สศช. ชี้ภาวะหนี้ครัวเรือนชะลอตามภาวะ ศก. แต่สถานการณ์ผิดนัดชำระหนี้กำลังน่าเป็นห่วง หลังพบไตรมาส 2 ยอดพุ่งแตะ 1.28 หมื่นล้าน หรือกว่า 50.5% ส่วนยอดหนี้บัตรเครดิตค้างจ่ายเกิน 3 เดือน พุ่งแตะ 28.4% ตอกย้ำความสามารถในการชำระหนี้ถดถอย อัตราการจ้างงานลด พร้อมคาดหวัง ศก. ฟื้นตัว ช่วยสถานการณ์ปรับดีขึ้น
นางชุตินาฎ วงศ์สุบรรณ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า แม้การก่อหนี้ครัวเรือนชะลอลงตามภาวะเศรษฐกิจ แต่ต้องเฝ้าระวังการผิดนัดชำระหนี้ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยไตรมาสที่ 2 ของปี 2557 สินเชื่อภายใต้การกำกับผิดนัดชำระหนี้เกิน 3 เดือนขึ้นไป อยู่ระดับ 12,810 ล้านบาท หรือคิดเป็น 50.5% เพิ่มขึ้นจากไตรมาสแรกที่อยู่ 12,141 ล้านบาท หรือ 42.0%
ขณะที่ยอดค้างชำระบัตรเครดิตเกิน 3 เดือนขึ้นไปอยู่ที่ 7,497 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 28.4% สะท้อนความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนที่ลดลง แต่คาดว่าเมื่อเศรษฐกิจภายในประเทศปรับตัวดีขึ้น จะทำให้การใช้จ่ายในครัวเรือน รวมถึงการชำระหนี้มีแนวโน้มที่ดีขึ้นตามไปด้วย
สำหรับสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ในไตรมมาสที่ 2 ของสินเชื่อเพื่อการอุปโภคส่วนบุคคลต่อสินเชื่อรวมยังเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 2.5% จากไตรมาสแรก 2.4% ซึ่งถือว่ายังอยู่ในระดับที่ไม่มากนัก ด้านเอ็นพีแอลของสินเชื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคลเพิ่มขึ้น 29.4% ขณะที่สัดส่วนต่อเอ็นพีแอลรวมอยู่ที่ 28.8% เพิ่มขึ้นจากไตรมาสแรกที่อยู่ 28.2%
อย่างไรก็ตาม การก่อหนี้ของครัวเรือนชะลอลง จากข้อมูลยอดคงค้างสินเชื่อเพื่อการอุปโภคส่วนบุคคลของธนาคารพาณิชย์อยู่ที่ 3,334,029 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.8% จากไตรมาสแรกอยู่ที่ 10.7% ชะลอลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 6 เป็นผลมาจากการสิ้นสุดโครงการรถคันแรก และความกังวลเกี่ยวกับรายได้ และการมีงานทำในอนาคต ส่งผลให้ครัวเรือนชะลอการใช้จ่าย
ทั้งนี้ ยอดคงค้างสินเชื่อเพื่อซื้อรถยนต์หดตัว 1.2% เทียบกับที่เพิ่มขึ้น 25.6% ในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ส่วนยอดคงค้างสินเชื่อเพื่อการซื้อที่พักอาศัย อยู่ที่ 12.7% เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 12.6% ด้านสินเชื่อเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลอื่นๆ ที่อยู่ในระดับ 13.6% ชะลอตัวลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วที่อยู่ 21.9%
นางชุตินาฎ กล่าวถึงภาวะสังคมไทยในไตรมาสที่ 2 ปี 2557 ว่า อัตราการจ้างงานลดลง 2.8% เป็นการลดลงของการมีงานทำในภาคการเกษตร 17.9% เนื่องจากภาวะภัยแล้ง ส่วนการมีงานทำภาคนอกการเกษตรเพิ่มขึ้น 6.8% ขณะที่อัตราการว่างงานเท่ากับ 1.0% เพิ่มขึ้น 0.74% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยแรงงานส่วนใหญ่มีชั่วโมงการทำงานเฉลี่ย 44.3 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 1.0% ค่าจ้างแรงงาน และเงินเดือนภาคเอกชนที่ยังไม่รวมค่าล่วงเวลา และผลประโยชน์ตอนแทนอื่นที่หักด้วยเงินเฟ้อแล้วเพิ่มขึ้น 9.8%
ผลการสำรวจภาวะการทำงานของประชาชนในไตรมาส 2/57 พบว่า สถานการณ์แรงงานไทยขณะนี้มีกำลังแรงงานอยู่ 38,400,000 คน โดยมีจำนวนผู้ว่างงาน 400,000 คน เพิ่มขึ้น 1% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากเศรษฐกิจชะลอตัว ทำให้การจ้างงานลดลง คาดว่าในครึ่งปีหลังจะดีขึ้นจากเศรษฐกิจมีแนวโน้มขยายตัว
ด้านสถานการณ์การค้ามนุษย์ยังต้องให้ความร่วมมือแก้ไข ซึ่งหลังจากที่ประเทศไทยได้รับการประเมินต่ำลงอยู่ในระดับ Tier3 ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำสุดของรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ ทำให้แนวทางที่จะต้องเร่งดำเนินการ คือ ป้องกันประชาชนกลุ่มเสี่ยงไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์ การพิจารณาแก้ไขปัญหาการใช้แรงงานบังคับในภาคอุตสาหกรรม และธุรกิจประมง และการพัฒนาระบบข้อมูล และการวิเคราะห์ข้อมูลให้มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับ
อย่างไรก็ตาม สศช.ต้องเฝ้าติดตามภาวะทางสังคมในอนาคต 5 เรื่อง ประกอบด้วย 1.การเร่งเพิ่มผลิตภาพแรงงานเกษตร เป็นส่วนหนึ่งที่มีความสำคัญต่อการยกระดับรายได้ครัวเรือน และผลิตภาพแรงงานของประเทศ 2.การป้องกันแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างครบวงจร เพื่อสร้างความมั่นคงทางสังคม 3.การระดมความร่วมมือดำเนินแนวทางมาตรการลดอุบัติเหตุการจราจรทางบกจากรถตู้สาธารณอย่างจริงจังต่อเนื่อง
4.การผลักดันการออกกฎหมายที่เกี่ยวกับกระบวนการรับตั้งครรภ์แทนทั้งระบบ เพื่อป้องกันการแสวงหาประโยชน์ 5.การเร่งส่งเสริมให้เด็กปฐมวัยมีพัฒนาการสมวัยทั้งด้านสติปัญญาและอารมณ์อย่างครบวงจร ทั้งในด้านการพัฒนาระบบการคุ้มครองทางสังคมให้ครอบคลุมทั่วถึง และมีคุณภาพ ทั้งจากสถาบันครอบครัว ครู และโรงเรียน รวมถึงภาครัฐควรอุดหนุน และให้ความช่วยเหลือเด็กในครัวเรือนที่มีความยากจนอย่างต่อเนื่อง