ไม่ทบทวนชะลอขึ้นค่าจ้าง 2 ปี อ้างผลสำรวจค่าครองชีพแรงงานอยู่ที่วันละ 270 บาท หากเกินกว่าวันละ 300 บาท พร้อมชงบอร์ดพิจารณาอีกครั้ง
วันนี้ (2 พ.ค.) นายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ ปลัดกระทรวงแรงงาน (รง.) ในฐานะประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) ค่าจ้าง กล่าวถึงข้อเรียกร้องของแรงงานที่เสนอให้ทบทบทวนการชะลอปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 2 ปี ในปี พ.ศ. 2557-2558 หลังจากที่มีการปรับขึ้นค่าจ้างวันละ 300 บาททั่วประเทศ โดยให้มีการปรับขึ้นค่าจ้างในปี 2558 ให้สอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อและค่าครองชีพว่า กระทรวงแรงงานเคยสำรวจค่าครองชีพของแรงงานจำนวน 20,000 คน ในหลายจังหวัดในช่วงเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2556 ซึ่งพบว่ามีค่าใช้จ่าย เช่น ค่าอาหาร ค่าที่พักรวมแล้วอยู่ที่คนละ 260-270 บาทต่อวัน ซึ่งยังเพียงพอต่อการดำรงชีพของผู้ใช้แรงงาน ส่วนที่มีข้อมูลของหน่วยงานอื่นๆ พบว่า แรงงานมีค่าครองชีพสูงกว่า 300 บาทต่อวันนั้น คงจะมีการสำรวจค่าใช้จ่ายอื่นๆ รวมเข้ามาด้วย ซึ่งไม่ใช่ค่าใช้จ่ายหลักการดำรงชีวิตของแรงงาน ดังนั้น ขณะนี้จะยังไม่มีการทบทวนการปรับขึ้นค่าจ้างตามอัตราเงินเฟ้อซึ่งเวลานี้อยู่ที่ร้อยละ 2
นายจีรศักดิ์ กล่าวอีกว่า การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจะทำตามกระแสไม่ได้ต้องดูข้อมูลอย่างรอบด้าน จากผลสำรวจของกระทรวงแรงงาน ขณะนี้ค่าครองชีพของแรงงานยังไม่เกินไปกว่าวันละ 300 บาท จึงยังเป็นไปตามมติเดิมของคณะกรรมการค่าจ้างไปก่อนที่ให้ชะลอปรับขึ้นค่าจ้างไว้ 2 ปี แต่กระทรวงแรงงานจะดำเนินการสำรวจค่าครองชีพแรงงานอีกรอบ คาดว่าจะทำในช่วงเดือน มิ.ย. ปีนี้ หากพบว่าค่าครองชีพของแรงงานเกินวันละ 300 บาท กระทรวงแรงงานก็พร้อมจะเสนอข้อมูลดังกล่าวให้คณะกรรมการค่าจ้างพิจารณาว่าควรจะทบทวนมติเดิมหรือไม่ เพื่อให้มีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในปี พ.ศ. 2558 ให้สอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อและค่าครองชีพของแรงงาน
ทั้งนี้ สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงานได้สำรวจค่าใช้จ่ายที่จำเป็นของแรงงานเพื่อพัฒนาฝีมือในทุกจังหวัดทั่วประเทศมีกลุ่มตัวอย่างทั้งสิ้น 23,840 ตัวอย่างในช่วงระหว่างวันที่ 1 เม.ย. - 30 มิ.ย. 2556 พบว่า แรงงานมีค่าจ้างเฉลี่ยวันละ 305.87 บาท ค่าเบี้ยขยันเฉลี่ยวันละ 26.51 บาท ค่าล่วงเวลา (โอที) เฉลี่ยวันละ 110.59 บาท ค่าเข้ากะเฉลี่ยวันละ 36.70 บาท รายได้อื่นๆ เฉลี่ยวันละ 100.69 บาท ทำให้มีรายได้รวมเฉลี่ยวันละ 357.47 บาท
ส่วนค่าใช้จ่ายของแรงงานมีค่าใช้จ่ายตามอัตภาพ ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตเฉลี่ยวันละ 258.75 บาท ได้แก่ ค่าอาหาร ค่าเครื่องดื่ม ค่าที่อยู่อาศัย ค่าสาธารณูปโภค ค่ารักษาพยาบาลและยา ค่าใช้จ่ายส่วนตัว ค่าพาหนะ และค่าใช้จ่ายตามคุณภาพ ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตบวกเพิ่มด้วยค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับความบันเทิงและภาษีสังคมเฉลี่ยวันละ 275.55 บาท ได้แก่ ค่าอาหาร ค่าเครื่องดื่ม ค่าที่อยู่อาศัย ค่าสาธารณูปโภค ค่ารักษาพยาบาลและยา ค่าใช้จ่ายส่วนตัว ค่าพาหนะ ค่าทำบุญ ทอดกฐิน ผ้าป่า ค่าใช้จ่ายเพื่อการพักผ่อนและท่องเที่ยว