“ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์” ทำโครงสร้างประเทศอ่อนแอ ฝ่ายบริหารคุมทุกส่วนอำนาจไม่เว้นแม้แต่ “นิติบัญญัติ-ทหาร-ข้าราชการ-ตำรวจ-ภาคธุรกิจ” โดยสร้างระบบอำนาจ “ให้ประโยชน์-บีบให้เจ๊ง” จนกลุ่มต่างๆ ต้องยอมซูฮก หนทางเดียวที่จะทำให้ “อยู่รอด-ได้ดีแบบคุ้มค่า” ขณะที่คนดีมีตัวอย่าง “สุภา” ต้องหัวเดียวกระเทียมลีบ ชี้รัฐบาลปูแดง เรียกร้องประชาธิปไตยแต่ลิดรอนสิทธิประชาชน? เห็นได้จากกรณี “เหนือเมฆ 3-Line” หวั่น “ทักษิณ” กลับมาขัดแย้งรุนแรงถึงนองเลือด!
เป็นเรื่องที่น่าเศร้าใจเมื่อประชาธิปไตยของไทยนับวันยิ่งไม่พ้นระบอบที่นักการเมืองยังคงครอบงำทุกอย่าง โดยเฉพาะ นักการเมืองอย่าง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี แม้มีชนักติดคดีทางการเมือง ก็ยังส่งน้องสาวแท้ๆ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” มาสานต่ออำนาจทางการเมืองได้
อะไรทำให้ “ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์” นับวันยิ่ง “บ้าพลัง” ขณะที่ฝ่ายต้านที่นำโดยประชาธิปัตย์ กลับมีแต่ภาพที่อ่อนแอลง?
ล้มสภาพัฒน์-ปฏิรูประบบราชการเอื้อการเมือง
ศ.ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อดีตอธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) วิเคราะห์ว่าตั้งแต่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เข้ามามีอำนาจในการบริหารประเทศในปี พ.ศ. 2544 นั้นมีการกระทำหลายอย่างที่สุดท้ายเป็นการเสริมอำนาจให้ฝ่ายการเมือง มากกว่าสร้างความเข้มแข็งให้กับประเทศไทย และผลของการกระทำนั้นยังคงต่อเนื่องมาจนถึงรัฐบาลของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ นายกรัฐมนตรี โดยที่เห็นได้ชัดมีหลายประการได้แก่
ในช่วงต้น พ.ต.ท.ทักษิณ บริหารราชการแผ่นดินโดยใช้นโยบายพรรคไทยรักไทยที่ใช้หาเสียงเป็นหลักในการขับเคลื่อนประเทศ และมีการใช้งานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติน้อยมาก ทั้งที่ในอดีตที่ผ่านมาทุกๆ รัฐบาลจะใช้นโยบายพัฒนาประเทศที่สภาพัฒน์จัดทำขึ้นเป็นหลัก เพราะสภาพัฒน์คือหน่วยงานด้านการวางแผนประเทศ แต่ยุค พ.ต.ท.ทักษิณ กลับไม่สนใจสภาพัฒน์ จนมีข่าวว่าจะยุบสภาพัฒน์ แต่สุดท้ายในช่วงปลายสมัยรัฐบาลทักษิณ 1 ก็ไม่มีการยุบทิ้งตามที่เป็นข่าว
แม้จะไม่ได้มีการยุบสภาพัฒน์ แต่เขาได้ปรับเปลี่ยนบทบาทสภาพัฒน์ จากหน่วยงานมันสมองในการวางแผนพัฒนาประเทศไปเป็นเพียงหน่วยงานที่ทำหน้าที่สนองนโยบายรัฐบาลที่ใช้หาเสียงไว้เท่านั้น
ตรงนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นและเป็นก้าวสำคัญที่ทำให้ระบบโครงสร้างในการบริหารประเทศอ่อนแอลง!
“มีคนพูดกันมากว่าเรื่องใหม่ หรือนโยบายใหม่ๆ อันไหน ที่ฝ่ายการเมืองอยากทำก็มีการส่งเรื่องให้สภาพัฒน์มีหน้าที่ตรวจสอบ แต่ก็มีการพูดถึงกันว่าหากอยากปฏิเสธโครงการต่างๆ ที่ต่างพรรคการเมืองทำขึ้น แต่ไม่รู้จะทำอย่างไรก็จะมีการส่งให้สภาพัฒน์ศึกษาอีกเช่นกัน แล้วมีการส่งสัญญาณไป”
ต่อมาเป็นผลสืบเนื่องจากรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2540 ที่มีการบริหารประเทศตามรัฐธรรมนูญ ด้วยการแบ่งอำนาจบริหาร กับนิติบัญญัติออกจากกัน ซึ่งเป็นการประยุกต์หลักการแบ่งแยกอำนาจจากประเทศสหรัฐอเมริกามาใช้ เพื่อให้ฝ่ายบริหารได้ทำงานเต็มที่ โดยนายกรัฐมนตรีไม่ได้เป็น ส.ส. มีอำนาจบริหารประเทศอย่างเดียวอย่างเต็มที่
แต่เมื่อมีการใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มีการปรับระบบกลับมาให้นายกฯ ต้องมีสภาพเป็น ส.ส. มีหน้าที่ในสภาผู้แทนราษฎรในการตอบกระทู้ ตอบญัตติต่างๆ ด้วย แต่ปรากฏว่าฝ่ายบริหารโดยตัวนายกฯ ยิ่งลักษณ์ก็มีการหลีกเลี่ยงการทำหน้าที่นี้ตลอด แสดงให้เห็นชัดว่าฝ่ายบริหารไม่ได้ให้ความสำคัญกับระบบรัฐสภา อยากทำงานบริหารอย่างเดียว
นอกจากนี้ สมัย พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นนายกรัฐมนตรี ก็มีการออกนโยบายปฏิรูประบบราชการ ในปี พ.ศ. 2546 มีการจัดกระทรวงใหม่เป็น 20 กระทรวง มีการยุบกรม รวมกรม ตั้งกรมใหม่ โดยให้เหตุผลว่าระบบราชการใหญ่เกินไป ทำให้ไม่คล่องตัวกับการบริหารราชการแผ่นดิน จึงมีการปฏิรูประบบราชการใหม่ดังกล่าว แต่มาจนถึงวันนี้กลับพบว่า กระทรวงใหม่ที่เกิดขึ้นนั้น ขณะนี้กำลังทำเรื่องที่จะขอมีหน่วยงานระดับท้องที่ของตัวเองในทุกจังหวัด ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการปฏิรูประบบราชการค่อนข้างล้มเหลว และวันนี้ระบบราชการก็ยังคงอุ้ยอ้ายไม่ต่างจากเดิม มีแต่จะขยายมากขึ้น
เน้นผู้ว่าฯ CEO-กระจายอำนาจท้องถิ่นเหลว
ประเด็นต่อมาคือเรื่องของระบบผู้ว่าฯ CEO ซึ่งถือว่าเป็นการให้อำนาจกับผู้ว่าราชการจังหวัดต่างๆ อย่างมาก ซึ่งส่งผลมาจนปัจจุบัน ถือเป็นการขัดแย้งกับหลักการกระจายอำนาจอย่างสิ้นเชิง ทั้งๆ ที่นโยบายกระจายอำนาจนั้นมีตั้งแต่ พ.ศ. 2544 ที่ระบุไว้ในกฎหมายว่า จะต้องมีการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่น 20% จากนั้นในอีก 5 ปีต่อมาจะต้องมีการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นในสัดส่วน 35% ของงบประมาณประจำปี
ปรากฏว่าพอครบ 5 ปี ก็ยังไม่สามารถทำได้ จนวันนี้ผ่านมาแล้ว 12 ปี งบประมาณที่ลงท้องถิ่นก็ยังมีเพียงประมาณ 25% เท่านั้น ซึ่งไม่ถือว่าประสบความสำเร็จนัก อำนาจก็ยังรวมศูนย์อยู่ที่ฝ่ายบริหาร แสดงให้เห็นว่าไม่ได้เสริมอำนาจให้กับท้องถิ่นเลย
“ผู้ว่าฯ CEO นี้ยังเป็นการเริ่มต้นในเรื่องของการให้อำนาจนายกรัฐมนตรีจัดและบริหารงบกลางฯ ซึ่งไม่มีรายละเอียด ยิ่งฝ่ายการเมืองมีงบกลางมากขึ้น อำนาจของฝ่ายการเมืองก็มีมากขึ้นตามไปด้วย เพราะสามารถนำเงินนั้นมาทำอะไรก็ได้”
ดังนั้น หากมีการกู้เงินจาก พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านสำเร็จ ฝ่ายการเมืองก็มีอำนาจมากขึ้น เพราะมีเงิน มีโครงการ คนก็วิ่งเข้าหา แต่ว่าการกู้เงินจำนวนมากขนาดนี้ก็เป็นดาบสองคมในเรื่องการทุจริต ที่ร้ายยิ่งกว่ามะเร็งในสังคมไทย
“ทุกวันนี้คดีในสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติมีจำนวนมาก แต่ส่วนมากก็ไม่สามารถดำเนินการเอาผิดนักการเมืองได้ ประชาชนก็จ่ายภาษีไป ตอนพูดจะออก พ.ร.บ.ก็พูดว่าจะเป็นประโยชน์ แต่ไม่มีเครื่องค้ำประกัน ประสบการณ์ที่ผ่านมาคือหลายโครงการไม่ได้ผลดีจริงอย่างที่พูด มีแต่เจตนาทุจริตคอร์รัปชัน แต่ไม่มีใครรับผิดชอบ”
แหล่งข่าวด้านความมั่นคง กล่าวเช่นเดียวกันว่า กรณีทุจริตคอร์รัปชัน จะทำให้สังคมไทยมีความน่าเป็นห่วงอย่างมาก เพราะท้ายที่สุดไม่ว่าจะเป็นข้าราชการ หรือนักธุรกิจต่างต้องวิ่งหานักการเมือง เพราะนักการเมืองบันดาลให้ได้ทุกอย่าง
ทำให้ต่อไปคนจะคิดแต่ประโยชน์ส่วนตน ละเลยประโยชน์ส่วนรวมมากขึ้นเรื่อยๆ
อย่างระบบราชการ เวลานี้ข้าราชการชั้นผู้น้อยที่วิ่งหานักการเมืองได้เพราะกล้า แต่ถามว่าทำไมถึงกล้า เพราะว่าผลตอบแทนที่ได้กลับมามันคุ้ม
“ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่จะทำอย่างไร ก็ไม่กล้าทำอะไร ในเมื่อข้าราชการชั้นผู้น้อยมีนักการเมืองหนุนหลัง ทุกคนก็กลัว ข้าราชการที่เป็นคนดีก็ไม่ได้รับการสนับสนุน อย่างคุณสุภา ปิยะจิตติ รองปลัดกระทรวงการคลัง ที่ออกมาเปิดเผยข้อมูลข้อเท็จจริงเรื่องจำนำข้าว ถามว่าเป็นคนดีไหม เป็นคนดี แต่ข้าราชการคนอื่นเขาก็ไม่เอาด้วย เวลานี้ก็เหมือนหัวเดียวกระเทียมลีบ เป็นคนดีแล้วต้องโดนอย่างนี้เหรอ แล้วถามว่าข้าราชการชั้นผู้น้อยที่วันนี้เป็นเด็กนักการเมือง พอโตขึ้นมาเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่จะทำอะไรได้ นอกจากรับใช้นักการเมือง ระบบมันก็เลยเสียหายมาก”
นางเบญจา หลุยเจริญ เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนที่สุด ที่เป็นข้าราชการที่ใกล้ชิดการเมืองแล้วได้ดี ไต่เก้าอี้ขึ้นสูงเรื่อยๆ จากเจ้าหน้าที่กรมสรรพสามิตธรรมดา ขึ้นเป็นอธิบดีกรมศุลกากร และล่าสุดเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เมื่อเดือนมิถุนายน 2556 สดๆ ร้อนๆ หน้าที่สำคัญของเบญจา ไม่ใช่แค่เพียงดูเรื่องภาษี แต่ยังไปนั่งเป็นประธานดูแลเรื่อง “หวยบนดิน” ที่ พ.ต.ท.ทักษิณยังจับไม่ปล่อย
ส่วนข้าราชการระดับ “ผู้ว่าฯ” เอง ก็มีไม่น้อยที่ประกาศตัวเป็นคนของฝ่ายการเมือง ล่าสุดก็มีการจัดงาน “วันโคราชรวมพลังคนโคราช รัก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีประเทศไทยคนที่ 23 นักสู้ผู้ยิ่งใหญ่ประชาธิปไตยกินได้” เมื่อวันที่ 28 ก.ค. 56 โดย นายวินัย บัวประดิษฐ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา
ออกหน้ารับใช้กันแบบไม่อายฟ้าอายดิน!
ส่วนกลุ่มทุนก็ต้องพึ่งนักการเมือง เพราะต้องรักษาสถานะให้ธุรกิจตัวเองอยู่รอด เพราะผู้มีอำนาจทำให้กลุ่มทุนมีปัญหาได้ ดังนั้นในภาคธุรกิจไทยปัจจุบันก็ค่อนข้างไปในลักษณะผูกขาด มีแต่กลุ่มทุนใหญ่สายป่านเชื่อมถึงนักการเมืองที่มีอำนาจเท่านั้นที่จะอยู่รอด ธุรกิจที่ไม่เชื่อมการเมืองก็ถูกทำลายไปต่อเนื่อง ไม่ก็ทำให้อ่อนเปลี้ยลง
“ทหาร” เปลี้ย!ซ้ำรอยรัฐตำรวจ
แหล่งข่าวด้านความมั่นคงกล่าวว่า ที่น่าเป็นห่วงอีกประการคือ เรื่องของสถาบันทหาร ตอนนี้ตนได้พูดกับผู้ใหญ่แล้วว่า ณ วันใดที่วัฒนธรรมองค์กรของทหารเปลี่ยนไปเหมือนตำรวจ ประเทศชาติจะอันตรายอย่างมาก
ปัจจุบันเป็นที่ชัดเจนแล้วว่า รัฐตำรวจนั้น ถูกการเมืองเข้าแทรกแซงด้วยการส่งคนของตัวเองคุมทุกหน่วย การแต่งตั้งโยกย้ายที่เอาแต่พวกพ้อง ก็ทำให้เป็นระบบบุญคุณต่างตอบแทน ตำรวจที่ได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายการเมืองก็ต้องตอบแทนฝ่ายการเมือง เป็นการรับใช้ตัวบุคคล ไม่ได้รับใช้คนในประเทศชาติอีกต่อไป ขณะนี้หลายฝ่ายก็จับตามองสถาบันทหารที่เป็นเสาหลักหนึ่งของประเทศ แล้วก็พบว่าอีกไม่นานอาจมีวัฒนธรรมองค์กรเดียวกับตำรวจ อยู่ใต้ปีกนักการเมืองเบ็ดเสร็จเช่นกัน
“ความมั่นคงของชาติต้องมาก่อนตัวบุคคล บุคคลต้องเป็นเรื่องรอง”
เห็นได้ชัดคือกรณี “มีวันนี้เพราะพี่ให้” ของ พ.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ที่ชัดเจนว่าตำแหน่งนี้ ใครเป็นคน “จัดให้” เพราะถึงขนาดนั่งเครื่องบินไปให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ติดยศให้ ทั้งๆ ที่พ.ต.ท.ทักษิณ อยู่ในสถานะนักโทษ แสดงให้เห็นเลยว่า พ.ต.ท.คำรณวิทย์ ไม่ได้แคร์สังคมที่จะต่อต้าน ไม่ได้ให้ราคาใครอื่น นอกจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ที่มีบุญคุณท่วมหัว แล้วก็แสดงตัวว่ายินดีรับใช้อย่างเต็มที่ ล่าสุดก็เรียกระดมกำลังตำรวจนครบาลกว่า 20 กองร้อย จำนวน 3 พันนายพร้อมอาวุธครบมือเพื่อดูแลกลุ่มผู้ชุมนุมที่ต่อต้านระบอบทักษิณ
ชนเป็นชน! “ผมทำเพื่อนาย”
ขณะที่ “นายธาริต เพ็งดิษฐ์” ก็งามหน้าไม่แพ้ หลังจากยอมรับว่า “ผมมีสีเดียว” คือสีข้าราชการที่พร้อมทำตามคำสั่งรัฐบาล ล่าสุดก็กล่าวอ้างถึงนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ว่ามีสถานะเป็น “ประมุข” ประเทศ ทั้งๆ ที่ประเทศไทยปกครองโดยระบอบประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เวลานี้แม้ออกมาแก้ต่างว่าคำว่าประมุขนั้น กล่าวตามหลักรัฐศาสตร์ของการบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ กระแสสังคมก็ “ยี้” จนเรียกว่าหยุดไม่อยู่
นิติบัญญัติในมือ “ทักษิณ”
สำหรับโครงสร้างนิติบัญญัติเอง โดยเมื่อ พ.ต.ท.ทักษิณมีอำนาจทางการเมือง พ.ต.ท.ทักษิณพยายามที่จะเป็นรัฐบาลพรรคเดียวและสำเร็จในการเลือกตั้งครั้งที่ 2 ที่ได้ ส.ส.มานั่งในสภาฯ มากถึง 372 เสียง จึงทำให้เห็นภาพชัดว่าฝ่ายบริหารมีอิทธิพลต่อฝ่ายนิติบัญญัติอย่างมาก
“การมีน้อยพรรคเป็นเรื่องที่ดีมากเพราะมีความมั่นคงทางการเมือง แต่ข้อเสียคือขัดหลักรัฐศาสตร์สำคัญไปหลักหนึ่งคือเรื่องของ Balance of power ที่ถ้าทำไม่ได้ประเทศชาติก็เสียหาย หลังๆ จึงเห็นภาพชัดว่าฝ่ายบริหารมีการใช้อำนาจเกินขอบเขตหลายเรื่อง ซึ่ง ส.ส.หรือผู้อยู่ใต้อำนาจไม่สามารถขัดใจผู้มีอำนาจได้เลย ไม่เช่นนั้นก็จะเดือดร้อนระยะยาว เพราะไม่ได้รับการส่งตัวลงสมัครเลือกตั้ง รวมถึงเงินทุนในการไปใช้ในการเลือกตั้งจำนวนมากด้วย” แหล่งข่าวด้านความมั่นคง กล่าว
อย่างไรก็ดี สิ่งที่ปรากฏให้เห็นเด่นชัด ก็คือแม้ พ.ต.ท.ทักษิณไม่ได้กลับมา ประเทศไทยยังวุ่นวายขนาดนี้ ถ้าเมื่อไรที่ พ.ต.ท.ทักษิณกลับมาประเทศไทย เรื่องของการบริหาร “อำนาจ” ของตัวเองให้มากขึ้น ด้วยการส่งเสริมระบบอุปถัมภ์ทำลายระบบการบริหารโครงสร้างประเทศ และคุมอำนาจนิติบัญญัติเบ็ดเสร็จด้วยคะแนนเสียงส่วนมากในสภาฯ ต่อไปเช่นนี้เรื่อยๆ แล้ว
ประเทศไทยก็มีแนวโน้มพังอย่างเดียว!
เพราะระบอบทักษิณกำลังเดินหน้า กฎหมายอะไรที่ฝ่ายการเมืองอยากให้ผ่าน ก็ต้องผ่านให้ได้ เช่น พ.ร.บ.นิรโทษกรรมที่กำลังอยู่ในขั้นตอนของการพิจารณาในรัฐสภาขณะนี้ แม้ฝ่ายต้าน ฝ่ายค้านจะค้านหัวชนฝา แต่ก็มีเพียง 159 เสียง สู้เสียงพรรคเพื่อไทยและพันธมิตรที่รวมแล้ว 300 เสียง ยังไงก็แพ้อยู่ดี ไม่ว่าจะวาระ 1 หรือวาระ 2-3 ทายได้ไม่ยาก
โอกาสที่ พ.ต.ท.ทักษิณจะกลับมาเพราะ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมนี้ก็เป็นไปได้สูง แม้ว่าตอนแรกจะอ้างว่าเพื่อปลดล็อกให้กับภาคประชาชน โดยใช้ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมของนายวรชัย เหมะ ที่ไม่รวมแกนนำ แต่ท้ายที่สุดแล้วหลายฝ่ายยังเชื่อมั่นว่า ในขั้นตอนของการแปรญัตติจะมีการซุกชื่อของ พ.ต.ท.ทักษิณ เข้าร่วมด้วย
ดังนั้นเป้าหมายแท้จริงของการนริโทษกรรม ก็คือการเปิดประตูพา พ.ต.ท.ทักษิณ กลับบ้านนั่นเอง!
ปัญหายากจนรุนแรง-ระบบการศึกษาห่วย!
ขณะเดียวกัน ศ.ดร.สมบัติยังอธิบายว่า เป็นเรื่องน่าเสียดายที่ปัญหาประเทศเชิงโครงสร้างสังคมหลายๆ อย่างที่ควรถูกแก้ไขแต่ก็ไม่ได้ให้ความสำคัญที่จะแก้ปัญหาเลยในหลายเรื่อง ได้แก่
เรื่องความยากจน รัฐบาลทักษิณ 1 บอกว่าจะแก้ปัญหาความยากจนใน 5 ปี แต่ปรากฏว่าวันนี้ชัดเจนแล้วว่านอกจากการแก้ปัญหาความยากจนจะไม่ได้ทำอย่างจริงจังแล้ว ยังทำให้เกิดหนี้ครัวเรือนจำนวนมากถึง 1.8 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นจำนวนเงินสูงมาก ขณะที่ชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกร และภาคแรงงานก็ไม่ได้ดีขึ้น มีเพียงคนกลุ่มเดียวที่รวยขึ้น ทำให้สังคมไทยมีช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจนเพิ่มมากขึ้น
เรื่องปัญหาการศึกษาไทยก็นับว่าเป็นเรื่องใหญ่ที่ค่อนข้างล้มเหลว คุณภาพการศึกษาไทยอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ ดูได้จากผลสอบโอเน็ตทั่วประเทศก็มีคะแนนเฉลี่ยนอยู่ที่แค่ประมาณ 30% ขณะที่การลงทุนด้านการศึกษา โดยเฉพาะงบฯ การวิจัยและพัฒนาก็มีน้อยมากคือมีเพียง 0.2% ของ GDP ยิ่งเทียบกับประเทศญี่ปุ่นที่มีงบฯ การวิจัยอยู่ที่ 35% ก็ยิ่งเห็นชัดว่าประเทศไทยไม่ได้ให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนา
ขณะที่การสาธารณสุขของประเทศในการทำ 30 บาทรักษาทุกโรคก็เป็นเรื่องที่ประชาชนได้ประโยชน์แต่ก็ทำให้บุคลากรทางการแพทย์ และพยาบาลลาออกจากระบบราชการมากขึ้น จนขาดแคลน เช่นเดียวกับเรื่องยาเสพติดที่คนเสพยาก็ยังมีจำนวนมาก
“เรื่องที่รัฐบาลควรจะทำแต่ไม่ทำนั้นมีมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ พ.ต.ท.ทักษิณก็ยังเลือกวิธีการทำให้ระบบโครงสร้างของประเทศเปลี่ยนไปรับใช้การเมืองมากขึ้น เมื่อคุณยิ่งลักษณ์มาก็เป็นการสืบทอดสิ่งต่างๆ ที่ได้ทำไว้ตั้งแต่แรกเท่านั้น”
ศ.ดร.สมบัติกล่าวว่า ประเทศชาติไม่ควรจะบริหารให้เป็นสามเหลี่ยมมุมตั้งอีกแล้ว ที่จะให้ฝ่ายบริหารที่มีจำนวนน้อยอยู่บนสุด และฐานล่างสุดที่เป็นคนชั้นล่างมีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ แต่ต้องเปลี่ยนการบริหารให้เป็นแบบสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัดคือลดชนชั้นสูง และชนชั้นล่าง ขยายฐานชนชั้นกลางให้เป็นฐานที่ใหญ่ที่สุด
แต่อย่างไรก็ดี เรื่องนี้ดูเหมือนจะเป็นเรื่องยาก!
2 ปียิ่งลักษณ์เหลว-ใครฆ่า “ชิปปิ้งหมู-เอกยุทธ”
แหล่งข่าวด้านความมั่นคงกล่าวว่า ระบอบทักษิณเป็นเรื่องนามธรรม ประชาชนมองไม่ออกว่ารูปธรรมของคำว่าเผด็จการประชาธิปไตยเป็นอย่างไร หรือทรราชเสียงข้างมากเป็นอย่างไร ดังนั้นต้องทำให้ประชาชนเห็นให้ได้ว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นกับประเทศไทย และอะไรจะเกิดขึ้นเมื่อปล่อยให้ระบอบทักษิณเดินหน้า โดยเฉพาะประเด็นที่สำคัญ 2 เรื่องคือ
เรื่องแรกคือ ผลงานของรัฐบาลยิ่งลักษณ์เห็นได้ชัดว่าล้มเหลวสูงมากถึง 8 ใน 10 แต่ละโครงการกำลังทำไม่ได้ และทำให้ประเทศชาติเสียหายอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน โดยเฉพาะโครงการรับจำนำข้าว โครงการรถคันแรก ฯลฯ
เรื่องต่อมาคือ เรื่องการคุกคามสิทธิเสรีภาพของประชาชน ตั้งแต่การแบนละครเหนือเมฆ 3 มาจนถึงการคุมโปรแกรม Line เพื่อความมั่นคง ซึ่งประเด็นเหล่านี้มีแนวโน้มเป็นประเด็นการคุกคามของภาครัฐต่อประชาชนที่ใหญ่ขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ขณะที่กรณีนายเอกยุทธ อัญชันบุตร สังคมต่างตั้งข้อสงสัยไว้แต่แรกว่าเป็นการลอบสังหารของกลุ่มคนมีสีและเป็นมืออาชีพ เมื่อทนายสุวัตร อภัยภักดิ์ ออกมาแถลงล่าสุดว่า บอล หนึ่งในทีมลอบสังหารนายเอกยุทธเปิดปากสารภาพแล้วว่าเป็นฝีมือคนมีสี ยิ่งแสดงให้เห็นเด่นชัดว่า สิ่งที่สังคมสงสัยนั้นเป็นเรื่องจริง ทีนี้ก็ต้องย้อนดูคดีต่างๆ ที่เกิดขึ้นสมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ตั้งแต่คดีชิปปิ้งหมู เป็นต้นมา แสดงว่าผู้มีอำนาจกลุ่มหนึ่งเมื่อไม่พอใจใครก็มีการจัดการตามระดับการขัดขวาง ตั้งแต่ตีหัว อุ้ม ยันลอบสังหารหรือไม่
“ตอนนี้ปฏิเสธไม่ได้แล้วว่ามันเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง คุยกับใคร ผู้หลักผู้ใหญ่ก็อึดอัดใจกันหมด เกิดมาในชีวิตไม่เคยเห็นบ้านเมืองแย่ขนาดนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นการคุกคามทั้งสิทธิการรับรู้ของประชาชน เสรีภาพการแสดงความคิดเห็น และเสรีภาพของการมีชีวิตอยู่ที่ปฏิญญาสิทธิมนุษยชนและรัฐธรรมนูญของไทยก็เน้นตรงนี้มาก แต่ปรากฏว่าคนที่คุมอำนาจอยู่กลับไม่ได้สนใจที่จะบริหารงานตามหลักการประชาธิปไตยเลย ทั้งๆ ที่เป็นคนเรียกร้องประชาธิปไตย”
บ้านป่าเมืองเถื่อนยิ่งกว่ายุคไหนๆ
ดังนั้นอย่าแปลกใจ ที่ใครต่อใครก็ต้อง “ซูฮก” พินอบพิเทาเข้าหาจุดศูนย์กลางของอำนาจคือ พ.ต.ท.ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์ เพราะจะได้ดี และไม่เสี่ยงตาย!
อีกทั้งการที่ พ.ต.ท.ทักษิณ และนางสาวยิ่งลักษณ์ คุมอำนาจการเป็นรัฐบาลต่อเนื่องมา ก็ยังมีการทำให้กลุ่มคนสนับสนุนหรือกลุ่มคนเสื้อแดงมีความเข้มแข็งขึ้นมาก โดยเฉพาะมีความพยายามใช้อำนาจรัฐไปสนับสนุนในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นงบประมาณลงพื้นที่โดยผ่าน ส.ส. หรือแม้กระทั่งเรื่องเล็กๆ น้อยๆ อย่างถุงยังชีพในช่วงวิกฤตน้ำท่วม ยังมีการเลือกที่รักมักที่ชัง คนเสื้อแดงได้รับการช่วยเหลือก่อน ทั้งๆ ที่ตัวเองเป็นรัฐบาล
ขณะที่กลุ่มต่อต้านพลังก็ลดลงจากการที่แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยซึ่งเป็นกลุ่มที่มีพลังมากที่สุด แกนนำก็ติดคดีความมากมาย ขณะที่กลุ่มอื่นๆ ไม่มีศักยภาพในการนำ พลังของกลุ่มต่อต้านวันนี้จึงค่อนข้างอ่อนแอกว่าข้าง พ.ต.ท.ทักษิณ
ซ้ำร้าย การเลือกตั้งที่แบ่งขั้วการเมืองชัดเจน และการที่ พ.ต.ท.ทักษิณยังคุมเสียงส่วนมากได้ เพราะ ส.ส.ในภาคอีสานและเหนือยังเป็นฐานคะแนนใหญ่ เลือกตั้งครั้งหน้า พ.ต.ท.ทักษิณก็มาอีก
โอกาสที่จะต้าน พ.ต.ท.ทักษิณคงไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องอาศัย “พลังประชาชน” ที่เข้มแข็งมากพอเท่านั้น!
แต่การที่ พ.ต.ท.ทักษิณ จะอาศัยความได้เปรียบในเรื่องนี้แล้วกลับเข้ามาในประเทศไทยนั้น ก็ไม่ใช่เรื่องที่ง่ายอย่างที่คิดเหมือนกัน
“พ.ต.ท.ทักษิณกลับมาได้ แต่ต้องคิดให้ดีว่าในเมื่อบ้านเมืองมีความขัดแย้งของคน 2 กลุ่มชัดเจน การกลับมาก็มีแต่ทำให้ความขัดแย้งรุนแรงขึ้น กระทั่งเกิดการกระทบกระทั่งกันได้ คนพอใจก็ออกมาหนุน คนไม่พอใจจะออกมาต้าน ถ้ากลับมาแล้วมั่นใจว่าคุมตำรวจได้หมด จะใช้ตำรวจมาคุมสถานการณ์ ก็ต้องมีการปราบประชาชน เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นแน่ พ.ต.ท.ทักษิณคิดว่าจะกลับมาได้ง่ายๆ กลับมามีภาพเป็นพระเอก อยู่แบบฮีโร่เหรอ มันไม่ง่ายขนาดนั้น” แหล่งข่าวด้านความมั่นคง ระบุ
อย่างไรก็ดี แม้สังคมจะมีความเคลือบแคลงใจในตัว พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ว่าให้ความช่วยเหลือนักโทษหนีคดี หรือ /และ อยู่ข้าง พ.ต.ท.ทักษิณหรือไม่? ถึงได้เกียร์ว่างในหลายๆ เรื่อง แต่ต้องไม่ลืมว่ากองทัพไทยไม่ได้มีแค่พลเอกประยุทธ์คนเดียว
อาจมีนายทหารคุมกำลังอีกหลายต่อหลายนาย หลายกองพัน ที่ไม่เอา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และพร้อมออกมาปกป้องประเทศก็ย่อมจะเกิดขึ้นได้เช่นกัน!