สกว.- อยากหลับสนิทไม่ต้องพึ่งเมลาโทนินไกลจากอเมริกา นักวิจัยไทยพบผลไม้เมืองร้อน สับปะรด กล้วย ส้ม ช่วยเพิ่มความเข้มข้นเมลาโทนิน และสารต้านอนุมูลอิสระ
ผศ.ดร.สุภัสร์ สุบงกช อาจารย์ประจำคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) เปิดเผยถึงผลงานวิจัยร่วมกับกลุ่มวิจัยเมลาโทนิน มข.ว่าจากการศึกษาผลการรับประทานผลไม้ 3 ชนิด ได้แก่ สับปะรด ส้ม และกล้วย พบว่าสามารถเพิ่มความเข้มข้นของเมลาโทนินและเพิ่มฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระในซีรั่มของอาสาสมัครสุขภาพดี 12 คน
จากการศึกษาดังกล่าวทีมวิจัยอาจนำไปศึกษาต่อในผู้ที่มีเมลาโทนินในร่างกายลดลง เช่น ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่เป็นโรคที่มีสาเหตุจากการลดลงของเมลาโทนินในร่างกาย และมีการติดตามผลทางคลินิกต่อไปในอนาคต
ทั้งนี้ เมลาโทนินเป็นสารสื่อประสาทที่สังเคราะห์จากกรดอะมิโนแอล-ทริปโตเฟน ซึ่งเป็นกรดอะมิโนจำเป็น ที่ร่างกายไม่สามารถสร้างขึ้นเองได้ต้องได้รับจากสารอาหาร และการสร้างเมลาโทนินจะเป็นวัฏจักรที่ถูกกระตุ้นด้วยความมืดในเวลากลางคืน โดยพบว่ามีระดับสูงสุดในช่วงเวลา 02.00-04.00 น.และจะลดต่ำลงจนมีระดับต่ำสุดในช่วงเวลากลางวันเนื่องจากถูกยับยั้งการสร้างโดยแสงสว่าง
ปัจจุบันได้มีการนำเมลาโทนินมาใช้ในการรักษาโรคต่างๆ มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการรักษาอาการนอนหลับที่ผิดปกติทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ บรรเทา และป้องกันอาการปวดหัวจากไมเกรนและกลุ่มโรคที่ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ รวมถึงป้องกันการเมาเวลาจากการบิน (jetlag)
นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลการศึกษาที่แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของระดับเมลาโทนินที่ลดลงกับการเกิดมะเร็งที่เกี่ยวข้องกับฮอร์โมนในกลุ่มประชากรที่เสี่ยงต่อการมีระดับเมลาโทนินหลั่งน้อยในเวลากลางคืน คือ กลุ่มที่มีวัฏจักรการนอนหลับผิดปกติหรือต้องทำงานในเวลากลางคืน
เมลาโทนินนอกจากจะเป็นสารสำคัญที่พบในมนุษย์และสัตว์แล้ว ยังมีรายงานการค้นพบเมลาโทนินในพืชซึ่งเกี่ยวข้องกับการเป็นสารต้านอนุมูลอิสระและควบคุมการเจริญเติบโตของพืชอีกด้วย ข้อมูลจากการศึกษาพบว่าพืชที่เจริญเติบโตในสภาพอากาศที่เสี่ยงต่อการสร้างอนุมูลอิสระได้มากจะมีปริมาณเมลาโทนินสูง เมลาโทนินในพืชสามารถถูกดูดซึมผ่านทางเดินอาหารและมีผลเพิ่มความเข้มข้นของเมลาโทนินในเลือดได้ภายหลังการรับประทาน
อย่างไรก็ตาม ผลไม้ในเขตร้อนที่ต้องเผชิญกับรังสีอัลตราไวโอเลตตลอดทั้งปี ทำให้มีปริมาณเมลาโทนินที่สูง แต่กลับไม่พบการศึกษาถึงผลการรับประทานผลไม้กลุ่มนี้ต่อความเข้มข้นของเมลาโทนินในเลือดและฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ
ผู้วิจัยและคณะจึงได้ทำการศึกษาผลของการรับประทานผลไม้ในเขตร้อน ได้แก่ สับปะรด ส้ม และกล้วย โดยให้กลุ่มตัวอย่างที่มีสุขภาพดีรับประทานน้ำส้มคั้นสดหรือสับปะรดสกัดสดจากผลไม้ 1 กิโลกรัม หรือกล้วยหอม 2 ลูก ผลการศึกษาพบว่าความเข้มข้นเมลาโทนินในซีรัมที่ 120 นาทีภายหลังรับประทานผลไม้ที่ศึกษาเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเปรียบเทียบกับก่อนการรับประทาน โดยความเข้มข้นของเมลาโทนินที่เพิ่มขึ้นภายหลังการรับประทานผลไม้ทั้ง 3 ชนิดใกล้เคียงกับความเข้มข้นสูงสุดของเมลาโทนินตามสรีรวิทยาปกติของร่างกายในเวลากลางคืน และพบว่าฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระในซีรั่มของอาสาสมัครสุขภาพดีเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ภายหลังรับประทานผลไม้ที่ศึกษาทั้ง 3 ชนิด
“นอกจากคณะวิจัยจะนำข้อมูลที่ได้จากการวิจัยครั้งนี้มาเป็นแนวทางในการศึกษาต่อถึงผลทางคลินิกของการใช้สับปะรด ส้ม และกล้วย ในผู้ป่วยที่มีภาวะบกพร่องของระดับเมลาโทนินในร่างกายแล้ว ยังจะใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาการวิจัยในการศึกษาเมลาโทนินในผลไม้ชนิดอื่นต่อไปด้วย อย่างไรก็ตามการรับประทานผลไม้เหล่านี้โดยเฉพาสับปะรดในผู้ป่วยเบาหวานจะต้องระมัดระวังด้วย เพราะมีน้ำตาลค่อนข้างสูง” ผศ.ดร.สุภัสร์ กล่าวทิ้งท้าย
ทั้งนี้ การศึกษาดังกล่าวได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ในการวิจัยเรื่อง “การรับประทานผลไม้ต่อการเพิ่มระดับเมลาโทนิน และฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระในอาสาสมัครสุขภาพดี”