Livy นักประวัติศาสตร์โรมัน เคยบันทึกว่า ที่เมือง Massalia (ปัจจุบันคือเมือง Marseilles ในฝรั่งเศส) ซึ่งขณะนั้นอยู่ภายใต้การปกครองของกรีกมีประเพณีให้คนที่ประสงค์จะฆ่าตัวตาย ต้องขออนุมัติจากสภาเทศมนตรีของเมืองก่อน จะลงมือปลิดวิญญาณตนเอง โดยต้องแจงเหตุผลและความจำเป็น ซึ่งถ้าเหตุผลที่นำมาเสนอนั้นมีน้ำหนักและเหมาะสมก็จะได้รับอนุญาตให้ฆ่าตัวตาย และท่านนายกเทศมนตรีก็จะจัดยาพิษมาให้ดื่มฟรีด้วย
แม้การฆ่าตัวตายจะเป็นการกระทำที่สังคมยุโรปในสมัยโรมันต่อต้านก็ตาม แต่สังคมในสมัยนั้นก็ไม่มีบทลงโทษชัดเจน สำหรับคนที่ทำอัตวินิบาตกรรมเป็นชาวบ้านทั่วไป แต่ถ้าคนที่ฆ่าตัวตายเป็นทาส ทหารหรือนักโทษบุคคลที่เกี่ยวข้องจะต้องรับโทษรุนแรง ด้วยเหตุผลว่า การตายก่อนกำหนดของบุคคลทั้งสามประเภทนี้ทำให้รัฐสูญเสียทางเศรษฐกิจ เช่น เวลาทาสฆ่าตัวตาย เจ้านายจะสูญเสียรายได้ ดังนั้น ทาสที่พยายามฆ่าตัวตายแต่ไม่ตาย หรือฆ่าตัวตายได้สำเร็จภายในเวลา 6 เดือน หลังจากที่ทาสคนนั้นถูกซื้อไป กฎหมายโรมันกำหนดให้เจ้านายเก่าต้องจ่ายเงินชดใช้ให้เจ้านายใหม่ของทาสทันที ส่วนทหารที่ฆ่าตัวตายนั้น รัฐถือเป็นการหนีทหาร ซึ่งถ้าตายเรื่องก็จบ แต่ถ้าไม่ตายทหารก็ต้องได้รับโทษสถานหนักที่พยายามหนีหน้าที่ นักโทษก็เช่นกันเพราะการฆ่าตัวตายจะทำให้รัฐสูญเสียรายได้จากการไม่สามารถยึดครองสมบัติส่วนตัวของนักโทษคนนั้น
สังคมกรีกก็มีการต่อต้านการฆ่าตัวตาย Aristotle ได้เคยประณามการตัดช่องน้อยแต่พอตัวว่า ทำให้รัฐสูญเสียกำลังคนเร็วไป ด้าน Plato ก็ไม่เห็นด้วยโดยให้เหตุผลว่า การฆ่าตัวตายเป็นการทำร้ายสมบัติมีค่าที่พระเจ้าทรงสร้าง
ในปี ค.ศ.399 ศาลกรุง Athens ได้บังคับให้ Socrates ฆ่าตัวตายด้วยข้อกล่าวหาว่า Socrates มุ่งทำลายจิตใจของบรรดาเด็กหนุ่มแห่ง Athens โดยการสนับสนุนให้คนรุ่นใหม่ไฟแรง ซักถาม สงสัย วิพากษ์วิจารณ์สังคม และการทำงานของรัฐบาลตลอดเวลา และเมื่อได้รับข้อเสนอให้เลือกวิธีตายว่า ยาพิษ หรือจำคุกตลอดชีวิต Socrates เลือกยาพิษ
ขนบธรรมเนียมกรีกโบราณยังกำหนดให้ตัดมือของคนที่ฆ่าตัวตาย แล้วให้นำไปฝังแยกจากตัวศพ เพื่อวิญญาณจะไม่สามารถใช้มือทำร้ายใครได้อีก ในอาณาจักรโรมัน พิธีศพของคนที่ฆ่าตัวตายจะไม่มีการจัดเต็มรูปแบบ และลูกหลานจะไม่ฆ่าสัตว์อุทิศส่วนกุศลให้
แม้การฆ่าตัวตายจะเป็นเรื่องต้องห้ามที่สังคมไม่เห็นด้วย แต่ก็มีคนหลายคนที่ได้รับการยกย่อง เพราะเขาเหล่านั้นได้ฆ่าตัวตายเพื่อชาติ เช่น Lycurgus แห่งอาณาจักร Sparta เมื่อได้ร่างกฎหมายให้ชาว Sparta เรียบร้อย ได้เดินทางไปขอคำแนะนำจากเทพธิดาพยากรณ์แห่ง Delphi ว่า กฎหมายที่ตนได้เขียนให้ชาว Sparta ใช้นั้นมีความชอบธรรมหรือไม่ แต่ก่อนจะออกเดินทาง Lycurgus ได้ขอให้ชาว Sparta ทุกคนสาบานว่า จะไม่แก้ไขกฎหมายข้อหนึ่งข้อใดอย่างเด็ดขาดจนกว่าเขาจะกลับ ครั้นเมื่อ Lycurgus ได้ฟังคำชื่นชมสรรเสริญจากเทพธิดาพยากรณ์แห่ง Delphi ว่ากฎหมายที่เขียนนั้นมีความเป็นธรรมอย่างดีเลิศ Lycurgus จึงตัดสินใจอดอาหารตาย เพื่อชาว Sparta จะได้ไม่เห็นหน้าเขาอีก และกฎหมายที่เขาเขียนนั้นจะคงอยู่อย่างไม่มีวันเปลี่ยนแปลง
กรณีของนายพล Regulus แห่งโรม ซึ่งเข้าทำสงครามกับชาว Carthage ในปี ค.ศ.264 ถึง 241 ก่อนคริสตกาล และปราชัย Regulus ได้ถูกทหาร Carthage จับส่งตัวกลับโรม เพื่อให้โรมลงนามในสัญญาสงบศึกกับ Carthage และ Regulus ได้ถูกบังคับให้สาบานว่า ถ้าเขาชักจูงโรมให้ลงนามไม่ได้ ก็ต้องกลับมาตายที่ Carthage เมื่อเดินทางถึงโรม Regulus ได้พยายามทุกวิถีทางไม่ให้โรมเซ็นสัญญาสงบศึก และได้เดินทางกลับ Carthage เพื่อรับโทษ ด้วยการถูกหอกแทงตายอย่างทรมาน ซึ่งนับเป็นการตายอย่างมี “เกียรติ” เพราะได้ตายตามคำมั่นสัญญา
การฆ่าตัวตายในบางครั้งก็มีเหตุผลว่าต้องการให้ผู้ตายหลุดพ้นจากโรคภัยไข้เจ็บที่ทำร้ายและทรมานร่างกาย เช่น ปราชญ์คณิตศาสตร์ Zeno วัย 98 ปี เมื่อหกล้มและกระดูกนิ้วเท้าหัก จิตใจและร่างกายของปราชญ์เฒ่าต้องต่อสู้กับความทุกข์ทรมานจนทนไม่ได้จึงแขวนคอตาย
ในยุคของจักรพรรดิ Nero การฆ่าตัวตายได้เป็นแฟชั่น เมื่อจักรพรรดิทรงเมตตาให้ชาวโรมันทุกคนเลือกวิธีตายด้วยตนเอง เมื่อ Mark Antony ทำศึกแพ้แม่ทัพ Octavian แห่งโรม ในการสู้รบทางเรือที่ Actium เมื่อ 31 ปีก่อนคริสตกาล Antony ได้หนีกลับไปหาพระนาง Cleopatra ที่ Alexandria ในอียิปต์ และรับทราบข่าว (ลือ) ว่า พระนางทรงสิ้นพระชนม์แล้วด้วยการให้งูพิษกัด เขาจึงฆ่าตัวตายตามด้วยเหตุผลว่า ต้องการจะครองชีวิตร่วมกับพระนางในสัมปรายภพ นี่เป็นการตายที่ไม่แมนในสายตาของชาวโรมัน
ในกรณีของนายทหาร Ajax แห่งเมือง Sophocles เมื่อ 5 ทศวรรษก่อนคริสตกาล หลังจากที่ Ajax ประสบความล้มเหลวในการประกวดเป็นทหารกรีกที่ดีที่สุด เขามีอารมณ์คลุ้มคลั่งจึงคว้าดาบมาสังหารสัตว์เลี้ยงของตน เพราะเชื่อว่า สัตว์เหล่านี้คือกษัตริย์ Agamemnon และกษัตริย์ Menelaus แห่ง Sparta ซึ่งเป็นแม่ทัพกรีกที่เขาเกลียดชังเป็นที่สุด เพราะได้มอบรางวัลทหารที่ดีที่สุดแก่ Odysseus ซึ่งเป็นคู่แข่งคนสำคัญของเขา และเมื่อสร่างคลั่ง Ajax ก็มีอาการซึมเศร้า เพราะรู้สึกละอายใจว่าตนเป็นคนไม่มีค่าใดๆ และโลกนี้ไม่มีพื้นที่ให้ยืนอีกต่อไปจึงฆ่าตัวตายโดยทุ่มตัวลงบนดาบให้ปักท้องจนทะลุ
การสืบค้นสาเหตุที่ทำให้เกิดเหตุการณ์น่าเศร้านี้ทำให้พบว่า บิดาของ Ajax ชื่อ Telamon เคยเป็นผู้ชนะการประกวดทหารที่ดีที่สุดในกองทัพ และได้รับรางวัลเป็นทาสผู้หญิง ซึ่งในเวลาต่อมานางทาสคนนี้ให้กำเนิด Ajax (ดังนั้น Ajax จึงเป็นลูกทาส) ที่มีฐานะต่ำต้อยในสังคม ดังนั้น เมื่อพลาดรางวัล Ajax จึงรู้สึกว่าตนถูกพ่อบังเกิดเกล้า ดูแคลน จนมีความกดดันอย่างรุนแรง และในขณะเดียวกันก็รู้สึกต่อต้านแม่บังเกิดเกล้าที่เป็นทาสด้วย ทำให้ไม่รู้สึกอยากเผชิญหน้ากับพ่อและแม่ของตนอีกต่อไปและอีกเลย ตรงกับความเชื่อที่ว่า ความสุขทั้งหลายเป็นเรื่องชั่วคราว แต่ความตายเท่านั้นที่เป็นเรื่องถาวร และเป็นภาวะสูงสุดที่มนุษย์สามารถไปถึงได้ นี่คือคำสอนของ Hegesias แห่งเมือง Cyrene ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นกวีแห่งความตาย แต่เมื่อมีคนเชื่อมาก และปฏิบัติตามมาก เจ้านคร Alexandria จึงได้ขับไล่ Hegesias ออกจากเมือง
แม้เวลาจะผ่านไปนานร่วม 2,000 ปีแล้วก็ตาม การฆ่าตัวตายของผู้คนทั้งโลกก็ยังมีอยู่ และกำลังมีเพิ่มทุกปี
องค์การอนามัยโลกรายงานว่า ในปี 2014 จะมีคนเกือบ 1 ล้านคนฆ่าตัวตาย ซึ่งนับว่ามากกว่าจำนวนคนที่เสียชีวิตเพราะถูกฆาตกรรมหรือตายในสงคราม และคนอีก 10 ถึง 20 ล้านคนจะพยายาม แต่ยังทำได้ไม่สำเร็จ
สถิติยังระบุอีกว่า อัตวินิบาตกรรมติดอันดับหนึ่งในสามของการทำให้คนตาย และถ้าคนที่ตายเป็นบุคคลในวัยทำงาน รัฐบาลสหรัฐได้ประเมินความสูญเสียว่าชาวอเมริกันที่ฆ่าตัวตายทำให้เกิดความเสียหายในเชิงเศรษฐกิจประมาณ 1.06 ล้านเหรียญ ส่วนผลกระทบทางสังคม และจิตใจนั้นเป็นเรื่องที่ประเมินค่ามิได้
แม้ความเสียหายจะเกิดขึ้นและมีผลกระทบรุนแรง แต่นักวิชาการ (แพทย์ นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ นักวิทยาศาสตร์ ฯลฯ) ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จมากนักในการเข้าใจสาเหตุ มีวิธีรักษา รวมถึงมีวิธีป้องกันคนที่มีแนวโน้มจะฆ่าตัวตาย แต่ก็ได้พบว่า 90% ของคนที่ฆ่าตัวตายมักมีจิตใจที่ผิดปกติ อาทิ เป็นโรคซึมเศร้า หรือติดสุรา ฯลฯ และความผิดปกตินี้ถ้าได้รับการรักษาหรือป้องกันทันท่วงที สถิติการตายด้วยมือของตนเองอาจลดลงได้
ทุกวันนี้การวิจัยหาสาเหตุการฆ่าตัวตาย ยังมิได้ทำกันอย่างแพร่หลาย วารสาร American Journal of Psychology ตลอดเวลา 5 ปีที่ผ่านมาได้ตีพิมพ์งานวิจัยเกี่ยวกับโรคจิตเภท (sehizophrenia) เพียง 6 เรื่องซึ่ง 25% ของคนที่เป็นโรคชนิดนี้มีพฤติกรรมที่ส่อแสดงว่า คิดจะฆ่าตัวตาย แต่รายงานเหล่านี้ก็ไม่ได้วิเคราะห์ในระดับลึกว่า กลไกใดที่จะผลักให้เขาตัดสินใจฆ่าตัวเอง
การมักไม่มีงานวิจัยที่ทำเรื่องฆ่าตัวตายอาจมาจากหลายสาเหตุ เช่น ในการศึกษาเรื่องนี้เป็นสิ่งสังคมถือ เพราะเวลาคนในครอบครัวหรือเพื่อนฆ่าตัวตาย ทุกคนจะถือเป็นเรื่องส่วนตัวที่ไม่ควรเอามีตีแผ่ ดังนั้นจึงไม่มีใครพูดถึง ในอินเดียและสิงคโปร์คนที่พยายามฆ่าตัวตายจะถูกศาลพิพากษาให้ถูกกักขัง 1 ปี ในหลายรัฐของสหรัฐอเมริกา การฆ่าตัวตายเป็นเรื่องผิดกฎหมาย ในหลายประเทศ การช่วยให้คนฆ่าตัวตายเป็นเรื่องผิดกฎหมายเช่นกัน
ส่วนสาเหตุสำคัญอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้การวิจัยเรื่องนี้ไม่คืบหน้ามาก คือ ชนวนที่ผลักดันให้คนลงมือฆาตกรรมตนเองมาได้หลายสาเหตุ เช่น สุขภาพจิตไม่ดี เป็นโรคมะเร็ง โรค Alzheimer หรือโรค Parkinson หรือมีปัญหาทางการเงิน หรือถูกสังคมปรักปรำว่า เป็นคนไร้จริยธรรม หรือทำผิดศีลธรรม หรือเป็นคนที่สูญเสียอำนาจ สิ่งของและคนรัก เป็นต้น และเมื่อคนๆ นั้นต้องประสบความกดดันเหล่านี้ เขาก็อาจคิดจะฆ่าตัวตาย เพราะรู้สึกสิ้นหวัง และเป็นคนที่อ่อนไหวต่อความคิดเห็นของสังคมมาก จนคิดอะไรในทางบวกไม่ออก
ดังนั้นในการป้องกันการฆ่าตัวตาย เราจึงต้องสอนให้คนที่จะฆ่าตัวตายให้รู้วิธีควบคุมอารมณ์ และให้รู้จักปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ได้อย่างเหมาะสม
ปัจจุบันนักวิชาการมีแนวคิดเรื่องมาตรการการป้องกันการฆ่าตัวตายว่า การทำงานของสมองมีบทบาทมากในการป้องกัน เพราะได้พบว่า เวลารู้สึกเครียด หรือซึมเศร้ามากๆ สมองส่วน prefrontal cortex และ anterior cingulated ของคนที่คิดจะฆ่าตัวตายจะทำงานมากและหนักผิดปกติ แต่งานวิจัยด้านนี้ก็ยังไม่ก้าวหน้านัก โดยเฉพาะในอังกฤษซึ่งมีการรณรงค์ให้ลดสถิติการเสียชีวิตบนท้องถนนภายใต้งบประมาณมากถึง 1,000 ล้านบาท ในปี 2009 แต่ใช้งบประมาณเพียง 80 ล้านบาทเท่านั้นเองในการลดจำนวนคนฆ่าตัวตาย
วิธีหนึ่งในการช่วยลดจำนวนคนที่ฆ่าตัวตายคือ สนับสนุนให้คนรอบข้างสังเกตพฤติกรรมที่แสดงออกดูว่ามีความกระวนกระวายผิดปกติหรือไม่ ดูประวัติการฆ่าตัวตายของสมาชิกในครอบครัว ดูสภาพจิตใจหลังการหย่าร้าง หลังการล้มละลาย ฯลฯ การสำรวจได้ข้อมูลที่แสดงว่า ก่อนจะลงมือ คนเหล่านี้มักเข้าหาแพทย์และบอกคนใกล้ชิด แต่ไม่มีใครเชื่อ
ดังนั้นในการป้องกันหรือการ รักษาจิตใจของผู้เคราะห์ร้ายเหล่านี้จึงต้องการความช่วยเหลือจากหลายฝ่าย ซึ่งถ้าไม่มีใครที่คิดจะช่วย ก็ต้องพึ่งพาจิตแพทย์หรือจากนักวิทยาศาสตร์ ให้เข้ามาช่วยก่อนที่คนๆ นั้นจะตัดสินใจ หยุดทุกอย่าง เพื่อจากไปโดยไม่บอกใคร
ในขณะที่นักวิทยาศาสตร์ยังไม่รู้สาเหตุที่แท้จริงของการฆ่าตัวตาย John Mann แห่ง American College of Neuropsycho Pharmacy ได้เสนอความคิดเห็นในวารสาร Archives of General Psychiatry เมื่อต้นปีนี้ว่า สังคมควรเพ่งเล็งและสนใจบรรดาทายาทของคนที่ฆ่าตัวตายบ้าง เพราะบุคคลที่กำพร้าพ่อแม่กลุ่มนี้จะพยายามฆ่าตัวตายมากกว่าลูกหลานของพ่อแม่ที่ไม่ได้ฆ่าตัวตายถึง 6 เท่า และนี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่แสดงว่า พันธุกรรมคือปัจจัยหนึ่งของการชักนำให้ฆ่าตัวตาย
สำหรับการป้องกันการฆ่าตัวตายนั้น นักจิตวิทยามีความเห็นว่า ครู ผู้ปกครอง หรือคนใกล้ชิดควรสอนหรือชักนำให้คนที่คิดทำร้ายตัวเอง ให้มีความสุขและอดทนต่อปัญหาที่กำลังรุมเร้า โดยให้ความอบอุ่นและสนทนาพาทีด้วย เช่น อาสาแบ่งเบาภาระหรือความทุกข์ไปบ้าง คนๆ นั้นก็จะรู้สึกดีขึ้น หรือให้กิน lithium carbonate หรือ lithium citrate ก็อาจช่วยให้เขามีอารมณ์มั่นคงขึ้น แต่ยาชนิดนี้สำหรับบางคนถ้ากินเข้าไปจะทำให้ขาสั่น มือสั่น กระหายน้ำ ปัสสาวะบ่อย เพิ่มน้ำหนัก สมองมึนและลืมง่ายก็ได้
ดังนั้น หากคิดจะบริโภคยา lithium ก็พยายามให้แพทย์ตรวจสภาพร่างกายอย่างสม่ำเสมอ เพราะถ้าความเข้มข้นของยา lithium ในเลือดมีน้อยเกินไป ยาจะไม่มีประสิทธิภาพ แต่ถ้าบริโภคมากเกินไป ยาก็จะเป็นพิษ
ในการเยียวยาจิตใจนั้นจิตแพทย์มักให้คนไข้ที่อารมณ์แปรปรวน และซึมเศร้ามากบริโภคยา lithium ซึ่งถ้าบริโภคสม่ำเสมอ เขาอาจไม่คิดฆ่าตัวตาย เพราะได้พบว่าคนที่ไม่กิน lithium เวลาซึมเศร้ามักฆ่าตัวตายมากกว่าคนที่กินถึง 17 เท่า นั่นคือ ยา lithium สามารถลดปริมาณการฆ่าตัวตายได้ตั้งแต่ 6 ถึง15 เท่า
แม้ยา lithium จะมีประสิทธิภาพสูง แต่หลายคนก็ไม่ชอบกินยามรู้สึกซึมเศร้า เพราะกลัวผลกระทบข้างเคียง เช่น กินแล้วทำให้อ้วนหรือปัสสาวะบ่อย แต่เราก็ต้องยอมรับว่า การอ้วนขึ้นหรือการไปห้องน้ำบ่อย ก็ยังดีกว่าการตาย
อ่านเพิ่มเติมจาก Public Health Action for the Prevention of Suicide: A Framework จัดพิมพ์โดย World Health Organization ปี 2012 และ Mind and Madness in Ancient Greece โดย Bennett Simon จัดพิมพ์โดย Cornell University Press ปี 1980
เกี่ยวกับผู้เขียน
สุทัศน์ ยกส้าน
ประวัติการทำงาน-ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์ ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย
อ่านบทความ สุทัศน์ ยกส้าน ได้ทุกวันศุกร์
*******************************
*******************************