xs
xsm
sm
md
lg

Edward Jenner ผู้ทดสอบความเชื่อคนรีดนมวัว สู่วัคซีนกันฝีดาษ

เผยแพร่:   โดย: สุทัศน์ ยกส้าน

ภาพจำลองการปลูกฝีครั้งแรกของ Edward Jenner
ขณะเรือของกัปตัน George Vancouver แล่นเลียบฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือของทวีปอเมริกาเหนือในปี 1792 Vancouver ได้สังเกตเห็นทะเลในบริเวณนั้นคลาคล่ำด้วยปลาแซลมอน แต่เมื่อดูภูมิประเทศบนฝั่ง ก็เห็นหมู่บ้านขนาดใหญ่ แต่ไม่เห็นชาวอินเดียนแดงเลยแม้แต่คนเดียว

ครั้นเมื่อขึ้นฝั่งเดินสำรวจ ก็ได้พบว่าหมู่บ้านที่เห็นเป็นหมู่บ้านร้าง มีเถาวัลย์และหยากไย่ปกคลุม บนพื้นดินมีกองกระดูกและกะโหลกศีรษะอยู่กระจัดกระจายอย่างเกลื่อนกลาด ทั้งๆ ที่เป็นหมู่บ้านใหญ่มีบ้านนับร้อยหลัง น่าจะมีคนอยู่นับพัน แต่กลับไม่มีใครอาศัยเลย Vancouver จึงสันนิษฐานว่า ชาวบ้านได้อพยพไปหมดแล้ว จะด้วยเหตุผลใด เขาไม่อาจรู้ได้ แต่ ณ วันนี้ นักวิทยาศาสตร์ได้วิเคราะห์กระดูกเหล่านั้นและพบว่า ชาวอินเดียนแดงในหมู่บ้านถูกคร่าชีวิตด้วยโรคฝีดาษ

มนุษย์ได้รู้มานานแล้วว่า ฝีดาษเป็นโรคระบาดร้ายแรงที่สุดชนิดหนึ่งของโลกมีหลักฐานมากมายทางประวัติศาสตร์ที่แสดงว่า เมื่อ 4,500 ปีก่อน พ่อค้าอียิปต์ได้นำเชื้อฝีดาษไปอินเดีย และเมื่อ 3,500 ปีก่อนนี้ ชาวอินเดียนับแสนต้องเสียชีวิตด้วยโรคร้ายนี้ เมื่อ 430 ปีก่อนคริสตกาล นักประวัติศาสตร์กรีกชื่อ Thucydides ได้รายงานว่า ฝีดาษได้คร่าชีวิตชาวเมือง Athens ไปมากถึง 1 ใน 3 ทหารในกองทัพของจักพรรดิ Alexander มหาราชก็เคยถูกฝีดาษคุกคาม เมื่อนายพล Cortez นำทหารบุกอาณาจักร Aztec ทหารที่ป่วยเป็นฝีดาษได้แพร่โรคให้แก่ชาวพื้นเมือง จนทำให้ชาว Aztec ที่ไม่เคยมีภูมิคุ้มกันโรคชนิดนี้ ต้องล้มตายไปมากนับแสนคน การสูญเสียชีวิตของผู้คนจำนวนมากเช่นนี้มีส่วนทำให้อาณาจักร Aztec ต้องล่มสลายในเวลาต่อมา คัมภีร์กุรอ่านกล่าวถึง กองทัพชาว Assyrian ที่บุกเข้าล้อม Mecca ใน ค.ศ.570 ว่าได้ถูกฝีดาษสังหารไปมากมาย ในปี 1763 แม่ทัพอังกฤษได้จงใจมอบผ้าห่มของคนที่ป่วยเป็นฝีดาษแก่ชาวอินเดียนแดงที่เมือง Fort Pitt นี่เป็นการใช้ฝีดาษเป็นอาวุธชีวภาพเป็นครั้งแรกในสงคราม

ชื่อวิทยาศาสตร์ของฝีดาษคือ variola major (variola มีรากศัพท์มาจาก varus ในภาษาละตินที่แปลว่า ตุ่มตามตัว) ทั้งนี้เพราะคนที่รอดชีวิตจากฝีดาษจะมีแผลเป็นเต็มตัว

เวลาเชื้อฝีดาษเข้าสู่ร่างกายภายในเวลา 12 วันแรก ร่างกายแทบจะไม่รู้สึกอะไร แต่หลังจากนั้นผู้ป่วยจะรู้สึกครั่นเนื้อครั่นตัว และมีไข้สูงเหมือนเป็นหวัด บางคนอาจรู้สึกเจ็บหลังหรือปวดศีรษะ หลายคนอาจอาเจียนและหายใจติดขัด จากนั้นอาการไข้ก็จะทุเลา แต่อีก 2-3 วันต่อมา ตามบริเวณใบหน้าและลำตัว โดยเฉพาะที่ปาก คอ จมูก หน้าอก และแขน จะมีจุดแดงๆ คล้ายตุ่มขึ้นเต็ม แล้วตุ่มก็จะเริ่มมีขนาดใหญ่ขึ้นๆ เพราะภายในมีหนอง ในขณะเดียวกันอาการไข้สูงก็จะหวนกลับมาอีก จากนั้นตุ่มจะปริแตก และส่งกลิ่นเหม็น อีกไม่นานแผลจะมีสะเก็ดสีเหลืองปกคลุม เมื่อสะเก็ดหลุด ผิวหนังตรงบริเวณนั้นจะปรากฏมีแผลเป็น ในกรณีร้ายแรง ตุ่มจะใหญ่ขึ้นๆ จนรวมกันเป็นแผลขนาดใหญ่ ตามบริเวณฝ่าเท้า จมูก เหงือก อุ้งมือ และหนังตาของผู้ป่วยจะมีเลือดไหล ในคออาจมีตุ่มขนาดเล็กเต็มไปหมด จนทำให้คนไข้ดื่มน้ำไม่ได้ และเสียชีวิตภายในเวลา 10 วัน แต่ถ้าคนไข้ได้รับการรักษาทันเวลา ร่างกายก็จะมีภูมิคุ้มกันฝีดาษตลอดไป นั่นหมายความว่า เขาจะไม่เป็นฝีดาษอีกจนตลอดชีวิต

ฝีดาษเป็นโรคติดต่อที่ระบาดโดยการสัมผัสกับน้ำลาย หรือน้ำมูกของผู้ป่วย เวลาฝีดาษระบาด ทุกคนไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่ ไม่ว่าจะหญิงหรือชาย ไม่ว่าจะราชาหรือยาจก มีสิทธิ์เป็นฝีดาษได้ทั้งสิ้น

บุคคลสำคัญของโลกหลายคนที่เคยตกเป็นเหยื่อของฝีดาษ แต่หายเป็นปกติ ได้แก่ พระราชินีเอลิซาเบทที่ 1 แห่งอังกฤษ พระเจ้า Louis ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส คีตกวี Mozart ชาวเยอรมัน และประธานาธิบดี Abraham Lincoln แห่งสหรัฐอเมริกา สำหรับ George Washington นั้นเมื่อพบว่าป่วยเป็นฝีดาษ ได้สั่งให้ทหารทุกคนในกองทัพเข้ารับการปลูกฝีทันที และการป้องกันโรคที่ทันเวลานี้มีส่วนทำให้กองทัพฝ่ายเหนือมีชัยชนะเหนือกองทัพฝ่ายใต้ในสงครามกลางเมืองของอเมริกา

ส่วนบุคคลผู้ยิ่งใหญ่ที่เสียชีวิตด้วยฝีดาษ ได้แก่ สมเด็จพระเจ้า Joseph ที่ 1 แห่งออสเตรีย พระเจ้าLouis ที่ 1 แห่งสเปน และจักรพรรดิ Peter มหาราชแห่งรัสเซีย เป็นต้น

Edward Jenner คือแพทย์ผู้พบวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษเป็นคนแรก ในความเป็นจริง แพทย์ในสมัยก่อน Jenner ได้เคยทดลองรักษา และป้องกันฝีดาษมาเป็นเวลานานแล้ว เช่น แพทย์จีนใช้วิธีกักบริเวณคนป่วยและห้ามไม่ให้ใครเข้าใกล้ สำหรับเด็กที่กำลังเป็นหมอจีนจะให้เด็กสูดดมควันที่เกิดจากการเผาสะเก็ดแผลของคนที่หายป่วยแล้ว ในตะวันออกกลางและแอฟริกาหมอจะนำหนองจากแผลของคนที่เป็นฝีดาษไปป้ายตรงรอยข่วนบนผิวหนังของคนที่ยังไม่เป็น เพื่อป้องกันไม่ให้ติดโรคฝีดาษ

ในปี 1713 เมื่อ Emmauel Timori ได้เห็นวิธีปลูกฝีที่แพทย์ตะวันออกกลางใช้ในการป้องกันฝีดาษ เขาจึงเขียนจดหมายรายงานเรื่องที่เห็นนี้ต่อสมาคม Royal Society เนื้อหาในจดหมายได้ถูกนำมาตีพิมพ์ในวารสาร Philosophical Transactions ของสมาคมในปีต่อมา โดย Timori ได้กล่าวถึง บรรดาพ่อแม่ชาวตุรกีที่กลัวว่าลูกจะตายด้วยฝีดาษมักปล่อยให้ลูกอยู่ใกล้กับคนที่เป็นโรค ซึ่งต่อมาเด็กคนนั้นจะป่วย และถ้าเชื้อฝีดาษไม่รุนแรง เด็กก็จะหาย และมีภูมิคุ้มกัน นี่เป็นวิธีปลูกฝี (inoculation) คำนี้มาจากคำละตินว่า inoculare ที่แปลว่า ตัดต่อ (คือเอาเนื้อดีมาติดแปะ)

แต่วิธีปลูกฝีที่ชาวอาหรับใช้นี้ ไม่มีชาวยุโรปคนใดรู้เลย จนกระทั่งสุภาพสตรีไฮโซชื่อ Lady Mary Wortley Montague เมื่อเธอเห็นวิธีปลูกฝีในตุรกีในปี 1717 ซึ่งในเวลานั้นสามีของนางเป็นเอกอัครราชทูต นางได้บันทึกว่า เห็นหญิงชาวบ้านนำเข็มป้ายหนองของคนที่เป็นฝีดาษไปป้ายที่แผลของเด็ก แม้เด็กจะล้มป่วยในเวลาต่อมา แต่ก็หายเป็นปกติ และไม่เป็นฝีดาษอีกเลย

กรรมวิธีที่ Lady Montague เห็นนี้ แพทย์ชื่อ Charles Maitland ก็ได้เห็นเช่นกัน จึงขอให้ลูกชายของ Lady Montague ปลูกฝีบ้าง (นี่เป็นการปลูกฝีครั้งแรกสำหรับชาวยุโรป) ครั้นเมื่อครอบครัวตระกูล Montague เดินทางกลับถึงอังกฤษ Lady Montague เองได้เป็นฝีดาษ ทำให้เธอมีรูปร่างอัปลักษณ์ ดังนั้นเธอจึงประกาศชวนคนอังกฤษปลูกฝี เพราะ Lady Montague เป็นสตรีสูงศักดิ์ ดังนั้นบรรดาพระราชวงศ์อังกฤษ เมื่อได้คำแนะนำจากเธอจึงจัดให้บรรดาพระประยูรญาติเข้ารับการปลูกฝี แต่เมื่อไม่มีใครรู้เทคนิคปลูกฝีที่ปลอดภัย (เพราะในบางครั้งเชื้อฝีดาษกลายพันธุ์ ทำให้คนไข้ตาย) ดังนั้นประชาชนจึงยังไม่เชื่อคำพูดของเธอ ยิ่งรู้ว่าคนที่นำความรู้มาถ่ายทอดเป็นแค่สตรีฐานันดรศักดิ์สูง แต่มีความรู้แพทย์ศาสตร์น้อย วิธีปลูกฝีที่ Lady Montague นำเข้าจากต่างประเทศจึงไม่ได้ช่วยผู้ป่วย จนกระทั่งถึงยุคของ Edward Jenner ซึ่งได้ประสบความสำเร็จในการพัฒนาวัคซีนป้องกันฝีดาษขึ้นมาเป็นคนแรก

Edward Jenner เกิดเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม ค.ศ.1749 ที่หมู่บ้าน Berkeley ในแคว้น Gloucestershire ของอังกฤษ ในวัยเด็ก Jenner เป็นคนชอบธรรมชาติ เก่งในการเรียนละตินและรู้ภาษากรีกบ้าง เมื่ออายุ 12 ปี ได้ไปฝึกงานกับศัลยแพทย์ชื่อ Daniel Ludlow เพราะต้องการจะเป็นแพทย์

ในปี 1766 ซึ่งเป็นเวลาที่ฝีดาษกำลังระบาดหนักในอังกฤษ ทุกวันจะมีคนจำนวนมากเสียชีวิตด้วยโรคนี้ แต่บรรดาคนรีดนมวัวไม่รู้สึกกลัวเลย เพราะมีความเชื่อว่า ใครก็ตามที่เป็นฝีดาษวัวครั้งหนึ่งแล้ว จะไม่เป็นโรคฝีดาษอีกเลย
Edward Jenner
ขณะนั้น Edward Jenner มีอายุ 17 ปี และได้เรียนละติน กรีก และวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นความรู้พื้นฐานที่แพทย์ทุกคนในสมัยนั้นจำเป็นต้องมี หลังจากฝึกงานเป็นเวลา 2 ปี Ludlow ก็รู้ว่า Jenner มีความรู้ดีและมากพอแล้ว จึงแนะนำให้ Jenner เดินทางจากเมือง Sudbury ที่ Jenner กำลังฝึกงาน ไปฝึกงานเพิ่มเติมที่โรงพยาบาล St. George ในลอนดอนกับ John Hunter ซึ่งเป็นศัลยแพทย์ที่มีชื่อเสียงที่สุดในอังกฤษ และเป็นคนที่กระหายจะเรียนรู้วิทยาศาสตร์ทุกเรื่อง ถึงกับมีตำนานเล่าว่า เวลาสัตว์ในสวนสัตว์ใกล้จะตาย Hunter จะไปเดินคอยอยู่ที่หน้ากรง เพื่อขอศพไปผ่าหาสาเหตุที่สัตว์ตาย จนบางครั้งต้องให้สินบนแก่คนเฝ้ากรง เพื่อจะได้เป็นเจ้าของซากสัตว์ตัวนั้นก่อนคนอื่น ชื่อเสียงของ Hunter ในเรื่องนี้เป็นที่ระบือลือไกล จนทำให้คนยักษ์ชื่อ O’Brien เมื่อใกล้จะเสียชีวิต รู้สึกกลัว Hunter จะนำศพของตนไปศึกษา จึงเขียนพินัยกรรมให้นำศพไปถ่วงในทะเล แต่ Hunter รู้ทัน จึงให้สินบนแก่สัปเหร่อ ทุกวันนี้โครงกระดูกของ O’Brien ยังอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ของ Royal College of Surgeons ในกรุงลอนดอน

ในปี 1770 Jenner ได้เดินทางถึงลอนดอนเพื่อฝึกงานกับ Hunter เพราะรู้สึกศรัทธาและเลื่อมใสในความสามารถของ Hunter มาก Jenner เรียนงานได้ดี จนได้เลื่อนตำแหน่งเป็นผู้ช่วยแพทย์ ในเวลาเดียวกันมหาวิทยาลัยลอนดอนก็เสนอตำแหน่งอาจารย์แพทย์ให้ครอง แม้แต่กัปตัน James Cook ผู้กำลังจะเดินทางไปสำรวจมหาสมุทรแปซิฟิกทางตอนใต้ก็เสนอตำแหน่งนักธรรมชาติวิทยาประจำเรือให้ Jenner

ดังนั้น สำหรับเด็กบ้านนอกคนหนึ่งซึ่งได้มาทำงานในลอนดอนเพียงไม่นาน ก็มีผู้เสนองานดีๆ ให้ทำมากมาย ซึ่งหมายถึงเงิน ตำแหน่ง และได้ผจญภัยด้วย แต่ Jenner ได้ปฏิเสธงานทั้งสามอย่างไม่ใยดี เพราะต้องการกลับไปเป็นแพทย์ที่ Berkeley บ้านเกิดเพื่อช่วยรักษาชาวนากับคนเลี้ยงวัวที่ยากจน และเริ่มมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในฐานะศัลยแพทย์กับนักธรรมชาติวิทยา

ในปี 1778 Jenner ได้อกหักเพราะหลงรักผู้หญิงคนหนึ่ง เมื่อไม่สมหวังจึงเสียใจเบื่อชีวิตมาก และรู้สึกท้อแท้ที่จะทำงานต่อไป แต่ในที่สุดก็รู้ว่า หนทางเดียวที่จะรักษาโรคเซ็งได้คือ ต้องแต่งงานกับใครสักคน เมื่อได้พบกับ Catherine Kingscote เธอคือสตรีในฝัน เพราะเธอทั้งสวย และมีคุณสมบัติของกุลสตรีพร้อม คือ เล่นเปียโนได้ดี พูดภาษาฝรั่งเศสได้คล่องแคล่ว และเย็บปักถักร้อยก็เก่ง Jenner กับเธอจึงเริ่มสร้างครอบครัวโดยซื้อบ้านที่ Berkeley

จากนั้นชีวิตของ Jenner ก็เริ่มมีความสุข แต่ไม่มาก เพราะเขายังครุ่นคิดเรื่องฝีดาษที่กำลังคุกคามชีวิตของคนทุกคนในสมัยนั้น และเขายังจำคำพูดของหญิงรีดนมวัวที่บอก Ludlow ว่า ใครก็ตามที่เป็นฝีดาษวัวแล้ว จะปลอดภัยจากฝีดาษไปจนตาย

Jenner จึงถาม Hunter ว่า จริงหรือไม่ที่ฝีดาษวัวสามารถป้องกันฝีดาษได้ ตามปกติเวลา Hunter ถูกใครถาม เขาจะไม่ตอบตรงๆ ว่า “No” หรือ “Yes” แต่ตอบว่า “อาจเป็นไปได้” และในการตอบคำถามของ Jenner ครั้งนั้น เขาได้เสริมว่า “อย่าเพียงแค่คิด ขอให้ลองทำอย่างอดทน และพยายามทำทุกเรื่องอย่างถูกต้อง”

คำแนะนำของ Hunter ทำให้ Jenner ขบคิดหนัก ในที่สุดก็รู้ว่าถึงเวลาที่จะต้องทดสอบความเชื่อ “เลื่อนลอย” ของคนรีดนมวัวแล้ว

ในฤดูใบไม้ผลิของปี 1782 ขณะ Jenner กับ Edward Gardner ซึ่งเป็นกวีและเพื่อนสนิทเดินทางในเวลากลางคืนด้วยรถม้าจากเมือง Gloucester ไปเมือง Bristol Jenner ได้ปรารภเรื่องฝีดาษวัวกับ Gardner ซึ่งนั่งอมยิ้ม เพราะรู้สึกว่าขณะนั้นเป็นเวลาดึกมาก แต่ Jenner กำลังคิดถึงวัว และนำเรื่องวัวมาปรึกษาเขาผู้ไม่มีความรู้ด้านแพทย์ศาสตร์เลย

Jenner ได้บอก Gardner ว่า ในปี 1778 เมื่อฝีดาษระบาดที่ Gloucestershire เขาสังเกตเห็นว่า คนไข้ของเขาที่เป็นโรคฝีดาษวัว จะไม่เป็นฝีดาษในเวลาต่อมา ดังนั้นอาจมีฝีดาษวัวบางชนิดที่สามารถป้องกันคนไม่ให้เป็นฝีดาษได้ ซึ่งถ้าสามารถสกัดเชื้อฝีดาษวัวชนิดนั้นออกมาได้ คนทั้งโลกก็จะปลอดภัยจากฝีดาษทันที และความสำเร็จนี้จะให้กำเนิดวิชาเวชศาสตร์ป้องกัน

ในปี 1792 Jenner ได้รับปริญญาแพทย์ศาสตร์บัณฑิตจากมหาวิทยาลัย St. Andrew และอาชีพแพทย์ทำให้เขามีฐานะดีขึ้น เพราะมีคนไข้จำนวนมากมาให้รักษา

เมื่อปักใจเชื่อในความสามารถของฝีดาษวัวในการป้องกันฝีดาษแล้ว Jenner ได้เริ่มหาวิธีป้องกัน แต่พบว่าข้อมูลที่ได้มามีการขัดแย้งกันบ้างและสนับสนุนกันบ้าง เช่น มีหญิงรีดนมวัวคนหนึ่งที่ป่วยเป็นฝีดาษ ทั้งๆ ที่ก่อนนั้น เธอเคยเป็นฝีดาษวัว และมีเด็กที่เคยเป็นฝีดาษวัว แต่ไม่ตกเป็นเหยื่อฝีดาษอีก เป็นต้น

Jenner ได้วิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ ที่ได้มา จนได้คำตอบที่เป็นไปได้สองคำตอบ คือ ทฤษฎีฝีดาษที่คิดนั้นผิดอย่างสิ้นเชิง หรือไม่คนที่เสียชีวิตก็ไม่เคยเป็นฝีดาษวัวมาก่อน แต่เมื่อเพื่อนแพทย์ยืนยันว่าคนเหล่านั้นล้วนเคยป่วยเป็นฝีดาษวัวจริงๆ Jenner ก็ถึงทางตัน และใช้เวลาอีก 14 ปีเพื่อตอบโจทย์นี้ เพราะได้พบว่าฝีดาษวัวมี 2 ชนิด คือชนิดจริง กับชนิดปลอม ในกรณีชนิดจริง อาการป่วยมีขั้นตอนชัดเจน และใครก็ตามที่เป็นฝีดาษชนิดนี้จะมีภูมิคุ้มกัน ส่วนชนิดปลอมที่แสดงอาการแตกต่างจากกรณีแรก ไม่สามารถคุ้มกันฝีดาษได้

ในวันที่ 14 พฤษภาคม ค.ศ.1796 มีหญิงรีดนมวัวคนหนึ่งชื่อ Sarah Nelmes ซึ่งได้มาที่คลินิกของ Jenner เธอกำลังป่วยเป็นโรคฝีดาษวัวระยะรุนแรง นายจ้างจึงส่งเธอมาให้ Jenner รักษา Jenner ได้เห็นมือทั้งสองของเธอมีแผลพุพองด้วยหนอง ก็รู้ว่าเธอกำลังป่วยด้วยโรคฝีดาษวัว ครั้นเมื่อทอดสายตาออกไปนอกห้องตรวจโรค เขาเห็น James Phipps ซึ่งเป็นลูกชายคนโตวัย 8 ขวบของนายจ้างของ Sarah Nelmes Jenner จึงให้ Phipps มาหา และบอกบิดาของ Phipps ว่า กำลังจะให้ Phipps ทดสอบทฤษฎีฝีดาษของเขา เมื่อพ่อยินยอมภายในเวลาเพียง 5 นาที เหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ คือ การปลูกฝี (ฉีดวัคซีน) ป้องกันโรคก็เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในโลก เมื่อ Jenner นำหนองจากแผลของ Nelmes ไปป้ายบนรอยข่วน 2 รอยที่แขนข้างซ้ายของ Phipps
ในปี 1778 Jenner ได้ศึกษาธรรมชาติของนกคัดคู (cuckcoo) โดยได้แสดงให้ทุกคนเห็นว่า เวลาแม่นกคัดคูเข้าไปลอบวางไข่ในรังของนกอื่น เมื่อลูกนกคัดคูฟักออกจากไข่แล้ว มันจะใช้จะงอยปากดันไข่ฟองอื่นๆ ของนกเจ้าบ้านตกจากรัง เพื่อจะได้เป็นเจ้าของรังแต่เพียงผู้เดียว
หลังจากนั้น James Phipps เริ่มออกอาการของฝีดาษวัว จนถึงวันที่ 1 กรกฎาคม Jenner ก็นำเชื้อจากแผลคนที่เป็นฝีดาษไปป้ายลงบนแผลที่แขนของ Phipps และอดใจรอคอยผลการทดลอง อีกสองสัปดาห์ต่อมา เขารู้สึกดีใจเป็นล้นพ้นที่พบว่า Phipps มิได้ป่วยเป็นฝีดาษ ซึ่งนับเป็นเรื่องดีมาก เพราะถ้า James Phipps ตายด้วยโรคฝีดาษ Jenner ก็จะถูกจับในฐานะฆาตกร

Jenner รู้สึกลังเลและคิดไม่ตกว่าจะเผยแพร่ความรู้ที่พบนี้ในทันที หรือจะถ่วงเวลาเพื่อทดลองต่อจนมั่นใจ ซึ่งถ้าคอย เขาจะต้องรับผิดชอบต่อความตายของคนจำนวนมากที่กำลังป่วยเป็นฝีดาษ แต่ถ้าตีพิมพ์เผยแพร่การค้นพบนี้ทันที เขาอาจสรุปบางประเด็นผิด เพราะไม่ได้นำไปทดลองกับผู้ป่วยจำนวนพอ

ในที่สุด Jenner ก็ตัดสินใจรอนำเสนอผลงาน เพื่อจะได้มีข้อมูลจากการทดลองเพิ่มเติม คราวนี้เขาใช้ข้อมูลจากคนไข้มากถึง 23 คน งานวิจัยเรื่อง An Inquiry into the Causes and Effects of Cowpox ที่ Jenner นำเสนอทำให้เกิดปฏิกิริยาทั้งบวก ลบ และศูนย์ ในวงการแพทย์ เช่น แพทย์บางคนอ่านบทความแล้วรู้สึกตลก ที่หมอบ้านนอกคนหนึ่งกำลังจะหลอกสังคม นักเขียนการ์ตูนบางคนวาดภาพวัวเดินออกมาจากคนที่ได้รับเชื้อฝีดาษวัว ชาวบ้านบางคนรู้สึกสงสัยและไม่เชื่อ แพทย์อีกหลายคนเมื่ออ่านแล้วรู้สึกโกรธ และอ้างว่า ถ้ามีการสนับสนุนให้มีการป้องกันฝีดาษในลักษณะนี้ ภัยป้องกันจะรุนแรงยิ่งกว่าภัยฝีดาษเอง และคนเหล่านี้รู้สึกลังเลที่จะเชื่อว่าวิธีของ Jenner สามารถป้องกันฝีดาษได้จริง

ความอยากรู้อยากเห็นเกี่ยวกับวัคซีนของ Jenner (Jenner เรียกการปลูกฝีว่า vaccination ซึ่งมีรากศัพท์จากคำละตินว่า vaccinia ที่แปลว่า ฝีดาษวัว) มิได้เกิดขึ้นกับคนที่เป็นแพทย์เท่านั้น ประชาชนทั่วไปก็สนใจด้วย Jenner เริ่มได้รับจดหมายจากคนทั่วประเทศอังกฤษทุกวัน จนต้องจ้างเลขานุการเพื่อตอบจดหมายถึง 3 คน โดยชาวบ้านได้เขียนจดหมายมาขอคำแนะนำ หรือขอวัคซีน คนที่เป็นแพทย์ก็ขอรู้ความก้าวหน้าของเทคนิคการปลูกฝี บางคนเขียนจดหมายมาขอบคุณ แต่ก็มีจดหมายบางฉบับที่ขู่จะฆ่า Jenner จดหมายเหล่านี้ทำให้ Jenner รู้สึกเสมือนตนกำลังเป็นเจ้าหน้าที่วัคซีนให้บริการแก่คนทั้งโลก

ในขณะที่ทุกอย่างกำลังดำเนินไปด้วยดี Jenner ก็ได้ทราบข่าวร้ายว่า วัคซีนที่ Woodville ซึ่งเป็นหัวหน้าโรงพยาบาลฝีดาษในลอนดอน ได้แจกจ่ายไปทั่วยุโรปนั้น ไม่สามารถป้องกันฝีดาษได้ ทั้งๆ ที่เป็นวัคซีนชนิดเดียวกับที่ Jenner ใช้ เมื่อมีเสียงประท้วงจากวงการแพทย์ในยุโรป ที่อ้างว่า เด็กที่ได้รับการฉีดวัคซีนมักส่งเสียงร้องเหมือนวัว Jenner จึงสอบสวนข้อกล่าวหา และได้พบว่าวัคซีนที่ Woodville นำไปแจกจ่ายนั้นไม่บริสุทธิ์ คือมีสารปนเปื้อน ปฏิกริยาต่อต้านวัคซีนจากสังคมจึงลดลง

เมื่อข่าวการพบวัคซีนฝีดาษของ Jenner ไปถึงอเมริกา ประธานาธิบดี John Adams และ Thomas Jefferson กับคนอเมริกาทั้งประเทศได้ให้การต้อนรับวัคซีนเป็นอย่างดี มีประชาชนมากมายหลั่งไหลมารับการฉีดวัคซีน จากนั้นอีกไม่นาน ฝรั่งเศส สเปน เยอรมนี และออสเตรีย ก็เริ่มรับเทคนิคการฉีดวัคซีนของ Jenner แม้แต่ Lord Elgin (ผู้ขโมยประติมากรรมหินอ่อนที่มหาวิหาร Acropolis เพื่อส่งไปลอนดอน) อ่านเพิ่มเติม ประติมากรรมหินอ่อน Elgin : มรดกล้ำค่าของกรีซที่อังกฤษยึดครอง (1) และ ประติมากรรมหินอ่อน Elgin : มรดกล้ำค่าของกรีซที่อังกฤษยึดครอง (จบ)ได้นำข่าววัคซีนไปเขียนรายงานในกรีซ ข่าววัคซีนก็ถูกนำเผยแพร่ต่อในตุรกี อาร์มีเนีย ตะวันออกไกล อเมริกาใต้ จีน อินเดีย และทั่วโลก

หลังจากที่เวลาผ่านไป 2 ปี สถิติความสำเร็จของวัคซีนก็ยิ่งเพิ่มมาก เช่นที่ Havana ในคิวบาไม่มีใครเสียชีวิตด้วยฝีดาษเลย ทั้งๆ ที่เคยมีผู้เสียชีวิตด้วยฝีดาษจำนวนมากที่สุดในโลก ที่อเมริกาใต้ และที่ Milan, Vienna, Copenhagen, Oslo และ Stockholm ก็ไม่มีใครเสียชีวิตด้วยฝีดาษอีก

เมื่อมีชื่อเสียง สมเด็จพระเจ้า George ที่ 3 สมเด็จพระราชินี Charlotte มกุฎราชกุมาร Prince of Wales และ Duke of York ทรงโปรดให้ Jenner เข้าเฝ้า และท่าน Duke ทรงโปรดให้ทหารทุกคนในกองทัพบกเข้ารับการปลูกฝี ในเวลาต่อมา สมเด็จพระเจ้า William ที่ 4 ก็ทรงโปรดให้ทหารเรือทุกคนเข้ารับการฉีดวัคซีน รัฐสภาอังกฤษก็ได้อนุมัติเงินรางวัล 10,000 ปอนด์แก่ Jenner ในปี 1801 และเพิ่มเป็น 20,000 ปอนด์ในปี 1807 รวมถึงได้มอบเหรียญเกียรติยศให้ Jenner มากมาย

สำหรับบทบาทของ Jenner ในฐานะนักธรรมชาติวิทยานั้นก็นับว่าสำคัญ เพราะในปี 1778 Jenner ได้ศึกษาธรรมชาติของนกคัดคู (cuckcoo) โดยได้แสดงให้ทุกคนเห็นว่า เวลาแม่นกคัดคูเข้าไปลอบวางไข่ในรังของนกอื่น เมื่อลูกนกคัดคูฟักออกจากไข่แล้ว มันจะใช้จะงอยปากดันไข่ฟองอื่นๆ ของนกเจ้าบ้านตกจากรัง เพื่อจะได้เป็นเจ้าของรังแต่เพียงผู้เดียว ซึ่งตามความเข้าใจเดิมนั้น พ่อและแม่นกเจ้าของรังเป็นคนกำจัดไข่ฟองที่ยังไม่ได้ฟักเป็นตัว องค์ความรู้นี้ ทำให้ Jenner ได้รับเลือกเป็น Fellow of the Royal Society (F.R.S.) ในปี 1779

แม้จะไม่ได้เป็นบุคคลแรกที่เริ่มการปลูกฝีด้วยเชื้อฝีดาษวัว แต่ Jenner ก็เป็นแพทย์คนแรกที่ตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานด้านนี้ และจัดวางกระบวนการปลูกฝีโดยใช้เหตุผลหลักการวิทยาศาสตร์และผลงานของ Jenner ได้จูงใจให้ Pasteur วิจัยวิทยาการด้านภูมิคุ้มกันวิทยาอย่างเป็นรูปธรรม

หลังจากที่ภรรยาเสียชีวิตในปี 1816 Jenner ได้กลับไปทำงานเป็นแพทย์รักษาคนไข้และศึกษาธรรมชาติที่บ้านเกิด คือ ที่ Berkeley อีกจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต เมื่อวันที่ 26 มกราคม ค.ศ.1823 สิริอายุ 73 ปี

แม้จะเสียชีวิตไปแล้ว แต่ผลงาน Jenner ก็ยังปรากฎตามมาอีกสองชิ้น คือ เรื่องการอพยพย้ายถิ่นของนก กับเรื่องนกกางเขน มิใช่นก lark ที่การปรากฏตัวของมันคือสัญญาณบอกว่า วันใหม่ได้มาถึงแล้ว

อ่านเพิ่มเติมจาก Scourge: The Once and Future Smallpox Epidemic of 1775-82 โดย Jonathan B. Tucker ซึ่งจัดพิมพ์โดย Atlantic Monthly Press ในปี 2001

เกี่ยวกับผู้เขียน

สุทัศน์ ยกส้าน
ประวัติการทำงาน-ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์
ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย

อ่านบทความ สุทัศน์ ยกส้าน ได้ทุกวันศุกร์







กำลังโหลดความคิดเห็น