วันนี้ (12 มี.ค.) นายโกมินทร์ ชาวนาใต้ รักษาการที่ปรึกษาวิชาการแรงงาน สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวในการเป็นประธานเปิดตัวการนำเสนอรายงานวิจัย “ค้นหาความจริงในอุตสาหกรรมทูน่ากับปัญหาแรงงานข้ามชาติ” ที่โรงแรม S31 สุขุมวิท 31 กทม.ว่า การทำวิจัยและรายงานข้อมูลต่อสาธารณชนในเรื่องนี้ ถือเป็นการเริ่มต้นในการแก้ไขข้อพาดพิงเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนของแรงงานข้ามชาติในไทย ว่าทุกภาคส่วนไม่ได้นิ่งดูดายในการตรวจสอบและแก้ปัญหา ซึ่งหน่วยงานรัฐ เอกชน และภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ควรร่วมกันในการแก้ปัญหา และทำให้ไทยหลุดจากข้อกล่าวหาเรื่องการค้ามนุษย์ของสหรัฐอเมริกาได้
นางกัณญภัค ตันติพัฒน์พงศ์ นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป กล่าวว่า ในปี 2556 สมาชิกกลุ่มผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป เช่น กลุ่มผู้ผลิตทูน่า อาหารทะเล ข้าวโพดหวานมีปริมาณการส่งออกกว่า 2.5 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 1.7 แสนล้านบาท ซึ่งการที่ไทยถูกจับตาจากประเทศคู่ค้าในเรื่องปัญหาการใช้แรงงานต่างด้าว ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการส่งออกสินค้าอาหารสำเร็จรูป ดังนั้น สมาคมฯจึงร่วมกับหน่วยงานรัฐและเอกชนดำเนินการแก้ปัญหาในเรื่องนี้ เช่น การลงนามประกาศเจตนาจำนงไม่ใช้แรงงานเด็กและแรงงานบังคับ การจัดทำมาตรฐานแรงงานที่ดีในงานประมง (จีแอลพี)
ดร.รัชดา ไชยคุปต์ หัวหน้าโครงการวิจัย “ค้นหาความจริงในอุตสาหกรรมทูน่ากับปัญหาแรงงานข้ามชาติ” ศูนย์วิจัยการย้ายถิ่นแห่งเอเชียสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำเสนอผลการวิจัยว่า ได้สำรวจลักษณะการจ้างแรงงานข้ามชาติในกิจการต่อเนื่องประมง (ธุรกิจอาหารสำเร็จรูป-ปลาทูน่า) ของประเทศไทยจำนวน 527 คน เป็นแรงงานพม่าและกัมพูชาจาก 13 บริษัท ใน 5 จังหวัด คือ สมุทรปราการ สมุทรสาคร สงขลา ระยอง และนครปฐม ในช่วงเดือน ก.พ.-มิ.ย.2556 โดยการสัมภาษณ์ใช้แบบสอบถามและสนทนากลุ่มย่อย ซึ่งผลการศึกษาสรุปได้ว่า แรงงานต่างด้าวทั้งหมดเป็นแรงงานถูกกฎหมาย และได้รับสิทธิและคุ้มครองอย่างถูกต้อง ไม่มีการใช้แรงงานเด็ก ไม่มีการใช้แรงงานบังคับ ไม่มีการใช้ความรุนแรง ไม่มีการล่วงละเมิดทางเพศและมีการจ่ายค่าจ้างตามกฎหมาย อีกทั้งพบแรงงานหญิงตั้งครรภ์ 6 คน ซึ่งทุกคนได้รับการคุ้มครองดูแลตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานและไม่ได้มีการเลิกจ้าง ทั้งนี้ แรงงานต่างด้าวพอใจในการทำงานร้อยละ 87.1 และไม่คิดจะเปลี่ยนงานร้อยละ 95.1
ดร.รัชดา กล่าวอีกว่า ผลวิจัยยังพบว่าแรงงานต่างด้าวส่วนใหญ่เข้ามาทำงานในไทยด้วยตนเอง ญาติชักชวน ผ่านบริษัทจัดหางาน และบางส่วนอาศัยนายหน้าทั้งในประเทศต้นทางและในไทยเข้ามาทำงาน โดยกลุ่มที่มีการจ่ายค่านายหน้ามาก่อนเข้าสู่การทำงาน 51 คน ต้องจ่ายเงินตั้งแต่เดือนละต่ำกว่า 5,000 ถึงมากกว่า 20,000 บาทต่อคน โดยเฉลี่ยถูกหักเดือนละต่ำกว่า 5,000 บาท และกลุ่มที่มีการหักเงินเพื่อจ่ายค่านายหน้าเป็นรายเดือนโดยลูกจ้างยินยอม 22 คน แต่ไม่ปรากฏในสลิปเงินเดือนอยู่ที่เดือนละ 1,000-2,000 บาทต่อคนโดยเฉลี่ยถูกหักเดือนละ 1,600 บาทมากที่สุด อีกทั้งนายจ้างมีการหักค่าที่พัก ค่าน้ำ ไฟฟ้าด้วยเป็นเงินต่ำกว่าเดือนละ 100 บาท โดยลูกจ้างยินยอมให้หักเงิน ส่วนการทำงานล่วงเวลา (โอที) นั้นก็ได้รับการยินยอมจากลูกจ้างโดยไม่ได้ถูกบังคับเฉลี่ยวันละ 2 ชั่วโมงต่อคน ในอัตราค่าล่วงเวลาเฉลี่ยชั่วโมงละ 51-54 บาท ส่วนเอกสารหนังสือเดินทางนั้น ส่วนใหญ่ลูกจ้างเก็บไว้เอง บางส่วนฝากให้นายจ้างช่วยเก็บและบางรายนายจ้างขอเก็บไว้ให้
“ผลวิจัยมีข้อเสนอแนะให้นายจ้างจัดทำเอกสารโดยแปลจากภาษาไทยเป็นภาษาของแรงงานต่างด้าวเพื่อให้ความรู้ในการปฏิบัติหน้าที่ ลักษณะงานที่ทำ รวมทั้งค่าจ้างและสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่ลูกจ้างต่างด้าวมีสิทธิได้รับตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานและนายจ้างไม่ควรขอเก็บหนังสือเดินทางของลูกจ้างต่างด้าวไว้เอง และการจ่ายค่าโอทีควรมีเอกสารจ่ายเงินเป็นลายลักษณ์อักษร” ดร.รัชดา กล่าว