xs
xsm
sm
md
lg

บริษัทขอลดอัตราจ้างคนพิการ เหตุไม่จ้างต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนวันละ 300 บาท

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รองปลัด รง.เผยผลหารือจ้างงานผู้พิการกับสถานประกอบการ จ.ระยอง เสนอปรับสัดส่วนการจ้างงานคนพิการจากอัตรา ลูกจ้างปกติ 100 คนต่อผู้พิการ 1 คน เป็น 200 คนต่อ 1 คน พร้อมให้หักจำนวนลูกจ้างบางแผนกที่ผู้พิการทำงานไม่ได้ออก ขอมีส่วนร่วมบริหารกองทุนพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้พิการ แจงเหตุผลนายจ้างส่งเงินเข้ากองทุนถึงร้อยละ 85

วันนี้ (27 ม.ค.) นายสุเมธ มโหสถ รองปลัดกระทรวงแรงงาน (รง.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ กระทรวงแรงงานได้ส่งผู้แทนเข้าร่วมประชุมหารือผลกระทบจาก พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550 ให้แก่ผู้ประกอบการในพื้นที่จังหวัดระยอง ที่โรงแรมโกลเด้นซิตี้ จ.ระยอง ซึ่งที่ประชุมมีข้อเสนอในหลายประเด็น ได้แก่ การขอให้กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ออกบัตรให้แก่คนพิการ สถานประกอบการขอปรับสัดส่วนการจ้างงานคนพิการจากอัตราลูกจ้างปกติ 100 คน ต้องจ้างผู้พิการ 1คน เป็นลูกจ้างปกติ 200 คน ต้องจ้างผู้พิการ 1 คน เพื่อให้การคำนวณมูลค่าเงินที่ต้องจ่ายเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการลดลง ซึ่งปัจจุบันกฎกระทรวงกำหนดให้สถานประกอบการที่มีลูกจ้างปกติ 100 คน จะต้องจ้างงานผู้พิการ 1 คน หากไม่จ้างงานผู้พิการ ก็จะต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนวันละ 300 บาท ในเวลา 365 วัน หรือคิดเป็นเงินทั้งหมดปีละ 109,500 บาทต่อผู้พิการ 1 คน แต่หากไม่จ้างผู้พิการก็ดำเนินการตามมาตรา 35 การให้สัมปทาน จัดสถานที่จำหน่ายสินค้าหรือบริการ จัดจ้างเหมาในช่วงงานฝึกงาน หรือการช่วยเหลืออื่นๆ แก่คนพิการ หรือผู้ดูแลคนพิการ ซึ่งผู้ประกอบการเห็นว่าการดำเนินการตามมาตรา 35 ไม่ควรจะส่งเงินเข้ากองทุนเท่ากันในทุกกิจกรรม เพราะเป็นการช่วยเหลือคนพิการ หรือผู้ดูแลคนพิการให้มีอาชีพและมีรายได้มั่นคง ผู้พิการอาจพอใจในรายได้ที่ต่ำกว่า แต่ไม่ต้องเดินทาง จะได้มีเวลาดูแลบ้านและครอบครัว

รองปลัด รง.กล่าวอีกว่า ที่ประชุมยังเห็นว่าการคิดจำนวนคนพิการที่ต้องรับเข้าทำงานในสถานประกอบการ ควรเริ่มคิดในช่วงปีปฏิทิน และขอขยายเวลาการจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนฯจากเดิมในเดือนตุลาคม-มกราคม ให้เป็น มกราคม-มีนาคม ของทุกปี รวมทั้งในโรงงานที่มีแผนกคนพิการไม่สามารถทำได้ เช่น กลุ่มยานยนต์แผนกที่มีหุ่นยนต์ แผนกอัตโนมัติต่างๆ ซึ่งไม่สามารถให้คนพิการเข้าไปทำงานได้ ก็ขอให้หักจำนวนลูกจ้างจากบางแผนกที่คนพิการไม่สามารถทำงานได้ออกไปจากฐานการคำนวณการจ้างงานผู้พิการของสถานประกอบการแห่งนั้นด้วย และควรให้ผู้ประกอบการ หรือผู้แทนฝ่ายนายจ้างเข้าไปมีส่วนร่วมในการบริหารกองทุน เพราะผู้ประกอบการเป็นผู้นำส่งเงินเข้ากองทุน 85% ของเงินกองทุนทั้งหมด จึงมีส่วนร่วมในการบริหารกองทุน เช่นเดียวกับกองทุนประกันสังคม เพื่อความโปร่งใสและก่อประโยชน์สูงสุดต่อคนพิการอย่างแท้จริง ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานจะนำประเด็นเหล่านี้ไปหารือกับ พม.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น