xs
xsm
sm
md
lg

ธุรกิจกวดวิชาพากันรวย! ยุคแข่งเดือด-รายใหม่เกิดได้จริงหรือ? (ตอนที่ 3)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพ : อินเทอร์เน็ต
ธุรกิจแฟรนไชส์กับการศึกษา โอกาสการเติบโตยังไปได้ กวดวิชาดังปรับกลยุทธ์หนัก รุกคืบธุรกิจสู่ภูธร ผู้ประกอบการรายเล็กต่างจังหวัดต้องเร่งปรับตัว จากจุดแข็งทั้งด้านชื่อเสียงและเทคโนโลยีการสอนที่ทันสมัยกว่า ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยแนะ รายใหม่ต้องมุ่งหัวเมืองรอง ศึกษากระบวนการทำธุรกิจให้ละเอียดก่อนเซ็นสัญญา

ธุรกิจกวดวิชาพากันรวย ทีม Special Scoop จะนำเสนอเป็นตอนที่ 3 เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงการแข่งขันของธุรกิจโรงเรียนกวดวิชาที่ต้องค้นหากลยุทธ์ในการช่วงชิงลูกค้าซึ่งก็คือเด็กนักเรียนให้มาเรียนที่สถาบันของตัวเองให้มากที่สุด เพราะไม่เช่นนั้นเขาจะเป็นปรมาจารย์ที่ตกยุคและถูกเด็กปฏิเสธในทันที

กวดวิชาดังเร่งปรับกลยุทธ์หนีคู่แข่ง

อย่างที่ทราบกันดี ธุรกิจโรงเรียนกวดวิชานั้น มีพัฒนาการมาจากครู หรืออาจารย์ที่มีเทคนิคการสอนยอดเยี่ยม และประสบความสำเร็จได้จากเด็กที่มาเรียนด้วย เพราะประเทศไทยมีค่านิยมของการศึกษาว่าจะต้องส่งให้บุตรหลานเรียนในระดับมัธยมปลาย เพื่อไปต่อในมหาวิทยาลัยของรัฐบาลให้ได้ จบออกมาแล้วจะได้ทำงานดีๆ เป็นเจ้าคนนายคน พ่อแม่ก็จะสบาย

ดังนั้นอาจารย์คนใดที่เปิดสอนพิเศษให้เด็กเพื่อเตรียมสอบเข้ามหาวิทยาลัยรัฐ และมีเด็กที่มาเรียนสามารถเข้ามหาวิทยาลัยรัฐบาลได้เป็นจำนวนมาก อาจารย์คนนั้นๆ ก็จะมีชื่อเสียงแบบบอกกันปากต่อปาก และหลายคนมีการเปิดทำธุรกิจโรงเรียนกวดวิชาอย่างเป็นจริงเป็นจัง ตั้งแต่สมัยที่มีการสอบเอนทรานซ์ จนปัจจุบันที่มีการใช้ GAT/PAT และเปลี่ยนระบบเป็นแบบสอบตรงเข้ามหาวิทยาลัย ค่านิยมแบบนี้ก็ยังมีอยู่

ทำให้อาจารย์สอนกวดวิชาหลายคนเป็นที่รู้จักไปทั่วประเทศ ตัวอย่างเช่น อาจารย์อุ๊ เคมี, อาจารย์บุ๋ม High-speed MATH CENTER, นพ.ประกิตเผ่า ทมทิตชงค์ Applied Physics, อาจารย์ปิง ดาว้องส์, อาจารย์ลิลลี่ ภาษาไทย ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม การแข่งขันที่มีอยู่สูงในธุรกิจนี้ ทำให้ธุรกิจโรงเรียนกวดวิชาจะอาศัยแค่บุญเก่ากินไปวันๆ ไม่ได้ แม้แต่โรงเรียนชื่อดังติดลมบนเหล่านี้ ก็ต้องมีการปรับตัวในการทำธุรกิจโรงเรียนกวดวิชาเพื่อรักษาความเป็นเลิศหรือ ครองตลาดธุรกิจกวดวิชาต่อไปให้ได้

วันนี้กวดวิชาจึงเป็นธุรกิจที่กลายร่างไปในหลายรูปแบบ ตั้งแต่จากที่อาจารย์กวดวิชาจะสอนด้วยตัวเองตามบ้าน มาเปิดเป็นโรงเรียนกวดวิชาเป็นกิจจะลักษณะ กลายมาเป็นสอนด้วยเทป และปัจจุบันนี้ได้พัฒนากระทั่งมีการ จับมือระหว่างอาจารย์กวดวิชาที่มีชื่อเสียงมาสอนในสถานที่เดียวกันบ้าง อาคารเดียวกันบ้าง มีการพัฒนาการสอนในโลกออนไลน์แบบใหม่ที่เรียกว่า on-demand ที่สำคัญโรงเรียนกวดวิชาหลายแห่งยังขยายไลน์ธุรกิจเปิดเป็นแฟรนไชส์ขาย และราคาไม่ใช่ว่าถูกๆ

อาจารย์กวดวิชาที่ได้รับการจับตามองมากที่สุดคือ อาจารย์อุ๊ เคมี หรืออาจารย์อุไรวรรณ ศิวะกุล โรงเรียนกวดวิชาวรรณสรณ์ Pure chem Center ซึ่งร่วมกับนายอนุสรณ์ ศิวะกุล สามีก่อสร้างอาคารวรรณสรณ์ พญาไท เพื่อเปิดเป็นอาคารที่ให้โรงเรียนกวดวิชาอื่นๆ เช่าพื้นที่ในอาคารนี้เปิดการเรียนการสอนไว้ในที่เดียวกันได้ด้วย

อาจารย์อุ๊ ถือว่าเป็นอาจารย์สอนกวดวิชาที่มีชื่อเสียงมากว่าเป็นโรงเรียนกวดวิชาเคมีที่เด็กนิยมมาเรียนมากที่สุด หลายคนจับตามองว่า อ.อุ๊ จะขายแฟรนไชส์โรงเรียนกวดวิชาด้วยหรือไม่

“อาจารย์อุ๊ ไม่ได้เปิดแฟรนไชส์ แต่ไปเปิดเองตามหัวเมืองใหญ่ๆ แต่กลยุทธ์ที่อาจารย์อุ๊ใช้แล้วประสบความสำเร็จมาก จนกระทั่งถือว่าเป็นกลยุทธ์ของธุรกิจโรงเรียนกวดวิชาที่คิดว่าประสบความสำเร็จ คือการใช้กลยุทธ์คลัสเตอร์ หรือ one-stop service”

สำหรับโรงเรียนกวดวิชาของอาจารย์อุ๊ นอกจากทำในรูปแบบคลัสเตอร์แล้ว ยังมีการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาช่วยสอน ทำให้ได้รับความนิยมจากผู้เรียนอย่างมาก

ส่งผลให้โรงเรียนกวดวิชาของ อ.อุ๊ จึงเป็นธุรกิจที่ค่อนข้างมีอิทธิพลต่อตลาดกวดวิชาในภาพรวม

การทำธุรกิจแบบคลัสเตอร์นั้น ยังมีการทำอีกหลายแห่งที่มีชื่อเสียงและได้รับความนิยม ได้แก่ อาคารวิสุทธานี , อาคารสยามกิตตี, ซีคอนสแควร์, จามจุรีสแควร์ ฯลฯ
ภาพ : อินเทอร์เน็ต
ขณะที่โรงเรียนกวดวิชาของ อ.บุ๋ม High-speed MATH CENTER ถือว่ามีการทำโรงเรียนกวดวิชาที่ค่อนข้างขยายไลน์ธุรกิจไปมากที่สุด เพราะมีเปิดสอนแบบธรรมดา สอนแบบ on-demand และมีการเปิดขายแฟรนไชส์ทั่วประเทศ โดยประกาศว่ามีจุดแข็งคือการรับประกันรายได้ โดยจะขายแฟรนไชส์ให้เฉพาะคนที่ซื้อหลักสูตรใน 1 จังหวัด จะขายให้เพียงคนเดียวเท่านั้น

โดย อ.บุ๋ม High-speed MATH CENTER ได้วางรูปแบบการขายแฟรนไชส์แบบจ่ายเหมาปีต่อปีแยกเป็นรายหลักสูตรละเอียดยิบ ทั้งคณิต ม.ต้น และสอบแข่งขันเข้า ม.4 ราคา 499,000 บาทต่อปี, คณิต ม.ปลาย 559,000 บาทต่อปี, ฟิสิกส์ ม.ต้น 229,000 บาทต่อปี เป็นต้น

ขณะที่กวดวิชา “อ.เจี๋ย” อาจารย์ชัยรัตน์ เจษฎารัตติกร หรือ JIA เป็นอีกสถาบันกวดวิชาที่มีชื่อทางด้านคณิตศาสตร์ ซึ่งปัจจุบัน การดำเนินธุรกิจของสถาบันกวดวิชา JIA นี้ใช้กลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจด้วยการเชิญอาจารย์กวดวิชาชื่อดังเข้ามาช่วยสอน เช่น อาจารย์ลิลลี่ ติวเตอร์วิชาภาษาไทยชื่อดัง อาจารย์ชัย ติวเตอร์วิชาสังคม ดร.ป้อม ติวเตอร์ Physics และ อ.ป๊อป ติวเตอร์ Chemistry ฯลฯ

กวดวิชา อ.เจี๋ยนี้ เป็นสถาบันกวดวิชาดังอีกแห่งหนึ่งที่มีการเปิดขายแฟรนไชส์ ซึ่งมีการเปิดให้ผู้สนใจเข้าไปดาวน์โหลดรายละเอียดได้ แต่ต้องโทรศัพท์เข้าไปขอ Password จากสถาบัน โดยลักษณะแล้วจะเป็นการขายแฟรนไชส์ในลักษณะร่วมทุนมากกว่าขายขาด และกวดวิชา JIA ยังเน้นหลักสูตรที่เรียกว่า J Bloc ซึ่งเป็นการเรียนการสอนวิชาคณิตศาสตร์ผ่านระบบคอมพิวเตอร์ เป็นการเรียนการสอนแบบ E-learning โดยผู้เรียนสามารถเรียนได้จากที่บ้าน มีการเปิดฟังซ้ำที่ไม่เข้าใจได้หลายรอบ โดยมีการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับประถมศึกษากันเลยทีเดียว

นอกจากนี้ ทีม Special Scoop ยังสำรวจโรงเรียนกวดวิชาที่มีชื่อเสียงเก่าแก่อีกแห่งหนึ่งอย่างสถาบัน MAC (Modern Acadamic Center) ที่ปัจจุบันยังเน้นการเรียนการสอนตามช่วงชั้น และเน้นการสอบเข้า ม.1 และ ม.4 โรงเรียนดัง และมีการประกาศขายแฟรนไชส์เช่นเดียวกัน แต่เป็นลักษณะจ่ายค่าสัญญาแรก 3 ปี ราคา 50,000 บาท ค่าใช้ลิขสิทธิ์เครื่องหมายการค้า 150,000 บาท (3 ปี) และค่าธรรมเนียมคิดจากรายได้รวมทั้งหมดของแต่ละคอร์ส 7.5% โดยราคาทั้งหมดยังไม่รวม VAT

อย่างไรก็ดี สำหรับ MAC ในระยะหลัง มีการขยายไลน์ธุรกิจไปที่การขายสื่อการเรียนการสอนแบบ Multimedia ให้โรงเรียนต่างๆ เพื่อกระจายความเสี่ยงให้ธุรกิจด้วย

ขณะที่สถาบันการศึกษาอีกแห่งคือ Se-ed Learning Center ของ บริษัท ซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด (มหาชน) ที่ขยายไลน์ธุรกิจมาจับธุรกิจสถาบันการศึกษาด้วย ซึ่ง Se-ed จะไม่ได้เน้นเป็นสถาบันกวดวิชาในวิชาหลักตามช่วงชั้น แต่จะเป็นลักษณะการเสริมทักษะให้เด็กเล็กกลุ่มอายุ 3-7 ขวบเป็นหลัก เช่นหลักสูตร Fun Math และ Active Englishขายแฟรนไชส์ด้วยเงินลงทุนเริ่มต้นประมาณ 350,000 บาท มีระยะเวลาคืนทุน 1-3 ปี เป็นต้น

ขณะที่ The Brain สถาบันกวดวิชาเก่าแก่ที่เปิดดำเนินการตั้งแต่ปี 2530 โดยอาจารย์พี่ช้าง-มนตรี นิรมิตศิริพงศ์ ก็เป็นอีกหนึ่งสถาบันที่ได้รับความนิยมจากเด็กนักเรียนที่มาเรียนอย่างมาก ซึ่งสถาบันกวดวิชาแห่งนี้ยังเน้นการกวดวิชาเพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัยดังด้วยคะแนนสูง
ภาพ : อินเทอร์เน็ต
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยชี้กวดวิชายังไปได้

ขณะที่ นางสาวกัญญารัตน์ ชิระวานิชผล เจ้าหน้าที่วิจัยอาวุโส ฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจจุลภาค 2 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า โอกาสธุรกิจกวดวิชาน่าจะเติบโตไปได้อีก เมื่อประเมินจากค่าเล่าเรียนที่เพิ่มขึ้น และจำนวนนักเรียน
ม.ปลายที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และยังมองว่าค่านิยมเรียนระดับมัธยมปลายของนักเรียนและผู้ปกครองยังมีมากกว่าไปเรียนสายอาชีวะ ดังนั้นค่าใช้จ่ายรายหัวนักเรียนในการเรียนกวดวิชาในโรงเรียนกวดวิชาที่มีชื่อเสียงคิดเป็นต่อคนต่อปี จากคนละ 16,800 บาทต่อคนต่อปี ที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยสำรวจไว้ก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยในปี 2556-2558 นี้มีอัตราเพิ่มขึ้น 5.4%

อย่างไรก็ดี ทางศูนย์วิจัยกสิกรไทยไม่ได้ทำการสำรวจไว้ว่ากวดวิชาสายวิทย์กับสายศิลป์ใครมีมากกว่ากัน แต่ก็พออนุมานได้โดยดูลักษณะการแข่งขันของผู้ประกอบการในวิชาฟิสิกส์ เคมี จะมีผู้ประกอบการมากกว่า แต่มีข้อเสียคือมีสถาบันกวดวิชาชื่อดังไม่กี่รายที่ติดตลาดมากกว่า เรียกว่าเป็นผู้ dominate ตลาด หรือมีอิทธิพลสูง เช่น ฟิสิกส์ของ Applied physics ของ นพ.ประกิตเผ่า และเคมี อ.อุ๊ แต่ในสายศิลป์นั้น จะมีลักษณะกระจายตัวของผู้ประกอบการหลายเจ้ามากกว่า

ดังนั้น มองธุรกิจแฟรนไชส์กวดวิชาว่า 3 ปีที่ผ่านมาเริ่มอิ่มตัวแล้ว แต่ยังมีโอกาสสำหรับรายใหม่ที่จะเข้าสู่ตลาดนี้ โดยรายใหม่ต้องเปิดในจังหวัดรอง เน้นดึงดูดคนในท้องถิ่น

“โอกาสการเติบโตของธุรกิจกวดวิชาในตลาดหัวเมืองใหญ่ค่อนข้างกระจุกตัว และอิ่มตัวแล้ว รวมถึงหัวเมืองใหญ่ในต่างจังหวัดด้วย แต่ในจังหวัดรองๆ ยังมีโอกาสเติบโตสูง จากจุดเด่นที่ทำให้เด็กไม่ต้องเดินทางไกล”

นอกจากนี้ยังมองว่า ธุรกิจกวดวิชามีโอกาสเติบโตได้สำหรับผู้ที่จะเข้าสู่ตลาดนี้ แต่ต้องเป็นการสอนในแบบการเรียนการสอนทักษะ โดยเฉพาะภาษาต่างชาติ และธุรกิจฝึกสมอง ดนตรี ฯลฯ

“คนที่จะมาทำธุรกิจต้องคิดให้ดี เพราะโรงเรียนดัง จะมีข้อได้เปรียบหลายอย่างที่จะแข่งขันได้ยาก เช่น ฐานนักเรียนของเขามีมากกว่า การคิดค่าเรียนจากหลักประหยัดต้นทุนได้ เช่น การอัดวิดีโอ หรือเฉลี่ยนักเรียนได้มากกว่าทำให้หลักสูตรของเขาสามารถคิดค่าเรียนได้ถูกกว่าได้”
ภาพ : อินเทอร์เน็ต
รายเล็กต้องปรับตัวหนัก-หนีรายใหญ่รุกคืบลงภูธร

นางสาวกัญญารัตน์ ได้ประเมินสถานการณ์โรงเรียนกวดวิชาจากการทำวิจัยครั้งนี้ เชื่อว่ารายใหม่ที่จะเข้าสู่ตลาดกวดวิชาต้องใช้กลยุทธ์ การแข่งขันจะต้องจัดทำเป็นชุมชน (community) ของนักเรียน ให้นักเรียนมาเรียนเป็นกลุ่ม แล้วค่อยๆ ขยายไป โดยไม่ได้ทำเฉพาะการเรียนแต่ต้องจัดกิจกรรมให้นักเรียนไปพร้อมกันด้วย ทำให้นักเรียนอยากมาเรียนมากขึ้น

“ผู้ประกอบการรายเล็กต้องปรับตัว ต้องเตรียมรับมือกับโรงเรียนกวดวิชาชื่อดังที่กำลังจะเริ่มรุกไปในหัวเมืองรองมากขึ้น เพื่อความอยู่รอด”

รายใหม่ต้องหากลยุทธ์ดึงดูดนักเรียนได้มากจริงๆ

“ถ้าจะลงทุนเองต้องมีองค์ความรู้ในการสอน การลงทุนด้านอาคารสถานที่ และวางระบบต่างๆ ก็เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องลงทุน แต่ถ้าจะเลือกลงทุนแฟรนไชส์จริงๆ ก็ต้องหาทำเลที่เหมาะสมให้ดี”

ไม่อย่างนั้นจะมีความเสี่ยงมาก

“รายใหม่ที่จะเข้าตลาด ต้องเข้าใจในเนื้อหา ต้องการความรู้ในการบริหารจัดการ อย่างน้อยต้องรู้ว่ากลุ่มเด็กต้องการอะไร ต้องมีความรู้ความเข้าใจทั้งกระบวนการ ไม่อย่างนั้นจะยาก”

แต่แม้การซื้อแฟรนไชส์จะมีข้อดีอยู่ตรงที่มีชื่อเสียงของอาจารย์กวดวิชาดังมาสร้างชื่อเสียงให้โรงเรียน แต่ว่ามีความเสี่ยงในเรื่องของสัญญาข้อตกลงที่จะต้องดูให้ละเอียดด้วยทั้ง 2 ฝ่าย

นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงอยู่ที่ทางเลือกของนักเรียนที่มีมากขึ้น จากการที่มหาวิทยาลัยต่างๆ ได้ออกหลักสูตรมาเพิ่มมากมาย รวมถึงการยกระดับมหาวิทยาลัยเอกชนขึ้นมาอย่างมาก โดยเฉพาะการเปิดหลักสูตรที่หลากหลาย

ทั้งหมดย่อมเป็นความเสี่ยงในอัตราที่เพิ่มขึ้นอยู่ตลอดเวลาของธุรกิจกวดวิชา โดยเฉพาะรายใหม่ที่จะเข้าสู่ตลาดนี้!

ส่วนตอนที่ 4 นักธุรกิจกวดวิชา การันตี ธุรกิจนี้มีแต่รวย! ส่วนผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาจะบอกถึงอนาคตระบบการศึกษาไทยจะเดินไปทางไหน....ติดตามอ่านได้ เป็นตอนจบของธุรกิจกวดวิชาพากันรวย!

กำลังโหลดความคิดเห็น