xs
xsm
sm
md
lg

“วิษณุ” แจงร่าง กม.ตั้งศาลคดีทุจริต เหตุโกงขึ้นศาลเพียบ สนช.รับหลักการวาระแรก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วิษณุ เครืองาม (แฟ้มภาพ)
"วิษณุ" แจง สนช.ตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ เหตุใช้วิธีการปกติยาวนาน ใช้วิธีเดียวกับศาลฏีกาคดีนักการเมือง ไม่มีหมดอายุความ 1 ต.ค.เตรียมการเปิดศาล "กล้านรงค์" แนะครอบคลุมจนท.รัฐใช้สิทธิมิชอบ พิจารณาคดีผู้ให้-รับศาลเดียวกัน "ตวง" หวั่นจัดสมดุลกลไกใหม่กับองค์กรไม่ถูก "สมชาย" ขอกระบวนการจบใน 2 ปี "มณเฑียร" จี้จัดการอุปถัมภ์เส้นสายก่อน ก่อนมติที่ประชุมจะรับหลักการ

วันนี้ (14ม.ค.) ที่รัฐสภา การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยมีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช. คนที่ 1 เป็นประธานการประชุม มีวาระการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. ... ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้เสนอ

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมาย ขึ้นชี้แจงหลักการและเหตุผลว่า การจัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ จัดตั้งเหมือนศาลชำนัญพิเศษอื่นๆ ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้เริ่มจากสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ได้จัดทำและยกร่างขึ้นแล้วเสนอมายัง ครม. ซึ่งมีหลักการสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ได้กำชับขอให้เป็นเรื่องเร่งด่วน และจำเป็นต้องมีร่าง พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ เป็นกฎหมายแฝดในการนำไปบังคับใช้ ขณะนี้อยู่ในระหว่างการตรวจของคณะกรรมการกฤษฎีกา หากเรียบร้อยแล้วจะเสนอตามมาอย่างเร็วที่สุด การทุจริตและประพฤติมิชอบเกิดขึ้นเป็นอันมากในประเทศไทย และสลับซับซ้อนมากขึ้น เมื่อเข้าสู่กระบวนการด้วยวิธีการเหมือนปกติทั่วไปใช้เวลายาวนาน ล่าช้า ทำให้ผู้กระทำผิดได้ประโยชน์โดยไม่สมควร หากสามารถเร่งรัดโดยไม่เสียความเป็นธรรม และมีกระบวนการพิจารณาพิเศษ ควรจะมีศาลที่ทำเรื่องนี้โดยเฉพาะ ให้ผู้พิพากษาชำนัญพิเศษที่เชี่ยวชาญคดีนี้มาพิจารณา คัดเลือกจากคนที่เคยเป็นผู้พิพากษาหัวหน้าศาล หรือผู้พิพากษาในศาลอาญาไม่น้อยกว่า 10 ปี จะได้หลักประกันว่ามีผู้พิพากษาที่ชำนาญโดยเฉพาะ ก็จะพิจารณาคดีได้รวดเร็วขึ้น

นายวิษณุ กล่าวต่อไปว่า ศาลนี้จะใช้วิธีพิจารณาระบบไต่สวน เช่นเดียวกับศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่ศาลมีอำนาจเรียกพยานหลักฐานอื่นมาแสดงได้ ส่วนในกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหาหลบหนี จะไม่นับช่วงเวลาที่หลบหนี ให้ถือว่าอายุความจะหยุด ดังนั้นจะไม่ขาดอายุความในกรณีที่มีการหลบหนี การประพฤติมิชอบต่างๆ ก็จะดึงมาขึ้นศาลนี้ ส่วนศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองก็ยังคงอยู่ หากรัฐธรรมนูญกำหนดให้อยู่ ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบจะครอบคลุมบุคคลทั้งหมด ยกเว้นบุคคลที่ต้องไปขึ้นศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยศาลชำนัญพิเศษนี้เป็นระบบสองศาล เมื่อพิจารณาเสร็จแล้วสามารถยื่นอุทธรณ์เป็นศาลที่สองได้ ซึ่งต่อไปจะตั้งแผนกมารองรับและจบที่ศาลอุทธรณ์ ระหว่างนี้ ครม. ได้มีมติให้ไปเตรียมการเปิดศาลได้ภายในวันที่ 1 ต.ค. ของปีนี้

ทั้งนี้สมาชิกได้ลุกขึ้นอภิปรายสนับสนุน อาทิ นายกล้านรงค์ จันทิก อภิปรายว่า ตนเห็นด้วยที่จะทำให้คดีทุจริตดำเนินการได้รวดเร็วขึ้น แต่ขอตั้งข้อสังเกต 2ประการ กับร่าง พ.ร.บ นี้ คือ 1.การกำหนดอำนาจของศาลอาจไม่ครอบคลุมประเด็นเจ้าหน้าที่ของรัฐใช้สิทธิโดยมิชอบ เช่น ข้าราชการเบิกค่าเช่าบ้าน ค่าล่วงเวลา จะไม่เข้าข่ายความผิดฐานทุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ แต่เป็นความผิดอาญาเรื่องฉ้อโกง เห็นว่าน่าจะครอบคลุมไปถึงกรณีนี้เช่นกัน และ 2.ศาลน่าจะพิจารณาดำเนินคดีทั้งผู้ให้และผู้รับให้อยู่ในศาลเดียวกัน เพราะในกรณีนักการเมืองกระทำผิดเป็นผู้รับจะไปขึ้นศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง แต่ผู้ให้จะขึ้นศาลนี้ ทำให้เป็นการพิจารณาคดีเดียวกันใน 2 ศาล ทำอย่างไรจะเขียนกฎหมายให้ครอบคลุมได้

นายตวง อันทะไชย อภิปรายว่า กฎหมายฉบับนี้เป็นการปฏิรูปครั้งใหญ่ของประเทศ เพราะเราเผชิญกับภาวะวิกฤตทางการเมืองในปี 2549, 2552 และ 2556 มีจุดเริ่มต้นมาจากการทุจริต ที่นำไปการต่อต้านรัฐบาล ชุมนุมยืดเยื้อยาวนาน จนก่อให้เกิดความแตกแยก ถ้ามีศาลนี้ก็จะระงับยับยั้งวิกฤตของประเทศได้ ตนขอตั้งข้อสังเกตว่า ในขณะนี้เรามีสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) และศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ถ้าจัดสมดุลไม่ลงตัวกับกลไกใหม่ที่จะเกิดขึ้นจะกลายเป็นปัญหาใหม่ ทำให้การดำเนินการกับคดีทุจริตจะช้า ดังนั้นต้องดูว่ากลไกใหม่จะเชื่อมโยงได้อย่างไร และเห็นว่า เมื่อจัดตั้งศาลนี้ควรมีศาลนี้ศาลเดียวเพื่อดำเนินการโดยตรงด้วยความรวดเร็ว ไม่ควรมีศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอีก

ด้านนายสมชาย แสวงการ อภิปรายว่า ประเทศไทยมีปัญหาความยุติธรรมล่าช้า นับดูจากรัฐมนตรีที่ติดคุกได้ วันนี้ประชาชนตั้งความหวังอย่างยิ่งที่จะมีศาลดังกล่าว เป็นไปได้หรือไม่ที่จะมีการออกระเบียบของศาลให้มีกำหนดเวลาให้เสร็จสิ้นกระบวนการภายใน 2 ปี มีกระบวนการติดตามทรัพย์เอาคืนจากการทุจริต และมีการรณรงค์ต่อต้านการทุจริตให้เป็นรูปธรรม เช่น การพาข้าราชการและนักการเมือง โดยรวมถึงครอบครัวไปทัวร์เรือนจำ ทดลองใช้ชีวิตแบบนักโทษ จะทำให้เกิดความกลัวที่จะโกง

ส่วนนายมณเฑียร บุญตัน อภิปรายว่า ตนเห็นด้วยที่ใช้วิธีการไต่สวนในศาลนี้ จะทำให้ภาคประชาสังคมมีส่วนร่วมมากขึ้น และเห็นว่าเรื่องที่รัฐบาลจำเป็นต้องหยิบยกขึ้นมาคือเรื่องสังคมอุปถัมภ์และการใช้เส้นสาย ซึ่งเป็นปัญหาระดับต้นน้ำ ถ้าไม่มีกลไกจัดการเรื่องนี้หรือความเชื่อเรื่องนี้ จะมีผลต่อเนื่องไปถึงการทุจริตและประพฤติมิชอบ รวมไปถึงปัญหาการเลือกปฏิบัติ ควรเอามาพิจารณาร่วมกับการประพฤติมิชอบด้วย

ต่อมานายวิษณุได้ขึ้นชี้แจงว่า ในประเด็นของนายกล้านรงค์นั้น ตนขอฝากให้คณะกรรมาธิการของ สนช. พิจารณาปรับปรุงแก้ไขให้ชัดเจนด้วย กฎหมายแฝดที่จะส่งตามมาจะมีวิธีการพิจารณาทั้งหมด ซึ่งเชื่อมทุกทางกับ ป.ป.ช. เมื่อ ป.ป.ช.ไต่สวนชี้มูลเสร็จ ดูประเภทของผู้กระทำผิด ก็จะส่งขึ้นศาลนี้หรือศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ส่วนที่สมาชิกเห็นว่าศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอาจไม่จำเป็น จะมีหรือไม่อยู่ที่รัฐธรรมนูญจะกำหนดต่อไป เป็นเรื่องที่รัฐบาลไม่ก้าวล่วง

จากนั้น ที่ประชุมได้ลงมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. ... ด้วยคะแนนเสียง 174 ต่อ 0 งดออกเสียง 5 และตั้งคณะกรรมาธิการจำนวน 15 คน เพื่อพิจารณาต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น