xs
xsm
sm
md
lg

รัฐบาลเจ้าเล่ห์! ลดราคาจำนำแท้ที่จริงเลิกนโยบายทางอ้อม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ตัวแทนชาวนาเห็นพ้องลดราคารับจำนำเหมือนเลิกนโยบายจำนำข้าว สวดนโยบายรัฐบาลเปลี่ยนไม่ปรึกษา ชี้ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ใช่ความผิดชาวนา เผยจำนำข้าว 12,000 บาทได้เงินจริงปริ่มหมื่น หารือยื่นรัฐบาลขอราคาเดิม

หลังจากที่กระทรวงพาณิชย์ไม่สามารถสรุปหาตัวเลขผลขาดทุนจากโครงการรับจำนำข้าวในช่วงที่ผ่านมาได้ จนนายกรัฐมนตรีต้องมอบหมายให้ นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี มาดูแลในเรื่องดังกล่าว โดยยอมรับตัวเลขของคณะอนุกรรมการปิดบัญชี กระทรวงการคลังว่า การรับจำนำข้าวเปลือกนาปี 2554/55 และนาปรัง 2555 มีผลขาดทุนประมาณ 1.36 แสนล้านบาท เมื่อ 18 มิถุนายน 2556

จากนั้นในช่วงเย็น นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้ออกมาแจ้งถึงผลประชุมคณะกรรมการนโยบายข้าว (กขช.) นัดพิเศษว่า ที่ประชุมได้มีมติให้ปรับปรุงรายละเอียดโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลฤดูกาลผลิตนาปรังปี 2556 ที่กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ โดยให้ปรับลดราคารับจำนำข้าวเปลือกเจ้า ความชื้น 15% จากราคา 1.5 หมื่นบาท/ตัน เหลือ 1.2 หมื่นบาท/ตัน โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 30 มิ.ย. 2556 เป็นต้นไป และยังจำกัดวงเงินในการนำข้าวเข้าสู่โครงการรับจำนำไม่เกินรายละ 5 แสนบาท

นอกจากนี้ กขช.ยังมอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงการคลังไปพิจารณาหาแนวทางและมาตรการช่วยเหลือในการลดต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรกร ส่วนการรับจำนำข้าวปีการผลิตปี 2556/57 ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ไปรวบรวมข้อมูล และจัดทำรายละเอียด ก่อนที่จะเสนอให้ กขช.ตัดสินใจอีกครั้ง จากนั้นได้มีการนำเสนอเรื่องดังกล่าวให้คณะรัฐมนตรีทราบ

ประพัฒน์สวดทำงานลวกๆ

ส่วนปฏิกิริยาของชาวนาในเรื่องนี้ต่างไม่เห็นด้วยกับการปรับลดราคาจำนำดังกล่าว โดยได้มีการหารือกันถึงทั้งในระดับจังหวัดและระดับภาค

นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติและประธานสภาเกษตรกรจังหวัดลำปาง กล่าวว่า ขณะนี้ชาวนาในหลายพื้นได้มีการหารือกันถึงการลดราคารับจำนำข้าวของรัฐบาล หากได้เรื่องอย่างไรคงจะทำบันทึกข้อหารือดังกล่าวถึงรัฐบาล

“การทำงานของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ท่านนี้ ดูลวกๆ เกินไป ควรมีความละเอียดรอบคอบมากกว่านี้ ถ้าทำงานละเอียดกว่านี้คงเกิดประโยชน์กับชาวนา อีกทั้งการปรับลดราคาจำนำลงมายังไม่มีมาตรการอื่นๆ เข้ามาเสริม อย่างเช่นมีเรื่องของเมล็ดข้าวพันธุ์ดีเข้ามา
สนับสนุนชาวนา “

ราคานี้อยู่ไม่ได้

ด้านชาวนาจังหวัดสุพรรณบุรี นายพรม บุญมาช่วย ประธานสหกรณ์การเกษตรเมืองสุพรรณบุรี กล่าวว่า จริงๆ แล้วราคารับจำนำไม่ควรต่ำกว่า 13,000 บาท เพราะเมื่อหักค่าความชื้นทั่วไปของข้าวที่อยู่ระหว่าง 20-25-27% ราคารับซื้อจะอยู่ที่ประมาณ 11,000 บาท ขณะที่ต้นทุนการทำนาต่อไร่ตกอยู่ที่ 5-6 พันบาทขึ้นอยู่กับพื้นที่ ที่สำคัญข้าว 1 ไร่สร้างผลผลิตได้แค่ 700-800 กิโลกรัมเท่านั้น ดังนั้นต้นทุนต่อตันย่อมสูงกว่า 6 พันบาท

ขณะเดียวกันยังมีปัญหาเรื่องของใบประทวนที่ล่าช้า เฉพาะที่จังหวัดสุพรรณบุรีกว่าจะได้เงินออกมาต้องใช้เวลา 2-3 เดือน ทั้งนี้เพราะข้าวสารมีอยู่เต็มโกดัง เมื่อข้าวสารส่งออกไม่ได้ ก็ต้องรอ ขณะที่ต้นทุนหรือภาระหนี้อื่นๆ ต่างวิ่งอยู่ตลอดเวลา

อีกทั้งระบบชลประทานในจังหวัดสุพรรณมีปัญหาเรื่องน้ำ เนื่องจากที่ผ่านมารัฐบาลเกรงว่าน้ำจะท่วมเหมือนปี 2554 ทำให้เร่งปล่อยน้ำออกมามาก จึงทำให้ช่วงนี้ไม่มีน้ำทำนาเหมือนแต่ก่อน

สำหรับราคารับประกันที่ 12,000 บาทต่อตัน กำหนดค่าความชื้นไว้ที่ 15% เมื่อหักค่าความชื้นปกติแล้วราคาที่ชาวนาจะได้รับน่าจะต่ำกว่า 1 หมื่นบาทต่อตัน เรื่องนี้หลายฝ่ายสอบถามกันว่าพอใจราคานี้หรือไม่ บอกได้เลยว่าไม่พอใจ และจะมีการหารือเรื่องนี้กันในส่วนของเครือข่ายชาวนาภาคกลางกันต่อไป

บัตรเครดิตชาวนา-ซ้ำเติม

นายวิชิต สำแดงเดช ประธานสหกรณ์ชาวนาวังทรายพูน จังหวัดพิจิตร กล่าวว่า ที่ผ่านมากับราคารับจำนำที่ 15,000 บาท ชาวนาก็รับไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วยอยู่แล้ว เมื่อหักค่าความชื้นแล้วจะรับเงินเพียง 11,700-12,900 บาท เพราะความชื้นของข้าวไทยส่วนใหญ่จะอยู่ที่ 25-27% ชาวนาไม่มีลานเป็นของตัวเองที่จะตากเพื่อลดความชื้น จึงต้องส่งให้กับโรงสี

ต้นทุนในการทำนาเฉลี่ยต่อไร่ไม่ต่ำกว่า 4 พันบาท เมื่อบวกกับค่าใช้จ่ายอื่นๆ แล้วจะสูงขึ้นอีก โดยทั่วไปจะอยู่ที่ประมาณ 5-6 พันบาทต่อไร่ ที่ผ่านมากว่าจะได้รับเงินจากการขายข้าวให้รัฐบาลอย่างที่พิจิตรต้องใช้เวลา 4-5 เดือน เพราะต้องตรวจสอบความถูกต้องจากกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน

ที่ผ่านมา ชาวนาบางรายก็ขายเพื่อเอาเงินสดที่ตันละ 8 พันกว่าบาท รายที่รับซื้อต่อก็เอาไปสวมสิทธิเข้าโครงการรับจำนำกินส่วนต่าง ทั้งหมดเกิดขึ้นจากความไม่ชัดเจนของนโยบายรัฐ

สำหรับการที่รัฐบาลกำหนดราคารับจำนำมาอยู่ที่ 12,000 บาท น่าจะมีปฏิกิริยาจากชาวนาแน่ แต่คงต้องรอดูท่าทีและการหารือระหว่างกันอีกครั้ง

ขณะที่บัตรเครดิตชาวนามีวงเงินของบัตรที่ 5 หมื่นบาท มีไว้เพื่อซื้อปัจจัยในการผลิตอย่างเช่นพันธุ์ข้าว ปุ๋ยหรือยาฆ่าแมลง แต่ต้องแลกกับการแบกหนี้ เพราะส่วนใหญ่ให้ระยะเวลาปลอดหนี้แค่ 1 เดือน หลังจากนั้นจะต้องเสียดอกเบี้ยใหักับ ธ.ก.ส.ร้อยละ 7 ในกระบวนการนี้ทาง ธ.ก.ส.จะเรียกเก็บเงินอีกร้อยละ 1 จากสหกรณ์ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วสหกรณ์ไม่มีรายได้อะไรจึงต้องผลักภาระส่วนนี้ลงไปให้กับสมาชิกอีกต่อหนึ่ง ขณะที่เงินจากการขายข้าวที่กว่าจะได้ต้องใช้เวลาหลายเดือน

ชาวนาขอหมื่นห้าตามเดิม

ส่วน นายประสิทธิ บุญเฉย นายกสมาคมชาวนาไทย กล่าวว่า เมื่อรัฐบาลปรับลดราคารับจำนำลงมาอยู่ที่ 12,000 บาท หักค่าความชื้นที่ 25-27% แล้ว ราคาที่ขายได้จะเฉียด 1 หมื่นบาทหรืออาจต่ำกว่าถ้าข้าวมีความชื้นสูง ราคานี้ชาวนาคงอยู่ไม่ได้

“เท่าที่พูดคุยกับชาวนาในพื้นที่ต่างๆ ราคารับจำนำที่ 12,000 บาท เขาไม่เอาแต่จะขอใช้ราคา 15,000 บาทตามเดิม เพราะไม่ใช่ความผิดของชาวนา สิ่งที่เกิดขึ้นรัฐบาลต้องเป็นคนรับผิดชอบ”

นายกสมาคมชาวนาไทย ระบุด้วยว่า จะมีการรวมตัวกันเพื่อทำหนังสือไปยื่นเรื่องต่อรัฐบาล เพราะชาวนาไม่ได้รับความเป็นธรรมทั้งจากค่าเช่านาและค่าแรงที่เพิ่มขึ้น เมื่อต้นทุนผลิตไม่ได้ลดลง แต่รัฐบาลกลับจะมาลดรายได้ของชาวนา และการตัดสินใจของรัฐบาลก็ไม่ได้มีการปรึกษาหารือกับตัวแทนของชาวนาแต่อย่างใด

ไม่ต่างเลิกจำนำ

จากการที่รัฐบาลปรับลดราคารับจำนำข้าวลงมาเหลือที่ตันละ 12,000 บาท ภายใต้เงื่อนไขความชื้นที่ 15% ขณะที่ระดับความชื้นของข้าวส่วนใหญ่อยู่ที่ระดับ 25-27% ย่อมทำให้ราคาขายจริงที่ชาวนาจะได้รับนั้นอยู่ในระดับบวก/ลบ 10,000 บาทต่อตัน ขณะที่ราคาขายข้าวให้กับพ่อค้าที่ไม่ผ่านโครงการรับจำนำอยู่ที่ราว 8,000-9,000 พันบาทต่อตัน

นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ กล่าวว่า หากขายในราคาตลาดปัจจุบันอยู่ที่ 9 พันกว่าบาท ขณะที่หากเข้าโครงการรับจำนำจะได้ราคาที่ดีกว่านิดหน่อย ดังนั้นเมื่อเปรียบเทียบกันระหว่างมีโครงการรับจำนำกับไม่มีโครงการนี้เรียกว่าแทบจะไม่มีผล

เช่นเดียวกับ นายพรม บุญมาช่วย ที่กล่าวว่า ตอนนี้ขายข้าวสดได้ที่ 9,500 บาท ถ้าไม่มีโครงการนี้ ราคาข้าวจะลงมาอยู่ที่ 8 พันกว่าบาท แต่หากยังมีเหตุการณ์เรื่องการได้เงินล่าช้าอยู่อย่างทุกวันนี้ ส่วนต่างที่ได้ราว 5 ร้อยบาทต่อตันนั้นแทบจะไม่มีอะไรแตกต่างกัน ทั้งนี้เพราะชาวนาบางรายมีภาระเรื่องหนี้สินและค่าใช้จ่ายที่จำเป็นอย่างอื่นอีก

“นโยบายนี้ดูไปก็เหมือนยาเสพติด ปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นไม่ใช่ความผิดของชาวนา รัฐบาลน่าจะไปแก้ปัญหาเรื่องทุจริตมากกว่า ไม่ใช่เกิดเรื่องขึ้นมาก็โยนมาที่ชาวนา เหมือนว่าเราถูกหลอกให้เลือกนักการเมือง แต่จะเงียบเฉยในเรื่องนี้คงไม่ได้”

ขณะที่นายกสมาคมชาวนาไทยมองเรื่องนี้ว่า ระหว่างมีโครงการรับจำนำที่ราคาใหม่กับไม่มีโครงการรับจำนำ ราคาขายข้าวที่ได้ตอนนี้ค่อนข้างสูสีกัน เหมือนกับไม่มึโครงการรับจำนำ

กำลังโหลดความคิดเห็น