xs
xsm
sm
md
lg

ธุรกิจกวดวิชาพากันรวย! กูรูแนะเคล็ดลับ “เรียนเก่ง-ทักษะเยี่ยม” สู่อนาคตการศึกษายุคใหม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นักธุรกิจกวดวิชา-กูรูการศึกษา ฟันธง กวดวิชายังไปได้ เพราะค่านิยมด้านการศึกษาไทยยังเน้นการแข่งขันสอบเข้ามหาวิทยาลัยรัฐชื่อดัง ยิ่งแข่งขันสูง ยิ่งต้องพึ่งกวดวิชา ขณะเดียวกันพบเด็กสอบได้ที่ 1 แต่เรียนในมหาวิทยาลัยไม่เก่งเพียบ เผยเคล็ดลับ เรียนเก่งได้โดยไม่พึ่งกวดวิชา ขณะที่กูรูทางการศึกษาแนะ 4 ประเด็นหลักที่พ่อแม่ยุคใหม่ต้องเปลี่ยนค่านิยมยัดเยียดลูกให้เรียนแบบแข่งขัน แต่เป็นการเรียนรู้ให้เก่ง “ทักษะ” ชีวิตที่ปรับเอาความรู้มาใช้ได้ในโลกของการทำงานจริง

ในแง่ของการศึกษาแล้ว ทั้งพ่อแม่ ทั้งเด็กนักเรียนตอนนี้รู้ดีว่า ระบบการศึกษาที่เป็นอยู่ มีแต่จะต้องพึ่ง “โรงเรียนกวดวิชา” เท่านั้นที่จะพาไปถึงจุดหมายของชีวิต คือการสอบเข้ามหาวิทยาลัยรัฐบาลชื่อดังได้เท่านั้น จนทำให้ธุรกิจกวดวิชาเข้าสู่ยุคแข่งขันสูง และสร้างความร่ำรวยให้กับผู้ประกอบธุรกิจกวดวิชาได้อย่างรวดเร็ว ตามที่ทีม Special Scoop นำเสนอมาตั้งแต่ตอน 1-3 และตอนนี้จะเป็นตอนสุดท้ายที่นำเสนอให้เห็นถึงผู้ประกอบการหน้าใหม่ที่จะกระโดดเข้าสู่ธุรกิจกวดวิชาด้วยการซื้อแฟรนไชส์จะต้องเตรียมรับมืออย่างไรบ้าง

ที่สำคัญกูรูทางการศึกษาทั้งสองชี้ให้เห็นว่าในโลกของความเป็นจริงแล้วเด็กๆ ยังมีทางเลือก ด้วยการแนะเคล็ดลับเรียนเก่งโดยไม่ต้องพึ่งโรงเรียนกวดวิชา รวมไปถึงผู้ปกครองควรปรับตัวเข้ากับโลกการศึกษายุคใหม่ได้อย่างไร

ธุรกิจแฟรนไชส์-กวดวิชารุ่ง

“ครูบุ๋ม” ชวพัฒน์ อัจฉริยกุล ผู้อำนวยการ High-Speed Math Center เปิดเผยว่า ได้ก้าวเข้ามาสู่ธุรกิจโรงเรียนกวดวิชากว่า 20 ปีแล้ว ซึ่งได้ดำเนินธุรกิจโรงเรียนกวดวิชาเพราะมีความชอบสอนหนังสือเป็นสิ่งสำคัญมากกว่าไปทำธุรกิจเกี่ยวกับด้านวิศวกรรมที่ตนเองเรียนจบมา ซึ่งได้ตั้งสถาบันกวดวิชาของตัวเองมา 18 ปีแล้ว

ความสำเร็จของโรงเรียนกวดวิชาที่จะเกิดขึ้นได้นั้น “ครูบุ๋ม” มองว่า การสร้างแบรนด์เป็นอันดับ 1 ที่จะทำให้ธุรกิจนี้ประสบความสำเร็จได้จากตัวคนที่จะมาเป็นอาจารย์สอนเอง จะต้องมีทั้งฝีมือและชื่อเสียง

เหตุนี้ทำให้สถาบันกวดวิชา High-Speed Math Center ได้ก้าวขึ้นสู่อันดับ Top 5 ของสถาบันกวดวิชาด้านคณิตศาสตร์

การสะสมชื่อเสียง เทคนิคการถ่ายทอดส่วนตัวของครูผู้สอนหลัก จะเป็นส่วนสำคัญที่สุดที่จะทำให้ brand โรงเรียนกวดวิชาเข้มแข็ง และแน่นอนว่าจะต้องมีผลงานเป็นตัวการันตีด้วย คือสถิติสอบติดคณะที่เด็กนิยมไปเรียนในสถาบันรัฐชื่อดัง เช่น สอบติดคณะแพทยศาสตร์

อย่างไรก็ดี การเข้ามาทำธุรกิจโรงเรียนกวดวิชาไม่ใช่เรื่องง่ายเลย สำหรับคนที่ไม่ได้มีทักษะการสอน และไม่รู้เรื่องธุรกิจ เพราะธุรกิจนี้ในด้านการแข่งขันแล้ว ถือว่าเป็นธุรกิจที่แข่งขันสูง ดังนั้นผู้ที่ทำธุรกิจนี้จะต้องปรับตัวอยู่ตลอด และหาวิธีขยายไลน์ของธุรกิจที่แตกต่างกันไป

สำหรับตัว “ครูบุ๋ม” แล้ว ครูบุ๋มเลือกวิธี “ขายแฟรนไชส์” โรงเรียนกวดวิชา โดยเอาตัวเขาเองการันตี

“การสร้างชื่อเสียงและฝีมือของครูผู้สอนหลัก เป็นสิ่งสำคัญมากที่สุดที่การกวดวิชาต้องมี ดังนั้นในการทำธุรกิจแฟรนไชส์ จะทำแค่ซื้อมาขายไปไม่ได้ ต้องเข้าไปช่วย ในส่วนของผม ผมขายแฟรนไชส์ให้คนต่างจังหวัด แต่ผมไม่ได้ทิ้งเขา ผมเข้าไปทำ Road show ช่วยในการทำตลาด โดยไปสาธิตวิธีการสอนจริงให้ทุกที่”

นอกจากนั้น อย่าคิดว่าการทำแฟรนไชส์เป็นเรื่องง่าย แค่อัดวิดีโอการสอนแล้วส่งไปให้แต่ละสาขา เพราะว่าสิ่งสำคัญที่ต้องเข้าใจคือ การสอนในแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน

“คนที่ทำธุรกิจโดยมีจิตวิญญาณความเป็นครูด้วย จะเข้าใจว่า เด็กต่างจังหวัดกับเด็กในกรุงเทพฯ หรือแม้กระทั่งเด็กในกรุงเทพฯ เองก็มีหลายกลุ่ม บางกลุ่มต้องการคนสอนที่ต้องเน้นการแข่งขัน เนื้อหาที่เรียนต้องการที่จะเอาไปสอบ ขณะที่เด็กบางกลุ่มต้องการการปูพื้นฐานให้ความรู้ตัวเองแน่นหนา”

จุดนี้ครูบุ๋มยอมรับว่า คนที่เป็นแม่แบบเรื่องนี้ที่ดีคือ “อ.อุ๊” เคมี ที่เป็นโรงเรียนกวดวิชาอันดับ 1 วิชาเคมี และชิงส่วนแบ่งการตลาดเกือบ 100%

“อาจารย์อุ๊ เป็นคนมีพรสวรรค์ในการสอน สอนเด็กได้ตั้งแต่คนที่ไม่รู้จักเคมีเลย กระทั่งเอาไปสอบได้ ทุกวันนี้พูดได้ว่าใครไปเรียนกวดวิชาเคมีที่อื่น ก็ต้องมาเรียนกวดวิชาของอาจารย์อุ๊ด้วย”

นี่เป็นความสำเร็จที่ไม่ใช่ใครจะทำตามได้ง่ายๆ!

อย่างไรก็ดี สำหรับครูบุ๋มเองนั้น เมื่อเข้าใจแล้วว่าเด็กแต่ละกลุ่มมีความแตกต่างกัน ดังนั้นแฟรนไชส์ของครูบุ๋มจึงเป็นลักษณะการสอนในแต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกันด้วย คือการสอนเด็กกรุงเทพฯ จะเป็นการสอนแบบหนึ่ง และการสอนเด็กต่างจังหวัดจะเป็นการสอนอีกแบบหนึ่ง

“มันไม่ใช่ว่าเราจะทำให้ทุกคนเข้าใจได้หมด เพราะต้องเป็นครูที่มีพรสวรรค์มากๆ เหมือนครูอุ๊ แต่เราต้องเข้าใจว่าเด็กมีความแตกต่าง ดังนั้นที่ผ่านมาคนที่สอนเด็กกรุงเทพฯ เก่งมาก พอไปสอนต่างจังหวัดกลับสอบตก”
ครูบุ๋ม ชวพัฒน์ อัจฉริยกุล
แนะเทคนิคแฟรนไชส์กวดวิชารอด!

เทคนิคการสอนในกรุงเทพฯ คือการอัดเทคนิคต่างๆ อย่างเต็มที่ แต่การสอนในต่างจังหวัดต้องเน้นการสอนที่เด็กจะไปทำ GPA GPAX ในระดับชั้นเรียนให้ได้ดี เพื่อยื่นเกรด แต่ยังแข่งในกรุงเทพฯ ไม่ได้ คนที่จะมาสอบแข่งเข้ามหาวิทยาลัยชื่อดัง ได้แก่ จุฬาฯ ธรรมศาสตร์ เกษตรศาสตร์ ลาดกระบัง ฯลฯ นั้น จำเป็นต้องมาเรียนกวดวิชาอีกแบบหนึ่ง เพื่อเน้นทำข้อสอบอีกทีหนึ่งด้วย

“ติวกวดวิชาไม่ใช่ง่าย ต้องปรับพื้นฐานก่อน แล้วค่อยๆ เพิ่มเนื้อหาแบบ advance เข้าไป”

ในฐานการจัดอันดับธุรกิจ ครูบุ๋มยอมรับว่า ในฐานของกลุ่มนักเรียนว่าชอบเรียนที่ไหน ในด้านคณิตศาสตร์ ทางโรงเรียนกวดวิชาของเขาเป็นอันดับ 5 ในกลุ่มธุรกิจกวดวิชาคณิตศาสตร์ แต่ในลักษณะของการทำแฟรนไชส์แล้ว เขากล่าวว่าในเรื่องแฟรนไชส์เขาได้รับการโหวตให้เป็นอันดับ 1 จาก Thaifranchisecenter.com โดยผู้ประกอบการด้านธุรกิจทำการโหวตให้

“ตอนนี้มี 20 สาขา 4 สาขาทำเอง อาจมีร่วมหุ้นบ้างแต่ทำเองเป็นส่วนใหญ่ แต่ 16 สาขาเป็นแฟรนไชส์ การขายแฟรนไชส์ไม่ได้ขายให้ใครก็ได้ จะมีการคัดคน จะมีการคุยกันอย่างละเอียด”

โดยเมื่อมีคนมาขอซื้อแฟรนไชส์ จะมีการสัมภาษณ์อย่างละเอียด เพราะจะต้องเป็นคนที่มีคุณสมบัติในการทำแฟรนไชส์ให้ดีด้วย โดยการสัมภาษณ์จะมีการดูวิสัยทัศน์ต่อธุรกิจการศึกษา ดูต้นทุน และดูลักษณะนิสัยว่าจู้จี้จุกจิกหรือไม่

“บางคนทำไป 1 ปีก็ไม่ทำแล้ว สุดท้ายเสียชื่อที่เรา ตรงนี้ต้องระวังมาก โดยเฉพาะกรณีที่มีการผิดสัญญา”

การผิดสัญญาที่พบว่ามีเกิดขึ้น คือ บางคนทำโรงเรียนกวดวิชาไปแล้ว เห็นเด็กมาน้อยในวันไหน ก็ปิดแอร์ไม่เปิดให้เด็ก หรือไม่ก็มีการไม่ลงทุนใช้หนังสือจากส่วนกลาง ซึ่งที่จริงแล้วไม่ได้ราคาแพงมากนัก แต่ใช้วิธีไปถ่ายเอกสารมาให้เด็ก ซึ่งเป็นเรื่องของความรู้สึกว่าไม่จริงใจ

“การผิดสัญญากับเราแบบนี้ มันไม่ได้เสียหายตรงที่เราขายหนังสือไม่ได้ แต่มันเสียหายมาก เพราะว่าคนที่ซื้อแฟรนไชส์ไปกำลังทำลายชื่อเสียงของแบรนด์ ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่มาก เรียกว่าคนคนนี้ทำธุรกิจไม่เป็น”

ทั้งนี้ จากการทำธุรกิจแฟรนไชส์มาหลายปี พบว่ามีหลายคนที่ตั้งใจทำธุรกิจนี้ และไม่เอาเปรียบเด็ก ส่วนนี้ครูบุ๋มบอกว่า ถ้าพบใครที่ตั้งใจจริง ธุรกิจนี้ก็จะยังทำด้วยกันได้

“บางคนไปไม่ไหว แต่นิสัยดี ตั้งใจสอนเด็ก ถ้าทำไม่ไหว ก็จะลงไปช่วยทำให้ ในลักษณะแบ่งเปอร์เซ็นต์รายได้กันไป ไม่ได้ตายตัวว่าธุรกิจแฟรนไชส์ต้องเป็นแบบนี้ตลอดไป คือเราก็อยากให้คนที่เขาตั้งใจจริง เขาทำธุรกิจนี้รอด”

ธุรกิจแฟรนไชส์คือคนที่ต้องมาทำงานด้านการตลาด แต่สำหรับการสอน เราเองที่จะเป็นคนรับหน้าที่ผลิตสื่อการสอนให้เข้ากับพื้นที่ต่างๆ

ทั้งนี้ มองว่าผู้ลงทุนจะต้องมีเงินอย่างต่ำ 1 ล้านบาทด้วย เป็นค่าแฟรนไชส์ ค่าหลักสูตร และเงินหมุนเวียนต่างๆ และถ้าจะให้ดีต้องเป็นคนที่มีคอนเนกชันในพื้นที่

“คนที่มาขอซื้อแฟรนไชส์กับผม แล้วดำเนินธุรกิจได้ดี น่าแปลกว่า 90% จะเป็นคนอาชีพหมอ วิศวกร เป็นคนมีชื่อเสียงในจังหวัดนั้นๆ ซึ่งคนกลุ่มนี้ดี คือเขาจะลงทุน โดยไม่ยุ่งกับการเปลี่ยนแปลงการเรียนการสอนซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ธุรกิจโรงเรียนกวดวิชาแบบแฟรนไชส์ประสบความสำเร็จ”

นอกจากนี้ยังต้องเป็นคนที่มีคอนเนกชันในพื้นที่ ที่สำคัญอันดับแรกคือ ต้องสามารถดิวกับโรงเรียนต่างๆ เพื่อให้ไปเปิดโรดโชว์ในโรงเรียนต่างๆ ได้ ตรงนี้ก็ยากแล้ว

“มันยาก เพราะต่างจังหวัดคนที่เปิดโรงเรียนกวดวิชาคือครูในโรงเรียนต่างๆ นี้ การจะไปโรดโชว์ในโรงเรียนไหนจึงมีอุปสรรคจากคนที่ขัดขวาง แต่ถ้าจะให้คนซื้อแฟรนไชส์กวดวิชาสำเร็จ ก็ต้องมีการโรดโชว์ เพราะเด็กจะรู้ได้เองว่าการเรียนการสอนแบบนี้แหละที่เขาต้องการ เขาจะรู้สึกว่า เฮ้ย มันมีวิธีการคิดเลขแบบนี้ด้วยเหรอ ทำได้ในบรรทัดเดียว ใช้เวลาน้อยมาก”

เรียกว่าเทคนิคโรดโชว์นี้เป็นตัวนำไปสู่ความสำเร็จแล้วระดับหนึ่ง

“ความสำเร็จตรงนี้ และความต้องการเข้าเรียนในโรงเรียนกวดวิชามีมาก จากที่มีการรับประกันการขายแฟรนไชส์ไว้ว่า จะให้ 1 จังหวัด 1 โรงเรียนกวดวิชา ปีนี้เลยปรับใหม่เป็น 1 อำเภอ 1 แฟรนไชส์ เพื่อรองรับความต้องการที่มีอยู่จำนวนมาก”

ธุรกิจนี้เป็นธุรกิจที่ใหญ่ ที่ครูบุ๋มประเมินว่า เด็ก ม.4 หนึ่งคนจะต้องใช้เงินในการเรียนพิเศษอย่างน้อย 3,000-4,000 บาทต่อคนต่อเทอมใน 1 วิชา เด็กที่มาเรียนอย่างต่ำปีหนึ่งจะมีอย่างน้อย 400-500 คนต่อโรงเรียนใน 1 วิชา และความเป็นจริงคือเด็กจะเรียนหลายวิชาก็คูณจำนวนวิชาเรียนเข้าไปอีก

ดังนั้น ธุรกิจกวดวิชาเป็นธุรกิจที่ยังเดินหน้าไปได้

“แต่อย่าหวังกินระยะสั้น ธุรกิจกวดวิชาเป็นธุรกิจการศึกษาที่ต้องทำแบบค่อยเป็นค่อยไป อย่าเอาแต่ประโยชน์ของตัวเอง คุณต้องเข้าใจว่าถ้าเด็กติดใจ เขาจะบอกต่อกันไปเอง”

การขอทำธุรกิจแฟรนไชส์นั้น จึงจำเป็นต้องเริ่มจากการสัมภาษณ์ เพื่อดูอย่างละเอียดว่าคนที่มาซื้อแฟรนไชส์เป็นคนแบบไหน และมีความสามารถเพียงพอที่จะทำให้แฟรนไชส์ที่เขาซื้อไปเดินหน้าต่อได้หรือไม่

เมื่อลงตัวในเบื้องต้นแล้ว ก็จะเข้าสู่ขั้นตอนต่อมาที่สำคัญคือ การขออนุญาตจัดตั้ง ซึ่งต้องทำเป็นโครงการ

ครูบุ๋มเปิดเผยว่า ทางสถาบันฯ มีตัวอย่างโครงการจำนวน 600 หน้าอยู่แล้ว ไม่ใช่เรื่องยากที่จะขออนุญาตดำเนินการ และควรที่จะขออนุญาต เพราะธุรกิจกวดวิชาเป็นธุรกิจด้านการศึกษาที่ไม่ต้องเสียภาษี และได้รับความเชื่อถือจากผู้ปกครอง เพราะมีกระทรวงศึกษาธิการคอยดูแลมาตรฐานอยู่แล้ว อีกทั้งการไม่ต้องหลบๆ ซ่อนๆ ในการทำธุรกิจก็จะเป็นเรื่องของความสบายใจ เรียกว่าเป็นกลุ่มโรงเรียนกวดวิชาดี ไม่เถื่อน เพราะถ้าเถื่อน จะเจอปัญหาใหญ่คือทีมจับให้เสียภาษีของสรรพากร 30% ซึ่งเป็นจำนวนที่ถือว่า “หนัก” เอาการ

ส่วนการขอใบอนุญาตมีค่าใช้จ่ายเป็นเพียงหลักหมื่น เมื่อเทียบกับธุรกิจที่จะดำเนินไปในอนาคต ส่วนนี้ถือว่าน้อยมาก

อย่างไรก็ดี สำหรับผู้ซื้อแฟรนไชส์ และโอกาสขยายตัวของแฟรนไชส์ ครูบู๋มให้ความสำคัญกับจังหวัดเล็กๆ มากกว่าจังหวัดใหญ่ๆ

“ผมชอบจังหวัดเล็กๆ เมื่อดูแววตาเด็ก จะรู้สึกว่าเด็กคิดว่ามีวิธีเรียนแบบนี้ด้วยเหรอ เด็กก็จะมีความกระตือรือร้นในการเรียน เพราะโอกาสเรียนแบบนี้ไม่เคยมี เมื่อมีใครสอบเข้าหมอได้ ก็จะเป็นความภูมิใจอย่างมาก ไม่เหมือนจังหวัดใหญ่ๆ เหมือนใน กทม. สอนๆไปเด็กจะทำเหมือนรู้แล้ว รู้แล้ว เรียนแล้วเซ็งก็มี”

แต่การทำแฟรนไชส์ในจังหวัดเล็กๆ ก็มีความกังวลของผู้ซื้อแฟรนไชส์ที่รู้สึกว่ามันเสี่ยง

“จริงๆ ทุกพื้นที่เวลานี้เจริญแล้ว จังหวัดใหญ่ๆ หลายจังหวัดมีอำเภอที่มีขนาดใหญ่มาก อย่างเช่นโคราช แต่ละอำเภอก็มีขนาดใหญ่ มีคนอยู่มากมาย แต่กระนั้นก็มีการลดราคาแฟรนไชส์ให้ครึ่งหนึ่ง”

แนะเด็กไม่มีเงินเรียนรู้เองดีกว่ากวดวิชา

อย่างไรก็ดี หากพ่อแม่ไม่มีตังค์กวดวิชา ควรเรียนอย่างไรให้ประสบความสำเร็จ เป็นสิ่งหนึ่งที่ “ครูบุ๋ม” ให้คำตอบไว้อย่างน่าสนใจ

“ผมไม่ใช่คนที่เรียนกวดวิชาในตอนเด็ก จริงๆ แล้วไม่จำเป็นต้องเรียนกวดวิชา คนที่มาเรียนกวดวิชาส่วนใหญ่คืออยากรู้เทคนิคลัด เพราะไม่มีเวลามากพอที่จะนั่งคิดเทคนิคของตัวเองขึ้นมา แต่จริงๆ ไม่จำเป็น

เด็กที่อยากเรียนเก่ง สามารถทำได้ง่ายๆ คือการจัดสรรเวลาให้ดี ให้เวลากับการอ่านหนังสือให้มาก เพื่อหาเทคนิคการเรียนของตัวเองให้เจอ เมื่อหาเทคนิคการเรียนของตัวเองเจอแล้วก็จะสามารถคิดวิธีแก้โจทย์คำตอบได้ด้วยตนเอง เรียกว่า ต้องหาสไตล์การเรียน หรือ Learning Style ของตัวเองให้เจอ เมื่อเจอแล้วก็จะเรียนประสบความสำเร็จได้

“เด็กที่เน้นการกวดวิชา เป็นเพราะไม่มีเวลา ที่ไม่มีเวลาเพราะว่ามีเทคโนโลยีจำนวนมากที่ทำให้เด็กเสียเวลาไปโดยไม่รู้ตัว ทั้งทวิตเตอร์, เฟซบุ๊ก, Line, อินสตาแกรม ฯลฯ เมื่อไม่มีเวลาก็ทำให้เรียนหนักกว่าเดิม

ส่วนนี้เมื่อมองย้อนในมุมกลับ ก็จะพบว่า เด็กที่เรียนกวดวิชามากๆ เน้นการใช้เทคนิคทำข้อสอบอย่างเดียว เมื่อถึงเวลาที่จะเข้าไปเรียนจริงในมหาวิทยาลัยต่างๆ กลับเรียนไม่ได้ดีเท่ากับคนที่หาสไตล์การเรียนของตัวเองเจอ

“อย่าแปลกใจที่จะพบว่า คนสอบได้ที่ 1 ของประเทศ ที่ 2 ของประเทศ ไปเรียนจริงแล้วสู้คนอื่นไม่ได้ มีเยอะมาก”

มันเป็นเรื่องจริงที่ปฏิเสธไม่ได้!

ส่วนเด็กที่เรียนในมหาวิทยาลัยเก่ง ส่วนใหญ่ไม่ใช่เด็กที่ผ่านการกวดวิชา

“จำข้อสอบได้ ไปสอบก็ได้ที่ 1 ที่ 2 ของประเทศ เพราะติวมาเยอะ ทำข้อสอบการแข่งขันได้ แต่พอเรียนปี 1 ปี 2 แล้วกลับกัน คืออ่านไม่เป็น เพราะเคยแต่ติวมา ไม่มีแนวทางการเรียนของตัวเอง”

Learning Style ของตัวเองเป็นสิ่งสำคัญที่สุด หาแนวทางของตัวเองให้เจอ!

การศึกษาที่ไม่จำเป็นต้องกวดวิชาเป็นเรื่องหนึ่งที่ “กูรู” ด้านการศึกษาแนวใหม่ให้ความสนใจเช่นกัน
ดร.วิริยะ ฤาชัยพาณิชย์ ภาพ: www.eduzone.com
4 ประเด็น-พ่อแม่ต้องคิดใหม่เรื่องการศึกษา

ดร.วิริยะ ฤาชัยพาณิชย์ นักวิชาการศึกษาอิสระ ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์การศึกษา www.eduzones.com และทำวิจัยพัฒนา “ห้องเรียนแห่งอนาคต” พูดไปในทางเดียวกันว่า ไม่ใช่ความผิดของโรงเรียนกวดวิชาเลย แต่การที่ระบบการศึกษาไทยเน้นไปที่การแข่งขันเพื่อแย่งกันสอบเข้ามหาวิทยาลัยรัฐเพียงประการเดียว โดยรู้สึกว่าเป็นความสำเร็จในชีวิตนั้น แท้จริงแล้วเป็นความคิดความเชื่อที่ผิด

เด็กที่จะเก่งได้จริง ไม่จำเป็นต้องพึ่งกวดวิชา!

ดร.วิริยะกล่าวว่า มี 4 ประเด็นที่พ่อแม่อาจต้องหันมามองการศึกษาของลูกใหม่ และปรับทัศนคติใหม่ต่อการศึกษาของบุตรหลาน

ประเด็นแรก ดร.วิริยะยอมรับว่า เขาเองก็เป็นหนึ่งในผู้ที่เคยทำโรงเรียนกวดวิชา ซึ่งเป็นธุรกิจที่ไปได้ดี หลายคนที่ทำธุรกิจโรงเรียนมาด้วยกันตั้งแต่สมัย 20 ปีที่แล้ว ยังมีหลายคนที่ทำธุรกิจนี้อยู่ สาเหตุที่กวดวิชายังไปได้ เพราะสังคมไทยสอนแต่ให้เด็กเรียนเพื่อแข่งขัน ซึ่งเป็นปรัชญาการเรียนการสอนที่ผิดพลาดอย่างมาก

“การเกิดขึ้นของโรงเรียนกวดวิชาในสมัยก่อนเป็นเรื่องที่ถูกต้อง เพราะการแข่งขันสูงจริงๆ เด็กมีจำนวนมาก แต่จำนวนมหาวิทยาลัยมีน้อย”

ในอดีตหากเข้าเรียนไม่ได้ เช่น เข้าคณะวิศวกรรมไม่ได้ พ่อแม่ก็จะตัดสินใจส่งลูกไปเรียนที่ประเทศฟิลิปปินส์ ถึงแม้จะเป็นการเรียนที่ราคาไม่สูงนัก แต่เทียบกันแล้วหากเสียเงินทุ่มให้ลูกเรียนกวดวิชาเข้ามหาวิทยาลัยรัฐ ที่ค่าเรียนถูก ก็เป็นเรื่องที่คุ้มกว่า

อย่างไรก็ดี วันนี้สิ่งที่พ่อแม่ต้องคิดใหม่คือ มหาวิทยาลัยเอกชนมีคุณภาพสู้มหาวิทยาลัยรัฐได้มีจำนวนมากขึ้นอย่างมากแล้ว

จุดนี้เป็นจุดที่ต้องคิดใหม่!

“ตอนนี้ลองดูมหาวิทยาลัยเอกชน เมื่อ 20 ปีที่แล้วมหาวิทยาลัยเอกชนสู้มหาวิทยาลัยรัฐไม่ได้ก็จริง เพราะหลายสาขาไม่สามารถเปิดการเรียนการสอนได้ แต่วันนี้มหาวิทยาลัยเอกชนหลายแห่งมีคุณภาพการศึกษาสู้มหาวิทยาลัยรัฐได้แล้ว”

ทำให้มหาวิทยาลัยในวันนี้มีมากถึง 147 มหาวิทยาลัย มีการเปิดรับจำนวนที่นั่งเพียงพอกับการรับนักเรียน ทั้งสาขาทันตแพทย์, เภสัชกร, เทคนิคการแพทย์ ซึ่งเป็นสาขาที่ตลาดแรงงานตอนนี้เป็นที่ต้องการอย่างมาก

“เข้าเรียนอะไรไม่ใช่ปัญหาอีกต่อไป ไม่ต้องแข่งขันกัน แต่เวลานี้กวดวิชายังไปได้ เพราะคนยังไม่ได้คิดอย่างนี้ จนกว่าสังคมจะเห็นว่า เด็กจะแข่งขันกันอย่างเอาเป็นเอาตายไปทำไม”

ประเด็นที่ 2 มหาวิทยาลัยเอกชนหลายแห่งในปัจจุบันนี้มีคุณภาพดีกว่ามหาวิทยาลัยรัฐบาลแล้ว เพราะการที่มหาวิทยาลัยเอกชนต้องแข่งขันกับมหาวิทยาลัยของรัฐ อย่างต่างประเทศก็มีตัวอย่างว่ามหาวิทยาลัยชื่อดังล้วนเป็นมหาวิทยาลัยเอกชนหลายแห่ง ทั้งฮาร์วาร์ด, เอ็มไอที ฯลฯ

“บ้านเรายังติดใจอยู่ที่ว่า มหาวิทยาลัยรัฐดีกว่ามหาวิทยาลัยเอกชน วันนี้ผู้ปกครองจะต้องเข้าไปดู ว่าครูบาอาจารย์ที่เก่งๆ อยู่ที่ไหนกันบ้าง และมหาวิทยาลัยเอกชนทุกวันนี้มีการปรับการเรียนการสอนอย่างไร”

เส้นสาย “รุ่นพี่-รุ่นน้อง” ใช้ไม่ได้ องค์กรต้องการคนเก่งจริง!

ประเด็นที่ 3 ในวงการรับสมัครงานต่างๆ เดิมพ่อแม่จะคิดว่า การเรียนในมหาวิทยาลัยรัฐจะมีคอนเนกชันรุ่นพี่-รุ่นน้อง เชื่อมั่นว่ารุ่นน้องจะได้รับการช่วยเหลือในการเข้าทำงานในบริษัทใหญ่ๆ โดยรุ่นพี่จะเข้ามาช่วย เป็นความคิดในเรื่องของระบบเส้นสาย

แต่วันนี้ใช้ไม่ได้!

ดร.วิริยะกล่าวว่า องค์กรมีความคิดที่ว่า การดึงคนเข้ามาทำงานต้องทำให้องค์กรอยู่ได้ ดังนั้นต้องเน้นที่ความรู้ความสามารถของเด็กเป็นหลัก ใครที่มีความรู้ในการเรียนระดับมหาวิทยาลัยอย่างเดียวไม่พอ จะต้องเป็นผู้นำความรู้นั้นมาปรับใช้ให้ได้ด้วย ดังนั้นทักษะการเรียนรู้เป็นเรื่องสำคัญที่องค์กรต่างๆ ให้ความสำคัญอย่างมาก

มีแต่ปริญญา ขาดทักษะการเรียนรู้ วันนี้เส้นสายก็ช่วยไม่ได้!

“เดิมมีคนจบปริญญาตรี 800-900 คน คนจบน้อย แต่ทุกวันนี้ไม่ใช่ ทุกมหาวิทยาลัยรับคนเข้ามาเรียนจำนวนมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ มีคนจบปริญญาตรีปีละ 400,000 คน ดังนั้น ไม่ใช่ทุกคนที่มีเส้นสายจะเข้าทำงานได้ แต่คุณต้องเก่งจริง”

คนที่น่าห่วงในเรื่องนี้ กลับไม่ใช่คนรวย เพราะคนที่มีฐานะครอบครัวดี ก็จะมีธุรกิจให้บุตรหลานเข้าไปทำได้ทันที แต่คนจน ที่ยังมองว่าการแข่งขันเป็นเรื่องสำคัญ มีการขายที่ มีการกู้หนี้ยืมสิน วันหนึ่งเมื่อลูกจบออกมาแต่หางานทำไม่ได้ ตรงนี้จะเป็นจุดที่ทำให้มีปัญหา เพราะทุกคนคาดหวังว่า แค่สอบเข้ามหาวิทยาลัยดีๆ ก็การันตีว่าจะได้งานทำ

เป็นความคิดที่ผิด!

ประเด็นที่ 4 มหาวิทยาลัยเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับคนทั่วไป ดังนั้นมหาวิทยาลัยอย่างมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชจึงเหมาะมากสำหรับคนที่ต้องเรียนไปทำงานไป หรืออยากที่จะเรียนรู้เอง รวมทั้งมหาวิทยาลัยอื่นๆ ก็เริ่มมีเปิดให้เรียนรู้ได้ด้วยตนเองมากขึ้น ซึ่งในต่างประเทศก็กำลังเป็นที่นิยม เช่น MIT ที่เข้าไปเรียนในอินเทอร์เน็ตได้เลย หรือใครอยากเก่งภาษาอังกฤษ ภาษาจีน ในโลกของอินเทอร์เน็ตก็สามารถเรียนได้ 24 ชั่วโมง

กวดวิชาออนไลน์ตอนนี้ก็เช่นกัน มีกวดวิชาออนไลน์เต็มไปหมด และหลายๆ ที่เปิดให้เรียนฟรี

“ตอนนี้กวดวิชาที่ดี และได้รับการพูดถึงไปทั่วโลกคือ Khanacadamy ที่คนอินเดียเป็นคนสร้างขึ้น จากการที่เขาเห็นว่าเด็กอินเดียเป็นเด็กที่เข้าถึงด้านการศึกษาน้อย และมีรายได้น้อย ดังนั้นเขาจึงทำกวดวิชาออนไลน์ขึ้นมา”

เชื่อหรือไม่ว่า Khanacadamy ประสบความสำเร็จอย่างมาก จนมีคนเข้าไปดูจากทั่วโลกหลายล้านคน แต่วันนี้คนไทยยังเรียนหนังสือแบบอัดสาระการเรียนรู้ 8 สาระให้เด็กในระบบการศึกษา อัดการบ้านอย่างเต็มที่ให้เด็ก แต่ไม่ได้มองว่า ระบบการศึกษาพัฒนาและเปลี่ยนไปมาก

อย่างไรก็ดี Khanacadamy ก็มีนักวิชาการไทยนำมาแปลให้คนไทยเข้าไปเรียนรู้ได้แล้ว เป็นการเรียนการสอนแบบใหม่ ที่เพิ่มทักษะการเรียนรู้อย่างมาก เช่น วันนี้ใครอยากทำอะไร เข้าไปหาความรู้ได้ สนใจเรื่องระเบิดปรมาณู ความรู้ก็มีหมด

การศึกษาเปลี่ยน แต่ระบบการศึกษาไทยเท่านั้นที่ไม่เปลี่ยน

“กวดวิชายังรุ่งในประเทศไทย เพราะปัจจัยค่านิยมของสังคมไม่เปลี่ยน คนไทยรู้แต่ว่า จะวัดว่าเด็กคนไหนเก่งให้ดูที่เกรดเท่าไร โรงเรียนก็มีความคิดเดียวกัน พอถึงระดับมหาวิทยาลัยที่เน้นวัดความจำอย่างเดียว ก็ไม่ได้ตอบรับกับโลกที่เปลี่ยนไปแล้ว”

กวดวิชาก็ยังขายได้!

สิ่งที่พ่อแม่ต้องรู้ว่า การเรียนการสอนในประเทศไทยต้องเปลี่ยน

“เราจะสร้างลูกให้เติบโตได้ยังไง ภายใต้ระบบการศึกษาที่ล้มเหลว”

สิ่งนี้ต่างหากที่จะเปลี่ยนแปลงลูกให้เก่งได้จริง!

ธุรกิจกวดวิชาพากันรวย! ศธ.แจ้งสรรพากรเก็บภาษีโรงเรียนเถื่อน- “รีด” ค่าเรียนแพงเวอร์ (ตอนที่ 2)
ธุรกิจกวดวิชาพากันรวย! ศธ.แจ้งสรรพากรเก็บภาษีโรงเรียนเถื่อน- “รีด” ค่าเรียนแพงเวอร์ (ตอนที่ 2)
ธุรกิจกวดวิชาพากันรวย ตอนที่ 2 จะเป็นภาพสะท้อนระบบการศึกษาไทยและอนาคตธุรกิจกวดวิชาได้เป็นอย่างดี โดย นายธีระพันธ์ พุทธิสวัสดิ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน สำนักงานคณะกรรมการการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) กระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะผู้กำกับ ดูแล โรงเรียนกวดวิชา เปิดใจกับทีม Special Scoop ยอมรับว่าการกวดวิชามีทั้งข้อดี-เสีย แต่ยังเป็นธุรกิจที่จำเป็นโดยเฉพาะกวดวิชาแบบ on demand-ออนไลน์ จะได้รับความนิยมมากขึ้น เตรียมแจ้งสรรพากรเก็บภาษีสถานกวดวิชาเถื่อนทั่วประเทศ แจงพวก “รีด” ค่าเรียนแพงๆ แนะผู้ปกครองแจ้ง สช.จัดการ
กำลังโหลดความคิดเห็น