xs
xsm
sm
md
lg

การศึกษาไทยลง “เหว” เพราะหลักสูตร “เ(ห)ลว” รังแกเด็ก ตอนที่ 2 : นักเรียน หรือ กรรมกร?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย...กิตติศักดิ์ โถวสมบัติ

“หากเปรียบชีวิตเด็กนักเรียนเหมือนดวงดาราที่ส่องแสงในท้องนภา การศึกษาไทยก็เปรียบเสมือนหลุมดำอำมหิตที่กัดกินและดูดกลืนอนาคตของเด็กลงไปสู่ก้นบึ้งแห่งความมืดบอด”

หากท่านผู้อ่านมีบุตรหลาน (ผมไม่คิดจะมีลูกตราบใดที่การศึกษายังเน่าอยู่เช่นนี้ เหตุเพราะสงสารลูกด้วยไม่อยากให้ลูกต้องมาทนทุกข์ทรมานกับการศึกษาสิ้นคิดดังที่เห็นๆ กันอยู่ในปัจจุบันนี้) ลองขอตารางเรียนในแต่ละวันของบุตรหลานของท่านมานั่งพิจารณาดู ท่านอาจตกใจว่า ทำไมมันถึงแน่นอย่างนี้!

ผมเองก็เคยผ่านความหฤโหดโฉดเขลาของการศึกษาไทยมาเหมือนกัน สมัยเรียนก็รู้สึกอึดอัดมาตลอดเวลา แม้ตอนนี้จะพ้นสภาพการเป็นนักเรียน นักศึกษามานานแล้ว (แต่ไม่เคยพ้นสภาพนักเรียนชีวิต) ผมก็ยังรู้สึกหงุดหงิดและอึดอัดแทนนักเรียนไทยทุกครั้งที่ได้เห็นตารางเรียนที่ไม่รู้ว่ามีไว้สำหรับนักเรียน หรือ กรรมกรทางการศึกษากันแน่? ด้วยความ “หนัก” และ “แน่น” ที่มีความคงทนสูง โดยการรักษามาตรฐานความหนักแน่นเอาไว้ได้อย่างสม่ำเสมอ  และแม้ว่าจะเรียนกันอย่างหนักหน่วงและน่าเป็นห่วงกันถึงเพียงนี้ เด็กไทยจำนวนมากก็ยังไปเรียนกวดวิชากันต่อ
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
ผมคงไม่สามารถหาคำใดในโลกมาใช้อธิบาย สภาพการศึกษาไทยในปัจจุบันได้ดีไปกว่าคำว่า “มะเร็งระยะสุดท้าย” จองศาลาได้เลยครับ

ในบทความตอนที่แล้ว ได้มีการกล่าวถึงการทำ Career Testing ในเด็ก Year 8 และ 9 เพื่อสร้างความชัดเจนเกี่ยวกับสายอาชีพและสายการเรียนที่เป็นไปได้ของเด็กพิจารณาจากความชอบ ความถนัดและความสนใจของเด็กเป็นสำคัญ หลังจากที่ได้ผ่านการทดสอบวัดแววความถนัดในระดับ Year 8 และ Year 9 มาแล้ว ตามลำดับ เมื่อเด็กขึ้นเรียน O-Level (Year 10-11) เด็กจะเลือกเรียน 8 วิชาด้วยตนเองตามความถนัด ความสนใจ และสอดคล้องกับบุคลิกภาพของตน เมื่อถึง A-Level (Year 12-13 ประมาณ ม.5 - ม.6 ) เด็กจะเรียนเพียง 3-4 วิชา ซึ่งเป็นรายวิชาที่ตนรักและมีความสุขที่ได้เรียน เด็กจะเรียนกันอย่างเข้มข้นแข็งขันเอาจริงเอาจัง โดยเนื้อหาจะเจาะจงลงลึกและอาจลึกไปถึงระดับมหาวิทยาลัย

ยกตัวอย่างพอสังเขปได้ เช่น เด็กที่ต้องการเรียนหมอ เมื่อขึ้น A-level ก็จะได้เรียนในรายวิชาที่เกี่ยวข้องกับและจำเป็นต่อการเป็นหมอที่มีคุณภาพ เช่น ชีววิทยา (มีให้เลือกเป็นชีววิทยาทั่วไปหรือชีววิทยาของมนุษย์) เคมี จิตวิทยา เป็นต้น นี่เป็นแบบอย่างของการศึกษาอันน่าชื่นชมยกย่อง เพราะเป็นการจัดการเรียนการสอนที่มุ่งผลิตคนคุณภาพ มีความรู้ลึก รู้จริง เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน และที่สำคัญผู้เรียนมีความสุขกับการเรียน แม้จะหนักบ้าง เครียดบ้าง แต่ก็เป็นสุขและพอใจ เพราะได้เรียนในสิ่งที่ตัวเองชอบ ถนัด และสนใจ เรื่องดีๆ แบบนี้ ทำไมผู้มีอำนาจบริหารการศึกษาบ้านเราถึงคิดไม่ได้

ฤๅเราปล่อยสัตว์เข้ากระทรวง?

มากไปกว่านั้น บ้านเรานำการทดสอบวัดแววความถนัดมาใช้กันแบบเปลือกๆ ด้วยการจัดสอบเก็บเงินเด็ก หวังผลกำไรจนกลายเป็นการแสวงหาผลประโยชน์จากนักเรียน แบบทดสอบก็เป็นเพียง multiple choices และสอบเพียงแค่ไม่กี่ชั่วโมง (ตรงข้ามกับประเทศอังกฤษซึ่งทดสอบกันต่อเนื่องหลายเดือน และละเอียดถี่ถ้วนถึงสองปี) ผลลัพธ์ที่ได้จึงขาดความคงเส้นคงวา ได้ข้อมูลเพียงมิติเดียว ซึ่งบอกอะไรไม่ได้มากนัก ผลกรรมจึงตกไปอยู่ที่เด็ก ถือเป็น “การหลอกลวง” ที่ยากจะให้อภัย เพราะนอกจากจะไม่ได้ทำให้เด็กรู้จักตัวเองอย่างถ่องแท้แล้ว ยังเป็นการหลอกตัวเอง หลอกให้คิดว่า รู้จักตัวเองดีแล้ว

การได้เกิดมาเป็นเด็กนักเรียนไทยนั้นมาพร้อมกับโชคชะตาอันอาภัพสุดประเมินเกินประมาณที่เด็กทุกคนต้องเผชิญอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้ ตัวอย่างอันประจักษ์ชัดอันหนึ่งก็คือ ชะตากรรมของเด็กนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย กล่าวคือ แม้ว่าจะเรียนชั้น ม.ปลาย ซึ่งเป็นการเตรียมตัวเพื่อศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาแล้ว ก็ยังต้องทนเรียนในสิ่งที่ตนเองไม่ได้ชอบ ซ้ำร้ายยิ่งไปกว่านั้น สิ่งที่ตนเองไม่ถนัด ไม่ชอบเหล่านั้น ได้กลายมาเป็นอุปสรรคขวากหนามทางการเรียนรู้ของเด็ก เพราะมันได้แย่ง และเบียดบังเวลาของนักเรียนจากการอุทิศตนและทุ่มเทให้กับสิ่งที่ตนเองชอบ ตนเองถนัดและมีความสุขกับมัน

ลักษณะเช่นนี้เป็นการลดทอนศักยภาพในตัวเด็ก นักเรียนที่มีแววเป็นอัจฉริยะด้านฟิสิกส์ อาจกลายเป็นเพียงเด็กธรรมดาๆ คนหนึ่ง เพราะไม่อาจทุ่มเทเวลาให้กับฟิสิกส์ได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากต้องมาเสียเวลาไปกับการเรียนสังคม เรียนศิลปะ นี่จึงถือเป็นการทำร้ายเด็กทางอ้อม เป็นทำลายทรัพยากรอันทรงคุณค่าของชาติ และทำลายชาติในที่สุด

Bertrand Russell นักปรัชญาผู้ทรงอิทธิพลทางความคิดตลอดกาล เคยกล่าวไว้ว่า “Men are born ignorant, not stupid. They are made stupid by education.” เด็กเกิดมาพร้อมกับศักยภาพที่จะเรียนรู้และเติบโตเป็นคนดี เก่ง และมีความสุข แต่การศึกษาที่มืดบอดได้ค่อยๆ ทำลายศักยภาพเหล่านั้น เด็กกำลังตกเป็นเหยื่อโดยไม่รู้ตัว เหยื่อที่มีเดิมพันเป็นชีวิต ชีวิตที่ถูกทำร้ายและทำลายจากสิ่งที่ควรจะสร้างสรรค์ชีวิตเด็ก นั่นคือ การศึกษา

หากการศึกษาประเทศอังกฤษฝึกปลาว่ายน้ำให้เก่ง ฝึกนกบินให้ชำนาญ และฝึกลิงปีนต้นไม้ให้คล่อง การศึกษาบ้านเราก็กำลังจับปลามาหัดบิน ลิงมาหัดว่ายน้ำ และนกมาหัดปีนต้นไม้!

สมัยเป็นนิสิตฝึกสอน ผมเห็นลูกศิษย์ ม.ปลาย หลายคนใช้ชีวิตอยู่ด้วยความเครียดและวิตกกังวล ไม่ใช่เพราะไม่รู้ว่าชอบอะไร แต่เป็นเพราะต้องทนเรียนสิ่งที่ตนเองไม่ชอบ ตกเย็น และเสาร์-อาทิตย์ ก็ต้องไปเรียนกวดวิชา เพราะนักเรียนส่วนใหญ่มีความเชื่อฝังหัวว่า โรงเรียนไม่สามารถถ่ายทอดวิชาความรู้ได้ตามที่นักเรียนต้องการ จึงหวังได้ความรู้จากการไปเรียนในโรงเรียนกวดวิชาแทน จะว่าไปแล้ว บุตรหลานของเราๆ ก็ไม่ต่างอะไรกับกรรมกรทางการศึกษาที่ต้อง “แบก” รับวิชาความรู้ที่ถูกยัดเยียดมาให้อย่างหนักหน่วงเพื่อเอาไปสอบทำคะแนน
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
คงไม่มีใครอยากให้ลูกหลานของเราเป็น “กรรมกร” ตั้งแต่ยังเรียนอยู่ 

แต่จะทำอย่างไรได้ครับ? ชะตากรรมอันน่าเวทนาของเด็กไทยผู้ไร้เดียงสา ใครควรออกมารับผิดชอบ?

ก่อนจะจบบทความนี้ อีกสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับระบบการศึกษาของประเทศอังกฤษก็คือ การศึกษาของเขามุ่งเน้นการปลูกฝังนักเรียนให้คิดอย่างมีวิจารณญาณ (Critical thinking) การเรียนการสอนของเขาจะมีการจัด Debate อยู่เป็นประจำเพื่อให้นักเรียนได้อภิปรายเกี่ยวกับประเด็นต่างๆ โดยจัดให้นักเรียนได้มีการนำเสนอ วิเคราะห์ และวิจารณ์ประเด็นที่สนใจในลักษณะของการสนทนากึ่งการโต้วาที การจัดการเรียนการสอนเช่นนี้ ทำให้เด็กรู้จักคิดอยู่บนหลักของเหตุและผล รู้จักหาหลักฐาน ข้อเท็จจริงมาสนับสนุนความคิดของตนและหักล้างข้อเสนอของผู้อื่น รวมทั้งยังเป็นการสอนให้รู้จักฟังผู้อื่น ยอมรับ และเคารพความแตกต่างทางความคิดของกันและกันอีกด้วย ลักษณะเช่นนี้หาพบได้ยากมากในการเรียนการสอนบ้านเรา เด็กมัธยมฯบ้านเราใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผล ตัดสินใจบนความเชื่อมากกว่าข้อเท็จจริง มิพักเอ่ยถึง การถาม-ตอบเชิงคิดวิเคราะห์ที่แทบจะเป็นไปไม่ได้ เพราะเด็กไม่ชอบ “คิด” แต่ชอบ “จำ” เพื่อไปตอบข้อสอบลูกเดียว สอบเสร็จก็ลืม เลิก ล้างไปกันหมด!

การ Debate ถือเป็นกระบวนการพื้นฐานที่สำคัญจำเป็นอันขาดเสียมิได้ในสังคมประชาธิปไตย เพราะการ Debate เป็นการเตรียมพร้อมฝีกทักษะและปลูกฝังทัศนคติสู่การเป็นประชาชนที่ดีในระบบการปกครองแบบประชาธิปไตย ประชาชนที่ยอมรับเสียงข้างมากอย่างไม่ถือโทษโกรธแค้นฝ่ายตรงข้าม ประชาชนที่เห็นผลประโยชน์ของส่วนรวมและประเทศชาติมาก่อนผลประโยชน์ส่วนตัว นักการเมืองในประเทศอังกฤษที่เป็นฝ่ายตรงข้ามกันในรัฐสภา พอเดินออกจากรัฐสภาก็ไปดื่มชากันฉันท์เพื่อนไร้ซึ่งความบาดหมางใดๆ ทั้งสิ้น มันช่างเป็นภาพที่น่ารัก น่าเคารพ และน่านับถือ

สภาพของการศึกษาในประเทศจึงมีส่วนกำหนดวิวัตนาการของประชาธิปไตย

เพราะประชาธิปไตยถือเสียงคนข้างมาก และเพราะการศึกษาคือเครื่องมือแห่งการสร้างคน การศึกษาเป็นอย่างไร ประชาธิปไตยก็เป็นแบบนั้น การศึกษาสร้างคนส่วนใหญ่มาเป็นอย่างไร ประชาธิปไตยก็เป็นไปในลักษณะของคนส่วนใหญ่นั้น

ประชาธิปไตย? เราพร้อมแล้วหรือ?

สุดท้ายนี้ จุดมุ่งหมายของบทความทั้งสองตอนนี้ต้องการเชิญชวนให้เราลองทบทวนการศึกษาของเราเองอย่างจริงจัง พิจารณาอย่างพินิจใคร่ครวญดูว่า เรากำลังทำอะไรกันอยู่? ลองถามตัวเราเองดูว่า มันถึงเวลาแล้วหรือยังกับการลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงการศึกษาอย่างชนิดถอนรากถอนโคน อย่างไรก็ตาม การยกย่อง สรรเสริญ เชิดชูการศึกษาของประเทศอังกฤษ และนำมาเปรียบเทียบกับการศึกษาไทยดังปรากฏในบทความ มิได้หมายความว่า การศึกษาของเขาจะดีเลิศไร้ข้อบกพร่องไปเสียทีเดียว และไม่ได้หมายความว่า เราจะต้องตามเขาหรือต้องเอาอย่างเขาทุกอย่าง เพียงแต่ให้เรารู้จักเลือกและรู้จักใช้อย่างเข้าใจ อย่างถึงแก่นแท้ ดั่งพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อการนำวิทยาการหรือความรู้ของฝรั่งมาใช้ว่า “การงานสิ่งใดของเขาที่ดี ควรจะเรียนร่ำเอาไว้ ก็เอาอย่างเขา แต่อย่าให้นับถือเลื่อมใสไปเสียทีเดียว”

สำหรับบทความในตอนหน้า (ถ้ายังมีชีวิตอยู่และยังมีโอกาสได้เขียน) ผมยังนึกไม่ออกว่าจะเขียนอะไร นึกออกแล้วจะเขียน เมื่อเขียนแล้วท่านก็จะได้อ่านครับ!


กำลังโหลดความคิดเห็น