ถอดบทเรียนความเสียหายแผ่นดินไหวเชียงราย
ตอน 3 สามแนวทางจัดการโครงสร้างที่เสียหาย โดย รศ.ดร.อมร พิมานมาศ
รศ.ดร.อมร พิมานมาศ รองเลขาธิการสภาวิศวกร และอาจารย์ประจำสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะนักวิจัยโครงการ “ศึกษาวิธีการออกแบบและเสริมกำลังอาคารในประเทศเพื่อต้านทานแผ่นดินไหว” โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เปิดเผยว่า จากการลงพื้นที่สำรวจความเสียหายเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เชียงราย และได้รับคำถามจากชาวบ้าน และช่าง อบต. ในท้องที่ เกี่ยวกับการจัดการความเสียหายของโครงสร้าง
จึงได้เสนอแนวทางการจัดการโครงสร้างไว้ 3 แนวทาง คือ 1. ซ่อม 2. ซ่อมและเสริม และ 3. รื้อถอนแล้วสร้างใหม่ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับระดับความเสียหายที่เกิดขึ้น ซึ่งสามารถจำแนกได้เป็น 4 ระดับคือ ระดับ 1 ถึง 4 การตรวจสอบว่าโครงสร้างเสียหายระดับไหนและควรใช้แนวทางใดในการจัดการโครงสร้างให้พิจารณาตารางสรุปดังนี้
ระดับความเสียหาย | โครงสร้าง | คอนกรีต | เหล็กเสริม | แนวทางจัดการ |
ระดับ 1 เล็กน้อย | ไม่ทรุด ไม่เอียง ไม่ดัดงอ | กะเทาะหลุดที่ผิว | ไม่เห็นเหล็กเสริม | ซ่อม |
ระดับ 2 ปานกลาง | ไม่ทรุด ไม่เอียง ไม่ดัดงอ | คอนกรีตส่วนหุ้มเหล็กกะเทาะหลุดออก | เห็นเหล็กเสริม แต่เหล็กเสริมยังไม่คดงอ | ซ่อม + เสริมเหล็กปลอก |
ระดับ 3 มาก | ทรุด เอียง ดัดงอเล็กน้อย | คอนกรีตแตกเป็นชิ้นๆ ถึงเนื้อใน | เหล็กแกนคดงอ เหล็กปลอกง้างออก | ซ่อม + เสริมเหล็กปลอก + เสริมเหล็กแกน |
ระดับ 4 มากที่สุด | ทรุด เอียง ดัดงออย่างชัดเจน หรือ พังถล่มโดยสิ้นเชิง | โครงสร้างหลุดแยกเป็นชิ้นๆ หรือขาดเป็นช่วงๆ | เหล็กแกนและเหล็กปลอก ขาด บิดเบี้ยว อย่างมาก | รื้อทิ้ง + สร้างใหม่ |
สำหรับบ้านที่ทรุดหรือเอียงแล้วนั้น ให้สังเกตว่าประตูหน้าต่างจะไม่สามารถปิดเปิดได้สนิทดังเดิมเนื่องจากโครงบ้านบิดเบี้ยวเสียรูปไปแล้ว ส่วนความเสียหายของคอนกรีตและเหล็กเสริมนั้นมักเกิดขึ้นที่ปลายบนและปลายล่างของเสา รวมทั้งเสาใต้ถุนบ้านด้วย
สำหรับความเสียหายระดับที่ 1 แนะนำให้ซ่อมโดยใช้ปูนมอร์ตาร์ (ปูน+ทราย+น้ำ) ฉาบปิดบริเวณผิวคอนกรีตที่หลุดออก ส่วนระดับที่ 2 ก่อนฉาบปูนมอร์ตาร์ให้เสริมเหล็กปลอกก่อน ความเสียหายระดับที่ 4 ซ่อมไม่ได้แล้วต้องทุบทิ้งแล้วสร้างขึ้นใหม่ ขณะที่ความเสียหายระดับที่ 3 ชาวบ้านไม่ควรดำเนินการเอง เพราะขั้นตอนการซ่อมอันตรายมากและโครงสร้างอาจพังถล่มได้ทุกเมื่อ ต้องอาศัยวิศวกรและช่างก่อสร้างดำเนินการ โดยมีขั้นตอนการซ่อมดังนี้
1.ค้ำยันโครงสร้างบริเวณที่ต้องการซ่อม
2.สกัดปูนฉาบที่ผิวและคอนกรีตที่แตกร้าวด้านในออกมาให้เหลือเฉพาะเนื้อคอนกรีตส่วนที่แข็งแรง
3.เสริมเหล็กแกนเท่ากับหรือมากกว่าจำนวนเหล็กแกนในเสาเดิม
4.เสริมเหล็กปลอกขนาด 9 มม. ระยะเรียงไม่เกิน 7.5 ซม. รอบเหล็กแกน
5.เทคอนกรีตหุ้มเสาเดิมให้ใหญ่ขึ้น หรือใช้แผ่นเหล็กหุ้มเสาแล้วเทคอนกรีตลงไป
6.คงค้ำยันไว้ จนกว่าคอนกรีตจะแข็งตัวดี (ไม่ควรน้อยกว่า 14-21 วัน) จึงถอดค้ำยันออก
การซ่อมและเสริมเหล็กด้วยวิธีข้างต้นนั้น สามารถทำเฉพาะบริเวณที่เสียหายหรือหากเสริมเสาทั้งต้นได้ก็ยิ่งดี นอกจากวิธีที่กล่าวมาแล้วยังสามารถใช้วิธีอื่น ๆ ได้ เช่น การเสริมค้ำยันทแยงเหล็กหรือไม้ การหุ้มด้วยแผ่นคาร์บอนไฟเบอร์ เป็นต้น ทั้งนี้การเลือกใช้วิธีใดควรปรึกษาวิศวกรด้วย