ASTVผู้จัดการ - อดีต รมว.คลัง ยันปรับลดนโยบายรับจำนำข้าวเหลือ 1.2 หมื่นบาทต่อตันก็ยังไม่สมเหตุสมผล เพราะสูงกว่าราคาตลาด ชี้ต้องลงถึง 1 หมื่นถึงจะถูก มิฉะนั้นต้องปรับเป็นนโยบายประกันราคาหรือรัฐรับซื้อข้าวแทน ชี้เปิดช่องทุจริตต่อ นายกสมาคมชาวนาข้าวไทย โวยรับไม่ได้ลดราคารับจำนำ เพราะตั้งมาตรฐานความชื้นไว้สูง ต้นทุนพุ่ง
จากกรณีที่เมื่อช่วงเย็นวานนี้ (18 มิ.ย.) ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายข้าว (กขช.) นัดพิเศษได้มีมติให้ปรับปรุงรายละเอียดโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลฤดูกาลผลิตนาปรังปี 2556 ที่กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ โดยให้ปรับลดราคารับจำนำข้าวเปลือกเจ้า ความชื้น 15% จากราคา 1.5 หมื่นบาท/ตัน เหลือ 1.2 หมื่นบาท/ตัน โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 30 มิ.ย. 2556 เป็นต้นไป และยังจำกัดวงเงินในการนำข้าวเข้าสู่โครงการรับจำนำไม่เกินรายละ 5 แสนบาท และในช่วงเช้าวันนี้ (19 มิ.ย.) น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้เรียกประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดพิเศษที่ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล กรณีปัญหาในโครงการรับจำนำข้าว เพื่อหารือและรับมือกับการเปลี่ยนแปลงนโยบายดังกล่าวที่ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภา รวมทั้งรับทราบการปรับเปลี่ยนราคารับจำนำข้าวใหม่ พร้อมตั้งคณะทำงานหารือมาตรการป้องกันการประท้วงของชาวนา
ช่วงบ่ายวันนี้นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้โพสต์แสดงความเห็นต่อการปรับเปลี่ยนนโยบายรับจำนำข้าว โดยลดให้เหลือราคาจำนำ 12,000 บาทต่อตัน นั้นไม่ถูกต้อง เพราะหากจะเรียกว่าการจำนำ รัฐบาลต้องไม่รับจำนำข้าวเกินกว่าราคาตลาด มิฉะนั้นก็จะต้องเปลี่ยนนโยบายเป็นการประกันราคา หรือการรับซื้อข้าวเข้ารัฐแทน
ทั้งนี้ นายธีระชัยยังกล่าวด้วยว่า ตนเห็นว่าการลดราคารับจำนำที่สมเหตุสมผลควรลดราคาให้ต่ำกว่า 10,000 บาทต่อตัน ขณะที่ราคารับจำนำข้าวล่าสุดที่ ครม.พิจารณารับรองมีดังนี้ คือ ข้าวเปลือกเจ้า 100% ตันละ 12,000 บาท, ข้าวเปลือกเจ้า 5% ตันละ 11,840 บาท, ข้าวเปลือกเจ้า 10% ตันละ 11,680 บาท, ข้าวเปลือกเจ้า 15% ตันละ 11,360 บาท, ข้าวเปลือกเจ้า 15% ตันละ 11,360 บาท, ข้าวเปลือกเจ้า 25% ตันละ 11,040 บาท, ข้าวเปลือกปทุมธานี (42 กรัม) ตันละ 12,800 บาท, ข้าวเปลือกเหนียว 10% เมล็ดยาว (42 กรัม) ตันละ 12,800 บาท และข้าวเปลือกเหนียว 10% เมล็ดสั้น (40 กรัม) ตันละ 12,000 บาท
“ถ้าจะมีการลดราคาจำนำ ควรจะลดลงไปให้ต่ำกว่าราคาตลาด คือต่ำกว่า 10,000 บาท จึงจะเป็นการจำนำอย่างแท้จริง
ขณะนี้ ในขบวนการจำนำ มีการทำสัญญาให้ชาวนาเป็นลูกหนี้ ธ.ก.ส. แต่ก็เป็นสัญญาที่รู้กันอยู่แก่ใจ ว่าสุดท้ายก็จะไม่มีชาวนาคนใดมาชำระหนี้ ทุกคนจะใช้ทางเลือกยกข้าวให้แก่รัฐบาลทั้งนั้น โดยพฤตินัยก็คือ รัฐบาลซื้อข้าวจากชาวนานั่นเอง แต่แทนที่จะทำสัญญาซื้อแบบตรงๆ กลับเลี่ยงไปใช้สัญญาจำนำ แล้วให้ชาวนามีทางเลือก แทนที่จะชำระหนี้ สามารถยกข้าวให้แก่รัฐบาล
การทำสัญญาแบบอ้อมโลกอย่างนี้จึงเป็นช่องโหว่ให้มีการทุจริต และโรงสีสามารถกดดัน เพื่อลดราคาข้าวที่เสนอแก่ชาวนาได้ง่าย จึงควรมีการแก้ไขกติกา ห้ามมิให้รัฐบาลใด รับจำนำเกินกว่าราคาตลาด เพื่อให้เป็นการจำนำอย่างแท้จริง
ส่วนกรณีถ้าหากรัฐบาลใดประสงค์จะช่วยเหลือให้ชาวนาได้รับเงินสูงกว่าราคาตลาด หากไม่ใช้วิธีประกัน ก็ควรบังคับให้รัฐบาลต้องรับซื้อเข้าเป็นทรัพย์สินของรัฐแบบตรงๆ ในการนี้รัฐบาลจะต้องออกระเบียบราชการ เพื่อกำหนดขั้นตอนให้ชัดเจน ทำนองเดียวกับระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ หากผู้ใดไม่ปฏิบัติตามระเบียบจะได้มีการลงโทษได้เต็มที่ และข้าวที่เป็นทรัพย์สินของรัฐก็จะมีการดูแลกันตามที่ระเบียบราชการกำหนด” นายธีระชัยระบุผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ก Thirachai Phuvanatnaranubala
อย่างไรก็ตาม การปรับราคารับจำนำข้าวดังกล่าวของรัฐบาลก็เริ่มก่อให้เกิดเสียงคัดค้านจากกลุ่มชาวนาแล้ว โดยนายประสิทธิ์ บุญเฉย นายกสมาคมชาวนาข้าวไทย เปิดเผยว่า การปรับลดวงเงินในโครงการรับจำนำข้าวจาก 15,000 บาทต่อตัน เหลือ 12,000 บาทต่อตัน เป็นเรื่องที่รับไม่ได้ เนื่องจากมีการกำหนดความชื้นไว้ที่ร้อยละ 15 ซึ่งหากชาวนานำข้าวไปจำนำจะได้ราคาเพียง 9,000-9,500 บาทต่อตัน ถือว่าไม่คุ้มกับต้นทุนในการผลิต ทั้งนี้หากรัฐบาลปรับลดราคาลงมารับได้ที่ 10,000 บาทต่อตัน ที่ความชื้นร้อยละ 25-27 ชาวนาก็พอใจ
ส่วนการกำหนดให้รับจำนำครัวเรือนละไม่เกิน 500,000 บาท นั้นถือว่ารับได้ ขณะที่การใช้แนวทางการปรับลดต้นทุนคงเป็นเรื่องยาก เพราะที่ผ่านมารัฐบาลปรับขึ้นค่าแรง 300 บาทต่อวัน ทำให้ต้นทุนสูงขึ้น และรัฐบาลไม่สามารถควบคุมได้