xs
xsm
sm
md
lg

สภาการศึกษาชี้ หนูๆ เรียนดี เพราะมีแท็บเล็ต!?!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


แท็บเล็ต ป.1 ทำให้ผลการเรียนหนูๆ ดีขึ้นถึง 67.9 เปอร์เซ็นต์!! ไม่ว่าจะเชื่อหรือไม่ แต่นี่คือผลการสำรวจครั้งล่าสุดที่ทางสภาการศึกษา (สกศ.) ยืนยันเอาไว้... ถ้าเชื่อตามตัวเลขสถิติครั้งนี้ก็อาจทำให้หลายๆ ฝ่ายสามารถยิ้มรับได้อย่างภาคภูมิใจ
แต่ถ้ากลับไปมองผลการจัดอันดับคุณภาพการศึกษาในกลุ่มประเทศอาเซียนประจำปีนี้ จะพบว่าประเทศไทยได้อันดับ 8 อันดับสุดท้าย หรือเรียกง่ายๆ ว่า “ที่โหล่” นั่นเอง จึงเกิดเป็นข้อสงสัยให้ได้นั่งวิเคราะห์ต่อไปว่า สรุปแล้ว ระบบการศึกษาของเรากำลังดีขึ้นจริง หรือแค่ใช้ตัวเลขมาหลอกตัวเองไปวันๆ





ขยัน-ตั้งใจ เพราะมีแท็บเล็ต?
“เด็กตั้งใจเรียนและขยันทำการบ้านมากขึ้นถึง 67.9 เปอร์เซ็นต์ หลังจากมีแท็บเล็ตใช้” ดร.ศศิธารา พิชัยชาญณรงค์ เลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) เผยผลสำรวจความคิดเห็นเพื่อติดตามนโยบายแจกแท็บเล็ตให้นักเรียนชั้น ป.1 ระหว่างเดือน ก.ค.-ส.ค. ที่ผ่านมา หากแยกนักเรียนออกเป็นภูมิภาค จะเห็นว่าเด็ก ป.1 จากภาคกลางมีผลการเรียนดีขึ้น ร้อยละ 76.8, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 65.2, ภาคเหนือ ร้อยละ 66.4, กรุงเทพฯ ร้อยละ 63.8 และ ภาคใต้ ร้อยละ 61

“การนำแท็บเล็ตมาใช้ในการเรียนการสอน ทำให้นักเรียนมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป คือมีความกระตือรือร้นและขยันเรียนมากขึ้น ขยันทำการบ้านและมีการช่วยเหลือให้คำแนะนำกับเพื่อนๆ ในการใช้แท็บเล็ตด้วย” สอดคล้องกับความคิดเห็นจากกลุ่มผู้ปกครองที่ระบุว่าเด็กๆ ใช้แท็บเล็ตแล้วขยันทำการบ้านมากขึ้นจริง แต่อาจมีปัญหาในการดูแลรักษาเครื่อง เรื่องค่าใช้จ่ายในการซ่อม ไม่มีเจ้าหน้าที่ด้านเทคโนโลยีประจำโรงเรียนมาดูแล รวมถึงปัญหาในการส่งเครื่องไปซ่อมแซมจากศูนย์ที่ราชการจัดไว้ให้

ส่วนสาเหตุที่ชักจูงใจให้เด็กๆ สนุกกับการใช้แท็บเล็ต ผลการสำรวจระบุไว้ว่า เป็นเพราะ “ใช้งานง่าย” ถึงร้อยละ 89.7 โดยกลุ่มที่บอกว่าใช้งานง่ายมากที่สุดคือ นักเรียนจากภาคกลาง คิดเป็นร้อยละ 93.1 และหากแบ่งตามสังกัดจะพบว่า นักเรียนในโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) รู้สึกแท็บเล็ตใช้งานง่ายถึงร้อยละ 100 ผิดกับนักเรียนจากโรงเรียนสังกัด อบจ. ที่รู้สึกว่าใช้งานง่ายน้อยที่สุด ร้อยละ 69

ผลการสำรวจดังกล่าว เกิดจากการแจกแบบสอบถามไปยังกลุ่มตัวอย่าง 5 กลุ่ม คือ 1.นักเรียนชั้น ป.1-ป.6 จำนวน 34,257 คน (ในจำนวนนี้เป็นนักเรียนที่เคยใช้แท็บเล็ตจำนวน 7,916 คน), 2.ครูระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน 7,916 คน, 3.ผู้บริการสถานศึกษา 1,424 คน, 4.ผู้บริหารเขตพื้นที่การศึกษา 367 คน และ 5.ผู้ปกครองนักเรียน จำนวน 25,762 คน




อันดับโหล่ “อาเซียน”
หน้าชื่นตาบานอยู่กับตัวเลขของผลการสำรวจข้างต้นได้ไม่นาน รอยยิ้มที่มีก็ต้องหดหายไป เมื่อหันกลับไปมองเห็นผลการสำรวจระดับสากลเมื่อไม่นานมานี้จากการประชุมของ World Economic Forum (WEF) - The Global Information Technology Report 2013 ซึ่งจัดอันดับคุณภาพการศึกษาในกลุ่มประเทศอาเซียนเอาไว้ และได้มอบอันดับ “ที่โหล่” หรืออันดับสุดท้ายให้ประเทศไทย หมายความว่าเป็นประเทศที่มีระดับการศึกษาต่ำที่มีมาตรฐานต่ำที่สุดแล้วในอาเซียนทั้งหมด 8 ประเทศ!!

อันดับ 1 ประเทศสิงคโปร์, อันดับ 2 ประเทศมาเลเซีย, อันดับ 3 ประเทศบรูไน ดารุสซาลาม, อันดับ 4 ประเทศฟิลิปปินส์, อันดับ 5 ประเทศอินโดนีเซีย, อันดับ 6 ประเทศกัมพูชา, อันดับ 7 ประเทศเวียดนาม และ อันดับสุดท้าย ประเทศไทย

“ข้อมูลนี้ถือว่าน่าตกใจ เพราะอันดับของเราถือว่าต่ำมาก แต่เมื่อเทียบในอันดับโลกเราก็ถือว่าอยู่ในระดับกลางๆ ไม่ต่ำขนาดนี้ ดังนั้น จึงต้องไปวิเคราะห์ข้อมูลให้ชัดเจนก่อนว่าเป็นเพราะอะไร แต่อย่างไรก็ตาม การศึกษาไทยก็จะต้องมีการปรับใหญ่ทั้งระบบ โดยขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการปรับหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน แต่การปรับหลักสูตรเป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่งเท่านั้น ที่สำคัญต้องไปดูการจัดการศึกษาในภาพรวมว่าได้มาตรฐานโลกหรือไม่

ถ้าดูจากผลการวิเคราะห์คะแนน PISA (การสอบประเมินผลนักเรียนนานาชาติ หรือ Program for International Student Assessment) ที่ผ่านมาเห็นได้ชัดเจนว่า เด็กไทยคิดไม่เป็น ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ ประเด็นสำคัญที่เราจะต้องไปเร่งแก้ไขอย่างเร่งด่วนคือ การปฏิรูปวิธีการเรียนการสอนและปฏิรูปครู ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของระบบการศึกษา” ดร.ภาวิช ทองโรจน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) แสดงความคิดเห็นเอาไว้




เลิกเน้น “ปริมาณ” ใส่ใจ “คุณภาพ” เถอะ!
น่าแปลก... ผลการสำรวจระดับสากลระบุว่าประเทศไทยมีระดับคุณภาพการศึกษาน่าเป็นห่วงที่สุด แต่ผลการสำรวจในประเทศที่ทางสภาการศึกษา (สกศ.) สำรวจเอง กลับทำหน้าที่ชูหาง เพียงชี้ให้ประชาชนชาวไทยเห็นพัฒนาการการศึกษาของนักเรียนระดับ ป.1 เกี่ยวกับเรื่องนี้ อ.สมพงษ์ จิตระดับ คณบดีคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะผู้ติดตามความคืบหน้าและวิเคราะห์สถานการณ์การศึกษาไทยมาโดยตลอด จึงขอแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับ “งานวิจัยเชิงปริมาณ” ในครั้งนี้ฝากเอาไว้เสียหน่อย

“ถ้าเป็นไปได้ อยากให้ช่วยศึกษาวิจัยผลการใช้แท็บเล็ตที่มีต่อเด็กแบบละเอียดและเจาะลึกในเชิงคุณภาพมากกว่านี้ จะได้รู้ให้ลึกถึงผลกระทบที่เกิดกับเด็กจริงๆ เช่น ต้องตอบให้ได้ว่าแท็บเล็ตที่แจกให้เด็กๆ ไป มันเข้าไปมีบทบาทช่วยเหลือครูได้มากขึ้นจริงมั้ย? หรือช่วยให้เด็กเรียนดีขึ้น มีพัฒนาการมากขึ้นในทักษะด้านไหน? เพราะที่ทำวิจัยครั้งนี้เป็นงานวิจัยในเชิงปริมาณ ได้สถิติออกมาแบบพื้นผิวมากๆ ถ้าจะใช้แท็บเล็ตกันต่อไป ก็แนะนำให้ทำวิจัยเชิงคุณภาพเพื่อจะนำไปสู่การตั้งคำถามที่เป็นประโยชน์ต่อการเชื่อมโยง

ถ้ามีการรีเช็กผลการสำรวจกันอีกสักทีจะดีมาก และอยากให้นำผลที่ค้นพบเรื่องความแตกต่างระหว่างภาคกลางกับภูมิภาค มาแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ หรือการฝึกอบรมการใช้แท็บเล็ตให้แก่คุณครูให้มากขึ้น และผลที่เกิดขึ้นกับเด็กๆ ที่ใช้แท็บเล็ตก็มีคนท้วงติงมาเยอะ อาจจะต้องลงไปศึกษาตรงนี้อย่างจริงจัง ทำโฟกัสกรุ๊ป ฝังตัวอยู่ในห้องเรียน จนได้คำตอบว่าการใช้แท็บเล็ตมันดีต่อเด็กๆ ของเราจริงๆ ยุคนี้ก็ศตวรรษที่ 21 แล้ว จะทำงานวิจัยก็อย่าทำแค่ผิวๆ สำรวจแค่เชิงปริมาณ เพราะมันอาจจะได้ผลสะท้อนไม่ตรงกับความเป็นจริงก็ได้ครับ

ส่วนผลการสำรวจที่ระบุว่าเด็กนักเรียนในภาคกลางมีแนวโน้มเรียนดีขึ้นจากการใช้แท็บเล็ตสูงกว่าภูมิภาคอื่นๆ นั้น อ.สมพงษ์ ก็เห็นว่าเป็นผลสะท้อนที่น่าสนใจ ทำให้เห็นความแตกต่างระหว่างภาคกลางกับภูมิภาค สะท้อนให้เห็นถึงข้อท้วงติงที่เคยเกิดขึ้นในระยะแรกๆ ที่แจกแท็บเล็ตว่า ควรแจกให้กับเด็กที่มีความพร้อมน่าจะดีกว่า




“สังคมก้มหน้า” เด็กไทยวันนี้
แจกแท็บเล็ตให้เด็กใช้มันจะดีจริงหรือ? ยังเป็นคำถามที่ค้างคาใจผู้ปกครองทั้งประเทศ เกรงว่าจะเกิดผลเสียจากการผลักให้ลูกไปผูกติดกับเทคโนโลยีเสียมากกว่า เพื่อให้ได้ความกระจ่างในประเด็นนี้มากขึ้น จึงขอให้ ดร.วัลลภ ปิยมโนธรรม นักจิตบำบัด-จิตวิทยาเด็ก และที่ปรึกษาโครงการศูนย์พัฒนาความสุขมนุษย์ ช่วยวิเคราะห์และได้คำตอบว่า จอสี่เหลี่ยมที่อยู่ในมือของเด็กๆ ณ ขณะนี้ มีทั้งข้อดีและข้อเสียในตัวมันเอง

“อวัจนภาษาสำคัญมากสำหรับการเรียนรู้ของมนุษย์นะ ไม่ใช่แค่ภาษาพูด ภาษาเขียน เพราะฉะนั้น การมีภาพเคลื่อนไหว ภาพจริง ภาพเทียม มีเสียงเพลงให้ฟัง ทุกอย่างที่อยู่ในแอปพลิเคชั่น แล้วเอามาให้เด็กๆ เรียนรู้ผ่านแท็บเล็ต ถือเป็นการช่วยให้เปิดการเรียนรู้ได้ไวกว่าการเรียนรู้แบบเดิมๆ

แต่ข้อเสียก็มีอยู่ไม่น้อยเหมือนกัน ข้อแรกเลยคือ อาจจะทำให้ “ขาดสติ” เวลาเล่นแท็บเล็ตอาจจะทำให้เด็กรู้สึกว่าทุกอย่างคือของจริงหมด หมกมุ่นมากจนไม่สนใจสิ่งรอบข้าง ปลูกฝังเรื่อง “สังคมก้มหน้า” เล่นอย่างไม่เงยหน้าเงยตา ไม่ทำอย่างอื่น ประการที่สองคือ “เสียมนุษยสัมพันธ์” เปิดดูทั้งวัน ไม่ต้องคุยกับคนรอบข้างแล้ว แม้แต่ตอนกินข้าวกับพ่อแม่เด็กก็นั่งเล่น ประการที่สามคือ “อ่อนความคิดสร้างสรรค์” เด็กขาดความครีเอต เพราะโปรแกรมเมอร์เขาคิดระบบออกแบบทุกอย่างมาให้หมดแล้ว มีภาพมีเสียงครบแบบไม่ต้องจินตนาการเอง เลยทำให้เด็กไม่มีครีเอทีฟเพราะวันๆ รับสารอย่างเดียว

การจะคิดอะไรใหม่ๆ ออกมาได้เราต้องอาศัยความเงียบหรืออยู่นิ่งๆ กับตัวเองสักพักนึง ต้องอยู่ในภวังค์ ภาวะที่อยู่อย่างสงบ พอเด็กถูกเร้าอยู่ตลอดเวลาด้วยเทคโนโลยีก็จะทำให้ขาดความคิดสร้างสรรค์ ไม่มีเวลาตั้งสติ สงบนิ่งอยู่กับตัวเอง อย่างเด็กที่ผมสอนอยู่ทุกวันนี้ รู้หมดทุกอย่าง แต่แทบไม่มีความคิดสร้างสรรค์อะไรใหม่ๆ ออกมาเลย เพราะอยากรู้อะไรเขาก็จะเสิร์ชข้อมูล แต่ก็ต้องทำใจครับเพราะยุคนี้คือยุคเทคโนโลยี ยุคที่เด็กมีแท็บเล็ต เราคงไม่สามารถไปหยุดมันได้แล้ว”




เงยหน้าจากจอ เรียนรู้คุณธรรม
ในเมื่อดึงเทคโนโลยีออกจากมืออนาคตของชาติไม่ได้แล้ว นักจิตวิทยาเด็กอย่าง ดร.วัลลภ จึงแนะนำให้ผู้ใหญ่ทั้งหลายช่วยกันหันมาจัดสรรชีวิตพวกเขาให้สมดุลแทน คือสามารถปล่อยให้เด็กเล่นแท็บเล็ตได้ แต่ต้องทำไปพร้อมๆ กับกิจกรรมเสริมพัฒนาการอย่างอื่นด้วย

ในชีวิตเรา มันประกอบไปด้วยพลัง 3 ตัว คือ 1.พลังความนึกคิด 2.พลังอารมณ์-ความรู้สึก 3.พลังพฤติกรรม-การกระทำ ในส่วนของการเล่นแท็บเล็ต-คอมพิวเตอร์คือการใช้พลังความคิด นั่งอยู่เฉยๆ แล้วใช้การพิมพ์ตอบ-หาข้อมูลไปเรื่อยๆ มันเลยทำให้พลังในส่วนที่เหลืออีก 2 ส่วนด้อยลงไป เพราะฉะนั้น ต้องระวังและคอยแก้ปัญหาตรงนี้ โดยเฉพาะครูต้องคอยตามดูเด็กให้ดี และมีหลักสูตร มีชั่วโมงให้เด็กออกกำลังกาย ให้ได้เคลื่อนไหวร่างกาย ที่สำคัญมากคือให้เด็กได้ออกไปทัศนาจร จะได้มีพัฒนาการเรื่องอารมณ์-ความรู้สึก และได้ออกกำลัง เพิ่มพลังพฤติกรรมของเด็กๆ ด้วย

อาจจะมีการเพิ่มชั่วโมงของอารมณ์ความรู้สึกเข้ามา เช่น การวาดรูปลงบนกระดาษจริงๆ ใช้สีจริงๆ ไม่ใช่วาดรูปลงบนแท็บเล็ตอีก เพราะสีปลอมที่อยู่บนคอมพ์ยังไงก็ไม่เหมือนสีจริงๆ ช่วยสร้างให้เกิดอารมณ์ดี-สุขภาพดีจริงๆ ไม่ได้ อย่าง สีของต้นไม้สดๆ เราเห็นแล้วก็สดชื่น เพราะมันคือสีของธรรมชาติ สีของคลอโรฟิลด์ที่มีสีของแดดสาดเข้ามาปนด้วย ไม่เหมือนสีเขียวที่อยู่ในจอ อีกอย่าง

ขาดไม่ได้ ต้องเน้นให้มีกิจกรรมร่วมกับเพื่อนๆ ไม่ใช่ให้นั่งจับเจ่าเล่นแท็บเล็ตอยู่คนเดียวตลอด แบบนั้นพัฒนาการได้ด้านเดียว ยังไงก็ใช้ไม่ได้ ต้องเน้นให้มีอารมณ์ร่วมกัน ก็จะช่วยให้เด็กพัฒนาการไปได้อย่างก้าวกระโดด ถ้ามีทั้งการใช้ความคิด บริหารอารมณ์โดยการอยู่ร่วมกับคนอื่น และได้ออกกำลังกาย

ต้องอย่าลืมว่า การเสริมสร้างพัฒนาการที่ดีที่สุดคือการให้เด็กได้ออกไปวิ่งเล่นครับ เพราะเซลล์สมองมันมีจุดศูนย์รวมอยู่ที่ฝ่าเท้าขึ้นไปยังสมอง เพราะฉะนั้น เวลานวดเลยต้องนวดจากฝ่าเท้าขึ้นไป ถ้าเราเอาแท็บเล็ตให้เขาเล่นแล้วไม่ปล่อยให้เขาไปวิ่ง ก็จะเป็นการขัดขวางพัฒนาการของมนุษย์อย่างใหญ่หลวงมากๆ

ที่สำคัญ อย่าวัดพัฒนาการของเด็กๆ กันที่ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาหรือผลการเรียนเป็นหลักเท่านั้น แต่ควรหันมาพิจารณาถึงระดับ “คุณธรรม-จริยธรรม” ด้วยว่าได้วางรากฐานไว้ในหลักสูตรเพื่อปลูกฝังให้พวกเขามากน้อยแค่ไหน อย่างที่ อ.สมพงษ์ ฝากทิ้งท้ายเอาไว้

“คุณธรรม-จริยธรรม มันต้องลงไปในเรื่องการทำงานร่วมกัน การปฏิบัติ ปลูกฝังกระบวนการเรียนรู้ของเด็กๆ ถ้าอยากให้แท็บเล็ตสร้างคุณธรรม-จริยธรรมให้เด็กๆ ได้ ครูผู้สอนก็ต้องตั้งโจทย์ให้เป็น นำไปสู่การเสาะแสวงหากรณีตัวอย่างและข้อมูลเพิ่มเติม ก็จะช่วยให้เยาวชนรุ่นใหม่หันมาสนใจเรื่องศีลธรรม-จริยธรรมมากกว่าเรื่องผลการเรียน เรื่องวัดผลเป็นตัวเลข ต้องบอกว่าตัวแท็บเล็ตมันไม่ได้ถูกสร้างขึ้นมาทำให้เกิดระบบคุณธรรมจริยธรรมอยู่แล้ว มันเป็นเพียงตัวช่วยเสริมให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ข้อมูลในยุคปัจจุบันมากกว่า ถ้าเรียนด้วยแท็บเล็ตแล้วยังใช้ระบบเก่าอยู่ สุดท้ายแท็บเล็ตก็จะได้ใช้ประโยชน์ไม่เต็มที่ และอาจจะทำให้เกิดการเรียนรู้ในทางที่ไม่เหมาะสมได้เหมือนกัน 

ผมคิดว่าสังคมไทยต้องหันมาสนใจเรื่องการศึกษา อย่าปล่อยให้กระทรวงศึกษาธิการเข้ามาควบคุมอยู่ฝ่ายเดียว ทุกฝ่ายต้องช่วยกันเสนอแนะ ให้มีส่วนร่วมในการวางแผนกันมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องการสำรวจต้องทำให้จริงจังกว่านี้ เพราะจากข้อมูลผลการสำรวจการใช้แท็บเล็ตของเด็ก ป.1 ของสภาการศึกษาที่ออกมา มันดูจะพูดถึงแต่ข้อดีมากกว่า ยังนำเสนอข้อเท็จจริงในด้านลบน้อยเกินความเป็นจริง

ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ LIVE








กำลังโหลดความคิดเห็น