xs
xsm
sm
md
lg

คนไทยซวยซ้ำซาก! ใช้หนี้ “ปูแดง”ก่อ - แถมรัฐจ้องรีดภาษีเพิ่ม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รัฐบาลเพื่อไทยสำลักพิษเศรษฐกิจ โครงการประชานิยมติดหล่ม มีแต่รายจ่าย “จำนำข้าว” เดิมพันครั้งใหญ่ ยอมตัดงบลงทุน เงินกว่า 6 แสนล้านบาทจมหาย นักเศรษฐศาสตร์ชี้ที่ผ่านมามีแต่รายจ่าย แถมใจใหญ่ยอมลดรายได้เรื่องภาษีนิติบุคคลและบุคคลธรรมดา มองไม่เห็นช่องทางสร้างรายได้ หวั่นขาดดุลบัญชีเดินสะพัด กระทบอันดับความน่าเชื่อถือ ต้นทุนทางการเงินพุ่ง “อรรถวิชช์” ฟันธงรัฐบาลนี้ทำทั้งกู้เพิ่มและขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม

ความหลงลำพองของพรรคเพื่อไทยที่เข้ามาบริหารประเทศได้ 2 ปี เดินหน้าผลักดันนโยบายประชานิยมต่างๆ โดยที่ไม่ฟังเสียงทักท้วงจากใคร ขณะเดียวกันในฟากฝั่งทางการเมือง ก็เดินหน้าเร่งทำคลอดพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมไปพร้อมกับการเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เริ่มจากหมวดที่มาของสมาชิกวุฒิสภา และพระราชบัญญัติงบประมาณ

ด้วยข้อกังวลเรื่องการแปรญัตติเพื่อช่วยเหลือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พี่ชายของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน ให้พ้นผิดและสามารถเดินทางกลับสู่ประเทศไทยอย่างไร้มลทิน รวมถึงเป้าหมายของการแก้รัฐธรรมนูญที่มาของสมาชิกวุฒิสภาที่ต้องการล้างกลุ่มที่มาจากการแต่งตั้ง ให้มาเป็นการเลือกตั้งทั้งหมด ด้วยความเชื่อมั่นว่าเพื่อไทยจะสามารถครองที่นั่งได้ทั้ง 2 สภา

คราวนี้หนามยอกอกอย่างองค์กรอิสระ ที่เคยทำเอาคนของพรรคเพื่อไทย คนเสื้อแดงและนายใหญ่เจ็บปวดมาโดยตลอด ย่อมเลือกได้ว่าจะจัดการกับองค์กรอิสระเหล่านี้อย่างไร

ตัวเร่งอีกประการหนึ่งนั่นคือคลิปของกลุ่มอัลกออิดะห์ ที่ประกาศจะจัดการกับ พต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตของพี่น้องชาวมุสลิมในพื้นที่ภาคใต้ ยิ่งทำให้สถานะในต่างแดนของนายกรัฐมนตรีตัวจริงของประเทศไทยตกอยู่ในสถานการณ์ลำบาก และคงไม่มีที่ไหนปลอดภัยเท่าประเทศไทยอีกแล้ว เพราะมีทั้งน้องสาวของตัวเองเป็นถึงนายกรัฐมนตรีและมีพลพรรคเพื่อไทย กลุ่มคนเสื้อแดง ที่พร้อมปกป้องคุ้มครองให้ตลอดเวลา ดังนั้นการเร่งจัดการอุปสรรคต่อการกลับมาจึงเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วน

ขณะที่กลุ่มคนอีกฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับเรื่องดังกล่าว เริ่มปักหลักชุมนุมแสดงความไม่เห็นด้วยกับระบอบทักษิณทั้งในนามกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ กลุ่มหน้ากากขาว เวทีเดินหน้าผ่าความจริงของพรรคประชาธิปัตย์ และมีแนวโน้มที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยอาจจะออกมาร่วมชุมนุม ดังนั้นอุณหภูมิทางการเมืองในเวลานี้จึงอยู่ในสภาพที่พร้อมจะร้อนระอุได้ตลอดเวลา

300 บาทรัฐได้แต้ม-ผลักคนตกงาน

นาทีนี้แทบทุกฝ่ายล้วนจับจ้องไปยังพื้นที่แสดงโชว์ในรัฐสภา ที่กำลังมีการพิจารณากฎหมายหลายฉบับเพื่อการยึดครองประเทศของพรรคเพื่อไทย ขณะที่เรื่องปัญหาปากท้องที่เป็นผลมาจากการบริหารประเทศของพรรคเพื่อไทยตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมา สวนทางกับคำปราศรัยหาเสียงของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่สัญญาว่าจะกระชากค่าครองชีพลงมา ทำให้คนทั้งประเทศกำลังแบกรับภาระกันถ้วนหน้า คนที่รักชอบพรรคเพื่อไทยก็คงต้องกัดฟันทน พูดไม่ออกกับสภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้น ส่วนคนที่เห็นตรงข้ามก็เริ่มแสดงความไม่พอใจในการบริหารงานของรัฐบาลมากยิ่งขึ้น

ปัญหาปากท้องของประชาชนที่คนไทยทั้งประเทศต้องแบกรับภาระร่วมกัน ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่า บรรดาราคาสินค้าแทบทุกตัวขยับขึ้น นับตั้งแต่พรรคเพื่อไทยประกาศนโยบายในช่วงหาเสียงว่าจะเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาท เนื่องจากทุกฝ่ายมั่นใจว่าเมื่อถึงวันเลือกตั้งแล้วพรรคเพื่อไทยคงจะชนะการเลือกตั้งมากพอที่จะจัดตั้งรัฐบาล และต้องเดินหน้าตามนโยบายที่หาเสียงไว้

แม้ว่ารัฐบาลจะเดินหน้าทำตามสัญญาไว้ด้วยการบังคับใช้ค่าแรงขึ้นต่ำเป็น 300 บาทเท่ากันทั่วประเทศ แต่ก็ต้องทำเป็น 2 ช่วงเวลาคือ 7 จังหวัดนำร่องในเมษายน 2555 และจังหวัดที่เหลือในต้นปี 2556 แต่ราคาสินค้านั้นปรับขึ้นไปตั้งแต่ช่วงที่มีการหาเสียงของพรรคเพื่อไทย

ไม่ว่าจะเป็นความอ่อนด้อยของทีมเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย หรือจำเป็นต้องทำตามนโยบายที่พูดกันติดปากว่า “ทักษิณคิด เพื่อไทยทำ” จึงทำให้เสียงท้วงติงจากนักวิชาการทั้งหลายรวมไปถึงผู้ประกอบการต่างๆ ไร้ความหมาย รัฐบาลยังเดินหน้าทำ

เมื่อภาคประชาชนเทคะแนนเสียงให้เพื่อไทยได้เป็นรัฐบาล การปฏิบัติตามสัญญาช่วงที่หาเสียงไว้ ทำให้แรงงานหลายคนพึงพอใจกับการยึดมั่นในคำสัญญา แม้จะรู้ทั้งรู้ว่าหนทางข้างหน้ารัฐบาลจะปล่อยให้เป็นเรื่องของนายจ้างกับลูกจ้างที่ต้องหาทางออกร่วมกัน ได้ 300 บาท แต่สวัสดิการถูกปรับลด โบนัสน้อยลงหรือไม่มี ถูกเปลี่ยนวิธีจ้างงาน ลดชั่วโมงการทำงาน จนกระทั่งเลิกกิจการ

เบ็ดเสร็จแล้วได้ค่าแรงสูงขึ้นแต่ค่าครองชีพก็สูงขึ้นตาม เมื่อหักลบกันแล้วแทบจะไม่มีอะไรที่แตกต่างไปจากเดิมหรืออาจจะแย่ลงกว่าเดิม ดังนั้นเป้าหมายของรัฐบาลที่คาดหวังว่าเมื่อประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้นจะทำให้มีการจับจ่ายใช้สอยเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตขึ้นท่ามกลางความซบเซาของเศรษฐกิจทั่วโลก จึงไม่เป็นไปดั่งคาด
สต็อกข้าวจากโครงการรรับจำนำข้าว
จำนำข้าวเบียดงบลงทุนเกลี้ยง

การอัดนโยบายประชานิยมที่นอกจากจะได้ทั้งฐานเสียง และหวังว่าจะทำให้เศรษฐกิจในประเทศดีขึ้น ทุกอย่างล้วนจำเป็นต้องใช้เม็ดเงินเข้ามาอัดฉีดทั้งสิ้น อีกหนึ่งโครงการที่ซื้อใจเกษตรกรให้หันมาเลือกพรรคเพื่อไทยได้คือโครงการรับจำนำข้าว 15,000 บาทต่อตันสำหรับข้าวขาว และ 20,000 บาทต่อตันสำหรับข้าวหอมมะลิ ไม่ว่าใครจะคัดค้านอย่างไร รัฐบาลเดินหน้าลุย

2 ฤดูกาลแล้วสำหรับโครงการรับจำนำข้าว ใช้เงินไปแล้วกว่า 6 แสนล้านบาท ขาดทุนแล้ว 1.36 แสนล้านบาท แม้จะเริ่มออกอาการยอมแพ้ ด้วยการขอลดราคารับจำนำลงมาเหลือที่ 12,000 บาทต่อตัน แต่เมื่อเริ่มมีม็อบชาวนามากดดัน รัฐบาลเปลี่ยนใจที่จะกลับไปใช้ราคารับจำนำเดิม และยังคงเดินหน้าโครงการต่อไปสำหรับฤดูกาล 2556/2557 แต่มีความเป็นไปได้สูงที่รัฐบาลจะขอปรับลดราคารับจำนำลงเหลือ 12,000 บาทต่อตัน และอาจขอลดวงเงินในการรับจำนำต่อรายลงเหลือ 3.5 แสนบาทต่อครัวเรือน

จากจำนำข้าวทุกเมล็ดในฤดูกาลแรก เริ่มเพิ่มเงื่อนไขมากขึ้น เพื่อลดปริมาณการรับจำนำลง นี่คือเงินงบประมาณที่มาจากคนทั้งประเทศที่ถูกนำมาใช้เพื่อตอบแทนฐานเสียงของรัฐบาลตามที่หาเสียงไว้ก่อนเลือกตั้ง ลำพังหากเม็ดเงินเหล่านี้ตกสู่ชาวนาอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย เพื่อยกระดับรายได้ของชาวนาให้ดีขึ้น คงไม่ใช่เรื่องที่เหลือบ่ากว่าแรง

แต่กระบวนการรับจำนำข้าวมีช่องว่างให้เกิดการทุจริตแทบทุกขั้นตอน ชาวนาได้เงินไปตามระดับความชื้นของข้าว เพราะเงื่อนไข 15,000 บาทกำหนดความชื้นไว้ที่ 15% ขณะที่ความเป็นจริงข้าวที่เก็บเกี่ยวมาส่วนใหญ่จะมีความชื้นราว 25% เงินที่รับจริงจะอยู่ที่ประมาณ 8,000 บาทบวกลบ ที่เหลือตกเป็นของพรรคพวกของบรรดานักการเมือง ที่เข้ามาทั้งในรูปของโรงสี ไซโลเก็บข้าว หรือแม้กระทั่งการสวมสิทธิข้าวจากประเทศเพื่อนบ้านนำมาเข้าโครงการ

เมื่อรัฐบาลประกาศรับจำนำข้าวในราคาที่สูงกว่าราคาตลาดโลก ทำให้ประสบปัญหาเรื่องการขาย ลูกค้าเดิมต่างหันไปซื้อข้าวจากอินเดีย และเวียดนามที่เสนอขายต่ำกว่าไทย ทำให้ปริมาณข้าวในสต๊อกช่วง 2 ฤดูกาลมีมากถึง 17 ล้านตัน

ความหวังที่รัฐบาลฝันไว้ว่า ไทยจะเป็นผู้กำหนดราคาข้าวของโลก หรือคาดหวังว่าเมื่อประเทศคู่แข่งประสบปัญหาการผลิต จะทำให้ไทยสามารถขายข้าวในราคาที่สูงขึ้น ทุกอย่างกลายเป็นฝันสลายทันที แถมเอาภาษีของคนทั้งประเทศมาแบกรับภาระนโยบายซื้อเสียงทางอ้อมของรัฐบาล

มิหนำซ้ำข้าวที่เก็บไว้เริ่มที่จะเสื่อมคุณภาพลงทุกขณะ แม้รัฐบาลจะบอกว่ามีการเสนอขายแบบรัฐต่อรัฐแต่ก็ไม่ได้ทำให้สต๊อกข้าวของรัฐบาลลดลงไปมาก จนล่าสุดต้องมีการเปิดประมูลภายในประเทศแต่ก็ได้รับความสนใจน้อย และมีแนวคิดที่จะนำเอาข้าวในสต๊อกมาทำข้าวถุงเสนอขายกับประชาชน

เม็ดเงินที่ทุ่มลงไปมหาศาลกับนโยบายรับจำนำข้าว นอกจากจะไม่สามารถสร้างรายได้กลับมาเหมือนภาวะปกติแล้ว นโยบายดังกล่าวยังเป็นการทำลายอาชีพของผู้ส่งออกข้าวไปในตัว ลูกจ้างจำนวนไม่น้อยของบริษัทเหล่านี้ต้องตกงาน เพราะรัฐบาลกลายเป็นผู้รับซื้อและเตรียมจะเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่เสียเอง

เมื่อรัฐยังเดินหน้ารับจำนำข้าวอย่างต่อเนื่อง แต่ไม่สามารถขายหรือระบายข้าวออกไปได้ สิ่งที่ตามมาคือเงินหมุนเวียนที่จะใช้ในการรับจำนำสำหรับฤดูกาลต่อไปเริ่มที่จะมีปัญหา ส่วนหนึ่งมาจากงบประมาณ แต่อีกส่วนหนึ่งมาจากเงินของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) รัฐบาลยังคงติดค้างเงินกับ ธ.ก.ส.

แม้ว่ายอดส่งออกข้าวตามปกติจะไม่ใช่สินค้าหลัก แต่จากการที่รัฐไม่สามารถขายข้าวไปยังลูกค้าเดิมๆ ได้ ยอดส่งออกที่ตกลง 2-3% ก็เป็นผลมาจากโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล
ความสนใจของประชาชนในโครงการรถคันแรก
รถคันแรกเอาใจค่ายรถ

อีกหนึ่งโครงการประชานิยมที่คิดขึ้นมาหลังเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่เมื่อปลายปี 2544 คือโครงการรถยนต์คันแรก ที่รัฐให้เหตุผลว่าต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจและให้โอกาสกับคนที่ต้องการมีรถยนต์ ด้วยการลดภาษีสรรพสามิตให้ไม่เกิน 1 แสนบาทต่อคัน

แม้ว่าจะสวนทางกับความต้องการที่จะรณรงค์ให้คนไทยประหยัดพลังงาน และยังเป็นการเพิ่มปริมาณรถบนท้องถนนทำให้รถติดมากขึ้น แต่รัฐบาลก็เดินหน้า ทั้งที่เป้าหมายที่แท้จริงคือรัฐบาลต้องการเอาใจค่ายรถยนต์ที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม อันเกิดจากความผิดพลาดในการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาล โดยผู้ประกอบการเหล่านั้นขู่ที่จะย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศอื่น นโยบายนี้จึงออกมาเพื่อปลอบใจค่ายรถยนต์ต่างๆ

ผลตอบรับดีเกินคาด สิ้นสุดปี 2555 มีผู้ขอให้สิทธิ์ตามโครงการรถยนต์คันแรกถึง 1.25 ล้านคัน รัฐบาลต้องจัดสรรเงินไว้คืนให้กับผู้ใช้สิทธิ์สูงถึง 9.1 หมื่นล้านบาท ถึงเวลานี้บางรายอาจจะยังไม่ได้รับรถและมีจำนวนไม่น้อยที่ยอมสละสิทธิ์

เศรษฐกิจทรุด-รัฐบริหารพลาด

เมื่อโครงการที่รัฐบาลอัดเงินเข้าไปในระบบหมดลง เราจึงได้เห็นตัวเลขเศรษฐกิจในไตรมาสแรกและไตรมาส 2 ของปี 2556 อยู่ในสภาวะติดลบจากไตรมาสก่อนหน้า นับเป็นการติดลบต่อเนื่องกัน 2 ไตรมาส โดยคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้แถลงตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 2 ปีนี้โตเพียง 2.8% โดยลดลงจาก 5.4% ในไตรมาสที่ 1 และได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจปี 2556 เหลือเพียง 3.8-4.3%

“สัญญาณนี้ถือว่าเป็นภาวะถดถอย ส่วนไตรมาส 3 จะติดลบอีกหรือไม่นั้น มีความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจจะโตน้อยกว่าไตรมาส 2 เพราะเรายังไม่เห็นการอัดฉีดเม็ดเงินจากภาครัฐเข้ามาในระบบ” เสียงจากนักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำประเมิน

ภาวการณ์ถดถอยของเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในเวลานี้ มีทั้งปัจจัยภายในประเทศและต่างประเทศ

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ปฏิเสธไม่ได้ว่าอยู่ที่นโยบายบริหารประเทศของรัฐบาล เมื่อรัฐบาลหยุดการอัดเงินเข้าสู่ระบบทุกอย่างก็เริ่มนิ่ง อีกทั้งนโยบายที่ผ่านมาทำได้เพียงกระตุ้นเศรษฐกิจเพียงระยะสั้น ค่าแรง 300 บาทถูกลดทอนอำนาจในการจับจ่ายใช้สอยด้วยค่าครองชีพที่สูงขึ้น และหลายคนต้องถูกเลิกจ้าง จำนำข้าวที่เหมือนจะดูดี ชาวนาขายข้าวได้ราคาดีขึ้นก็จริง แต่ต้นทุนการผลิตก็สูงขึ้นตาม ทั้งค่าเช่านา ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง

เม็ดเงินที่รัฐบาลทุ่มลงไปกว่า 6 แสนล้านบาทในโครงการนี้ ไม่สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ เพราะเงินเหล่านั้นไปกองอยู่ในรูปของสต๊อกข้าวที่ไม่สามารถระบายออกไปได้ เนื่องจากราคาขายในตลาดโลกต่ำกว่าราคารับจำนำ เงินก้อนนี้หากรัฐนำไปใช้เพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ จะสามารถสร้างประโยชน์ให้กับภาคเศรษฐกิจได้มากกว่า

ประกอบกับปัจจัยในต่างประเทศในฐานะผู้ซื้อมีปัญหาเศรษฐกิจภายใน ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมาก่อนที่พรรคเพื่อไทยจะเข้ามาเป็นรัฐบาล ทุกคนทราบดีว่าสหรัฐฯ ยุโรปมีปัญหา หรือจีนที่ควบคุมการเติบโตทางเศรษฐกิจ ขณะที่ประเทศไทยพึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก ทำให้สินค้าหลายตัวไม่สามารถขายไปยังต่างประเทศได้เหมือนเดิม
สภาพัฒน์ฯ แถลงตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 2
เลิกหวังปลุกกำลังซื้อ-หนี้ท่วม

เมื่อคนซื้อในต่างประเทศไม่มีกำลังซื้อ ในประเทศเรากลับเน้นนโยบายประชานิยมที่ไม่สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ การเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยจึงเข้าสู่ภาวะถดถอย เวลานี้คงต้องยอมรับสภาพที่เกิดขึ้นว่าการจะหาวิธีกระตุ้นเศรษฐกิจของไทยคงไม่ง่าย เพราะรายได้หลักของเราคือการส่งออก เมื่อผู้ซื้อไม่มีกำลังซื้อก็จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนวิธี

ครั้นจะกระตุ้นให้คนในประเทศหันมาบริโภคเพิ่มขึ้น ก็ติดกับเรื่องกำลังซื้อในประเทศเช่นกัน กำลังซื้อที่หายไปไม่น้อยเกิดขึ้นจากโครงการรถยนต์คันแรก เมื่อคนก่อหนี้พร้อมๆ กันราว 4-6 แสนล้านบาท ทุกคนก็ต้องผ่อนชำระตามเงื่อนไข ค่าใช้จ่ายต่างๆ จะถูกกันไว้ ไม่ว่าจะเป็นการเติมน้ำมัน ผ่อนค่างวด บำรุงรักษา ค่าประกัน ค่าต่อทะเบียนและอื่นๆ ดังนั้นอำนาจซื้อของภาคประชาชนที่เป็นกลุ่มคนชนชั้นกลางจึงหายไปเป็นจำนวนมาก

รถ 1 คันอาจหมายรวมถึงค่าใช้จ่ายของคน 1 ครอบครัว ซึ่งอาจมีสมาชิกที่ต้องร่วมมือกันลดภาระค่าใช้จ่ายอื่นๆ อีกไม่น้อยกว่า 2-3 คนต่อรถ 1 คัน หากประเมินแล้วอำนาจซื้อของคนจะหายไปไม่น้อยกว่า 2-3 ล้านคน ตามระยะเวลาผ่อนชำระราว 4-5 ปี

วิธีการนี้เป็นการดึงเอาเงินในอนาคตมาใช้ก่อน ทำให้การก่อหนี้ใหม่ทำได้ยากขึ้น ขณะที่ภาคประชาชนอื่นๆ ต่างอยู่ในสถานะที่มีหนี้ครัวเรือนในระดับสูง การกระตุ้นกำลังซื้อของคนในประเทศเพื่อมาชดเชยภาคการส่งออกจึงกระทำได้ยาก

ขณะที่ความหวังของรัฐบาลที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจยังคงฝากไว้ที่พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลัง กู้เงินกับสถาบันการเงิน 3.5 แสนล้านบาท ที่เวลานี้ถูกคำสั่งของศาลปกครองสั่งให้มีการทำประชาพิจารณ์ก่อน หรือร่างพระราชบัญญัติให้กระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ วงเงิน 2 ล้านล้านบาท ที่เตรียมเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา มีความเป็นไปได้สูงที่อาจจะติดขัดเช่นเดียวกับพระราชกำหนด 3.5 แสนล้านบาท

วันนี้รัฐบาลกำลังเข้ามุมอับ เพราะเงินที่ใช้ลงทุนอื่นๆ ในพระราชบัญญัติงบประมาณถูกโยกไว้ที่พ.ร.บ. 2 ล้านล้านบาท ทำให้ไม่มีเงินที่จะใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจมากนัก

สุ่มเสี่ยงถูกหั่นเกรด

สิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์หลายท่านเห็นตรงกันคือ ที่ผ่านมานโยบายของรัฐบาลหลายตัวไม่ได้สร้างการกระตุ้นเศรษฐกิจ และรัฐบาลกำลังมีปัญหาในเรื่องของรายได้ในการจัดเก็บ เงินที่สูญไปจากโครงการรับจำนำข้าวที่ขาดทุนไปแล้ว 1.36 แสนล้านบาท เงินคืนให้กับผู้ใช้สิทธิโครงการรถคันแรก 9.1 หมื่นล้านบาท หรือการลดภาษีเงินได้นิติบุคคลจากระดับ 30% ลงมาเหลือ 20% ทำให้สูญเสียรายได้ไป 8 หมื่นล้านบาท และลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาลง สูญรายได้ไป 2.7 หมื่นล้านบาท ขณะที่รายได้จากส่วนอื่นยังมองไม่เห็น

หากเป็นเช่นนี้ไปเรื่อยๆ เศรษฐกิจของไทยจะเข้าสู่ภาวะอันตราย ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยเริ่มเข้าสู่ภาวะขาดทุนในบางเดือน เมื่อมองในภาพรวมแล้วยอดเกินดุลบัญชีเดินสะพัดจะค่อยๆ ลดลง เห็นได้จากประมาณการของธนาคารแห่งประเทศไทยเดือนกรกฎาคม ในปี 2555 ไทยเกินดุล 2.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ คาดว่าปี 2556 จะเกินดุลเพียง 1.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ และประเมินว่าปี 2557 จะเกินดุลเพียง 0.1 พันล้านเหรียญ เท่านั้น

สัญญาณตรงนี้จะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างประเทศ ค่าเงินบาทของไทยมีโอกาสอ่อนตัวลงไปได้อีก ที่สำคัญคือบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือระดับโลกอาจมีการปรับลดอันดับเครดิตของประเทศไทย ซึ่งจะทำให้การระดมเงินทั้งของภาครัฐและเอกชนในต่างประเทศมีต้นทุนสูงขึ้น

ระวังสภาพคล่องเหือด

ขณะที่นักบริหารเงินรายหนึ่งแสดงความเป็นห่วงภาวะเศรษฐกิจของประเทศ ที่นอกเหนือจากนโยบายของรัฐบาลที่สร้างปัญหาให้กับเศรษฐกิจของประเทศแล้ว สิ่งที่น่าห่วงอีกอย่างหนึ่งคือโลกการเงินที่มีการเคลื่อนย้ายเงินทุนไปมาอย่างรวดเร็ว

ตอนนี้ถือเป็นเรื่องของการเข้ามาแสวงหาประโยชน์ของนักลงทุนต่างชาติ ก่อนหน้านี้ประเทศไทยเจอปัญหาเรื่องค่าเงินบาทแข็งค่าอย่างรวดเร็ว เข้ามาเก็งกำไรทั้งตลาดเงิน ตลาดตราสารหนี้ และตลาดทุน เมื่อสบโอกาสก็ถอนการลงทุนออก เชื่อว่าอีกไม่นานเราก็จะเจอสภาพนี้อีก

ดังนั้นในภาวะที่มีการถอนเงินลงทุนออกไป ตรงนี้จะทำให้เกิดปัญหาเรื่องสภาพคล่องและอัตราแลกเปลี่ยน จึงทำให้ภาคธุรกิจปรับตัวหรือคาดการณ์เกี่ยวกับทิศทางของการโยกย้ายเงินทุนลำบากและจะเป็นผลเสียต่อภาคธุรกิจ เรื่องเหล่านี้ภาครัฐควรต้องให้ความสำคัญหรือหามาตรการเพื่อมาชะลอหรือช่วยแก้ปัญหาให้กับผู้ประกอบการเหล่านี้ด้วย
อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์
รีดภาษี-แบกหนี้เพิ่ม

นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพมหานคร หนึ่งในทีมงานเศรษฐกิจของพรรคประชาธิปัตย์ กลับมองถึงภาวะติดกับทางเศรษฐกิจของรัฐบาลไทยชุดนี้สวนทางกับนักเศรษฐศาสตร์ว่า “ผมมองว่ารัฐบาลชุดนี้คงไม่มีปัญหาเรื่องรายจ่าย เห็นได้จากการทำงบประมาณในปีที่ผ่านๆ มา รัฐบาลใช้วิธีการนอกงบประมาณมาตลอด ทั้งงบ 3.5 แสนล้านบาท หรืองบ 2 ล้านล้านบาท”

แม้ว่าขณะนี้รัฐบาลกำลังประสบปัญหาเรื่องการบริหารจัดการทางด้านเศรษฐกิจ งบที่จะใช้กระตุ้นการลงทุนไม่ว่าจะเป็น 3.5 แสนล้านบาท หรือ 2 ล้านล้านบาทอาจสะดุด ไม่สามารถนำมาใช้กระตุ้นเศรษฐกิจได้

“รัฐไม่มีปัญหาเรื่องรายจ่าย เพราะใช้เงินนอกงบประมาณ เอามาจากเงินกู้ ใช้วิธีกู้เพิ่มหนี้เข้ามาแทน หนี้สาธารณะของประเทศต้องเพิ่มสูงขึ้นแน่ แม้จะมีข้อกำหนดเพดานในการก่อหนี้ไว้ไม่เกิน 60% และหนี้สาธารณะคงทะลุเพดานแน่นอน”

สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือเมื่อถึงช่วงที่ต้องเริ่มผ่อนชำระทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย อาจใช้เวลาอีก 7-8 ปี แน่นอนว่ากว่าจะถึงวันนั้นอาจจะเป็นรัฐบาลยิ่งลักษณ์ หรือเป็นรัฐบาลอื่นที่ต้องมารับภาระจากการบริหารประเทศในครั้งนี้

แน่นอนว่าเมื่อรัฐบาลชุดนี้มีทางออก แม้จะมีปัญหาเรื่องเงินขาดมือ ด้วยวิธีการกู้เงินนอกงบประมาณมาใช้จ่าย เป็นการเพิ่มหนี้ให้กับประชาชน ดังนั้นสิ่งที่ประชาชนจะได้รับนั่นคือการต้องแบกหนี้เพิ่มจากเดิม และในระยะอันใกล้หากรายได้ในการจัดเก็บของรัฐบาลมีปัญหามาก คงหนีไม่พ้นที่ต้องมีการเรียกเก็บภาษีเพิ่ม แล้วแต่ว่ารัฐบาลจะเลือกเพิ่มภาษีในส่วนใด และหากจำกันได้ คณะรัฐมนตรีเมื่อ 7 สิงหาคม 2555 เตรียมที่จะปรับขึ้นอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มจาก 7% เป็น 9% ในวันที่ 1 ตุลาคม 2557

นี่จึงกลายเป็นการบ้านชิ้นใหญ่ที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยกำลังเผชิญ ภายใต้ตัวประกันอย่างคนไทยที่ต้องเข้ามามีส่วนร่วมรับผิดชอบกับสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะรักชอบรัฐบาลชุดนี้หรือไม่ก็ตาม

กำลังโหลดความคิดเห็น