ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - แรงงานพม่าโรงงานแหลมทองฯ แปรรูปไก่เนื้อ อ.สูงเนิน โคราช มาตามนัดชุมนุมประท้วงเป็นวันที่ 2 พร้อมยื่นข้อเรียกร้องเพิ่มเป็น 9 ข้อ ทั้งสิทธิการประกันสังคม-การหยุดงาน-การรักษาพยาบาล-ที่พัก-การลงโทษและการอำนวยความสะดวกทำพาสปอร์ต รวมทั้งให้ยกเลิกกฎเหล็กห้ามทาแป้ง “ทานาคา” เข้าทำงาน ทางบริษัทร่วม จนท.หน่วยงานรัฐเร่งเจรจา
วันนี้ (9 ต.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มแรงงานต่างด้าวสัญชาติเมียนมาร์ หรือพม่า พนักงานบริษัท แหลมทองโพลทริ จำกัด โรงงานแปรรูปเนื้อไก่ เลขที่ 1/10 หมู่ 8 ถ.มิตรภาพ กม.ที่ 223 ต.สูงเนิน อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา กว่า 300 คน ได้รวมตัวกันชุมนุมประท้วงและยื่นข้อเรียกร้องต่อทางบริษัทฯ เป็นวันที่ 2 หลังจากได้ชุมนุมครั้งแรกเมื่อวานนี้ (8 ต.ค.) ที่บริเวณสนามกีฬาข้างบ้านพักของพนักงาน ภายในโรงงาน
โดยเมื่อเวลา 09.30 น. กลุ่มพนักงานชาวพม่าได้ทยอยเดินทางมาร่วมชุมนุมบริเวณสนามกีฬาข้างบ้านพักของพนักงาน และกลุ่มมวลชนได้นั่งรอการเจรจากับทางบริษัท และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ทั้งแรงงาน, จัดหางาน, สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานและประกันสังคม
กระทั่งเวลา 11.30 น. ตัวแทนผู้ชุมนุม ผู้บริหารบริษัท และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องได้ตั้งโต๊ะเจรจาบริเวณพื้นที่ชุมนุมเพื่อเจรจาตามข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมซึ่งได้ยื่นข้อเรียกร้องเพิ่มเป็น 9 ข้อ จาก เดิมที่เมื่อวานนี้ (8 ต.ค.) มี 6 ข้อเรียกร้อง เพื่อให้แก้ปัญหาดังนี้
1. ให้ดำเนินการทำบัตรประกันสังคมให้พนักงานบางส่วนที่ไม่ได้รับสิทธิในการประกันสังคม ทั้งที่มีการหักเงินค่าประกันสังคมทุกเดือน 2. เวลาโรงงานหยุดงาน ซึ่งไม่เกี่ยวกับพนักงาน ให้โรงงานจ่ายเงินให้แก่คนงานด้วย 3. ยกเลิกการห้ามแรงงานทาแป้งทานาคาในขณะเข้าทำงาน 4. ระเบียบข้อบังคับของโรงงาน กรณีที่มีการตรวจพบว่าพนักงานดื่มสุราหรือของมึนเมาอย่างอื่น หรือมีความผิดเล็กๆ น้อยๆ อย่าหักค่าแรงหรือค่าล่วงเวลา ขอให้มีการแจ้งเตือนด้วยเอกสารก่อนทุกครั้ง
5. ข้อกำหนดเวลาการเข้าห้องสุขา ในช่วงเวลาทำงาน/1 กะ/8 ชั่วโมง ซึ่งกำหนดไว้ให้เข้าได้ 4 ครั้งๆ ละไม่เกิน10 นาทีนั้น ขอให้ผ่อนปรนหรือยืดหยุ่น หากพนักงานรายใดใช้เวลาดังกล่าวเกินเพียงเล็กน้อย ขออย่าได้มีการดำเนินการใดๆ ทั้งสิ้น 6. พนักงานที่หนังสือเดินทางกำลังหมดอายุ ขอให้ทางบริษัทฯ เร่งประสานต่ออายุให้โดยเร็ว ส่วนกรณีหมดอายุ ขอให้บริษัทช่วยหาแนวทางแก้ไขให้ด้วย อย่างเร่งรีบให้ออกจากงานโดยทันที
7. เวลาพนักงานไปโรงพยาบาล ให้มีล่ามไปด้วย 8. พนักงานที่ทำข้อตกลงจ้าง (MOU) กับบริษัทเรียบร้อยแล้ว ให้หาที่พักให้พนักงานด้วย 9. ต้องการพบและให้ผู้บริหารระดับสูงมาร่วมเจรจาเท่านั้น
โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจาหาข้อยุติร่วมกันตามข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมดังกล่าว ท่ามกลางดูแลความสงบเรียบร้อยของกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจและฝ่ายปกครอง
ล่าสุดเวลาประมาณ 17.10 น การเจรจาได้ข้อยุติพร้อมทำบันทึกข้อตกลงร่วมกัน โดยมีสาระสำคัญระบุว่า นายวิสิทธิ์ ตระการกีรติ รองผู้จัดการฝ่ายบุคคล ตัวแทน บริษัทแหลมทองฯ นายจ้าง กับ ผู้แทนลูกจ้างต่างด้าวจำนวน 15 คน ร่วมกับเจ้าหน้าที่ภาครัฐ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่เครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ ได้ร่วมเจรจาประนีประนอมเพื่อหาข้อยุติ โดยทั้ง 2 ฝ่ายตกลงกันได้ ดังนี้
1.กรณีเอกสารหนังสือเดินทางบริษัทฯ สามารถดำเนินการได้แล้วเสร็จ และส่งมอบให้ลูกจ้างจำนวน 430 คนได้ทันที
2.กรณีเงินสมทบกองทุนประกันสังคม บริษัทจะดำเนินการส่งเอกสารที่เกี่ยวข้องให้กับสำนักงานประกันจังหวัดเพื่อขึ้นทะเบียนให้ถูกต้อง สำหรับลูกจ้างรายใดที่ถูกหักเงินและนำส่งเงินสมทบไปแล้วแต่ไม่สามารถขึ้นทะเบียนได้ บริษัทฯ จะดำเนินการยื่นขอคืนเงินให้กับลูกจ้าง
3.กรณีค่าใช้จ่ายในการทำวีซ่าจำนวน 1,200 บาท ที่ลูกจ้างจ่ายไปแล้วนั้น เกิดปัญหาการทุจริต ทำให้ลูกจ้างไม่ได้รับสิทธิที่ถูกต้อง บริษัทฯ ได้ดำเนินการรับมอบอำนาจจากลูกจ้างฟ้องร้องดำเนินคดีต่อผู้กระทำผิด ขณะอยู่ในชั้นพนักงานอัยการ ส่วนค่าใช้จ่ายที่ลูกจ้างต้องจ่ายอีกจำนวน 1,200 บาทนั้น ผู้แทนนายจ้างรับว่าจะนำเสนอผู้บริหารเพื่อพิจารณาให้ความช่วยเหลือโดยจะแจ้งผลให้ทรายขายในวันนี้
4.กรณีการเลิกจ้างลูกจ้างจำนวน 11 คน บริษัทฯ รับว่าจะรับลูกจ้างกลับเข้าทำงานทั้งหมด โดยเปลี่ยนแปลงแผนกหรือหน้าที่ในการทำงาน
5.กรณีล่ามสำหรับพาลูกจ้างไปพบแพทย์ บริษัทฯ ได้จัดให้มีล่ามจำนวน 2 คน ลูกจ้างสามารถขอใช้บริการได้ตลอดเวลา
6.กรณีสภาพการจ้างอื่นๆ บริษัทฯ จะปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน
7.สำหรับการหยุดงานชุมนุมประท้วงของลูกจ้างในครั้งนี้ บริษัทฯ ไม่ถือเป็นความผิดและจะไม่ดำเนินการฟ้องร้องทั้งทางแพ่งและอาญาแก่ลูกจ้างที่เกี่ยวข้อง
8.ลูกจ้างที่ร่วมชุมนุมประท้วงกลับเข้าทำงานได้ตามปกติ
9.สำหรับข้อเรียกร้องอื่นๆ ของกลุ่มพนักงานชาวพม่า ลูกจ้างทั้งหมดไม่ติดใจในข้อเรียกร้องดังกล่าวอีกต่อไป
และ10. ค่าใช้จ่ายในการทำวีซ่า ตามขอ 3 บริษัทให้การช่วยเหลือลูกจ้างรายละ 500 บาท ลูกจ้างตกลงรับความช่วยเหนือของนายจ้าง
คู่กรณีทั้ง 2 ฝ่ายได้ฟังข้อความข้างต้นรับว่าถูกต้องเป็นความจริงทุกประกร จึงขอลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐาน จากนั้นกลุ่มผู้ชุมนุมสลายตัวในเวลาต่อมา