xs
xsm
sm
md
lg

ธุรกิจกวดวิชาพากันรวย! แค่ ม.ปลายดูดเงินผู้ปกครองกว่า 8 พันล้าน (ตอนที่ 1)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


วันนี้มีคำตอบ...ทำไม? ธุรกิจกวดวิชาจึงทำแล้วรวย!

ธุรกิจกวดวิชา ถูกจัดเป็นธุรกิจที่สร้างผลตอบแทนมหาศาล ผู้ลงทุนมีแต่ “รวย-รวย-รวย” และไม่ต้องเสียภาษี ขณะเดียวกันไม่ว่าเศรษฐกิจจะเป็นเช่นไร ธุรกิจนี้ก็ไม่มีวันซบเซา แถมเติบโตปีละ 5.4% แค่ระดับ ม.ปลายธุรกิจกวดวิชามีมูลค่ากว่า 8 พันล้านบาท “นักการศึกษา-นักลงทุน” แห่เปิดเป็นดอกเห็ด ไม่เว้นแม้กระทั่งนักการเมืองก็เริ่มโดดเข้าสู่ธุรกิจนี้

ส่วนต้นเหตุที่ทำให้ธุรกิจกวดวิชาเฟื่อง ก็เพราะระบบการศึกษาห่วยและมีผลประโยชน์แอบแฝง “เอาหูไปนาเอาตาไปไร่” ขณะที่ธุรกิจกวดวิชาก็แข่งเดือด พลิกกลยุทธ์ เปิดขายแฟรนไชส์การศึกษากันทั่วหน้า

ทีม special scoop จะนำเสนอในเรื่อง “ธุรกิจกวดวิชา พากันรวย” ในแง่มุมต่างๆ โดยเฉพาะผู้คุมกฎอย่างกระทรวงศึกษาฯ คิดอย่างไรกับธุรกิจกวดวิชา โดยเฉพาะด้านคุณภาพ และราคา

ขณะเดียวกัน การทำธุรกิจการศึกษาโดยเปิดขายแฟรนไชส์และซื้อแฟรนไชส์ มีจุดอ่อน จุดแข็งอย่างไร นักลงทุนหน้าใหม่ มีโอกาสประสบความสำเร็จจริงหรือไม่?

ที่สำคัญ ผู้เชี่ยวชาญในระบบการศึกษาจะมาไขคำตอบทั้งหมดว่า ระบบการศึกษาไทยในอนาคตจะเป็นอย่างไร
เพื่อให้ผู้ปกครองและบุตรหลาน ได้เตรียมพร้อม...รวมทั้งหมด 4 ตอน

ไม่เพียงแต่ผลการจัดอันดับ “ระดับการศึกษา” ของไทย ที่เป็นอันดับสุดท้ายในอาเซียน ที่เป็นตัวบ่งบอกว่าระบบการศึกษาของไทยมีปัญหา แต่ที่รู้กันมานานว่าผลผลิตหนึ่งของปัญหาระบบการศึกษาของไทยก็คือ โรงเรียนกวดวิชาที่โตวันโตคืน ยิ่งสะท้อนให้เห็นว่าระบบการศึกษาไทยนั้นเป็นจุดอ่อน

เชื่อหรือไม่ว่า ธุรกิจโรงเรียนกวดวิชานั้น เป็นธุรกิจที่ทำเงินจำนวนมหาศาลให้กับเจ้าของ ขณะเดียวกันมูลค่าตลาดรวมของธุรกิจโรงเรียนกวดวิชายังมีจำนวนหลายหมื่นล้านบาท ที่เป็นธุรกิจที่ไม่มีวันล้มหายตายจากไปจากสังคมไทย ตราบใดที่ระบบการศึกษาของไทยในระบบปกติยังเป็นเรื่องของผลประโยชน์ที่มีผู้เข้ามาเกี่ยวข้องหลายกลุ่ม
ที่เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการรื้อโครงสร้างระบบการศึกษาไทย

ทั้งๆ ที่งบประมาณของกระทรวงศึกษาธิการต่อปีสูงถึงปีละ 4 แสนล้านบาท โดยในงบประมาณของกระทรวงศึกษาธิการในปี พ.ศ. 2557 มีจำนวน 481,337 ล้านบาท แยกเป็น งบสำนักการศึกษาขั้นพื้นฐาน 304,362 ล้าน คิดเป็น 63.23%, งบอาชีวศึกษา 20,715 ล้าน คิดเป็น 4.30%, งบอุดมศึกษา 96,238 ล้าน คิดเป็น 19.99%, งบสำนักงานปลัด 56,027 ล้าน คิดเป็น 11.64% สูงกว่าปี พ.ศ. 2556 ที่กระทรวงศึกษาฯ ได้รับงบประมาณ 460,075 ล้านบาท และปี พ.ศ. 2555 ได้งบประมาณ 460,411.64 ล้านบาท

โดยกระทรวงศึกษาธิการนั้น ถือว่าได้งบประมาณมากที่สุดในทุกกระทรวง โดยคิดเป็นร้อยละ 20 ของวงเงินงบประมาณประจำปีแต่ละปีเสียอีก และงบที่ทุ่มไปมากที่สุดก็ยังเป็นงบของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน

ใช้เงินงบประมาณมากที่สุด แต่ผลออกมาห่วยสุดในอาเซียน?

โดยล่าสุด World Economic Forum (WEF) ก็รายงานขีดความสามารถในการแข่งขันด้านคุณภาพการศึกษา ซึ่งถือเป็นปัจจัยชี้วัดขีดความสามารถทางเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ปรากฏว่าคุณภาพทางการศึกษาของไทยอยู่ในอันดับ 8 รั้งท้ายกลุ่มประเทศอาเซียน น้อยกว่ากัมพูชาที่อยู่อันดับ 6 และเวียดนามที่อยู่อันดับ 7 เสียอีก

ผลประโยชน์ ก.ศึกษา-ขวางปฏิรูป

การลงทุนและผลลัพธ์ที่ออกมาที่แตกต่างราวฟ้ากับเหว นี่เป็นช่องว่างที่ทำให้ธุรกิจโรงเรียนกวดวิชาในประเทศไทยกลายเป็นธุรกิจที่ “จำเป็น” สำหรับพ่อแม่ที่ต้องทุ่มสุดตัวเพื่อให้บุตรหลานสุดที่รักได้เข้าเรียนโรงเรียนชื่อดัง และเข้ามหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงได้ นี่เป็นหลักประกันว่าธุรกิจโรงเรียนกวดวิชาจะเป็นธุรกิจที่ไม่มีวันล้มหายตายจาก

เพราะการเรียนการสอนในระบบมันห่วยเสียจนหวังพึ่งพิงไม่ได้?

“ประเทศไทยมันยากที่จะรื้อระบบการศึกษาขึ้นมาใหม่ เพราะว่าในระบบการจัดการการศึกษาของไทย มีผลประโยชน์ทับซ้อนหลายระดับและเป็นตัวหลักในการขัดขวางการปฏิรูปการศึกษา” พท.พญ.กมลพรรณ ชีวพันธ์ศรี ประธานเครือข่ายพ่อแม่เยาวชนเพื่อการปฏิรูปการศึกษา และนายกสมาคมเครือข่ายผู้ปกครองแห่งชาติ กล่าว

แค่ผลประโยชน์ในด้านการผลิตตำราเรียน ก็เป็นผลประโยชน์มูลค่ามหาศาลที่ผูกติดยึดโยงกับกระทรวงศึกษาธิการมานาน และเวลานี้มีนักการเมืองเริ่มไปลงทุนในโรงเรียนกวดวิชาซึ่ง พท.พญ.กมลพรรณ บอกว่ากำลังติดตามหาข้อมูลในเรื่องดังกล่าวอยู่

ด้วยเหตุนี้ทำให้ระบบการเรียนการสอนในระบบการศึกษาไทย ต้องเป็นการศึกษาที่อาศัยตำราเรียนจำนวนมาก ดังนั้นเด็กนักเรียนจึงต้องเรียนแบบอัดเนื้อหาเข้าไป 8 สาระวิชา

“เนื้อหาที่เยอะเกินไปในการเรียน กลับเป็นตัวทำลายศักยภาพของเด็กไทย เพราะการเรียนทุกวิชาแบบอัดเนื้อหา ไม่ได้สร้างทักษะที่จำเป็นต้องใช้ในการดำเนินชีวิต หรือการนำมาประกอบวิชาชีพเลย”

นอกจากนี้ประเทศไทยยังมีการวางระบบการศึกษาเป็นแบบการแข่งขัน ทุกคนมุ่งเข้าสู่การแข่งขันเพื่อให้เข้าเรียนในระดับอุดมศึกษาที่เป็นของรัฐให้ได้ ดังนั้นธุรกิจกวดวิชาจึงมีความสำคัญขึ้นมา เพราะโรงเรียนกวดวิชามีจุดเด่นคือการสอนเทคนิคเพื่อให้เด็กไป “ชนะ” ในการแข่งขันในระบบการศึกษาไทยเท่านั้น

โรงเรียนกวดวิชาจึงตอบโจทย์ทั้ง “เด็ก” และ “พ่อแม่ผู้ปกครอง” ที่ถูกกำหนดเส้นทางไว้เบ็ดเสร็จจากการออกระบบการศึกษาที่มีจุดอ่อนนี้

“เราจัดการศึกษากันไม่เป็น หรือไม่ก็คือไม่รู้จะจัดกันยังไงหรือเปล่า อย่างสิงคโปร์มีวัดแววความถนัดให้เด็กตั้งแต่ประถม วัดแววว่าถนัดด้านไหน แล้วก็มีการจัดการเรียนการสอนในระดับมัธยมต้น มัธยมปลายให้เหมาะสมกับเด็ก เช่น เด็กเล่นกีฬาแบดมินตันเก่ง ก็มีโรงเรียนเฉพาะทางแต่ละจังหวัด หรือคิดกลับกันโรงเรียนผลิตนักคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์อย่างมหิดลวิทยานุสรณ์ทำไมไม่ให้มีทุกจังหวัด ขยายโอกาสให้เด็กต่างจังหวัดที่มีความสามารถเข้าเรียนได้มีโอกาสเข้าเรียนได้มากขึ้น”

เด็กจะได้เรียนในสิ่งที่เด็กอยากเรียน อยากทำงาน และสามารถเรียนรู้ได้กว้างไกลกว่าการเรียนแบบหว่านแห ท่องจำทุกวิชาอย่างในปัจจุบัน

การแก้ปัญหาด้านการศึกษาจึงจะต้องเริ่มจากนโยบายรัฐ!
ภาพ : Brands summer camps
การศึกษาขาลง-กวดวิชาขาขึ้น

ไม่เช่นนั้น พ่อแม่ก็ต้องหาเงินมาให้ลูกเรียนกวดวิชาอยู่ต่อไป เพราะกลัวว่าลูกจะแข่งกับใครเขาไม่ได้

ที่สำคัญ เมื่อระบบการศึกษาไทยยังเรียนเพื่อไปสอบแข่งขันก็พบว่าธุรกิจโรงเรียนกวดวิชากลับมีการพัฒนาและเปลี่ยนรูปแบบอยู่ตลอด เพื่อให้ตอบโจทย์ระบบการศึกษาไทย และปรับตัวให้เป็นธุรกิจที่เป็นเรื่องจำเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ

ระบบการศึกษาไทยจึงขาลง แต่โรงเรียนกวดวิชากลับยังเป็นธุรกิจที่ยังขาขึ้น

ทุกวันนี้โรงเรียนกวดวิชาเลยผุดเป็นดอกเห็ด มีหลากหลายรูปแบบ แต่โรงเรียนที่จดทะเบียนถูกต้องในปีการศึกษา พ.ศ. 2555 เพียง 2,005 โรงเรียนที่จดทะเบียนถูกต้อง แยกเป็นในกรุงเทพฯ 460 โรงเรียน ต่างจังหวัด 1,545 โรงเรียน ขณะที่โรงเรียนที่การจัดตั้งอย่างไม่ถูกต้องนั้นกลับมีจำนวนมากกว่า มีทุกรูปแบบตั้งแต่ครูเปิดบ้านเป็นโรงเรียน กระทั่งมีการโฆษณาอย่างเปิดเผย และโดยเฉพาะโรงเรียนกวดวิชาเหล่านี้ก็มักจะตั้งในบริเวณใกล้กับโรงเรียนดังที่มีการแข่งขันสูง

ตัวอย่างเช่น ใครอยากให้ลูกเข้า ม.1 โรงเรียนดังๆ โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ก็ต้องไปที่สถาบันกวดวิชาเอี่ยมจิตร ที่อยู่ใกล้ๆ หรือใครอยากให้เข้าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ ก็ต้องไปที่โรงเรียนกวดวิชาศูนย์วิชาการโฟกัส หรือโรงเรียนกวดวิชาเมืองทองพัฒนาการ ส่วนใครอยากเข้าเตรียมอุดมศึกษาน้อมเกล้า ก็ต้องไปที่โรงเรียนกวดวิชาที่หมู่บ้านศรีประจักษ์

สำหรับจุดขายของโรงเรียนกวดวิชาเหล่านี้ก็คือ เป็นคณาจารย์ของโรงเรียนที่บุตรหลานต้องการจะเข้าเป็นผู้ติวหรือสอนเองทั้งหมด

ดังนั้นผู้ปกครองและเด็กจะใช้วิธีใครอยากเข้าโรงเรียนไหน ก็จะไปหาโรงเรียนกวดวิชาที่อยู่รอบๆ โรงเรียนนั้นๆ โดยจะมีครูในโรงเรียนดังเหล่านั้นมาเป็นครูสอนเอง แม้จะไม่ใช่เจ้าของโรงเรียน ผลก็คือ เด็กที่อยากเข้าโรงเรียนดังก็ต้องแห่กันมาเรียน เพราะเชื่อมั่นว่าจะมีการติวแบบพิเศษเพื่อให้เข้าโรงเรียนดังๆ เหล่านั้นได้ง่าย

“เมื่อเด็กเข้าได้แล้ว ก็จะเรียนพิเศษกับโรงเรียนกวดวิชาเหล่านี้อีก เพราะต้องการทำเกรดในห้องเรียน เด็กเชื่อว่า ครูต้องเอาข้อสอบมาบอก ซึ่งผลที่ออกมาเด็กเหล่านี้มักจะได้คะแนนเก็บที่ดีกว่าเด็กที่ไม่ได้เรียนพิเศษ ส่งผลให้คะแนน GPA แต่ละวิชาเด็กดีไปด้วย” ผู้ปกครองนักเรียนระดับมัธยมต้น-ปลาย เล่าให้ฟัง

ขณะที่เด็กบางกลุ่มที่ไม่เลือกโรงเรียนกวดวิชาใกล้โรงเรียน ก็จะหันไปเรียนโรงเรียนกวดวิชาที่มีชื่อเสียง เพราะสถาบันเหล่านี้มีเทคนิคการสอนที่ดีกว่า ใช้ผู้สอนที่มีวัยใกล้เคียงกับเด็ก เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยชื่อดัง ทำให้เด็กรู้สึกใกล้ชิด เป็นเพื่อน เป็นพี่ ดีกว่า และรู้สึกสนุก อยากไปเรียน

“เด็กจะเบื่อการสอนของอาจารย์ที่โรงเรียน บอกสอนไม่ค่อยรู้เรื่อง เป็นครูแก่ขี้บ่น หากไปเรียนโรงเรียนกวดวิชาของอาจารย์เหล่านี้เด็กเชื่อว่าไม่ได้อะไร มีแต่ความน่าเบื่อ ผู้ปกครองบางคนที่มีสตางค์อยากให้ลูกได้เกรดดี ก็ให้ไปลงทิ้งไว้ แต่ไม่ต้องไปเรียน เพื่อจะได้รู้ว่าควรอ่านตรงไหน คือจะรู้ว่าข้อสอบจะออกตรงไหนแค่นั้นก็พอ และให้เด็กไปเรียนโรงเรียนกวดวิชาชื่อดังตามที่ลูกต้องการ”

ดังนั้นโรงเรียนกวดวิชาที่มีชื่อเสียงอยู่แล้ว ต่างก็มีการปรับกลยุทธ์ตลอด ในขณะนี้มีการรวมกลุ่มเพื่อทำธุรกิจร่วมกันด้วยเหตุผลของการ “ดูดเด็กให้เข้ามาในกลุ่มธุรกิจเครือข่ายมากที่สุด” เช่น ตึกวรรณสรณ์ พญาไท เป็นต้น

ประกอบกับเงื่อนไขการสอบที่จะมีตั้งแต่ระดับเอเน็ต โอเน็ต GAT การสอบความถนัดทั่วไป (GAT: General Aptitude Test) และ PAT ความถนัดทางวิชาชีพและวิชาการ (PAT: Professional and Academic Aptitude Test) ก็เป็นการสอบที่เน้นการสอบทุกวิชา ทำให้เด็ก 1 คน ไม่สามารถเรียนพิเศษในโรงเรียนกวดวิชาแค่วิชาเดียวได้ หรือคอร์สเดียว ก็ต้องเรียนไปให้ได้มากที่สุด เก็บเกี่ยวให้ได้มากที่สุด

ติวคอร์ส Gat-Pat จ่าย 5 หมื่นต่อหัว

ที่สำคัญการสอบในระดับ GAT PAT ที่เป็นการสอบตรงเข้ามหาวิทยาลัยเองนั้น ก็เป็นการสอบแบบวิเคราะห์ เชื่อมโยง ซึ่งการเรียนการสอนในระบบโรงเรียนปัจจุบันไม่ได้มีการสอนในเรื่องเหล่านี้

เด็กคนไหนที่จะเข้ามหาวิทยาลัย และเพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจให้ได้ว่าจะมีเปอร์เซ็นต์ในการสอบเข้าได้มากกว่าคนอื่นๆ ก็ต้องเสริมการเรียนในหมวดการเตรียมตัวสอบ ทั้งวิชาหลัก เช่น สายวิทย์ ก็จะเรียนคอร์สฟิสิกส์ คอร์สเคมี คอร์สชีวะ และจะต้องเรียน GAT รวมไปถึง PAT คือวิชาเฉพาะที่ตัวเองจะสอบเข้าคณะที่ต้องการเข้าไปด้วย ซึ่งราคาไม่ถูกนัก

ระดับ 10,000-50,000 บาทต่อเทอม เป็นเรื่องปกติที่พ่อแม่ต้องหาเงินมาเตรียมให้ลูกเรียนพิเศษ!

“โรงเรียนกวดวิชาจะมีการจัดคอร์สการติว ตามระบบการศึกษาที่กระทรวงศึกษาฯ กำหนดหลักสูตรมา ตรงนี้จึงเป็นช่องว่างที่โรงเรียนกวดวิชาหาประโยชน์ได้ง่ายด้วยการแบ่งย่อยหลักสูตรการติวมากขึ้น ปีนี้ลูกเรียน ม.6 จะสอบGat-Pat ต้องจ่ายค่าเรียน 5 วิชาเป็นเงิน 54,500 บาท”

อย่างไรก็ดี เมื่อผู้ปกครองต้องจ่ายค่าติวเพื่อให้เด็กใช้ในการสอบเข้ามหาวิทยาลัยซึ่งคอร์สนี้ใช้เวลาติวประมาณ3-4 เดือน เรียนเฉพาะเสาร์-อาทิตย์ รวม 5 วิชา เป็นเงิน 54,000 บาทต่อ1 คน และมีเด็กเข้าติวกว่า 200 คน หลักสูตรนี้โรงเรียนกวดวิชารับไปแล้วกว่า 10 ล้านบาท ขณะที่มีหลักสูตรอื่นๆ อีกมากมาย

“โรงเรียนกวดวิชาไม่ต้องเสียภาษี รายได้ทั้งหมดเป็นกอบเป็นกำ สอน 5 วิชาใช้คนสอนเพียง 5 คน แต่บางคนสอน 2 วิชา สถานที่ก็ไม่ต้องเช่า ใช้บ้านที่พักอยู่เป็นที่กวดวิชา ถึงได้บอกว่าคนทำโรงเรียนกวดวิชารวยทั้งนั้น แค่หลักสูตรเดียวรับไปเลย 10 ล้านบาท” ผู้ปกครอง ระบุ

กวดวิชาพลิกกลยุทธ์-ดูดเด็กเพิ่ม

ในยุคปัจจุบัน ผู้บริหารโรงเรียนกวดวิชาดังๆ นอกจากจะเปิดโรงเรียนกวดวิชาของตัวเองแล้ว ยังมีการขายแฟรนไชส์ที่มีมูลค่าแต่ละคอร์สสูงมาก และต้องมีการใช้เทคโนโลยีในการสอนเพื่อสร้างจุดเด่นของโรงเรียนกวดวิชาของตัวเอง ส่งผลให้ค่าเรียนของเด็กทุกวันนี้แพงขึ้น และต้องเรียนหลายวิชามากขึ้น

ที่เห็นได้ชัดที่มีการขายแฟรนไชส์นั้น ก็จะมีโรงเรียนกวดวิชารุ่นเก่าตั้งแต่ MAC หรือสถาบันกวดวิชาแม็ค ที่มีการคิดราคาค่าแฟรนไชส์ แบ่งเป็นค่าธรรมเนียมแรกเข้า จ่ายครั้งเดียว 50,000 บาท ค่าใช้สิทธิ์เครื่องหมายการค้า/บริการ ตลอดอายุสัญญา 3 ปี (พื้นที่ไม่เกิน 200 ตร.ม.) 150,000 บาท และค่าธรรมเนียมที่มีเงื่อนไขที่จะคิดจากรายได้รวมทั้งหมดของแต่ละคอร์ส 7.5%

นี่ถือว่าเป็นระดับกลางๆ

แต่ระดับที่ได้รับความนิยมอย่างแฟรนไชส์โรงเรียนกวดวิชาของครูบุ๋ม Hi-Speed Maths Center เป็นโรงเรียนสอนคณิต ฟิสิกส์ และพื้นฐานทางวิศวกรรม สอนตั้งแต่ชั้น ป.6-ม.6 ขณะนี้มีสาขาทั่วประเทศแล้ว 20 สาขา ซึ่งมีการเปิดขายแฟรนไชส์เป็นหลักสูตรๆ ไป โดยมีสัญญาต่อปีเก็บ 1 ครั้งตอนเซ็นสัญญา มีราคาแต่ละคอร์สต่างกันเช่น คณิต ม.ต้น 499,000 บาทต่อปี, คณิต ม.ปลาย 559,000 บาทต่อปี, ฟิสิกส์ ม.ต้น 299,000 บาทต่อปี, ฟิสิกส์ ม.ปลาย 459,000 บาทต่อปี, คอร์สตะลุยโจทย์ GAT, PAT2+PAT3 ราคา 259,000 เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีการเรียนการสอนแบบ on demand ที่เด็กสามารถเลือกลงทะเบียนออนไลน์ เรียนออนไลน์ แถมยังกรอเทปการเรียนการสอนกลับไปกลับมาได้อีกต่างหาก

อันนี้คือแบบแฟรนไชส์ แต่ก็มีโรงเรียนกวดวิชาอีกประเภทหนึ่งที่เกิดขึ้นมาหลายปี และได้รับความนิยมเช่นเดียวกัน คือการเรียนกวดวิชาที่ตราสินค้าต่างๆ ต่างจัดขึ้น เช่น Brand’s summer camp, โครงการทบทวนความรู้สู่มหาวิทยาลัยกับมาม่า, เปปทีน,clickforclever.com โดย บ๊อบ-ณัฐธีร์ (บดินทร์ โกศลพิศิษฐ์) ที่ได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชนยักษ์ใหญ่อย่าง AIS, ปตท., SCB เป็นต้น

การกวดวิชาแบบนี้จะเป็นการกวดวิชาแบบนักเรียนไม่เสียเงิน มีการเชิญอาจารย์กวดวิชาชื่อดังมาสอน เป็นการทำโครงการคล้ายๆ กับการทำ CSR ของบริษัทต่างๆ แต่ก็มีวัตถุประสงค์มุ่งสร้าง Brand loyalty ให้เกิดขึ้นกับเด็กยุคใหม่ด้วยเช่นกัน
ภาพ : อินเทอร์เน็ต
นอกจากนี้โรงเรียนกวดวิชายังไม่ได้สำเร็จรูปอยู่แค่หลักสูตรการเรียนการสอนแบบกระทรวงศึกษาธิการเพียงอย่างเดียว แต่ยังเปิดเป็นโรงเรียนสอนทักษะเฉพาะทางขึ้นมาเพื่อรองรับกับตลาดของพ่อแม่ยุคใหม่ที่อยากพัฒนาลูกทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็น โรงเรียนฝึกสมาธิ โรงเรียนสอนโยคะ โรงเรียนสอนเทควันโด โรงเรียนสอนฟุตบอล โรงเรียนศิลปะ โรงเรียนสอนทำอาหาร ฯลฯ

รวมถึงโรงเรียนเทคนิคการเรียนรู้พิเศษ อย่างโรงเรียนสอนเทคนิคการเรียนวิชาคณิตศาสตร์แบบเกาหลี หรือ แบบสิงคโปร์ ที่เน้นเด็กเล็ก 3-7 ขวบ ก็เป็นโรงเรียนที่ได้รับความนิยมจากพ่อแม่ที่ต้องการปูพื้นฐานให้ลูกก่อนไปเรียนกวดวิชาอื่นๆ ต่อไป เพื่อเน้นการแข่งขันในการสอบเข้ามหาวิทยาลัยดังในอนาคต

ทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการเสริมทักษะด้านไหน พ่อแม่ล้วนมีจุดมุ่งหมายที่จะให้ “ลูก” ไปถึงฝั่งฝัน คือเข้ารั้วมหาวิทยาลัยดังๆ ได้ โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยของรัฐที่มีจำนวนที่นั่งจำกัด

รวมกับการที่ธุรกิจโรงเรียนกวดวิชาในรูปแบบต่างๆ ที่ขยันออกมาพลิกแพลงกลยุทธ์ที่ถือเป็นการใช้กลยุทธ์ทางการตลาดเข้ามาเกี่ยวข้อง

ผลก็คือ วันนี้ผู้ปกครองคนหนึ่งต้องเตรียมเงินไว้เพื่อให้ลูกหลานไปเรียนในโรงเรียนกวดวิชาตั้งแต่ระดับประถม ที่ว่ากันว่า ประถม 3 ก็เริ่มต้นได้แล้ว ไม่อย่างนั้นจะสายเกินไปในการเตรียมการเพื่อสอบเข้า ม.1 โรงเรียนดังๆ หรือโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยต่างๆ ซึ่งจะเข้าโรงเรียนแบบไหน ก็ต้องมีการไปเรียนในโรงเรียนกวดวิชาที่เน้นสอบเข้าในแต่ละโรงเรียนเฉพาะเข้าไปอีก อย่างจะสอบเข้าโรงเรียนสวนกุหลาบ พ่อแม่ต้องหาแล้วว่าโรงเรียนกวดวิชาที่เน้นการสอบเข้าโรงเรียนสวนกุหลาบอยู่ที่ไหน และที่ไหนมีคนนิยมให้ลูกหลานไปเรียนมากที่สุด เป็นต้น

ดังนั้นการจะสร้างเด็กคนหนึ่งเพื่อเข้ารั้วมหาวิทยาลัย จะต้องเสียเงินในการกวดวิชากว่าแสนบาทต่อเด็ก 1 คน

ธุรกิจโรงเรียนกวดวิชาจึงเติบโต และมีมูลค่ามหาศาล

ศูนย์วิจัยกสิกรฯชี้กวดวิชาขยายตัวปีละ 5.4%

น.ส.กัญญารัตน์ ชิระวานิชผล เจ้าหน้าที่วิจัยอาวุโส ฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจจุลภาค 2 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ได้ทำการวิจัยในเรื่องธุรกิจกวดวิชาในระดับ ม.ปลาย ตั้งแต่ ม.4-ม.6 พบว่าทิศทางธุรกิจโรงเรียนกวดวิชาจะเติบโตไปได้อีกจากตัวเลขประมาณการการเติบโตเป็นร้อยละ 5.4 ต่อปี เมื่อดูจากจำนวนโรงเรียนที่สูงขึ้นต่อปี และค่าเรียนที่สูงขึ้นในทุกปี โดยค่าใช้จ่ายต่อหัวนักเรียนจะมีการเพิ่มขึ้นร้อยละ 5 ต่อปี โดยแยกเป็น 2 กรณีได้แก่ 1.โรงเรียนกวดวิชาในสถาบันที่มีชื่อเสียง ในปี 2556 มีการประมาณการค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 16,800 บาทต่อคน และ 2.โรงเรียนกวดวิชาที่เป็นกลุ่มติวเตอร์อิสระ อยู่ที่ 12,000 บาทต่อคน ตรงนี้เป็นการประมาณการแค่กลุ่มเด็ก ม.ปลายที่จะมุ่งเข้ามหาวิทยาลัย ทำให้เม็ดเงินในตลาดโรงเรียนกวดวิชาเฉพาะแค่ ม.ปลายนี้อยู่ที่ 7,160 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันมีตัวเลขเด็กนักเรียนในระบบกวดวิชาประมาณ 453,881 คน

โดยนักเรียนส่วนใหญ่นิยมไปเรียนในโรงเรียนกวดวิชาที่มีชื่อเสียงโด่งดังมากกว่า ซึ่งเกี่ยวกับความน่าเชื่อถือของสถาบันกวดวิชาเหล่านั้น และกลยุทธ์ของโรงเรียนกวดวิชาที่มีการรวมตัวกันเป็นคลัสเตอร์แบบ one stop service รวมหลายๆ โรงเรียนกวดวิชาไว้ในที่เดียวกันเพื่อความสะดวก และการนำเทคโนโลยีมาใช้ดึงดูดนักเรียน ทั้ง แอปพลิเคชันการศึกษา และแท็บเล็ตแบบทดสอบที่ทำในห้องเรียนได้เลย เป็นต้น

ขณะที่นักเรียนที่ไปเรียนกับกลุ่มติวเตอร์อิสระเป็นการเรียนที่นักเรียนรวมกลุ่มกันอยู่แล้ว ส่วนใหญ่เป็นติวเตอร์ที่เป็นเด็กในมหาวิทยาลัย ดังนั้นจึงประมาณการไว้ว่านักเรียนที่เลือกไปเรียนในโรงเรียนกวดวิชาจะมีร้อยละ 80 ขณะที่อีกร้อยละ 20 ไปเรียนกับติวเตอร์อิสระ

“โอกาสธุรกิจโรงเรียนกวดวิชาน่าจะเติบโตไปได้อีก โดยเฉพาะในต่างจังหวัดที่เป็นหัวเมืองรอง ที่เป็นตลาดที่ยังรองรับการขยายตัวของธุรกิจนี้ได้ เนื่องจากข้อได้เปรียบด้านระยะทาง ที่พ่อแม่ไม่ต้องส่งบุตรหลานไปเรียนไกลๆ”

อย่างไรก็ดีการจะคิดว่าการเรียนในระบบการศึกษาชั้น ม.4-ม.6 จะมีค่าใช้จ่ายเท่าไรนั้นขึ้นอยู่กับค่าเทอมโรงเรียนเด็กแต่ละคน และรวมเพิ่มเข้าไปในค่าเฉลี่ยของการเรียนกวดวิชาคือ 16,800 บาท ซึ่งเด็กที่เรียนในโรงเรียนเอกชนจะทำให้พ่อแม่มีค่าใช้จ่ายในการเรียนสูงกว่าเด็กที่เรียนในโรงเรียนรัฐ

นอกจากนี้ค่าใช้จ่ายที่จะใช้เพื่อเรียนในโรงเรียนกวดวิชาจะสูงขึ้น เนื่องเพราะแนวโน้มการศึกษานานาชาติที่จะทำให้เด็กต้องฝึกทักษะด้านภาษาอังกฤษเพิ่มมากขึ้น และเสริมทักษะด้านอื่นที่ไม่ใช่วิชาการ จะทำให้ผู้ปกครองต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาเพิ่มมากขึ้นไปอีก

“ธุรกิจกวดวิชาที่เกี่ยวข้องกับภาษา หรือ คอร์สภาษาอังกฤษ จะเข้ามามีบทบาทในตลาดกวดวิชามากขึ้นจากนี้ไป”

ดังนั้นแม้ธุรกิจโรงเรียนกวดวิชาจะเป็นธุรกิจที่หลายคนยังมองเขาในแง่ร้าย แต่ระบบการศึกษาไทยที่ห่วยแตก และเน้นไปเพื่อทำให้เด็กต้องสอบแข่งขันกันให้เป็นผู้ชนะ ก็ยังส่งเสริมให้โรงเรียนกวดวิชาเหล่านี้เป็นธุรกิจที่ไม่ใช่แค่ขายได้ แต่ยังขายดีอย่างที่สุด

แถมเม็ดเงินมหาศาลที่ลงไปกับโรงเรียนกวดวิชา ที่เป็นธุรกิจด้านการศึกษายังมีข้อยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี

อย่าแปลกใจถ้าคนเปิดโรงเรียนกวดวิชาจะกลายเป็นเศรษฐีไปตามๆ กัน!

แต่ที่น่าประหลาดใจ กระทรวงศึกษาธิการ ตะลึง ธุรกิจกวดวิชาในประเทศไทย มีระบบแฟรนไชส์ ติดตามในตอนที่ 2

กำลังโหลดความคิดเห็น