แม้หลายชาติจะแสดงความไม่เห็นด้วยกับการ "รัฐประหาร" ในเมืองไทย โดยเฉพาะชาติตะวันตกที่แสดงปฏิกิริยาอย่างรุนแรง ทว่าในมุมของความร่วมมือวิจัยยังคงดำเนินต่อไปและไม่ได้รับผลกระทบ
ระหว่างการลงนามความร่วมมือระหว่างสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) กับมหาวิทยาลัยจอร์เจียในเอเธนส์ (University of Georgia at Athens: UGA) สหรัฐฯ ภายในการประชุมวิชาการโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก (คปก.) ระหว่าง 28-30 พ.ค.57 ตัวแทนจากสถาบันการศึกษาสหรัฐฯ ให้ความเห็นว่า สถานการณ์การเมืองตอนนี้ไม่กระทบต่อความร่วมมือวิจัยระหว่างไทยและสหรัฐฯ
ทั้งนี้ ศ.ดร.สก็อตต์ แองเกิล (Dr.Scott Angle) ตัวแทนจากมหาวิทยาลัยจอร์เจีย กล่าวว่า ที่ผ่านมาเคยเจอปัญหาหนักกว่านี้ แต่ความร่วมมือวิจัยก็ยังคงเดินหน้า และความสัมพันธ์ก็ไม่ได้รับผลกระทบ โดยตัวอย่างผลงานวิจัยจากความร่วมมือระหว่างไทยและสหรัฐฯ คือการพัฒนา วัวทนร้อนที่สามารถให้น้ำนมได้มาก ภายใต้เครือข่ายวิจัยนานาชาติ (IRN) ของ สกว.
ในส่วน ดร.สตีเฟน รอย (Dr.Stephane Roy) ผู้ช่วยเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย ให้ความเห็นสอดคล้องตัวแทนสถาบันการศึกษาสหรัฐฯ ว่าสถานการณ์การเมืองไม่ได้ส่งผลกระทบต่อความร่วมมือวิจัย เพราะวิทยาศาสตร์นั้นไม่ขึ้นกับการเมือง และทางสถานทูตยินดีที่มีนักวิจัยจากฝรั่งเศสมาเยือนไทย
เช่นเดียวกับ นางภัทราวรรณ เวชชศาสตร์ รองอธิบดีกรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ กระทรวงการต่างประเทศ ที่ให้ความเห็นว่า ต่างประเทศโดยเฉพาะชาติตะวันตกอาจแสดงความไม่เห็นด้วยกับเหตุการณ์การเมืองไทยในตอนนี้ และ มีแถลงการณ์ให้ไทยเข้าสู่วิถีประชาธิปไตยในเร็ววัน แต่ในเรื่องการศึกษาและความร่วมมือทางวิชาการยังคงเดินหน้าต่อไป
ส่วน ศ.นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการ สกว. กล่าวว่าก่อนหน้านี้ยังไม่ทราบว่าจะได้งบประมาณปี '58 เมื่อไหร่ แต่เมื่อเหตุการณ์ผ่านมาถึงวันนี้ก็มีความชัดเจนขึ้น และสกว.เองไม่ได้รับผลกระทบจากการเมือง รวมถึงความร่วมมือกับต่างประเทศด้วย และอาจใช้โอกาสนี้เพื่อเสนอแนวทางการปฏิรูปการวิจัยแก่ทาง คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) รวมถึงนำเสนอผลงานวิจัยที่เป็นรูปธรรมแล้ว เพื่อเป็นตัวอย่างในการผลักดันให้เกิดการใช้งานจริงต่อไป
ส่วน ศ.ดร.วิชัย ริ้วตระกูล ที่ปรึกษากลุ่มผู้ประสานงานเครือข่ายความร่วมมือเพื่อกลุ่มภารกิจวิจัยพื้นฐานและผลิตนักวิจัย สกว. ให้ความเห็นว่า เหตุการณ์การเมืองที่เปลี่ยนแปลงในเมืองไทยนั้นแทบจะไม่มีผลกระทบต่อความร่วมมือวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในไทย แม้แต่ฝรั่งเศสที่เป็นชาติแรกๆ ที่แสดงความไม่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง แต่ในด้านวิชาการกลับเป็นตรงกันข้ามและอยากร่วมมือกับไทยมากขึ้นเรื่อยๆ