xs
xsm
sm
md
lg

การศึกษาไทยลง “เหว” เพราะหลักสูตร “เลว” รังแกเด็ก ตอนที่ 1 : กว่าจะรู้จัก (ตัวตน) ก็สายเสียแล้ว!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย...กิตติศักดิ์ โถวสมบัติ นักปฏิวัติการศึกษาไทย

"The only thing that interferes with my learning is my education." Albert Einstein (1879-1955)

ลูกศิษย์ของผมจำนวนไม่น้อยต้องประสบกับปัญหาอันเป็นวิกฤตการณ์ของชีวิตในวันที่ต้องตัดสินใจเลือกทางเดินให้กับชีวิตของตน หลายคนสับสน ทางเดินมืดบอด เพราะไม่รู้ว่าจะเรียนอะไรต่อ ไม่รู้ว่าแท้จริงแล้ว ตนเองชอบอะไรกันแน่ จิตวิตกจนถึงกับพาตัวเองเข้าสู่ภาวะเครียดสะสม ชีวิตเต็มไปด้วยความทุกข์ หนักเข้ากลายเด็กซึมเศร้า

น้ำตาของคนเป็นครูอย่างผมไหลรินด้วยความเวทนาในชะตากรรมของนักเรียนนอันเป็นผลมาจากระบบการศึกษาที่อัปรีย์ ปราศจากทิศทางและเป้าหมายที่ชัดเจน

ปรากฏการณ์ดังกล่าวทำให้คำถามผุดขึ้นมาในใจของผมว่า

อะไรคือปรัชญาของการศึกษาไทย?

อะไรคือเป้าหมายสูงสุดของการศึกษาไทย?
ภาพประกอบจากอินเทอร์เ้น็ต
หากเปรียบการศึกษาเป็นโรงงานที่เราใส่วัตถุดิบเข้าไป ผ่านกระบวนการผลิต คำถามที่ควรได้รับคำตอบก็คือ สุดท้ายแล้ว เราต้องการผลิตภัณฑ์ออกมามีหน้าตาเป็นอย่างไร?

การศึกษาไทยกำลังสร้าง “คน” แบบไหนกันแน่?

เพื่อให้ทุกท่านเห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้น ผมขอเล่าชะตากรรมอันแสนหดหู่ของเด็กนักเรียนไทยเปรียบเทียบไปพร้อมๆ กันกับระบบการศึกษาของประเทศๆ หนึ่งที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลกว่า เป็นระบบการศึกษาที่เก่าแก่และดีที่สุดระบบหนึ่งของโลก:

“ระบบการศึกษาของประเทศอังกฤษ”

ในขณะที่ปรัชญาการศึกษาของไทยเต็มไปด้วยความคลุมเครือ ประเทศอังกฤษประกาศปรัชญาการศึกษาของตนชัดเจนว่า “ให้ทุกคนได้เรียนในสิ่งที่ตนเองรัก ตนเองถนัด และมีความสุขอันจะนำมาซึ่งความสำเร็จในชีวิตและการทำงาน” การศึกษาของประเทศนี้มุ่งผลิตคนที่มีความรู้ความสามารถเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ผ่านการจัดการเรียนการสอนชนิดคุณภาพคับคั่งเข้มข้น นักเรียนมีโอกาสในการเลือกเส้นทางการเรียนและการประกอบอาชีพด้วยตนเอง โดยสิ่งที่นักเรียน “เลือก” เรียนนั้นจะสอดคล้องและเหมาะสมกับความถนัด ความชื่นชอบของแต่ละบุคคล ลักษณาการเช่นนี้มิอาจพบได้ในบ้านเรา เพราะดูเหมือนว่า เด็กนักเรียนไทยส่วนใหญ่ไม่เคยมีชีวิตเป็นของตนเองหรืออาจกล่าวได้ว่า ไม่เคยรู้จักตัวเองเลยด้วยซ้ำ เพราะเลือกเรียนตามกระแสสังคม เลือกกทางเดินชีวิตไปตามความเชื่อฝังหัวที่ถูกยัดเยียดให้จากครู อาจารย์หรือแม้แต่พ่อแม่ของเด็กเอง

“เด็กเก่งไปเรียนหมอหรือไม่ก็เรียนวิศวะ โง่มาหน่อยหรือสอบอะไรไม่ติดก็ไปเรียนครู!”

ประโยคอันโง่เขลาเบาปัญญานี้ยังคงถูกเอ่ยเอื้อนอยู่เสมอ ที่น่ากลัวยิ่งไปกว่านั้น เด็กบางคนไม่ยอมเรียนในสิ่งที่ตนเองชอบเพราะรายได้น้อย แต่กลับทนเรียนในสิ่งที่ตนเองไม่ชอบเพียงเพื่อหวังการได้รับค่าตอบแทนหรือรายได้ที่สูงในอนาคต

ปรากฏการณ์นี้สะท้อนให้เห็นว่า “เงิน” อาจเป็นปรัชญาการศึกษาไทย

ในประเทศอังกฤษ นักเรียนแต่ละคนจะได้ค้นหาตัวตนว่า ตนเองชอบอะไร ถนัดอะไร มีความสุขกับอะไร ผ่านการทดสอบที่เรียกว่า Career Testing ซึ่งเริ่มทำตั้งแต่ในขณะที่นักเรียนยังเรียนอยู่ใน Year 8 หรือประมาณ ม.๑ บ้านเรา โดยเป็นการทดสอบที่มีระยะเวลาต่อเนื่องประมาณหนึ่งเดือน และมีรูปแบบการทดสอบที่หลากหลาย มิใช่เป็นเพียงแค่ Questionnaire เท่านั้น ผลการทดสอบของเด็กแต่ละคนจะถูกวิเคราะห์และถูกประเมินโดยทีมผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการมนุษย์เพื่อวางแผนการเรียนการสอนให้กับเด็ก โดยมีโรงเรียนและพ่อแม่ของเด็กมาร่วมรับรู้และกำหนดแนวทางของเด็กไปด้วยกัน เหตุผลที่ระบบการศึกษาอังกฤษทดสอบความถนัดของเด็กตั้งแต่อายุยังน้อยเป็นเพราะว่า หลักจิตวิทยาการศึกษาของประเทศอังกฤษเชื่อว่า “เด็กหลังจากอายุ ๑๔-๑๕ ไปแล้วจะไม่สามารถเปลี่ยนลักษณะนิสัยและความถนัดได้มากนัก” การช่วยให้เด็กได้ ค้นพบตัวตน รู้จักตัวเอง (ซึ่งสอดคล้องกับความหมายของคำว่าการศึกษา หรือสิกขาในภาษาบาลี)ได้ทันเวลาจึงเป็นสิ่งที่น่าชื่นชมและควรค่าอย่างยิ่งแก่การกระทำ

เมื่อนักเรียนขึ้น Year 9 (อายุประมาณ ๑๔ ปี) จะมีการทดสอบอย่างเดียวกันนี้ที่เข้มข้นกว่าเดิมเพื่อสร้างความชัดเจนให้กับนักเรียนมากยิ่งขึ้น โดยการทดสอบจะมุ่งเน้นไปที่คุณลักษณะสามด้านของเด็กดังต่อไปนี้ 1.Interest (ความสนใจ) 2.Personality (บุคลิกภาพ) และ 3.IQ (ความถนัดแต่ละด้าน)

การทดสอบนี้ละเอียดถึงขนาดว่า สามารถวางอนาคตกำหนดชีวิตของเด็กได้เลย ยกตัวอย่างเช่น เด็กคนหนึ่งชื่นชอบและสนใจดนตรีมากๆ แต่บุคลิกภาพขาดความกล้าแสดงออก และยังมีความถนัดทางด้านคณิตศาสตร์และฟิสิกส์ ผลการทดสอบจะถูกวิเคราะห์อย่างพินิจใคร่ครวญจากครูและนักจิตวิทยาเพื่อหาว่า นักเรียนคนนี้เหมาะกับการเรียนต่อด้านไหนและสามารถประกอบอาชีพอะไรได้บ้าง ในกรณีของเด็กตัวอย่างข้างต้น ผลออกมาว่า เด็กควรเรียนเพื่อเป็น Acoustical Engineer หรือ Sound Engineer มากกว่าที่จะเป็นนักดนตรี

การทำแบบทดสอบ Career and Personality Testing ดังกล่าวนี้ ทำให้นักเรียนเข้าใจและรู้จักตนเองมากยิ่งขึ้น ผมเชื่อว่า การรู้เรื่องราวสิ่งต่างๆรอบตัว แต่กลับไม่รู้จักตัวเอง ไม่สามารถควบคุมตนเองได้ ไม่สามารถบอกได้ว่า เราชอบอะไร เรารักอะไร เราอยากเรียนอะไร ไม่รู้ว่า เป้าหมายที่แท้จริงในชีวิตของตนเองคืออะไร เป็นความเสี่ยงอย่างมหันต์อันเป็นเส้นทางสายมรณะที่จะนำพาชีวิตไปสู่ความล้มเหลวพินาศย่อยยับ

การรู้จักตัวเอง (know thyself หรือในภาษาละตินว่า nosce te ipsum) จึงเป็นสิ่งที่ระบบการศึกษาควรให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก Socrates นักปรัชญาอมตะชาวกรีกกล่าวว่า “An unexamined life is not worth living.” ว่าไปแล้วก็น่าเศร้า ในขณะที่เด็กอังกฤษอายุประมาณ ๑๔-๑๕ ทราบเป้าหมายชีวิตและมีทางเดินที่แน่ชัด เด็กไทยจำนวนไม่น้อยตัดสินใจ(มีทั้งที่ตัดสินใจเอง และคนอื่นตัดสินใจให้)เรียนสายวิทย์ไม่ใช่เพราะชอบ แต่เพราะเกรดถึง! ตรงกันข้าม นักเรียนบางคนชอบเรียนวิทยาศาสตร์แต่เกรดไม่ถึงก็ไม่สามารเรียนได้ ต้องจำใจเข้าเรียนสายศิลป์ ที่น่าเวทนายิ่งกว่านั้นก็คือ เรียนมาจวนจะจบ ม.๖ แล้ว นักเรียนจำนวนไม่น้อยยังไม่รู้เลยว่า จะเรียนอะไรต่อ นั่นก็เป็นเพราะว่า เด็กไทยสอบวัดแววความถนัดกันในชั้นระดับ ม.๖ ซึ่งเป็นการทดสอบความถนัดภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมงโดยใช้แบบทดสอบเพียงลักษณะ เดียวคือแบบปรนัย ทำให้ผลลัพธ์ที่ได้ขาดความคงเส้นคงวา และได้ข้อมูลเพียงมิติเดียวเท่านั้น การวัดแววในลักษณะนี้จึงไม่ต่างอะไรจากการสุ่มทดสอบแหล่งน้ำเพียงสองสามแหล่ง แล้วสรุปเหมารวมว่าน้ำทั้งประเทศเป็นอย่างไร!

มีแต่คนสิ้นคิดเท่านั้นที่เชื่อถือวิธีการเช่นนี้!

ผลจากการสอบวัดแววลวงโลก เด็กไทยจำนวนไม่น้อยจึงเข้าไปเรียนในสาขาที่ตนเองไม่ได้รัก ไม่ได้ชอบ และไม่มีความถนัดจริงๆ แต่บังเอิญทำคะแนนได้ดี! สุดท้ายก็ไม่มีความสุขในชีวิต เรียนไปเครียดไป เป็นสาเหตุของโรคร้าย ทำร้ายตัวเองทางอ้อม ซึ่งเท่ากับจุดระเบิดเวลาฆ่าตัวตายแบบผ่อนส่ง

ซุนวูเขียนไว้ในตำรายุทธพิชัยของเขาว่า “รู้เขา รู้เรา รบร้อยครั้ง ชนะร้อยครั้ง” เด็กไทยไม่รู้เรา รู้แต่เขา แถมบางทีอาจรู้ครึ่งๆ กลางๆ จะไปชนะใครได้?

วันที่ผมได้เรียนรู้เกี่ยวกับระบบการศึกษาของประเทศอังกฤษ ผมตกตะลึงอย่างเบิกบานใจ เหตุเพราะถูกชโลมด้วยแสงแห่งความหวังที่ฉายส่องแสดงทางรอดของการศึกษาไทยให้กระจ่าง แนวคิดทางการศึกษาของประเทศอังกฤษสอดคล้องเป็นอย่างยิ่งกับหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาที่เรียกว่า อิทธิบาท ๔ อันหมายถึงวิถีหรือหนทางสู่ความสำเร็จสี่ประการ โดยมี ข้อที่หนึ่งซึ่งก็คือ “ฉันทะ” เป็นตัวนำ ฉันทะ หมายถึง ความพอใจรักใคร่ในสิ่งนั้น การศึกษาของประเทศอังกฤษเปิดโอกาสให้นักเรียนได้เรียนด้วยฉันทะ มีความรักความชอบเป็นตัวนำ การเรียนอะไรด้วยใจรัก เปรียบเหมือนรถที่ออกตัวด้วยความแรง ซึ่งแน่นอนว่า หากมุ่งมั่นขยันหมั่นเพียรขับอย่างมีสติต่อไป ย่อมถึงจุดหมายได้ไม่ยาก

แล้วเด็กเราล่ะ เอาอะไรเป็นตัวนำ?

การศึกษาดีๆ มีให้เห็นเป็นตัวอย่าง ศธ.หรือใครก็ตามที่มีอำนาจ เคยคิดเอามาใช้บ้างไหม?

ไม่เคยเห็น ไม่เคยสนใจและใส่ใจเอามาใช้ เพราะเป็นกบในกะลา หรือวันๆ มุ่งแต่จะโกงกิน?

ตอนต่อไป ผมจะมาเล่าสู่กันฟังครับว่า บ้านเขาจัดการเรียนการสอนกันอย่างไรจึงสามารถผลิตพลเมืองที่ดีมีคุณภาพ และบ้านเราจัดการเรียนการสอนกันอย่างไร เราถึงได้เป็นประเทศที่ “กำลังพัฒนา” แต่ไม่ยอมเป็นประเทศ “พัฒนาแล้ว” เสียที!


กำลังโหลดความคิดเห็น