ปมปลด ผอ.อภ.เป็นเหตุ “ประดิษฐ-แพทย์ชนบท” เห็นตรงตั้งคณะทำงานตรวจผลการสอบ “หมอวิทิต” ดึงตัวแทนทุกฝ่ายดูหลักฐาน ด้าน รมว.สธ.ยันไม่แทรกแซง สปสช.เจอ “หมอเกรียงศักดิ์” ควักหลวงปู่ทวดรุ่นผงตะไบทองท้าให้สาบาน ลั่นเคลียร์กัน 6 มิ.ย.ผลต้องพอใจ ขู่ก่อม็อบหน้าบ้านนายกฯ ด้าน รพศ./รพท.เตรียมขึ้นป้ายหนุน สธ.เต็มที่
วันนี้ (5 มิ.ย.) เมื่อเวลา 11.00 น. ที่สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) นครบาล ประมาณ 1,000 คน เดินทางมามอบดอกไม้เพื่อให้กำลังใจ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และสนับสนุนนโยบายการจ่ายค่าตอบแทนบุคลากรสาธารณสุขเป็นแบบเหมาจ่ายผสมผสานแบบตามผลปฏิบัติงาน (P4P : Pay for Performance) โดย นพ.ประดิษฐ ได้ลงมารับดอกไม้ด้วยตนเอง พร้อมกล่าวของคุณ อสม.นครบาล
จากนั้น เวลา 11.30 น. นพ.ประดิษฐ ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนถึงการหารือนอกรอบร่วมกับเครือข่ายเพื่อความเป็นธรรมในระบบสุขภาพ ประกอบด้วย ชมรมแพทย์ชนบท เครือข่ายผู้บริโภค เครือข่ายผู้ป่วย และสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การเภสัชกรรม (อภ.) และตัวแทนฝ่ายรัฐบาลคือ นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี โดยมี พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) เป็นคนกลาง ซึ่งเป็นการหารือในรายละเอียดตามข้อเสนอทั้ง 16 ข้อของเครือข่ายฯ ก่อนที่จะนำเสนอในการประชุมเชิงปฏิบัติการร่วมกัน (เวิร์กชอป) อย่างเป็นทางการอีกครั้งในวันที่ 6 มิ.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล
นพ.ประดิษฐ กล่าวว่า ในการประชุมมีการตกลงกันว่า ข้อเสนออะไรที่รับได้ก็รับ อะไรที่รับไม่ได้ก็ต้องฟังด้วยเหตุผล และหาข้อมูลมาเพิ่มเติม ซึ่งในการหารือตนได้ตอบข้อสงสัยของชมรมแพทย์ชนบทหลายเรื่อง ทั้งเรื่องระบบร่วมจ่าย (Co-Payment) การเสนอให้ยกเลิกการเรียกเก็บเงิน 30 บาท การแทรกแซงสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่งไม่เป็นความจริง อย่างการตั้งรองเลขาธิการ สปสช.ก็ไม่ใช่หน้าที่ตน เป็นหน้าที่เลขาธิการ สปสช. ส่วนแนวทางในการย้าย สปสช.มาอยู่ที่ สธ.จริงๆ น่าจะเป็นข้อดี เพราะ สปสช.ต้องติดต่องาน สธ.มากกว่าหน่วยราชการอื่น หากสำนักงานฯ มองว่าไม่ดีก็เสนอความเห็นมา แต่เรื่องนี้ตนไม่ได้เสนอ เพราะ สปสช.เสนอมาให้ สธ.ช่วยขอเรื่องงบ หากไม่ต้องการก็คืนงบได้
นพ.ประดิษฐ กล่าวอีกว่า ส่วนเรื่องการปลด นพ.วิทิต อรรถเวชกุล ออกจากผู้อำนวยการ อภ.ยืนยันว่าไม่ใช่เรื่องการทุจริต แต่มาจากการขาดประสิทธิภาพในการทำงาน แต่เมื่อยังมีข้อสงสัย ในการหารือจึงมีความเห็นร่วมกันว่าจะให้ตั้งคณะทำงานประมาณ 4-5 คน ซึ่งมีตัวแทนทั้งฝ่ายสนับสนุน นพ.วิทิต สธ. สื่อมวลชน และ นพ.วิทิต เอง เพื่อดูผลของการสืบสวนข้อเท็จจริงทั้งหมดของคณะกรรมการที่ สธ.ตั้ง และของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ว่ามีหลักฐานชัดเจนไม่เลื่อนลอย เป็นการอนุญาตให้ดูข้อมูลได้เป็นกรณีพิเศษ โดยผู้ที่เข้าไปดูหลักฐานสามารถตั้งข้อสงสัยได้ แต่ไม่สามารถนำเอกสารกลับไปได้ มีเพียง นพ.วิทิต เท่านั้นที่มีสิทธินำไปได้ และจะต้องลงนามรับเอกสารไว้เป็นหลักฐานด้วย ซึ่งขณะนี้ตนกำลังรออยู่ว่าจะมีการเสนอรายชื่อใครมาบ้าง
“ประเด็นไล่ผม ผมมองว่ายังไม่มีหลักฐานที่มีเหตุผลเพียงพอ หากจะให้พ้นจากตำแหน่งต้องนำหลักฐานข้อมูลมามากกว่านี้ ซึ่งผมพูดเสมอว่าหากผมเป็นหมอเอกชน ก็ต้องมีข้อมูลว่าผมเป็นหุ้นส่วนจากใคร แต่ผมสามารถชี้แจงเหตุผลได้ทุกเรื่อง ส่วนเรื่องที่หลายพื้นที่ยังไม่เข้าใจ P4P ได้กำชับไปยัง นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา รองปลัด สธ. ให้จัดประชุมชี้แจงทุกภาคให้เพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ ยืนยันว่า P4P จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำในเรื่องค่าตอบแทนได้” รมว.สาธารณสุข กล่าว
วันเดียวกัน เมื่อเวลา 14.30 น. นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท แถลงข่าวภายหลังการเจรจานอกรอบด้วยเช่นกัน ว่า หัวข้อเจรจาเมื่อวันที่ 4 มิ.ย.แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.ประเด็นระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่องระบบร่วมจ่ายได้ข้อสรุปว่าจะไม่มีการนำมาใช้ ส่วนการยกเลิก 30 บาทรักษาทุกโรคที่ทำลายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ที่ประชุมยังไม่สรุป แต่นายสุรนันทน์ขอให้เครือข่ายฯ ส่งรายละเอียดหลักฐานว่าไม่เหมาะสมอย่างไรและจะพิจารณาอีกครั้ง ขณะที่เรื่องบอร์ด สปสช.จะโอนเงินด้านสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรคให้กับ 12 เขตบริการ ก็ยังไม่มีความชัดเจน ซึ่งทางเครือข่ายฯไม่ต้องการให้ สธ.แย่งบทบาทจาก สปสช.เพราะไม่ไว้ใจหากต้องนำเงินนี้ไปให้ผู้ให้บริการ ส่วนการแทรกแซงการทำงานของ สปสช.อย่างการสั่งตั้งรองเลขาธิการ สปสช.2 คน ของ นพ.ประดิษฐ ก็มีการปฏิเสธว่าเป็นอำนาจของเลขาธิการ สปสช.แต่เราไม่เชื่อ จึงขอให้ นพ.ประดิษฐ สาบานต่อหน้าหลวงปู่ทวดรุ่นผงตะไบทอง แต่ นพ.ประดิษฐ ไม่กล้า
2.ประเด็น อภ.ที่กลุ่มคนรักหลักประกันฯต้องการให้ความเป็นธรรมกับ นพ.วิทิต ก็จะมีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบเรื่องนี้ ทั้งวัตถุดิบยาพาราฯ ความล่าช้าโรงงานวัคซีน ฯลฯ ซึ่งเครือข่ายฯ เตรียมเสนอรายชื่อเข้าไปร่วมในทีมประมาณ 7 คน โดยเป็นคนที่มีความรู้ความสามารถ ได้รับการยอมรับจากสังคม เช่น อาจารย์มหาวิทยาลัย ที่จะเป็นนักวิชาการมาตรวจสอบ บุคคลที่มีความเข้าใจเกี่ยวกับโรงงานวัคซีนและเข้าใจประวัติอย่างดี ที่สำคัญต้องให้ความเชื่อมั่นและเป็นกลาง ส่วนประธานคือ นพ.บรรลุ ศิริพานิช จะไม่มีประธานไม่ได้ เพราะชัดเจนว่าต้องดำเนินการคนที่ให้ร้าย อภ.ทั้งนี้ จะเสนอรายชื่อต่อนายสุรนันทน์ วันที่ 6 มิ.ย.ส่วนประเด็นการโอนเงินจาก อภ.75 ล้านบาทไปให้ สปสช. และให้ สธ.ดำเนินการ แม้จะออกมาพูดว่าไม่จริง แต่พวกตนไม่เชื่อ
และ 3.ประเด็น P4P ก็พูดในหลักการว่ามีปัญหาอะไรบ้าง และหลักการในการสร้างแรงจูงใจให้มีแพทย์ในชนบทมากขึ้น ประชาชนเข้าถึงบริการ ซึ่งการตัดค่าเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายจะทำให้ระบบยากขึ้น แต่ นพ.ประดิษฐ บอกว่าเสนอแค่นโยบายเท่านั้น ไม่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติ แต่พร้อมรับผิดชอบ ส่วนปลัด สธ.ถือว่าตระบัดสัตย์ เพราะเคยพูดกับโรงพยาบาลชุมชนหลายเวทีว่า ระบบสร้างแรงจูงใจ 3 กลุ่ม คือ ฐานเงินเดือน/เงินประจำตำแหน่ง แรงจูงใจให้ทำงานในพื้นที่ขาดแคลน และ P4P ต้องแยกจากกัน แต่ข้อเท็จจริงบอกว่าได้ตัดเงินเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายในเฟสที่ 2 หมดไป คือยอมยอมรับว่าแบ่งเป็นเฟส ถือว่าตระบัดสัตย์ เรียกว่า สธ.พยายามบังคับและสร้างข้อมูลหลอกสังคม โดยสั่งให้ผู้ตรวจฯรายงานข้อมูลว่า มี รพช.ต่างๆดำเนินการแล้วกว่าร้อยละ 94 ซึ่งไม่เป็นความจริง ไม่มี รพช.ใดดำเนินการเลย แถมร้อยละ 5 ถูกแกมบังคับให้เช็กรายงานว่าทำได้ เช่น รพ.กรงปินัง จ.ยะลา
“P4P เป็นยาพิษของ รพช.เราไม่ทำแน่นอน นอกจากนี้ เรื่องแบ่งพื้นที่ ขอให้ตั้งคณะกรรมการแบ่งพื้นที่ใหม่ แต่ยังไม่ได้ข้อสรุป ต้องหารืออีกวันที่ 6 มิ.ย.และหากวันที่ 6 มิ.ย.ผลการเจรจายังไม่ได้รับความน่าพอใจก็จะประท้วงวันที่ 20 มิ.ย.ที่บ้านนายกรัฐมนตรีแน่ ทั้งนี้ ข้อเสนอจะเน้นเรื่องสาระและตัวบุคคล โดยจะยื่นเหตุผลที่ นพ.ประดิษฐ ไม่สมควรเป็น รมว.สธ.ให้กับนายกฯด้วย ส่วนสาระที่ยังไม่ชัดเจนก็ต้องคุยให้ได้ข้อสรุปคือ P4P การรวมอำนาจของ สธ.จาก สปสช.และเรื่อง อภ. เมื่อตกลงได้ก็จะลงนามบันทึกข้อตกลง(เอ็มโอยู) ร่วมกัน” นพ.เกรียงศักดิ์ กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า วันที่ 6 มิ.ย.หากไม่ได้ข้อยุติ จะมีการวอล์กเอาต์หรือไม่ นพ.เกรียงศักดิ์ กล่าวว่า หากฝ่ายตรงข้ามมีการป่วนการเจรจา ไม่ได้ข้อยุติก็อาจจะทำ เพราะได้ข่าวว่าอาจมีกลุ่มมาสนับสนุนและค้านพวกตนด้วย
นพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ ผอ.รพ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช และอดีตประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า นโยบายที่ สธ.ประกาศใช้และมีความผิดพลาด อย่าง P4P ควรมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงด้วย เพราะเป็นการใช้อำนาจแบบไม่มีส่วนร่วม มีการแกมบังคับให้ รพช.ปฏิบัติ และยังทำให้เกิดความแตกแยกในองค์กร แบบนี้เหมาะสมกับตำแหน่งบริหารหรือไม่ นอกจากนี้ ยังรวมถึงกรณีข้อสงสัยเรื่องผู้บริหาร สธ.อาจหมิ่นเหม่การทุจริตเรื่องเครื่องตรวจน้ำตาลให้ อสม. เพราะไม่มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบอะไรเลย หาก สธ.จริงใจก็ควรดำเนินการ
นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผอ.รพ.จะนะ จ.สงขลา กล่าวว่า ชมรมแพทย์ชนบทเครือข่ายภาคใต้ตอนล่าง มีข้อสรุปว่า นพ.ประดิษฐ หมดความชอบธรรม เราขอให้ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมช.สาธารณสุข เป็นรักษาการแทน เพราะอย่างน้อยเคยคุยกัน แต่ นพ.ประดิษฐ หมดศรัทธาแล้ว
ขณะที่ พญ.ประชุมพร บูรณ์เจริญ ประธานสมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลทั่วไป (สพศท.) กล่าวว่า หลังการประชุมร่วมกันของ 13 สมาคมและชมรมวิชาชีพในวงการสาธารณสุข มีความเห็นว่า รพศ.รพท.จะขึ้นป้ายเพื่อสนับสนุนนโยบาย รมว.สาธารณสุข เช่น P4P เพื่อแสดงให้เห็นว่ามีกลุ่มที่สนับสนุน สธ. โดยจะขึ้นป้ายหลังการหารือร่วมกัน 3 ฝ่าย วันที่ 6 มิ.ย.