xs
xsm
sm
md
lg

รบ.คอนเฟิร์มลดราคาจำนำข้าวไม่ขัดนโยบายรัฐ ยันชาวนายังได้กำไร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายธีรัตถ์ รัตนเสวี โฆษกรัฐบาล (แฟ้มภาพ)
ทีมโฆษกรัฐบาลดาหน้าแถลงจำนำข้าว เหลือแค่ตันละ 12,000 บาท จำกัดวงเงินรับไม่เกินครัวเรือนละ 5 แสน ยันเลขาฯ กฤษฎีกา ชี้ไม่ขัดนโยบายรัฐเหตุทำไปแล้ว ส่อเน้นปรับโครงสร้างเกษตรเพิ่ม เผยนายกฯ ชู เกษตรโซนนิง, วิจัยเพิ่มมูลค่า, นำเป็นพลังงานทดแทน พร้อมเข้มสอบโครงการทุกขั้นตอน ชูรายงาน สศช.เพิ่มกำลังซื้อขึ้น 2% อ้างอย่ามองรัฐขาดทุน ยันราคาใหม่ชาวนายังได้กำไร

วันนี้ (19 มิ.ย.) ที่ห้องสีเขียว ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล เวลา 10.00 น.น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ครั้งที่ 24/2556 เพื่อรับทราบผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) เมื่อวันที่ 18 มิ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นเรื่องสืบเนื่องจากผลการประชุม ครม.เมื่อวันที่ 18 มิ.ย.ที่ได้ให้มีการนำข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เกี่ยวกับโครงการรับจำนำข้าวเปลือกเข้าพิจารณาเพิ่มเติม

โดย นายธีรัตถ์ รัตนเสวี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมมีมติรับทราบผลการประชุม กขช.เมื่อวันที่ 18 มิ.ย.ที่ให้ปรับลดราคารับจำนำข้าวเปลือกเจ้า 100 เปอร์เซ็นต์ ของโครงการรับจำนำข้าวเปลือกปีการผลิต 55/56 ครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 จากราคาตันละ 15,000 บาท เป็นราคาตันละ 12,000 บาท ตั้งแต่วันที่ 30 มิ.ย.เป็นต้นไป ซึ่งราคาที่ปรับลดนั้นเป็นราคาที่ใกล้เคียงกับราคาเฉลี่ยของข้าวเปลือกเจ้านาปรัง รวมกับค่าตอบแทนให้กับเกษตรกรประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถือว่าเป็นเกณฑ์ช่วยเหลือมาตรฐานที่สูงกว่ามาตรฐานการช่วยเหลือสินค้าเกษตรทั่วไป และถึงแม้จะมีการปรับลดราคาลงมาในครั้งนี้ แต่ที่ประชุม ครม.มีข้อสังเกตว่า จะสามารถปรับราคาและเงื่อนไข หากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกมีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น

ด้าน นายชลิตรัตน์ จันทรุเบกษา รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นอกจากนี้ ที่ประชุม ครม.ยังมีมติรับทราบผลการประชุมของ กขช.เรื่องการจำกัดวงเงินรับจำนำข้าวของเกษตรกรแต่ละครัวเรือน จากเดิมที่ไม่จำกัดวงเงินมาเป็นไม่เกินครัวเรือนละ 500,000 บาทต่อปี โดยให้เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 20 มิ.ย.56 เป็นต้นไป ส่วนกรอบวงเงินที่ใช้ในการรับจำนำข้าวเปลือกนั้นยืนยันตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 10 มิ.ย.56 ที่กำหนดวงเงินดำเนินการสิ้นสุดในวันที่ 31 ธ.ค.56 จะต้องไม่เกิน 500,000 ล้านบาท แบ่งเป็นวงเงินจากกระทรวงการคลัง 410,000 ล้านบาท และเงินทุนหมุนเวียนของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) 90,000 ล้านบาท ทั้งนี้ ที่มีการท้วงติงว่าการปรับเปลี่ยนราคารับจำนำข้าวเปลือกจะกระทบกับสิ่งที่รัฐบาลได้แถลงนโยบายเอาไว้นั้น นายอัชพร จารุจินดา เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ให้ความเห็นว่า สามารถดำเนินการได้ เพราะรัฐบาลได้ดำเนินนโยบายเร่งด่วนตามที่แถลงไว้ครบถ้วนแล้วแก่เกษตรกรตั้งแต่ปีแรก และจากนี้ไปจะเป็นการปรับโครงสร้างภาคการเกษตรที่จะเน้นเพิ่มรายได้ให้ดีขึ้น พร้อมกับเพิ่มคุณภาพชีวิตเกษตรกรให้ดีอย่างยั่งยืน

ขณะที่ นายภักดีหาญส์ หิมะทองคำ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายกฯได้แจ้งต่อที่ประชุมว่า จากนี้ไปจะต้องให้ความสำคัญทั้งหมด 3 ประเด็น คือ 1.การทำเกษตรโซนนิง โดยเน้นให้มีการปลูกพืชเกษตรในพื้นที่ที่เหมาะสม เพื่อช่วยเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร 2.เร่งรัดให้กระทรวงที่เกี่ยวข้องนำงานวิจัยที่เกี่ยวเนื่องกับการเพิ่มมูลค่าและคุณภาพสินค้าเกษตรมาปรับใช้ เช่น การผลิตข้าวอินทรีย์ ที่เมื่อผลิตและส่งออกแล้วได้ราคาดี และ 3.ได้มอบหมายให้นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง หารือร่วมกับกระทรวงพลังงาน และกระทรวงอุตสาหกรรม ยกระดับราคาสินค้าเกษตรที่สามารถนำมาใช้ในการผลิตเป็นพลังงานทดแทน นอกจากนี้ เพื่อความโปร่งใสในการดำเนินการโครงการรับจำนำข้าว ที่ประชุม ครม.มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมถึงกระทรวงมหาดไทย เข้มงวดในการตรวจสอบโครงการรับจำนำข้าวทุกขั้นตอน ตั้งแต่การจดทะเบียน การตรวจสภาพข้าว การเก็บรักษา และการระบายข้าว

นายภักดีหาญส์ กล่าวว่า ทั้งนี้ สำนักงาน สศช.พบว่า โครงการรับจำนำข้าวที่ผ่านมาทำให้กำลังซื้อและการบริโภคของประเทศเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 2 เปอร์เซ็นต์ ทำให้ GDP เพิ่มขึ้นประมาณ 0.69 เปอร์เซ็นต์ ในปีแรกของโครงการ และเพิ่มขึ้น 0.62 เปอร์เซ็นต์ ในปีที่สอง ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นกว่าอัตราปกติ ทั้งนี้ ในปี 55 ที่ผ่านมา การใช้จ่ายภาคครัวเรือนทั้งประเทศขยายตัวถึง 6.7 เปอร์เซ็นต์ แต่หากไม่มีโครงการเพื่อเพิ่มรายได้และอำนาจซื้อของเกษตรกรในชนบทจะส่งผลทำให้การบริโภครวมของครัวเรือนขยายตัวเพียง 4.7 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

นายภักดีหาญส์ ยังกล่าวถึงบรรยากาศในการประชุม ครม.วันนี้ว่า ในที่ประชุมครม.นายกฯ ได้กล่าวระหว่างประชุมว่า สำหรับโครงการรับจำนำข้าวตันละ 15,000 บาท เป็นการช่วยเกษตรกรและชาวนา หลังจากไม่ได้รับการดูแลและช่วยเหลือมานานให้ได้ลืมตาอ้าปาก และขอร้องว่าอย่าได้มองเป็นเรื่องการขาดทุน แต่เป็นการลงทุนเพื่อช่วยเกษตรกรและชาวนา ขณะที่เรื่องการปรับลดราคานั้น นายอัชพร ระบุว่า สำหรับการรับจำนำข้าวตันละ 15,000 บาทที่ผ่านมา เนื่องจากราคาข้าวในตลาดโลกขณะนั้นมีราคาสูงจึงทำได้ แต่เมื่อมีการปรับลดราคาก็ไม่ได้ทำให้ชาวนาต้องขาดทุน เพียงแต่ทำให้ชาวนาขาดทุนกำไร เพราะต้นทุนรวมค่าขนส่งแล้วอยู่ที่ 8,000 บาทเท่านั้น เมื่อปรับมาที่ 12,000 บาท ยังถือว่าได้กำไรอยู่ ขณะที่ นายวราเทพ รัตนากร รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยังกำชับว่าหลังจากนี้จะต้องไปทำความเข้าใจกับเกษตรกร และเง้มขวดกับโรงสีไม่ให้มีการกดค่าความชื้นกับชาวนา


กำลังโหลดความคิดเห็น