10 พ่อค้าไม่สู้หนึ่งพระยาเลี้ยง” หากใครคิดไปทำงานเอกชน

แนวคิดการเข้ารับราชการจึงมีการถ่ายทอดมายังรุ่นต่อรุ่น

อย่างไรก็ดีในยุคของเจเนอเรชันเอ็กซ์ : Gen-X (พ.ศ. 2508-2522) จะเป็นยุคที่คนจำนวนมากอยากเข้าสู่ตลาดแรงงานในภาคเอกชนมากกว่า เพราะด้วยอัตราเงินเดือนในช่วงนั้น จะพบว่าข้าราชการในระดับปริญญาตรีที่ได้รับนั้นจะต่ำกว่าภาคเอกชนมาก โดยเฉพาะในสายที่ขาดแคลนและยังเกิดภาวะสมองไหลจากภาครัฐเข้าสู่ภาคเอกชนทั้งในยุคก่อน Gen-X และยุค Gen-X ไปพร้อมๆ กัน

กระทั่งภาครัฐต้องมีการปรับอัตราเงินเดือนให้กับข้าราชการเพื่อจูงใจให้คนหันกลับเข้าสู่อาชีพราชการ พร้อมๆ กับโครงการสร้างข้าราชการพันธุ์ใหม่ เกิดขึ้นเช่นกัน

แต่เมื่อประเทศต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจทั้งในปี 2540 และต่อเนื่องมาตลอด ขณะที่ภาครัฐก็มีการปรับอัตราเงินเดือนให้กับข้าราชการ ทำให้คนรุ่นนั้นเริ่มหันมามองความมั่นคงในครอบครัว เพื่อสะท้อนให้คนรุ่นต่อไป จนก้าวเข้าสู่ยุค Gen-Y (พศ. 2523-2543) ซึ่งเป็นคนที่เติบโตมาพร้อมกับคอมพิวเตอร์ -อินเทอร์เน็ต และเทคโนโลยีไอที ที่มีความคิดและเป็นตัวของตัวเองมาก

“คนกลุ่มนี้กำลังเดินบนทางสองแพร่ง อยากทำงานในบริษัทเอกชนใหญ่ๆ เพราะเชื่อในความท้าทาย แต่ก็ต้องตกอยู่ในอิทธิพลของคนรุ่นพ่อ-แม่ ที่ชี้เหตุและผลเพื่อโอนเอียงให้ลูกเข้าสู่ระบบราชการ และจะต่อเนื่องไปถึงกลุ่ม Gen-Z ที่เกิดหลัง 2543”

สำหรับเหตุผลหลักๆ ที่ต้องการดึงลูกหลานเข้าสู่อาชีพราชการ จึงมีทั้งจากสภาพแวดล้อมใกล้ชิดที่คนในครอบครัวรับราชการแล้วเห็นว่า มีงานที่ดีมั่นคง และมีสวัสดิการที่ครอบคลุมตลอดช่วงชีวิตของการทำงาน ตั้งแต่จุดเริ่มต้นไปจนถึงบั้นปลายชีวิต โดยจะเห็นได้ว่าความแตกต่างด้านอัตราเงินเดือนและสวัสดิการของราชการในปัจจุบันนั้น ถือว่าล้ำหน้าเอกชนไปมาก

โดยเฉพาะจากนโยบายการปรับอัตราเงินเดือนราชการใหม่ เพื่อลดช่องว่างไม่ให้เงินเดือนราชการห่างจากบริษัทเอกชนมากนัก ส่งผลทำให้อัตราเงินเดือนราชการระดับปริญญาตรีในปัจจุบัน เริ่มต้นทึ่ 15,000 บาท ซึ่งก็ใกล้เคียงกับบริษัทเอกชนในยุคปัจจุบัน แต่ก็ยังมีบริษัทเอกชนบางแห่งยังให้เงินเดือนเริ่มต้นเฉลี่ยที่ 9.000 บาท แต่จะมีค่าตอบแทนอื่นๆ เช่น ค่าพาหนะ, ค่าโทรศัพท์, ค่าล่วงเวลา ที่จะเป็นส่วนที่บวกเพิ่มอีกไม่เกิน 1,500 บาท

ขณะเดียวกันรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญกับรายได้ของข้าราชการเป็นอย่างมาก จึงมีนโยบายปรับขึ้นเงินเดือน โดยในปีงบประมาณ 2558 ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐทุกคนจะได้รับเงินเดือนเพิ่มขึ้นในอัตรา 8% ซึ่งสิ่งเหล่านี้อาจเป็นอีกเหตุผลที่ทำให้คนเจเนอเรชันต่อไปวางเป้าหมายชีวิตจะรับราชการหลังเรียนจบปริญญาตรีก็เป็นได้

เปิดใจข้าราชการ Gen-X

แหล่งข่าวในยุค Gen-X ที่วันนี้อายุเข้าเลข 4 รายหนึ่ง เปิดเผยกับ “special scoop” ว่า หลังจากทำงานเอกชนมาตั้งแต่จบการศึกษา และตัดสินใจเปลี่ยนจากเอกชนเข้าสู่ระบบราชการเมื่อ 2 ปีก่อนเพราะมีคนชักชวนให้มารับราชการ ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงคลัง ในตำแหน่งสเปเชียลลิสต์ ซึ่งจะมีการเสนอเงินเดือน 6 หลักสูงกว่าโครงสร้างทั่วไป และเห็นว่าสามารถนำความรู้ ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์จากการทำงานมาสร้างสรรค์ประโยชน์ให้กับองค์กรได้ ที่สำคัญยังมีความมั่นคง มีโบนัสและสวัสดิการที่ดีกว่าเอกชนอีกด้วย จึงตัดสินใจมาทำงานแห่งนี้

นอกจากนี้การที่พนักงานบริษัทเอกชนชื่อดังคนดังกล่าว ซึ่งมีเงินเดือนสูงลิบลิ่ว ยังยอมลาออกมารับราชการ หรือทำงานในหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ องค์กรมหาชน ที่อยู่ในกำกับของราชการ เพราะเขามองเห็นเรื่องความมั่นคง อีกทั้งรูปแบบของหน่วยงานในลักษณะองค์กรมหาชน สามารถตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ เพราะมีความคล่องตัว ไม่ติดระเบียบ เปรียบเสมือนการทำงานแบบเอกชนที่อยู่ในราชการ เมื่อบวกความมั่นคง ค่าตอบแทน และสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลที่เป็นเรื่องสำคัญมาก เทียบกันแล้วรับราชการคุ้มกว่าอยู่บริษัทเอกชนต่อไป

ขณะที่ข้าราชการกระทรวงแรงงาน ซี่งเป็นวัยทำงานในยุคปัจจุบันบอกว่า คนในรุ่นของตัวเองหลายคนไม่มีความคิดจะทำงานราชการ แต่ด้วยการมีชีวิตการทำงานที่มั่นคงนั้น เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้คนรุ่นใหม่ตัดสินใจทำงานราชการมากขึ้น รวมถึงการชี้นำให้เห็นถึงพิษเศรษฐกิจที่กระทบต่อรายได้จนทำให้ครอบครัวมีปัญหา ซึ่งมีส่วนสำคัญทำให้ตนเองตัดสินใจเลือกทำอาชีพราชการ

“อยู่ตรงนี้อาจจะดีกว่า อย่างน้อยไม่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจแน่นอน” ข้าราชการกระทรวงแรงงาน บอกและอธิบายอีกว่า ไม่เพียงเรื่องความมั่นคงเท่านั้น เพราะในอีกมุมมองที่ทำให้คนรุ่นใหม่หันมารับราชการ เป็นเพราะสิ่งแวดล้อมพ่อแม่และค่านิยมที่เห็นว่าลูกรับราชการแล้วจะมีหน้ามีตาในสังคม ซึ่งในปัจจุบันความคิดในอดีตนี้ยังไม่เปลี่ยน และดูเหมือนจะกลับมาอีกครั้ง ด้วยปัจจัยสนับสนุนต่างๆ ที่ทำให้เทรนด์ทำงานราชการ กำลังตีกลับมาเช่นเดียวกับสมัยรุ่นพ่อแม่ของเรา

“คนรุ่นใหม่เริ่มจะเข้ามา ซึ่งหากระบบทำได้ดีจริงๆ จะสามารถคัดกรองคน และทำให้คนได้มีโอกาส ซึ่งคิดว่าเทรนด์เข้าสู่อาชีพราชการจะกลับมา และถ้าคนที่ทั้งเก่งและดี จะยิ่งมีโอกาสเยอะในการเป็นข้าราชการ”

นโยบาย “บิ๊กตู่” ดูดคนเข้าสู่ราชการ

แหล่งข่าวในกระทรวงแรงงาน บอกอีกว่า การที่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ ได้วางนโยบายหลักโดยให้ความสำคัญกับข้าราชการนั้น ถือเป็นนโยบายต่อเนื่องที่จะมีการปรับรายได้หรือขึ้นเงินเดือนให้ข้าราชการมิใช่เฉพาะในปีนี้เท่านั้น
ซึ่งจุดนี้เองที่ทำให้มีการหยิบยกมาเป็นประเด็นในการเปรียบเทียบ เพราะถ้าจะโฟกัสถึงเวลาในการทำงานเท่ากัน หรือความซับซ้อนในงาน การทำงานรับราชการน่าจะคุ้มกว่า หลายๆ คนที่ทำงานเอกชน เมื่ออายุมากแล้วจะเห็นว่าท้ายที่สุด ในบั้นปลายของการทำงานจะไม่มีความแตกต่าง ทั้งในด้านระดับรายได้ ซึ่งการทำงานราชการจะมีความมั่นคงและสบายใจกว่าด้วยซ้ำ

“เพราะการทำงานบริษัทเอกชนมีการแข่งขันสูง เมื่อตำแหน่งหน้าที่การทำงานเติบโตมากๆ ขึ้น ความเสี่ยงยิ่งสูงมากขึ้น แทนที่จะรู้สึกว่ามีความมั่นคงมากขึ้น ตรงกันข้ามการทำงานในบริษัทเอกชนโอกาสในการปรับเปลี่ยนขององค์กรมีสูงกว่า แตกต่างกับงานราชการเมื่อมีตำแหน่งสูงขึ้นนั้น ถือว่ายิ่งโต ยิ่งมั่นคง”

ที่สำคัญเมื่อมีการปรับโครงสร้างอัตราเงินเดือนราชการ ทั้งเงินเดือนขั้นต่ำและโครงสร้างระดับปริญญาตรีนั้น จะรวมทั้งระดับอื่นๆ ด้วยเพราะเงินเดือนราชการเวลาปรับจะขึ้นเงินเดือนยกทั้งแผง ทุกๆ ระดับ ขยับตามๆ กัน ข้างบนอาจเพิ่มน้อย ส่วนข้างล่างเพิ่มมากกว่า เพื่อลดช่องว่างในเรื่องอัตราเงินเดือนด้วย

แหล่งข่าวจากกรมแรงงาน อธิบายว่า การที่รัฐปรับอัตราเงินเดือน จะมีผลให้เอกชนต้องพยายามปรับขึ้นเงินเดือนยกแผงเหมือนกัน และจากสถานการณ์ขาดแคลนแรงงานในทุกๆ ระดับ ทั้งระดับปฏิบัติการและหัวกะทินั้น ทำให้ราคาในตลาดที่จ้างกัน จะต้องสูงกว่าราชการเพื่อสร้างแรงจูงใจ ให้คนไปทำงานเอกชน เพราะหากคนมองว่าเงินเดือนข้าราชการและเอกชนเท่ากันเมื่อไหร่ จะส่งผลให้คนเข้าสู่อาชีพราชการมากกว่า

“เห็นได้ว่าบริษัทเอกชนหลายๆ แห่งต้องมีการปรับอัตราค่าจ้างใหม่ บางแห่งเริ่มจะขยับในส่วนค่าครองชีพ ไม่ขึ้นตรงๆ คืออาจจะไม่ได้ขึ้นเงินเดือนแต่ยังมีเงินด้านอื่นๆ เข้ามาเพิ่มและเมื่อบวกรวมกันแล้วมีเงินเดือนที่มากกว่า ในทุกๆระดับมีการปรับขึ้น โดยเฉพาะการปรับค่าแรงเอกชนเริ่มต้นที่ 300 บาทต่อวัน ซึ่งบางครั้งกระทบต่อคนทำงานรุ่นเก่าที่บริษัทต้องปรับขึ้นเงินเดือนให้เหมือนกัน เพราะเด็กจบใหม่มีเงินเดือนใกล้คนรุ่นเก่า ไม่มีแรงจูงใจในการทำงานหากว่ามีการเปรียบเทียบ”

ขณะเดียวกันบริษัทเอกชนที่ต้องการคนเก่งๆ เข้ามาอยู่ในองค์กร ก็อาจจะเลือกซื้อตัวข้าราชการไปก็มี ดังนั้นรัฐจึงต้องมีระบบเข้ามาป้องกันไว้ไม่ให้โดนซื้อตัวไป

“บางหน่วยงานของรัฐ เช่น หน่วยงานประกันสังคม ยังต้องจ้างคนนอกเพื่อมาดูในเรื่องการลงทุนของกองทุนประกันสังคม ซึ่งรัฐก็ต้องให้ค่าจ้างในอัตราของเอกชนทั้งที่ทำงานในราชการ เพราะการดูพอร์ตการลงทุนที่มีเม็ดเงินลงทุนมหาศาลเป็นเรื่องที่สำคัญมาก”

ดังนั้นเมื่อคนหันมาให้ความสำคัญกับอาชีพราชการมากขึ้น ก็อาจจะเป็นจุดสำคัญให้บริษัทเอกชนคงต้องปรับนโยบายใหม่ เพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน และช่วงชิงคนเก่งเข้ามาอยู่องค์กรให้ได้มากที่สุด!

กำลังโหลดความคิดเห็น