นักวิจัย มข.เผยหลังลงนามความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในสหรัฐฯ เป็นโอกาสดีที่จะได้นำเทคโนโลยีการคัดแยกเพศและย้ายฝากตัวอ่อน มาใช้กับ “วัวทนร้อน” ของมหาวิทยาลับเพื่อขยายผลสู่เกษตรกรและเป็นฮับในอาเซียน
รศ.วิโรจน์ ภัทรจินดา รองคณบดีฝ่ายวิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยี คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เผยแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า ทางมหาวิทยาลัยได้พัฒนาโคทนร้อนมาเป็นเวลากว่า 18 ปีแล้ว จนได้สายพันธุ์โคนมทนร้อนมหาวิทยาลัยขอนแก่น (KKU101) ซึ่งปัจจุบันเลี้ยงดูไว้ 250 ตัว ที่สถานีทดลองและฝึกอบรมเกษตรกรรม จ.ร้อยเอ็ด ซึ่งเป็นศูนย์การเกษตรเขตร้อนของมหาวิทยาลัย
ทั้งนี้ เมื่อ 6-7 ปีก่อน รศ.วิโรจน์ในฐานะศิษย์เก่าได้นำองค์ความรู้จากมหาวิทยาลัยจอร์เจียในเอเธนส์ (University of Georgia at Athens: UGA) สหรัฐฯ มาพัฒนาสายพันธุ์วัวทนร้อน ทั้งในเรื่องการให้อาหาร การปรับปรุงสายพันธุ์ การใช้เทคนิคชีวโมเลกุล และชีวเคมี จนได้โคนมสายพันธุ์ดังกล่าว ซึ่งให้น้ำนมมากกว่าปกติ 20% โดยให้อาหารสูตรรวมคือผสมหญ้าและอาหารข้นคลุกเป็นอาหารสำหรับโคนม
ล่าสุดทางมหาวิทยาลัยจอร์เจียในเอเธนส์ได้ลงนามความร่วมมือทางวิชาการกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ซึ่งจากความร่วมมือดังกล่าว รศ.วิโรจน์ระบุว่า จะเป็นโอกาสในการนำเทคโนดลยีการย้ายฝากตัวอ่อนและการคัดแยกเพศให้ได้เพศเมียมาใช้ในการขยายพันธุ์โคนมทนร้อน เพื่อจำหน่ายพันธุ์สู่เกษตรกรไทย ซึ่งจะทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางของอาเซียนในเรื่องนี้ เนื่องจากไทยมีความก้าวหน้าในเรื่องโคนมมากกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค และเริ่มพัฒนามาได้กว่า 30 ปีแล้ว
ในช่วง 5 ปีต่อจากนี้ รศ.วิโรจน์กล่าวว่า ทาง มข.จะพุ่งเป้าไปที่เรื่องการคัดแยกเพศได้ให้เฉพาะเพศเมียก่อน รวมถึงการนำเทคโนโลยีย้ายฝากตัวอ่อนมาใช้ เนื่องจากโดยปกติโคนมตัวหนึ่งจะให้ลูกปีละ 1 ตัวเท่านั้น แต่ตกไข่มากถึงปีละ 10 ฟอง การนำเทคโนโลยีย้ายฝากตัวอ่อนมาใช้ จะทำให้ขยายพันธุ์โคนมทนร้อนเพิ่มได้อีกจาก 1 ตัวเป็น 10 ตัว