xs
xsm
sm
md
lg

ถอดสินค้า อ้อย-เครื่องนุ่งห่ม ออกจากบัญชีการใช้แรงงานเด็ก-บังคับ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
ก.แรงงานสรุปผลการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ เตรียมเสนอขอถอดสินค้า อ้อย-เครื่องนุ่งห่ม ออกจากบัญชีการใช้แรงงานเด็ก-บังคับ

นายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงกรณีที่สำนักข่าวต่างประเทศบางแห่งและหน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชน ระบุว่า ประเทศไทยมีการทารุณกรรมแรงงานต่างด้าวในอุตสาหกรรมประมง และอาจส่งผลกระทบต่อการประเมินการจัดอันดับสถานการณ์การค้ามนุษย์ของประเทศไทยจากบัญชีการค้ามนุษย์ระดับ 2 เป็นระดับที่ร้ายแรงกว่านั้น ว่า ในปีที่ผ่านมากระทรวงแรงงานมีความตั้งใจและพยายามในการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์เป็นอย่างมาก ทั้งการนำเข้าแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านแบบบันทึกความเข้าใจทวิภาคีว่าด้วยความร่วมมือด้านการจ้างงาน ระหว่างไทย-ลาว ไทย-พม่า และ ไทย-กัมพูชา ตั้งแต่ปี 2553-2556 เพื่อปิดช่องทางการหลอกลวงแรงงานต่างด้าวจากนายหน้าเถื่อน ซึ่งขณะนี้อนุญาตให้ทำงานแล้วจำนวน 312,737 คน

นายจีรศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า มีการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศโดยรัฐเป็นผู้จัดส่ง อาทิ การจัดส่งไปทำงานที่สาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) ตามระบบการจ้างแรงงานต่างชาติ (อีพีเอส) การจัดส่งไปฝึกงานที่ประเทศญี่ปุ่น (ไอเอ็ม เจแปน) การจัดส่งไปทำงานภาคเกษตรในประเทศอิสราเอล และการจ้างตรงของประเทศอื่นๆ เช่น ไต้หวัน มาเลเซีย กาตาร์ สิงคโปร์ ฮ่องกง สหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ โดยในปี2556 มีแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศจำนวน 14,509 คน และการตั้งศูนย์ประสานบริการการไปทำงานต่างประเทศ (วันสตอปเซอร์วิส) ในส่วนภูมิภาคจำนวน 10 ศูนย์ ซึ่งคนหางานสามารถเข้าถึงบริการได้ด้วยตนเองจนจบกระบวนการไปทำงานต่างประเทศ โดยมีคนหางานมาใช้บริการจำนวน 45,865 คน และได้เดินทางไปทำงานต่างประเทศแล้ว 21,315 คน

ส่วนผลสรุปการตรวจแรงงานประมงและการดำเนินคดีในปี 2556 กระทรวงแรงงานออกตรวจแรงงานใน 22 จังหวัดที่ติดขายทะเล รวม 113 แห่ง มีลูกจ้างผ่านการตรวจจำนวน 2,267 คน แบ่งเป็นคนไทยจำนวน 317 คน สัญชาติพม่าจำนวน 1,407 คน ลาว 18 คน และกัมพูชา 525 คน และพบว่านายจ้างไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) คุ้มครองแรงงาน 12 แห่ง อาทิ ไม่มีการจัดทำทะเบียนลูกจ้าง ไม่กำหนดวันลา ซึ่งพนักงานตรวจแรงงานได้ออกคำสั่งให้นายจ้างปฏิบัติให้ถูกต้อง หากไม่ปฏิบัติตามจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย

“สินค้าประเภทอ้อยและเครื่องนุ่มห่มที่ถูกระบุว่ามีการใช้แรงงานเด็กและแรงงานบังคับ ก็มีสัญญาณที่ดีที่ไทยจะเสนอให้ถอดสินค้าทั้งสองชนิดนี้ออกจากบัญชี เนื่องจากผู้ประกอบส่วนใหญ่ให้ความร่วมมือโดยลงนามในบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) กับภาครัฐ เพื่อปฏิบัติตามแนวทางที่ตกลงกันไว้และได้ปรับปรุงกฎหมายคุ้มครองแรงงานที่เกี่ยวข้องในภาคเกษตร เพื่อให้แรงงานได้รับการดูแลคุ้มครองตามกฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพและเท่าเทียมกัน โดยแผนการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ในปี 2557 นี้ จะบูรณาการการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกตรวจเรือประมงใน 22 จังหวัดชายฝั่งทะเลรวม 1,124 ลำ ลูกจ้าง 38,360 คน พัฒนาแบบตรวจแรงงานให้มีประสิทธิภาพ จัดฝึกอบรมพนักงานตรวจแรงงาน จัดระเบียบแรงงานเพื่อให้แรงงานเข้าสู่ระบบการจ้างงานที่ถูกต้อง จัดทำฐานข้อมูลแรงงานประมงและเรือประมง ปรับปรุงแก้ไขกฎหมายและเผยแพร่ความรู้ให้กลุ่มเป้าหมายให้มากขึ้น” นายจีรศักดิ์ กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น