ธุรกิจกวดวิชาพากันรวย ตอนที่ 2 จะเป็นภาพสะท้อนระบบการศึกษาไทยและอนาคตธุรกิจกวดวิชาได้เป็นอย่างดี โดย นายธีระพันธ์ พุทธิสวัสดิ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน สำนักงานคณะกรรมการการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) กระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะผู้กำกับ ดูแล โรงเรียนกวดวิชา เปิดใจกับทีม Special Scoop ยอมรับว่าการกวดวิชามีทั้งข้อดี-เสีย แต่ยังเป็นธุรกิจที่จำเป็นโดยเฉพาะกวดวิชาแบบ on demand-ออนไลน์ จะได้รับความนิยมมากขึ้น เตรียมแจ้งสรรพากรเก็บภาษีสถานกวดวิชาเถื่อนทั่วประเทศ แจงพวก “รีด” ค่าเรียนแพงๆ แนะผู้ปกครองแจ้ง สช.จัดการ
กฎใหม่คุมเข้มสถานกวดวิชาเกิดใหม่
การจัดตั้งโรงเรียนกวดวิชา เราจะมีระเบียบกำหนดมาตรฐานของครูผู้สอน และกำหนดในเรื่องของขนาดห้อง ความจุ วิธีการสอน มีการสอนสด สอนผ่านทีวี และสอนโดยผ่านคอมพิวเตอร์ และจะมีวิธีกำหนดรอบ ซึ่งเรามีฐานความคิดเรื่องค่าธรรมเนียมการศึกษา มีสูตรที่เป็นอัตราในการคิดว่ามีการคิดค่าใช้จ่ายอย่างไร บวกผลตอบแทนเท่าไร ซึ่งเราล้อตาม พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 ที่มีข้อกำหนดไว้ว่า ในมาตรา 32 ให้ค่าตอบแทนเป็นไปตามที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนดซึ่งเป็นในระบบ เราก็เลยเอามาล้อกับนอกระบบว่าให้บวกผลตอบแทนจากต้นทุนได้ไม่เกิน 20% จากฐานวิธีคิดได้แก่ เขาคิดค่าเช่าเท่าไร ค่าอุปกรณ์เท่าไร ซึ่งเราใช้วิธีคิดตามระบบบัญชีทั่วไปคือมีค่าเสื่อมบวกค่าลงทุน และเอามาเฉลี่ยหารด้วยจำนวนนักเรียน และเมื่อคิดเป็นค่าเฉลี่ยต้นทุนแล้ว ก็มาคิดค่าบริการที่เมื่อคิดต่อหัวแล้วไม่เกิน 20% ของต้นทุน
อย่างไรก็ดี ตามกฎกระทรวงใหม่คือกฎกระทรวงว่าด้วยการขอรับใบอนุญาตให้จัดตั้งโรงเรียนนอกระบบ พ.ศ. 2555 ระบุว่าอาคารที่จะมาใช้เปิดเป็นโรงเรียนกวดวิชานั้นต้องเป็นอาคารวัตถุประสงค์เพื่อการศึกษาโดยเฉพาะ ดังนั้นใครมีอาคารที่อยู่อาศัยแต่จะเปิดเป็นโรงเรียนกวดวิชานั้น ไม่สามารถทำได้แล้ว จะต้องเป็นอาคารที่เปิดโดยวัตถุประสงค์เพื่อการศึกษาด้วย แต่อาคารที่ขอเปิดเพื่อทำที่อยู่อาศัยที่มีแต่เดิม ก็ใช่ว่าจะไม่มีทางแก้ไข คือสามารถไปขอเทศบาล หรือใน กทม.ก็ไปขอตามเขตต่างๆ ว่าจะขอเพิ่มวัตถุประสงค์ของอาคารเป็นอาคารเพื่อการศึกษาก็ได้เช่นกัน ซึ่งเรื่องนี้อาจจะมองว่าเป็นการเพิ่มความยุ่งยาก แต่ก็เป็นเรื่องความปลอดภัยในความมั่นคงด้านอาคารที่จะมีผลกระทบต่อเด็ก ก็ต้องให้ความสำคัญ โดยก่อนอนุญาตเจ้าหน้าที่จะมีการไปดูสถานที่ว่ามีความพร้อมหรือไม่ ทั้งเรื่องขนาดห้อง ห้องน้ำ ที่ให้เด็กพักผ่อน ฯลฯ ถ้าผ่านถึงอนุญาตให้จัดตั้ง
“คิดว่าอาจจะมีคนร้องเรียนเพราะความยุ่งยากเรื่องอาคาร เพราะมีคนที่มีอาคารอยู่แล้วแล้วไม่อยากยุ่งยาก ก็เข้าใจว่าเวลาเปลี่ยนวัตถุประสงค์อาคารมันยุ่งยากจริงๆ แต่เจตนาของเรื่องนี้คือถ้าอาคารเดิมแล้วมาใช้ทำเป็นโรงเรียนกวดวิชาแล้วไม่ได้มีย้อนหลัง แต่คนที่ทำโรงเรียนกวดวิชาใหม่จะต้องทำตามกฎใหม่นี้”
สถานที่กวดวิชาเถื่อนเต็มเมือง
สำหรับจำนวนโรงเรียนกวดวิชาในปีการศึกษา 2555 ที่มีการจดทะเบียนอย่างถูกต้องนั้น มีทั้งหมด 2,005 โรงเรียน ในจำนวนนี้มีโรงเรียนกวดวิชาตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ 460 โรงเรียน และตั้งที่ต่างจังหวัด 1,545 โรงเรียน แล้วก็จะมีโรงเรียนกวดวิชาในรูปแบบอื่นๆ ที่ไม่ใช่เป็นการสอนเฉพาะวิชาตามหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการ ได้แก่โรงเรียนสอนศาสนา, ศิลปะและกีฬา, วิชาชีพ และเสริมสร้างทักษะชีวิต รวมอีกประมาณ 3,216 โรงเรียน รวมโรงเรียนกวดวิชาอีก 2,005 โรงเรียน รวมตอนนี้ทั้งประเทศไทยมีโรงเรียนกวดวิชาประเภทต่างๆ 5,221 แห่งทั่วประเทศ
มีโรงเรียนกวดวิชาอีกมากที่ไม่ได้จดทะเบียนอย่างถูกต้อง แต่ทางราชการไม่ได้ไปตรวจสอบจับกุม เพราะมีเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอ เว้นแต่เป็นโรงเรียนกวดวิชาเถื่อน (ไม่ได้จดทะเบียนกับ สช.) แล้วยังมีการหลอกนักเรียนว่าเป็นครูจากสถาบันมีชื่อเสียง เช่น หลอกว่าใช้อาจารย์จากจุฬาฯ คิดค่าใช้จ่ายสูงเกินไป แล้วมีเด็กหรือผู้ปกครองมาร้องเรียน ก็จะมีการเข้าไปตรวจสอบดำเนินคดี เราจะปรับ แล้วภายหลังหากมีคนชื่อนี้มาขอจัดตั้งโรงเรียนกวดวิชา ก็จะไม่ได้รับอนุญาตให้จัดตั้งโรงเรียนกวดวิชา เพราะเราถือว่าไม่มีจิตวิญญาณของคนที่ทำงานด้านการศึกษา
“บางโรงเรียนเคยพบว่ามีการประจานเด็ก ครูประพฤติไม่เรียบร้อย ไม่เหมาะสม เรียกว่าบกพร่องในศีลธรรมอันดี เราก็ไม่ให้ ถือว่ามีความประพฤติไม่เรียบร้อย บางเคสเราก็ถูกฟ้องกลับ ก็สู้คดีชนะ เขาฟ้องว่าไม่อนุญาตให้เขาไม่ถูกต้อง เราก็สู้ว่าคนที่จะทำธุรกิจการศึกษา ต้องมีจิตที่เป็นการกุศล ไม่ใช่ว่าไปเอาเปรียบเด็ก เราก็ชนะ โรงเรียนนั้นก็เปิดไม่ได้”
ในส่วนของโรงเรียนกวดวิชาเถื่อนนี้ ยังมีอยู่อีกมากมาย แต่บริเวณที่นิยมไปเรียนกันมากที่สุดอย่างสยามสแควร์จะไม่ค่อยพบแล้ว เพราะมีระบบการตรวจสอบจากเจ้าของที่ให้เช่าที่อย่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมาช่วยตรวจสอบอีกทีหนึ่ง แต่ที่ตรวจสอบยากจะเป็นการสอนตามบ้านครู ที่เปิดอยู่รอบๆ โรงเรียนดัง หรือตามห้างสรรพสินค้า ที่เด็กและผู้ปกครองจะรู้กันว่าควรจะไปเรียนที่ไหน
“ใน กทม.พอจะไล่ได้ แต่ในต่างจังหวัดเป็นหน้าที่ของทางเขตพื้นที่ แต่ในบางพื้นที่ก็ลำบาก เช่นบ้านครู”
ลองไปดูที่ต่างจังหวัดมันเกิดขึ้นจากครู สพฐ.ทั้งนั้น ครูคนไหนเก่ง เด็กตามไปเอง เด็กกวดวิชาตามไปเรียน เด็กเดี๋ยวนี้ไม่ได้โง่นะ เขาเช็กแม้กระทั่งครูสอน จะไปบอกว่าอาจารย์คนนี้จากจุฬาฯ นะ เด็กไม่โง่นะ เขาไปเช็กได้หมด
ณ วันนี้ ทุกคนบอกว่ากวดวิชามันเลวมันไม่ดี ทำไมไม่บอกว่าในระบบมันเลวล่ะ ทำไมสมัยก่อนคนไม่กวดวิชา เพราะการเรียนการสอนในโรงเรียนมันเต็มที่ และครูก็ติวเด็ก มีจิตวิญญาณความเป็นครู แต่วันนี้เป็นครูเชิงพาณิชย์มากกว่า
สถานกวดวิชา ‘เลี่ยงบาลี’ พบติดคุก 1 ปี
การกวดวิชา ปกติแล้วก็จะเป็นการสอนตามช่วงชั้นต่างๆ ไล่มาตั้งแต่ ป.1 มา ป.6 เข้า ม.1 ม.4-5-6เพื่อเตรียมเข้ามหาวิทยาลัย แต่ก็เป็นการสอนตามช่วงชั้น แล้วแต่ใครขออนุญาตว่าจะสอนช่วงชั้นไหน หลักสูตรไหน แต่ก็มีบ้างที่มีการเลี่ยงไปหาประโยชน์ เช่นในการเปิดคอร์สเรียนพิเศษ GAT/PAT ตามสถานที่กวดวิชานั้น ข้อเท็จจริงไม่ใช่หลักสูตร ม.ปลาย จึงถือว่าผิดกฎกระทรวง เพราะการควบคุมของเราจะคุมว่ามีการขอสอนในวิชาอะไร ระดับอะไร เช่น วิชาฟิสิกส์ ม.ปลาย ก็จะไปกวดวิชาอื่นที่ไม่ได้ขอไม่ได้ ต้องมาขออนุญาตเพิ่มหลักสูตรการสอน เช่น สอนตามช่วงชั้นก็จะสอนภาษาไม่ได้ จะสอนครอบจักรวาลไม่ได้ ดังนั้นถ้าพบว่ามีการขอเปิดสอนช่วงชั้นไหน แล้วมีการไปเปิดสอนเพิ่มก็จะถือเป็นความผิด แต่ที่ผ่านมาหลายที่ก็ใช้วิธีเลี่ยง เช่น สอนระดับ ม.ปลาย โดยเฉพาะ Gat/Pat คือไม่ได้บอกว่าสอน Gat หรือ Pat โดยเฉพาะ บอกว่าสอน ม.ปลาย เป็นวิธีการเลี่ยงที่พบเห็นกันอยู่ในขณะนี้
“มหาวิทยาลัยต่างๆ เป็นคนออกข้อสอบ แล้วออกข้อสอบแบบที่เด็กไม่ได้เรียนในระดับ ม.ปลาย ตรงนี้เด็กก็เลยต้องแห่กันไปกวดวิชา ผมถามหน่อยถ้าเป็นอย่างนี้ใครเป็นคนผิด แล้วทำอย่างนี้ทำไม”
ดังนั้นหากพบว่ามีการเลี่ยงจะมีความผิด แต่เดิมโทษจับ 2,000 บาท จับไปจ่ายตังค์ เดี๋ยวก็เปิดใหม่ แต่ตอนนี้เพิ่มบทลงโทษแล้ว เป็นจับแล้วติดคุกไม่เกิน 1 ปี ก็ยังมีปัญหาการเลี่ยงบาลีอย่างที่บอกไป ทีนี้ตอนนี้เราเลยจะใช้มาตรการใหม่ คือแจ้งสรรพากรไปตรวจสอบรายได้ในโรงเรียนกวดวิชาที่ไม่ได้รับอนุญาตจัดตั้ง ก็ให้สรรพากรจับไป แต่ถ้าใครมาจดทะเบียนจัดตั้งให้ถูกต้อง ก็ไม่ต้องเสียภาษี เรื่องนี้ผู้ปกครองต้องช่วยกันตรวจสอบ เพราะการจดทะเบียนจัดตั้งให้ถูกต้องอย่างน้อยเราก็คุมได้เรื่องการคิดค่าการเรียนการสอนที่ต้องบวกไม่เกิน 20%
“ถ้าเป็นครู สพฐ. สพฐ.ก็ต้องตามเอาผิดทางวินัย แต่ผมพูดตรงๆ นะ มันตรวจสอบยาก เพราะบ้านก็สอนได้ และบางทีไปสอนในเคเอฟซี เยอะแยะไปหมด ตรงนี้ถ้ามันเหลืออดจริงๆ ถ้ามันดื้อด้านมากๆ เราใช้วิธีแจ้งสรรพากร เราจะแจ้งว่าโรงเรียนที่ถูกต้องของเรามีโรงเรียนนี้ๆ ถ้าไม่ถูกต้องให้ไปตรวจภาษีเลย เราทำอยู่แล้วตอนนี้”
ไล่เถื่อนไม่ได้ เราก็ประกาศของถูกต้อง ต่อไปจะประกาศเลยว่าโรงเรียนไหนถูกต้อง มีชื่อไหนบ้าง ที่เหลือก็ให้ผู้ปกครองตรวจสอบ
พวกโรงเรียนเถื่อนจะคิดค่าการเรียนการสอนที่แพงมาก คือเราก็ต้องตระหนักว่าการทำธุรกิจการศึกษาอย่าไปคิดแพงมาก อย่าทำแต่ในเชิงพาณิชย์ กำไรทางเศรษฐกิจไม่ใช่ว่าลงทุนวันนี้จะได้กำไรคืนวันหน้า ต้องค่อยๆ น้ำซึมบ่อทรายไป วันหนึ่งก็คุ้มทุน และควรทำกำไรในเชิงสังคมให้มากกว่า แต่ก็นั่นแหละมีคนบางส่วนคิดกำไรทางเศรษฐกิจอย่างเดียว สังคมไทยมันเป็นอย่างนี้
“หลอกลวงกันเยอะ สช.ประกาศให้ทราบว่า โรงเรียนกวดวิชาในกรุงเทพฯ ถ้าเจอที่ไหนเถื่อนให้แจ้งเรามา ที่เบอร์นี้ๆ ตรงนี้ถึงไปจับได้ เพราะถ้าไปตรวจเองไม่ค่อยเจอ แต่ผู้ปกครองก็ไม่ค่อยกล้าแจ้ง กลัวลูกไม่ได้เรียน ต่อไปนี้ขอให้แจ้งมาที่ สช.ได้เลย”
แม้กระทั่งโรงเรียนกวดวิชาที่ดี แต่ผิดกฎหมายก็ต้องแจ้ง เพราะเขาคิดราคาแพงมาก ไม่มีใครควบคุมเขาได้ เช่น คอร์สเข้ามหาวิทยาลัยราคา 50,000 บาท เป็นราคาที่สูงเกินไป ต้องแจ้ง เพราะโรงเรียนกวดวิชาเหล่านี้ไม่ต้องเสียภาษี เมื่อมีคนแจ้ง สช.มา สช.ก็จะใช้มาตรการโดยการไปแจ้งสรรพากรเข้าไปตรวจสอบ
ธุรกิจกวดวิชาฟันกำไรเนื้อๆ
เด็กกวดวิชาตอนนี้มีประมาณ 4 แสนกว่าคน คิดต่ำสุดก็คิดว่ามีค่าใช้จ่ายคนละ 1,000 บาท วงเงินในธุรกิจกวดวิชาอย่างน้อยที่สุดตอนนี้คือ 400 ล้านบาท แต่ถ้าคิดว่าใช้จ่ายอย่างต่ำคนละ 5,000 บาท ก็ 2,000 ล้านบาท ตรงนี้คิดกำไรแค่ 10% ก็ 200 ล้านบาทเข้าไปแล้ว ส่วนใครจะกำไรเท่าไรก็แล้วแต่ต้นทุนของแต่ละโรงเรียน ส่วนใหญ่อยู่ในทำเลดีก็ค่าเช่าสูง ต้นทุนค่อนข้างแพง
ตัวเลขนี้จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะระบบการศึกษาไทยเป็นการศึกษาเพื่อกระดาษ ต้องยอมรับในจุดนี้ก่อน จึงทำให้เด็กส่วนใหญ่มุ่งที่จะเรียนระดับปริญญาตรีเพื่อใบปริญญาบัตร
“ทุกวันนี้ ระบบโรงเรียนเรา กลัวเด็กสอบตก กลัวเด็กถูกตี จะไล่เด็กออกก็ไม่ได้ ในโรงเรียนจะเรียนไม่เรียนก็ช่างมัน ล้มเหลวทั้งระบบ แต่ถ้าปฏิรูปการศึกษาแล้วก็เชื่อว่ากวดวิชาจะน้อยลง”
แต่ก็ใช่ว่าการกวดวิชาจะไม่มีข้อดี การกวดวิชามีข้อดี คือช่วยดูแลลูกหลานให้เวลาที่พ่อแม่ไม่ว่าง และดีสำหรับเด็กที่เรียนอ่อนในโรงเรียน เพื่อมาเสริมความรู้ความเข้าใจให้มากขึ้น
“สำหรับผมแล้ว ผมไม่คิดว่ากวดวิชาไม่มีดี ไม่มีเลว แล้วแต่คนจะมอง ผู้ปกครองวันนี้เขาก็มองว่าถ้าไม่มีกวดวิชา ลูกฉันสอบเข้าไม่ได้ ก็โทษเขาไม่ได้ ถ้าระบบการศึกษาไม่ได้เปิดโอกาสให้เขา ก็ทำไม่ได้”
ที่สำคัญ คนที่จะมาเป็นครูโรงเรียนกวดวิชา ก็ต้องมีพรสวรรค์ในการอธิบาย หรือคิดเทคนิคการทำข้อสอบด้วย ไม่ว่าจะเป็น นพ.ประกิตเผ่า, ครูลิลลี่, ครูอุ๊ ฯลฯ มองว่าน่าเสียดายที่ระบบการศึกษาไม่ได้ใช้คนเหล่านี้
“ในระบบมีแต่การบ้าตำแหน่ง แข่งขันกันให้ตำแหน่งสูงขึ้น แต่ไม่ได้พัฒนาเทคนิคการสอน คนที่สอนเก่งๆ ก็เข้าระบบมาสอนไม่ได้”
สช.คุมหลักสูตรไม่ได้คุมแฟรนไชส์กวดวิชา
นอกจากนี้บรรดาสถาบันกวดวิชาหลายแห่งมีการเปิดขายแฟรนไชส์การศึกษา ซึ่งเรื่องนี้ รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ยอมรับว่าไม่เคยรู้มาก่อนว่ามีการเปิดแฟรนไชส์ แต่ก็นั่นแหละ อาจจะเป็นเพราะเด็กต่างจังหวัดต้องนั่งรถบัสมาเรียนในกรุงเทพฯ หรือหัวเมืองใหญ่ เลยต้องมีการขยายสาขาออกไป แต่ข้อเท็จจริงการทำแฟรนไชส์ไม่ได้ทำง่ายๆ เพราะจุดเด่นของโรงเรียนกวดวิชาคือทำอย่างไรให้เด็กอยากมาเรียน และทำอย่างไรให้เด็กตอบข้อสอบให้เร็วที่สุด เพราะการเรียนกวดวิชาคือการสอนเทคนิคการทำข้อสอบให้เร็วที่สุด
“ระบบการศึกษาของเราเป็นระบบการศึกษาที่เน้นให้เด็กต้องแข่งขันสูงมาก ระบบการศึกษาของเราไปสร้างเงื่อนไข กลายเป็นการผลักดันให้เด็กไปเรียนกวดวิชา ดังนั้นโรงเรียนกวดวิชาจึงอยู่ได้ ระบบการศึกษาในระบบมันแย่ สมัยก่อนทำไมเด็กไม่ต้องกวดวิชา เพราะในระบบโรงเรียนครูสอนเต็มที่ มีการติวเสริมหลังเลิกเรียนให้เด็กด้วยซ้ำ แต่เดี๋ยวนี้ไม่มี”
ในการขายแฟรนไชส์โรงเรียนกวดวิชาไม่ผิดกฎหมาย เพราะไม่ได้จัดการเรียนการสอน เป็นการขายเทคนิคการเรียนการสอน สช.จะคุมเฉพาะที่ดำเนินการสอนเท่านั้น
“ต้องพูดให้ถูกนะการขายแฟรนไชส์ มันเป็นการขายแท็กติก คือสอนว่าจะทำข้อสอบอย่างไร ไม่ใช่หลักสูตรการสอน พวกทำคลังข้อสอบ ถ้าคุณเปิดโรงเรียนกวดวิชาคุณต้องไปหาคลังข้อสอบ แต่นี่มันมีอยู่แล้ว ขายแค่แท็กติก คือเมื่อเราขายแฟรนไชส์ไปให้นาย ก.แล้ว สช.ก็จะไปดูเรื่องของการจัดสถานที่ถูกต้องไหม มีความพร้อมตามกฎหมายไหม ความปลอดภัยในความมั่นคงเป็นอย่างไร แล้วการคิดค่าธรรมเนียมเป็นอย่างไร พออนุญาตกวดวิชาแล้วก็ต้องสอนแค่อนุญาตตรงนี้ สช.คุมด้วย เช่นเปิดหลักสูตรสอนภาษาต่างประเทศ แต่จะไปเปิดเพิ่มสอนวิชาภาษาไทยให้ต่างชาติ อย่างนี้ก็ไม่ได้
แต่มาตรฐานการสอนเราไม่ต้องคุมมาก เพราะใครไปเรียนแล้วทำข้อสอบไม่ได้ ก็ไม่มีคนมาเรียนอีก ก็เจ๊งเอง
กวดวิชาหน้าใหม่คิดใช้แฟรนไชส์การศึกษาไม่ง่าย
สำหรับนักธุรกิจรายใหม่ที่คิดจะโดดเข้าไปสู่ธุรกิจนี้ เพราะหวังรวยนั้น รองเลขาฯ สช.บอกว่า การทำธุรกิจกวดวิชาไม่ใช่ว่าใครทำแล้วจะรวย ต้องมีเทคนิค และกลยุทธ์การสอนที่มันได้ผล ดังนั้น การซื้อแฟรนไชส์โรงเรียนกวดวิชาที่มีชื่อเสียงไป ก็เป็นเพียงการซื้อในส่วนของการจ้างคนมาบริหารจัดการ
“การทำการตลาดที่สำคัญคือการดึงดูดให้คนมาเรียนให้ได้ เป็นสิ่งที่ต้องทำเอง ถ้าไม่มีคนเรียนก็เจ๊ง ยิ่งในต่างจังหวัดถ้าซื้อแฟรนไชส์ไปอาจจะยิ่งยาก เพราะในต่างจังหวัดส่วนใหญ่คนที่เปิดโรงเรียนกวดวิชาคือครูของ สพฐ. (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน) ที่เด็กในระบบโรงเรียนจะรู้อยู่แล้วว่าครูคนไหนเก่ง เด็กก็จะแห่ตามกันไปเรียน เด็กเดี๋ยวนี้ไม่โง่ เขาเช็กแล้วใครเก่ง ไม่เก่ง ถ้าเราไม่รู้เรื่องการสอนเลย แล้วคิดว่าการซื้อแฟรนไชส์ของอาจารย์ดังๆ ไปอย่างเดียว ก็สำเร็จได้ รวยได้ เป็นเรื่องไม่จริง จะต้องใช้ความสามารถของตัวเองด้วย”
อย่าลืมว่าโรงเรียนกวดวิชาไม่มีหลักสูตรเฉพาะ คนขายแฟรนไชส์เลยจะขายแค่เทคนิคการจัดการ คนส่วนใหญ่คิดว่าตัวเองอยากง่าย เหมือนชาย 4 บะหมี่เกี๊ยว แต่ถ้าใครๆ ก็ตั้งได้ มาตรฐานอาจจะเป็นเรื่องยาก
“ผมถามคำเดียว ถ้าคุณทำโรงเรียนกวดวิชา เป็นผู้คิดค้นเทคนิคการสอนจนสำเร็จ เวลาคุณขายแฟรนไชส์คุณจะยกองค์ความรู้ให้คนซื้อทั้งหมดไหม มันเป็นไปไม่ได้ เขาให้แค่ส่วนเดียว คุณต้องมีความเป็นครูด้วย ต้องสอนเองได้ด้วยเมื่อเกิดปัญหาอะไรขึ้นมา ตรงนี้ความเสี่ยงจะน้อยหน่อย”
นอกจากนี้การขอขึ้นค่าแฟรนไชส์ยังเป็นความเสี่ยงที่คนซื้ออาจจะประสบได้ เหมือนร้านขายอาหาร คุณขายดี ปีต่อไปเขาขอขึ้นค่าแฟรนไชส์ ก็ต้องยอม ดังนั้นคนที่ไม่รู้ ไม่มีความสามารถด้านนี้โดยตรง ไม่มีศักยภาพโดยตรงก็มีความเสี่ยงสูงมาก และที่เหนื่อยกว่านั้นคือต้องคิดพลิกแพลงวิธีการดึงคนมาเรียนอยู่ตลอด จึงไม่ใช่ของง่าย
“ผมเชื่อนะ ว่าการทำโรงเรียนกวดวิชาหนึ่งขึ้นมาจนประสบความสำเร็จได้ นอกจากเงินลงทุนแล้ว ยังมีต้นทุนอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้เทคนิคการเรียนการสอนไปตรงกับข้อสอบของมหาวิทยาลัยพอดี มันมีต้นทุนนะ ผมขอไม่พูดว่ายังไง แต่มันมีวิธีการของมัน ดังนั้นคนที่ทำโรงเรียนกวดวิชาไม่ใช่ว่าเปิดไปก่อน เดี๋ยวรวยเอง ไม่ใช่อยู่ดีๆ จะรวยง่ายๆ ต้องฟิตอยู่เรื่อย ไม่ฟิตก็ตกหลังเสือ”
นอกจากนี้ คนที่สอนเก่ง พอทำแบบแฟรนไชส์อาจจะไม่เก่งเลยก็ได้ ต้องคิดด้วยว่าจะรอดไหม
“แล้วกว่าจะรวยต้องล้มลุกคลุกคลานมาก ต้องพัฒนาการสอนไปตามศักยภาพของเด็ก และต้องปรับตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาที่ปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดให้ทัน อย่างวันนี้มีการสอบ Gat Pat ก็คนละเรื่องกับการเรียนกวดวิชาสมัยก่อน และคนละเรื่องกับหลักสูตรที่ในโรงเรียนสอน เพราะมหาวิทยาลัยเป็นคนออกข้อสอบที่ไม่ได้มีการเรียนการสอนในระดับ ม.ปลาย เป็นข้อสอบวิเคราะห์ สังเคราะห์ เด็กในระบบการศึกษาทำไม่เป็น ก็ต้องไปเรียนกวดวิชา โรงเรียนกวดวิชาก็ต้องปรับให้เป็นการสอนแบบวิเคราะห์ สังเคราะห์ จุดอ่อนของระบบการศึกษาไทยอยู่ตรงไหน ก็เป็นโอกาสของโรงเรียนกวดวิชา แต่ก็ต้องปรับตัว ใครไม่ปรับตัวก็ตามคนที่ปรับตัวไม่ทัน ธุรกิจก็ไม่รอด”
เช่น ธุรกิจกวดวิชาที่ทำแบบที่เรียกว่า on demand ในขณะนี้ ใช้การเรียนการสอนผ่านระบบคอมพิวเตอร์ เด็กสามารถย้อนกลับไปเรียนตอนที่ไม่เข้าใจได้ใหม่ ตรงนี้ก็เป็นรูปแบบการเรียนกวดวิชาใหม่ที่เด็กชอบ
อนาคตธุรกิจโรงเรียนกวดวิชา
ดังนั้นการกวดวิชาแบบออนไลน์ จะเป็นการกวดวิชาที่มีความนิยมอย่างมากในอนาคต แต่ก็ยอมรับว่าในระเบียบการควบคุมยังไม่มีประเภทการศึกษาออนไลน์ ซึ่งมองว่าอนาคตถ้ามีการเปิดประชาคมอาเซียนในปี พ.ศ. 2558 แล้ว ธุรกิจนี้จะได้รับความนิยมมาก โดยเฉพาะการกวดวิชาที่เป็นลักษณะทักษะวิชาชีพ อย่างการเรียนทำอาหารไทย เป็นต้น
ความจริงการกวดวิชาก็มีส่วนที่ดี ในเมื่อระบบการศึกษาไทยยังมีปัญหา อย่างเช่นตอนนี้ทางคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนก็มีการทำโครงการโดยขอให้โรงเรียนกวดวิชาดังๆ ไปติวการสอนให้ครูที่อยู่ในภาคใต้ ที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา โดยนายกสมาคมโรงเรียนกวดวิชาได้รับอาสาไปสอนให้ ในวันที่ 15 ก.ย.นี้ โดยจะไปสอนวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และภาษาอังกฤษ
“ในเมื่อครูเหล่านี้เขาสอนเก่ง เรายังแก้ปัญหาระบบการศึกษาไทยเรายังไม่ได้ ก็ให้ครูกวดวิชาที่ประสบความสำเร็จเหล่านี้ไปถ่ายทอดเทคนิคการสอนให้ครูแทน เช่นการสอนกระตุ้นให้เด็กสนใจทำอย่างไร ทำอย่างไรให้เด็กสนใจเนื้อหาบทเรียนจนจบ ไม่หลับ เป็นต้น ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นวิธีการที่ช่วยได้ระดับหนึ่ง ซึ่งโครงการนี้จะเริ่มจากภาคใต้ก่อน”
ปฏิรูปการศึกษาลดกวดวิชา
อย่างไรก็ดี แนวโน้มโรงเรียนกวดวิชาจะมีน้อยลงได้เช่นกัน หากมีการปฏิรูปการศึกษาแล้ว โดยเฉพาะการปฏิรูปการศึกษาที่เน้นทักษะการนำวิชาไปใช้ในการทำงาน
“รู้ไหมว่าบริษัทต่างๆ เดี๋ยวนี้เขาต้องการภาคปฏิบัติ ไม่ได้ต้องการปริญญา หลายที่ประกาศรับแต่ปวช. ปวส. และต่อไปยิ่งน่ากลัวเพราะเมื่อเปิด AEC ภาคแรงงานจะต้องการคนภาคปฏิบัติ ต่อไปคนไทยจะเป็นลูกน้องคนในประเทศเพื่อนบ้าน เพราะระบบการศึกษาเขาสอนให้เขาเรียนรู้ทักษะ และคนเหล่านี้เรียนจนเก่ง หลายคนได้ทุนการศึกษา แต่บ้านเราเด็กเป็นแบบคาบช้อนเงินช้อนทองมา ไม่เคยลำบาก”
โดยปฏิรูปการศึกษาที่ต้องเกิดขึ้นคือต้องเน้นให้เด็กคิดเป็น ทำเป็น สังเคราะห์เป็น เป็นคนหนักเอาเบาสู้ ทำงานด้วยความรับผิดชอบ มีความกระตือรือร้น ตรงต่อเวลา และมีความสุข อย่างงานต่ำต้อยก็ต้องสอนเขา ไม่ให้เขารู้สึกว่าเป็นงานต่ำต้อย
“เดิมเราสอนมีทักษะอาชีพนะ ใครวาดรูปเก่งก็ไปเรียนเพาะช่าง เดี๋ยวนี้ลดน้อยลงแล้ว วันนี้ ป.ตรีๆๆ อย่างเดียว เวลานี้เลยขาดคนเรียนอาชีวะมหาศาล”
การศึกษาไทยจึงต้องปฏิรูป ให้เด็กคิดเป็น ทำเป็น สังเคราะห์เป็น ซึ่งขณะนี้มหาวิทยาลัยเอกชนเริ่มปรับตัวแล้ว ด้วยการตั้งหลักสูตรใหม่ ให้เด็กที่เรียนจบ ป.ตรี ไปแล้ว มาเรียนในหลักสูตร ปวช. ปวส.ได้ เพราะในระบบแรงงานในประเทศไทย บริษัทใหญ่ๆ ต้องการคนที่มีทักษะวิชาชีพซึ่งตอบโจทย์สังคมไทยมากกว่า
ตรงนี้เป็นจุดที่น่าจับตามอง ว่าเอกชนกำลังทำให้การศึกษาตอบรับกับภาคแรงงาน ถ้าสำเร็จ ก็เรียกว่ามีการปฏิรูปการศึกษาไประดับหนึ่ง เรื่องกวดวิชาก็จะค่อยๆ ลดลงได้ เพราะต่อไปมันไม่จำเป็นต้องกวดวิชา
ดังนั้น ใครที่คิดจะมาทำธุรกิจกวดวิชาวันนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย และต้องปรับกลยุทธ์ตลอดเวลา ไม่เช่นนั้นก็อยู่ไม่ได้เช่นกัน