xs
xsm
sm
md
lg

เพื่อไทยโหม “รัฏฐาธิปัตย์” ถล่มสุเทพ หวังปิดแผล “เสื้อแดง” แบ่งแยกดินแดน!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“นปช.-เพื่อไทย” ดาหน้าออกมาโหมกระพือ “รัฏฐาธิปัตย์” ถล่ม “กำนันสุเทพ” ยัดข้อหากบฏ แถม ยังเล่นเกมให้ชาวโลกร่วมต้าน แท้จริงแล้วเป็นการแก้เกมของซีก “ยิ่งลักษณ์” หวังกลบเกลื่อนปัญหาการแบ่งแยกดินแดนของบรรดาลิ่วล้อคนเสื้อแดงที่ออกมาประกาศชัดเจนกว่า ด้านนักกฎหมายชี้ถ้า กปปส. ทำจริงเท่ากับเป็นการฉีกรัฐธรรมนูญ แต่การจะเอาผิด “สุเทพ” ไม่ง่าย เพราะเป็นเพียงแค่คำพูด ยังไม่มีการกระทำ อีกทั้งพูดภายใต้เงื่อนไขคำตัดสินของ ป.ป.ช. และศาลรัฐธรรมนูญที่ยังไม่เกิดขึ้น ส่วนเพื่อไทยยุ “ทหาร” เล่นงาน กปปส. แต่ถูกโบ้ยกลับให้ “ศอ.รส” ฟันเอง!

แม้การเคลื่อนไหวกดดันรัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ของกลุ่ม กปปส. เข้าสู่เดือนที่ 6 แต่ก็ไม่สามารถทำให้รัฐบาลชุดนี้พ้นไปจากอำนาจได้ โดยยังคงอยู่ในสถานะของรัฐบาลรักษาการ ความหวังในการต่อต้านรัฐบาลในครั้งนี้จึงต้องฝากความหวังไปที่คำตัดสินขององค์กรอิสระ ที่ใกล้จะถึงวันได้ข้อยุติ นั่นคือการชี้มูลความผิดในการทุจริตโครงการรับจำนำข้าวจาก ป.ป.ช. และคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญจากกรณีโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี จากตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ไปเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี หลังจากที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งให้คืนตำแหน่งให้กับนายถวิล

เมื่อโอกาสที่นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะถูกชี้มูลหรือถูกตัดสินให้พ้นสภาพจากความเป็นนายกรัฐมนตรีมีความเป็นไปได้มากขึ้น ขณะที่ทุกอย่างกำลังงวดเข้ามาทุกขณะ คนในพรรคเพื่อไทยจึงต้องดิ้นรนทุกวิถีทางเพื่อประคองการรักษาอำนาจไว้ให้ยาวนานที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการเดินเกมบนดินและใต้ดิน ใช้ทุกจุดโหว่ของฝ่ายตรงข้ามถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นช่องทางในการต่อสู้

แม้กระทั่งการเดินเกมโลกล้อมประเทศที่ขับเคลื่อนผ่านนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ที่อาศัยช่วงที่นายแดเนียล รัสเซล ผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐอเมริกาฝ่ายกิจการเอเชียแปซิฟิก นางคริสตี้ เคนนีย์ เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย พร้อมคณะ เข้าพบและหารือ โดยกล่าวว่า ผู้ช่วยรัฐมนตรีรายนี้ได้นำหนังสือของนายจอห์น แคร์รี รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ เพื่อแสดงความเป็นห่วงต่อสถานการณ์การเมืองของไทย และไม่ต้องการให้มีการยึดอำนาจหรือปฏิวัติรัฐประหาร ซึ่งเป็นประเด็นที่สหรัฐฯ ห่วงมาก

ถือเป็นเกมที่นายสุรพงษ์พยายามทำมาโดยตลอด ควบคู่กับการเดินเกมทางการเมืองเพื่อสกัดกั้นฝ่ายตรงข้าม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพุ่งเป้าโจมตีไปที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ในเรื่องการประกาศตั้งตัวเป็นรัฏฐาธิปัตย์

ดังนั้นพรรคเพื่อไทยหยิบฉวยเอาจังหวะในช่วงที่นายสุเทพพูดถึงเรื่องรัฏฐาธิปัตย์ขึ้นมาเป็นประเด็นในการโจมตี โดยเฉพาะเรื่องที่จะขอเป็นผู้ทูลเกล้าฯรายชื่อนายกรัฐมนตรีเอง ซึ่งหลายครั้งที่นายสุเทพเปิดช่องโหว่ให้กับฝ่ายรัฐบาล อย่างเรื่องนี้ก็เร็วไปที่พูดออกมา โดยที่ก่อนหน้านี้ก็มีการพูดถึงเรื่องการปฏิรูป ที่เดิมยังไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอันมากนัก ทำให้ฝ่ายที่สนับสนุน กปปส. ต้องออกมาช่วยแก้ไขสถานการณ์

นาทีนี้เพื่อไทยต้องทำทุกทางเพื่อประคองให้พวกเขามีอำนาจอยู่ได้นานที่สุด ดังนั้นเมื่อนายสุเทพหลุดเรื่อง รัฏฐาธิปัตย์ออกมา จึงต่างพากันเดินหน้าออกมาถล่มอย่างต่อเนื่อง
นายแดเนียล รัสเซลล์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ สหรัฐ เข้าพบนางสาวยิ่งลักษณ์
เกมกลบคดีแบ่งแยกดินแดน

หากย้อนกลับไปช่วงก่อนหน้านี้ในการนัดชุมนุมใหญ่ของกลุ่ม นปช. ที่จังหวัดนครราชสีมา เมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2557 มีการกล่าวถึงเรื่องของการแบ่งแยกดินแดน ซึ่งครั้งนั้นมีนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ หัวหน้าพรรคเพื่อไทยเข้าร่วมด้วย หลังจากนั้นมีการขึ้นป้ายตามจังหวัดต่างๆ ในพื้นที่ภาคเหนือที่ประกาศแบ่งแยกดินแดนเป็น สปป.ล้านนา มีทั้งการทำป้ายผ้าคาดศีรษะ หรือการสวนสนามของตำรวจบ้านที่จังหวัดพะเยา รวมไปถึงธงที่ใช้เป็นธงสีแดงไม่ใช่ธงชาติไทย

จนฝ่ายทหารโดยพลโทปรีชา จันทร์โอชา แม่ทัพภาคที่ 3 เข้าแจ้งความดำเนินคดีฐานกระทำความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 ซึ่งเป็นความผิดที่ชัดเจนมีหลักฐานปรากฏชัด เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมของ นปช. ในวันดังกล่าว นอกจากข้อหากบฏแล้วยังอาจจะลามไปสู่การยุบพรรคได้อีกเช่นกัน

นี่จึงเป็นอีกหนทางหนึ่งที่พรรคเพื่อไทย นปช. และคนเสื้อแดง ต้องใช้จังหวะนี้ออกมาเพื่อเล่นงาน กปปส. เพื่อกลบเรื่องดังกล่าว แต่หากพิจารณากันในทางกฎหมายแล้ว คดีแบ่งแยกดินแดนของคนเสื้อแดงและพรรคเพื่อไทยนั้นชัดเจนมากกว่า

อีกทั้งยังมีข้อที่น่าสังเกตไม่น้อยที่พรรคเพื่อไทยพยายามเรียกร้องให้ฝ่ายกองทัพเข้ามาดำเนินการกับนายสุเทพในเรื่องนี้ แต่คำตอบที่ได้รับดูเหมือนจะไม่เป็นไปในทิศทางที่พรรคเพื่อไทยต้องการ นั่นคือ กองทัพอ้างว่าเหตุที่เกิดขึ้นเป็นหน้าที่ของ ศอ.รส. อยู่ภายใต้พระราชบัญญัติความมั่นคง ดังนั้นจึงให้เป็นหน้าที่ของฝ่ายรัฐบาลเป็นผู้ดำเนินการเอง
หลักฐานการประกาศแบ่งแยกดินแดน สปป.ล้านนา
ปลุก “รัฏฐาธิปัตย์” สกัดสุเทพ

นาทีนี้ “รัฏฐาธิปัตย์” กลายเป็นคำที่กล่าวถึงกันมากในเวลานี้ของทั้งฝ่าย กปปส.และฝ่ายพรรคเพื่อไทยกับคนเสื้อแดง แม้จะไม่ใช่การประดิษฐ์คำใหม่ แต่คำว่า รัฏฐาธิปัตย์ ก็ไม่ได้ถูกนำมาใช้กันบ่อยนักสำหรับการต่อสู้ในทางการเมืองที่ผ่านมา

เพียงแต่ครั้งนี้ภายใต้การชุมนุมของ กปปส. ที่มีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. ได้ออกมากล่าวถึงทิศทางที่จะเดินไปข้างหน้ากับมวลชน กปปส. และถูกฝ่ายตรงข้ามอย่างนายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. หยิบยกขึ้นมาโจมตีอย่างหนักเมื่อการชุมนุมของคนเสื้อแดงบริเวณถนนอุทยาน (อักษะ) เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2557 ที่ผ่านมา

จากนั้นในวันที่ 8 เมษายน พรรคเพื่อไทยรับลูกต่อโดยนายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า กรณีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. ประกาศตัวเป็นองค์รัฏฐาธิปัตย์ เสนอชื่อนายกฯ คนกลาง หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยนายกฯ มีความผิดกรณีการแต่งตั้งโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการ สมช. โดยมิชอบว่า เป็นการรีบวางบิลเสนอชื่อนายกฯ ครม.

ขณะนี้ได้รวบรวมคำปราศรัยของนายสุเทพที่เวทีสวนลุมพินี ซึ่งปราศรัยล้มล้างการปกครอง ตั้งตนเป็นองค์รัฏฐาธิปัตย์ เข้าข่ายผิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา 113 สมคบเตรียมกำลังพลเพื่อเป็นกบฏ จะยื่นหลักฐานเหล่านี้ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ เพราะเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ ขอให้ผู้บัญชาการเหล่าทัพทุกเหล่าทัพแสดงจุดยืนว่า การกระทำของนายสุเทพเป็นภัยต่อความมั่นคงที่ล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตย

โดยเรื่องนี้นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ จะนำเข้าสู่การหารือในที่ประชุมใหญ่ของศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) ที่มีร้อยตำรวจเอกเฉลิม อยู่บำรุง เป็นผู้อำนวยการ

นับว่าเป็นการรับลูกกันต่อเนื่องของฝ่ายรัฐบาลที่ใช้อำนาจของรัฐที่มีอยู่เข้าจัดการกับฝ่ายตรงข้าม สำทับด้วยในช่วงบ่ายวันเดียวกัน พรรคเพื่อไทยได้ออกแถลงการณ์ โดยมีนายโภคิน พลกุล คณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรค ชี้ความผิดของนายสุเทพว่า การประกาศของนายสุเทพถือว่ากระทำผิดต่อรัฐธรรมนูญและกฎหมายดังนี้

1. เป็นการทรยศต่ออำนาจของปวงชนชาวไทยและพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 3 เพราะนายสุเทพไม่ใช่รัฐสภา คณะรัฐมนตรี หรือศาล แต่เป็นกบฏ ซึ่งมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 113 และ 116

2. เป็นการทรยศต่อระบอบประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 2 ที่บัญญัติว่า ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข การกระทำและการประกาศของนายสุเทพจึงเป็นการล้มล้างรัฐธรรมนูญมาตรา 2 และมาตรา 6 ที่บัญญัติว่า รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ

3. เป็นการล่วงละเมิดพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ตามที่รัฐธรรมนูญมาตรา 8 บัญญัติว่า องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ และเพราะเหตุนี้ รัฐธรรมนูญมาตรา 195 จึงบัญญัติว่า บทกฎหมาย พระราชหัตถเลขา และพระบรมราชโองการอันเกี่ยวกับราชการแผ่นดิน ต้องมีรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ เว้นแต่ที่มีบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่นในรัฐธรรมนูญนี้ ดังนั้น ผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการจึงได้แก่รัฐมนตรีหรือบุคคลอื่นที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้เท่านั้น การกำหนดตัวเองของนายสุเทพเป็นรัฏฐาธิปัตย์จึงเป็นการฉีกรัฐธรรมนูญและล่วงละเมิดต่อองค์พระมหากษัตริย์อย่างชัดแจ้ง ซึ่งเป็นความผิดทางกฎหมายอีกกระทงหนึ่ง และ

4. ปวงชนชาวไทยมีสิทธิและหน้าที่ที่จะต่อต้านและพิทักษ์รักษาระบอบประชาธิปไตยและอำนาจของปวงชนชาวไทยและพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 69 ที่บัญญัติว่า บุคคลย่อมมีสิทธิต่อต้านโดยสันติวิธี ซึ่งการกระทำใดๆ ที่เป็นไปเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ และมาตรา 70 ที่บัญญัติว่า บุคคลมีหน้าที่พิทักษ์รักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ

นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้ประชาชนที่รักประชาธิปไตยทั้งหลาย มีหน้าที่ปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์และการปกครองระบอบประชาธิปไตย และมีสิทธิต่อต้านโดยสันติวิธีต่อการกระทำใดๆ ของนายสุเทพ ซึ่งพรรคเพื่อไทยเห็นว่า ทางออกของประเทศเพื่อให้การใช้อำนาจรัฏฐาธิปัตย์เป็นไปโดยถูกต้องตามรัฐธรรมนูญก็คือการเลือกตั้ง

สร้างภาพในแง่ร้าย

เป็นอันว่า “รัฏฐาธิปัตย์” กลายเป็นการชิงไหวชิงพริบกันในทางการเมือง โดยฝ่ายต่อต้านรัฐบาลต้องการใช้เพื่อหาทางเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรี ขณะที่ฝ่ายรัฐบาลโดยพรรคเพื่อไทยได้ปั่นกระแสในเรื่องดังกล่าวว่าเป็นความผิดในฐานกบฏ เพื่อต้องการสกัดกั้นการเดินเกมของอีกฝ่าย

ทั้งที่จริงแล้วคำว่า รัฏฐาธิปัตย์ นั้นไม่ใช่คำที่เลวร้ายอะไร หากเราเข้าใจอย่างถูกต้อง โดยราชบัณฑิตยสถานได้อธิบายความหมายของคำว่า รัฏฐาธิปัตย์ ใช้ในความหมายเดียวกับอำนาจอธิปไตย หมายถึง อำนาจอันสูงสุดที่รัฐจะใช้บังคับบัญชาภายใต้อาณาเขตของตน หรือในด้านรัฐศาสตร์ รัฏฐาธิปัตย์ หมายถึง ผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดิน ขณะที่มุมมองของนิติศาสตร์ รัฏฐาธิปัตย์ หมายถึง ผู้ที่ทำให้เกิดกฎหมาย

เมื่อพิจารณาที่มาของรัฏฐาธิปัตย์ ตามบทความของ รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ที่ระบุว่า มีรูปแบบหลักอย่างน้อย 4 ประการคือ 1) การใช้กำลังอาวุธ 2) การใช้สิทธิพลเมืองก่อการเปลี่ยนแปลงอย่างสันติอหิงสา 3) การผสมผสานระหว่างสิทธิพลเมืองกับพลังอำนาจทางทหาร และ 4) การใช้สิทธิเลือกตั้ง

จะเห็นได้ว่าคนไทยล้วนแล้วแต่คุ้นเคยกับปรากฏการณ์เหล่านี้มาโดยตลอด เพียงแต่ฝ่ายการเมืองเลือกที่จะหยิบยกขึ้นมาให้ดูน่ากลัวและบีบให้มองว่าเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง แม้ที่มาจากการใช้ทหารเข้ายึดอำนาจนั้นเราก็เห็นมาแล้ว แต่อีกทางหนึ่งที่เราไม่ค่อยกล่าวถึงคือ การใช้สิทธิในการเลือกตั้งก็เป็นที่มาอีกแบบหนึ่งของรัฏฐาธิปัตย์

ถ้าทำจริงผิด-ต่างจากทหารทำ

บอกตามตรงว่าสิ่งที่เลขาธิการ กปปส. กำลังดำเนินการอยู่นั้น หากใช้แนวทางดังกล่าวจริง ในทางกฎหมายนั้นทำไม่ได้ ถือว่าเป็นการยึดอำนาจและฉีกรัฐธรรมนูญทิ้ง ซึ่งกลุ่มของนายสุเทพ ไม่มีอำนาจตามรัฐธรรมนูญ

แม้ว่าที่ผ่านมาประเทศไทยจะเคยเกิดรัฏฐาธิปัตย์ขึ้นมา 8 ครั้ง มีการยึดอำนาจ 12 ครั้ง และฉีกรัฐธรรมนูญ 8 ครั้ง แต่ไม่มีปัญหาในเรื่องของการดำเนินการโดยเฉพาะมาตรา 195 ที่ต้องมีผู้ทูลเกล้าฯเสนอรายชื่อนายกรัฐมนตรี เนื่องจากเกือบทั้งหมดเป็นการเข้ายึดอำนาจจากทหาร อีกทั้งยังมีการรับรองความชอบธรรมด้วยคำพิพากษาของศาลฎีกา จึงกลายเป็นบรรทัดฐานในการปฏิบัติกันมาโดยตลอด

เห็นได้จากคำพิพากษาฎีกาที่ 45/2496 การที่คณะรัฐประหารยึดอำนาจการปกครองประเทศได้สำเร็จนั้น คณะรัฐประหารย่อมมีอำนาจที่จะเปลี่ยนแปลงแก้ไขยกเลิกและออกกฎหมายตามระบบแห่งการปฏิวัติเพื่อบริหารประเทศชาติต่อไปได้ มิฉะนั้นประเทศชาติจะตั้งอยู่ด้วยความสงบไม่ได้ ดังนั้นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2490 จึงเป็นกฎหมายอันสมบูรณ์ การแต่งตั้งให้ผู้ใดเป็นรัฐมนตรีในตอนนั้น ก็ย่อมเป็นการชอบด้วย

หรือคำพิพากษาฎีกาที่ 1662/2505 ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อใน พ.ศ. 2501 คณะปฏิวัติได้ทำการยึดอำนาจปกครองประเทศไทยได้เป็นผลสำเร็จ หัวหน้าคณะปฏิวัติย่อมเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบ้านเมือง ข้อความใดที่หัวหน้าคณะปฏิวัติสั่งบังคับประชาชน ก็ต้องถือว่าเป็นกฎหมาย แม้พระมหากษัตริย์จะมิได้ทรงตราออกมาด้วยคำแนะนำและยินยอมของสภาผู้แทนราษฎรหรือสภานิติบัญญัติของประเทศก็ตาม ฉะนั้น ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 21 ซึ่งประกาศคำสั่งของหัวหน้าคณะปฏิวัติบังคับแก่ประชาชนดังกล่าว จึงเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในการปกครองในลักษณะเช่นนั้นได้ จำเลยจึงอาศัยอำนาจตามประกาศฉบับนี้ทำการจับกุมควบคุมโจทก์ได้โดยชอบ ฎีกาโจทก์ไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงแก้ไขคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน

เป็นอันว่าถ้าคณะปฏิวัติยึดอำนาจสำเร็จเมื่อไหร่ ย่อมมีอำนาจในการเข้ามาเปลี่ยนกฎหมายและเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรี แม้ว่าจะเป็นการฉีกรัฐธรรมนูญทิ้ง มีข้อหากบฏ แต่ทหารที่เข้ามายึดอำนาจก็จะออกกฎหมายนิรโทษกรรมตัวเองทุกครั้ง ที่สำคัญทหารไม่เคยออกมาป่าวประกาศว่าจะมีการยึดอำนาจ
นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส.
แค่พูด-ยังไม่ลงมือกระทำ

ดังนั้นจึงแตกต่างกับกรณีที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ครั้งนี้เป็นความต้องการจะเข้ามาเปลี่ยนแปลงอำนาจของรัฐบาลโดยประชาชน จึงมีปัญหาเรื่องกฎหมายเข้ามารองรับอำนาจ

“หากทางฝ่ายพรรคเพื่อไทยจะดำเนินการทางกฎหมายกับฝ่าย กปปส. ในข้อหากบฏจากการประกาศตัวเป็นรัฎฐาธิปัตย์นั้น ในทางกฎหมายอาจดำเนินการได้ แต่เป็นไปในลักษณะปรามเพื่อหยุดยั้งการกระทำมากกว่าที่จะเอาผิดอย่างจริงจัง”ความเห็นของนักกฎหมายในมหาวิทยาลัยชื่อดัง

เพราะเมื่อพิจารณาองค์ประกอบของการกระทำของ กปปส. นั้น เป็นเพียงการประกาศในที่ชุมนุม ยังไม่ได้มีการลงมือกระทำอย่างที่กล่าวไว้ แต่หากจะนำไปเทียบเคียงกับกฎหมายอาญามาตรา 116 ที่ระบุว่า ผู้ใดกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใดอันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต

(1) เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดินหรือรัฐบาล โดยใช้กำลังข่มขืนใจหรือใช้กำลังประทุษร้าย

(2) เพื่อให้เกิดความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือ

(3) เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี

อาจเข้าข่ายตามวงเล็บ 1 เท่านั้น แต่ก็ต้องไปพิสูจน์กันอีกว่า มีการใช้กำลังข่มขืนใจเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกฎหมายหรือรัฐบาลหรือไม่ หรือมองกันถึงมาตรา 117 ผู้ใดยุยงหรือจัดให้เกิดการร่วมกันหยุดงาน การร่วมกันปิดงาน งดจ้าง หรือการร่วมกันไม่ยอมค้าขายหรือติดต่อทางธุรกิจกับบุคคลใดๆ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดิน เพื่อบังคับรัฐบาลหรือเพื่อข่มขู่ประชาชน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ตรงนี้ก็ยังไม่เห็นการนัดหยุดงานกันอย่างจริงจัง แม้ทาง กปปส. จะไปขอความร่วมมือหน่วยงานราชการต่างๆ แต่ส่วนใหญ่ก็ยังคงปฏิบัติงานกันอยู่ ล่าสุดก็ได้เปิดให้หน่วยงานราชการต่างๆ ทำการได้ตามปกติ ยกเว้นที่ทำเนียบรัฐบาลและกระทรวงมหาดไทย

พูดบนเงื่อนไขที่ยังไม่เกิด

เรื่องของ รัฏฐาธิปัตย์ นี้จึงเป็นเพียงการพลิกเกมของฝ่ายรัฐบาลและพรรคเพื่อไทยที่ยังกุมความได้เปรียบจากการเป็นรัฐบาลรักษาการ เพื่อสกัดกั้นแผนหรือแนวทางของฝ่าย กปปส. ที่ต้องการเปลี่ยนรัฐบาลชุดนี้ออกไป ด้วยการหยิบเอาช่องโหว่ที่นายสุเทพกล่าวมาเป็นข้อกล่าวหากบฏ ซึ่งนายสุเทพก็โดนข้อหาดังกล่าวไปแล้วเมื่อปลายปี 2556

อีกทั้งการที่จะดำเนินคดีกบฏกับนายสุเทพอีก 1 ข้อหานั้น ยังมีองค์ประกอบในการกระทำความผิดที่ยังไม่ชัดเจน ทั้งในเรื่องที่ยังไม่ได้ลงมือกระทำอย่างที่กล่าว รวมไปถึงเงื่อนไขของการกระทำนั้นมีคำว่า ถ้าเกิดเหตุการณ์ที่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินความผิดของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในกรณีโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี และถ้า ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดนายกรัฐมนตรีจากโครงการทุจริตจำนำข้าว

เงื่อนไขเหล่านี้ยังไม่เกิดขึ้น เพราะยังไม่มีคำตัดสินใดๆ ออกมา อีกทั้งยังจะต้องไปพิจารณาถึงเงื่อนไขอื่นๆ ด้วยว่าสถานการณ์ในขณะนั้นมีฝ่ายนิติบัญญัติพร้อมจะทำหน้าที่หรือไม่ หรือความพร้อมในการปฏิบัติหน้าที่ของวุฒิสภาที่เพิ่งเลือกตั้งกันเข้ามาเมื่อ 30 มีนาคม

หากเงื่อนไขเหล่านี้มีความพร้อมที่จะดำเนินการได้ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่มีอยู่ ฝ่ายของ กปปส.ก็อาจจะไม่กระทำการดังกล่าวเอง

นี่จึงเป็นอีกปมหนึ่งในทางกฎหมาย ที่แม้ฝ่ายพรรคเพื่อไทยจะโหมโรงเอาผิดในเรื่องดังกล่าว แต่ก็ยังไม่มีการแจ้งความเพื่อดำเนินคดีกับกลุ่ม กปปส. แต่อย่างใด

ยิ่งในช่วงก่อนสงกรานต์ กปปส. ได้ขอเข้าพบปลัดกระทรวงต่างๆ เป็นว่าเล่น และยังไม่มีรายใดที่ตอบปฏิเสธการเข้าพบ สัญญาณเหล่านี้บ่งบอกได้เป็นอย่างดีว่า ข้าราชการที่เคยเป็นฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลนั้นมีท่าทีต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างไร

ดังนั้น การเดินเกมต่อสู้กันในทางกฎหมายระหว่างพรรคเพื่อไทยและฝ่ายของ กปปส.ในเรื่องของกบฏ ที่ต่างฝ่ายต่างยัดเยียดให้แก่กัน ไม่ว่าจะจบลงด้วยแนวทางกฎหมายหรือแนวทางคำตัดสินขององค์กรอิสระ อีกไม่นานคงจะได้รู้กัน


กำลังโหลดความคิดเห็น