xs
xsm
sm
md
lg

นักวิชาการลากไส้ “การศึกษาไทยห่วย” เหตุ ร.ร.ไม่กล้าปรับเด็กตก หวั่นกระทบเลื่อนตำแหน่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นักวิชาการลากไส้การศึกษาไทยห่วย เหตุ ศธ.ให้แต่ละโรงเรียนประเมินเด็กเอง แต่กลับมีผลต่อการเลื่อนตำแหน่ง ทำให้ไม่กล้าปรับเด็กตก หากตกก็ซ่อมผ่านพอเป็นพิธี ชี้สุดท้ายเด็กไร้คุณภาพ จี้ทำตัวชี้วัดที่มีคุณภาพเท่ากัน ระบุครูสำคัญที่สุดในการทำให้การศึกษาเข้มแข็ง
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
ศ.ดร.ศิริชัย กาญจนวาสี อดีตคณบดีคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงกรณีนายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มีแนวคิดจะทบทวนนโยบายตกซ้ำชั้น ว่า ที่ผ่านมา ศธ.กระจายอำนาจให้สถานศึกษาประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาเด็กเอง โดย ศธ.กำหนดเพียงตัวชี้วัดที่จะใช้ประเมินเท่านั้น ส่วนเครื่องมือที่จะนำมาวัดเด็ก เช่น แบบการทดสอบ การทำโครงงาน เป็นต้น ให้สถานศึกษาไปกำหนดเอง หากโรงเรียนใดไม่มีความพร้อม หรือไม่สามารถออกแบบเครื่องมือวัดเด็กได้อย่างแท้จริง จะทำให้ผลการประเมินออกมาไม่มีคุณภาพ

ศ.ดร.ศิริชัย กล่าวอีกว่า ขณะที่ผลการประเมินของเด็กมีผลต่อการเลื่อนตำแหน่งของผู้บริหารโรงเรียนและครู อาจทำให้ผู้บริหารโรงเรียนและครูไม่กล้าที่จะให้เด็กตก หรือถ้าตกก็ให้มาซ่อมเป็นพิธีก็ให้ผ่านไป สุดท้ายเด็กไม่มีคุณภาพและส่งผลกระทบต่อการศึกษาขั้นสูงขึ้นไปเรื่อยๆ ดังนั้น สิ่งที่ ศธ.ควรจะต้องทำให้คือพยายามให้โรงเรียนทั้งหมดมีเครื่องมือในการวัดและประเมินผลเด็กที่มีคุณภาพเท่ากัน เพื่อวัดความรู้ ความสามารถของเด็กได้อย่างแท้จริง และหากเด็กตกครูควรที่จะต้องมีการซ่อมเสริมอย่างจริงจัง เพื่อพัฒนาเด็ก แต่ถ้าซ่อมเสริมแล้วไม่ผ่านอีกจะต้องให้เด็กซ้ำชั้น

ส่วนผลการประชุมของ World Economic Forum (WEF) - The Global Competitiveness Report 2012-2013 จัดอันดับการศึกษาไทยอยู่อันดับที่ 8 ของประเทศอาเซียน ผมถือเป็นข่าวร้ายของวงการศึกษาไทย แม้ผลการประเมินระดับนานาชาติและระดับชาติก่อนหน้านี้จะบ่งชัดว่าผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนไทยตกต่ำ เด็กด้อยความสามารถคิดวิเคราะห์ ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องประเมินตนเองว่าเรากำลังทำอะไรกันอยู่และควรจะร่วมมือกันอย่างไร โดยครูสำคัญที่สุดทำให้การศึกษาไทยแข็งแกร่ง ครูต้องเป็นผู้บริหารจัดการเรียนรู้ เป็นพี่เลี้ยง พี่อำนวย เพื่อให้เด็กเกิดการเรียนรู้ ต้องติดตามพัฒนาการเรียนรู้ของนักเรียนทั้งภายในและภายนอกห้องเรียน โดยเฉพาะต้องมีความทันสมัยในเรื่องของความรู้สากล ทักษะภาษาอังกฤษและเทคโนโลยี นอกจากนี้หลักสูตรจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย ดังนั้นจึงมีควรปรับปรุงทุกอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญรัฐบาลจะต้องให้ความสำคัญกับการศึกษาโดยสรรหาคนดีคนเก่งให้อยู่ได้นานและขับเคลื่อนนโยบายอย่างมีเอกภาพ” ศ.ดร.ศิริชัย กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น