xs
xsm
sm
md
lg

จับตารัฐบาลปูนิ่มอ้ารับเอฟทีเอไทย-อียู เปิดช่องผูกขาดสิทธิบัตรยา นำเข้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์-บุหรี่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


วิกฤตหนี้สาธารณะในยุโรปที่เริ่มปะทุตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมา จากชายขอบของสหภาพยุโรปจนบัดนี้ลามเลยมาจนใจกลางยุโรปอย่างฝรั่งเศสแล้ว ยังไม่มีใครกล้าฟันธงตรงๆ ว่า นี่คือจุดต่ำสุดของวิกฤตหรือยัง แล้วสหภาพยุโรปจะสามารถเอาตัวเองออกจากวิกฤตนี้ได้กลับไปอยู่ในสถานะพลังเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนโลกได้อย่างเดิมภายในทศวรรษนี้หรือไม่

ความตกต่ำที่เกิดขึ้นจากวิกฤตยูโรโซนทำให้สหภาพยุโรปเร่งรัดการเจรจาเอฟทีเอเพื่อเปิดตลาดใหม่ กระตุ้นเศรษฐกิจ และประเทศไทยเป็นหนึ่งในเป้าหมาย ซึ่งเวลานี้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ได้แสดงท่าทีชัดเจนว่าพร้อมเปิดรับข้อตกลงทั้งการเปิดทางผูกขาดสิทธิบัตรยาที่จะสร้างผลกระทบและความเสียหายใหญ่หลวงไม่แพ้เอฟทีเอไทย-สหรัฐฯ รวมทั้งการเปิดตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์-บุหรี่ ซึ่งขณะนี้ร่างกรอบเจรจาฯ กำลังจ่อคิวเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.ใน 1-2 สัปดาห์ข้างหน้า โดยที่ร่างกรอบทั้งฉบับไม่เคยเปิดเผยและไม่เคยนำไปรับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้าน

*** รัฐบาลยิ่งลักษณ์อ้ารับทริปส์พลัส-เครื่องดื่มแอลกอฮอล์-บุหรี่

แม้การเจรจาเอฟทีเอไทย-อียูจะเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2550 (อ่านรายละเอียดในข่าวเกี่ยวข้อง) แต่ความเคลื่อนไหวที่น่าวิตกกังวลว่าจะมีการไปยอมรับข้อเจรจาที่จะส่งผลกระทบต่อประเทศชาติได้เกิดขึ้นในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมาในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์นี่เอง

กล่าวคือ มีความเคลื่อนไหวจากทางรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเร่งเปิดการเจรจาเอฟทีเอไทย-อียู โดยเมื่อเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา นางศรีรัตน์ ฐาปานะ อธิบดีกรมเจรจาฯ ขณะนั้น นำทีมข้าราชการเดินทางไปทำ scoping exercise กับทางสหภาพยุโรป ณ กรุงบรัสเซลส์ ซึ่งขณะนี้ยังคงเป็นความลับภายในกรมเจรจาฯ แม้กรมเจรจาฯ จะอ้างว่าเป็นการหารือทั่วไป

แต่น่าแปลกใจว่า ทันทีที่กลับมาได้มีการนัดประชุมระดับสูงเพื่อพิจารณาเตรียมการเปิดการเจรจาการค้าเสรีของไทยวันที่ 9 ส.ค. โดยมีนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯ เป็นประธาน ซึ่งภายหลังการประชุม นายกิตติรัตน์ รองนายกฯ ให้สัมภาษณ์ว่า จะนำร่างกรอบเจรจาเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาตามมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 โดยไม่มีการจัดประชาพิจารณ์ร่างกรอบฯ อีก

ตามเอกสารของกรมเจรจาฯ ประเด็นที่มีความอ่อนไหวในการเจรจาประกอบไปด้วย เครื่องดื่มแอลกอฮอล์-บุหรี่, ทรัพย์สินทางปัญญา, การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ, นโยบายการแข่งขันทางการค้า และการเปิดตลาดสินค้าบริการ แต่ความเห็นของกรมเจรจาฯ ในฐานะฝ่ายเลขาฯ ที่ปรากฏอยู่ในเอกสารที่หลุดรอดออกมา สร้างความกระอักกระอ่วนใจแก่ทุกฝ่ายอย่างยิ่ง

โดยเฉพาะเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาที่เสนอให้ไทยมีท่าทียืดหยุ่นและอาจยอมรับข้อเรียกร้องที่มีลักษณะทริปส์พลัสของสหภาพยุโรป โดยให้เหตุผลว่าไม่มีผลกระทบ และประเด็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์-บุหรี่ ที่เสนอให้ทบทวนมติ ครม. เดือน ก.ค. 53 ที่ว่าด้วยยุทธศาสตร์นโยบายแอลกอฮอล์ระดับชาติของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เพื่อเปิดทางให้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่เป็นสินค้าที่ต้องเจรจาการค้าเสรีกับสหภาพยุโรป ทำให้สังคมเฝ้าจับตาความเคลื่อนไหวนี้อย่างกัดไม่ปล่อยมากยิ่งขึ้น

***เปิดทาง “สิทธิบัตรอำพราง” ผูกขาดตลาดยา

4 ก.ย.55 นักวิชาการด้านเภสัชศาสตร์ การแพทย์ การสาธารณสุข การพัฒนาสังคม การคุ้มครองผู้บริโภค และการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน 84 คนได้ทำหนังสือถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯ ระบุว่า ข้อสรุปของกรมเจรจาฯ เป็นการสรุปที่บิดเบือนจากความเป็นจริง และไม่ได้มีการใช้องค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องที่มีอยู่ ซึ่งจะชี้นำทิศทางที่ผิดพลาดให้แก่ผู้กำหนดนโยบาย โดยเฉพาะกับรัฐบาลของ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ที่มีนโยบายสำคัญในการลดความเหลื่อมล้ำในระบบสุขภาพ

“การคุ้มครองข้อมูลทดสอบยาหรืออีกนัยหนึ่งคือ การผูกขาดข้อมูลการขึ้นทะเบียนตำรับยา (data exclusivity) เป็นการสร้างระบบการผูกขาดทางการตลาดยาขึ้นใหม่ ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็น “สิทธิบัตรอำพราง” เพื่อเพิ่มการผูกขาดของสิทธิบัตรที่มีอยู่เดิม โดยอาจมีระยะเวลาการผูกขาดเพิ่มมากขึ้นถึง 10 ปี

และจากประสบการณ์ในหลายประเทศ เช่น โคลอมเบีย หลังจากที่สหภาพยุโรปบังคับให้มีการผูกขาดข้อมูลยา 10 ปี ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายด้านยาของประเทศเพิ่มขึ้นถึง 340 ล้านเหรียญสหรัฐ (10,200 ล้านบาท) ซึ่งสอดคล้องกับผลการวิจัยในไทย ที่พบว่าถ้าปล่อยให้มีการผูกขาดข้อมูลการขึ้นทะเบียนตำรับยาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 (ซึ่งเป็นปีที่ทำการศึกษา) ทำให้ค่าใช้จ่ายด้านยาของไทยในอีกห้าปีข้างหน้า (พ.ศ. 2556) จะสูงถึง 81,356 ล้านบาทต่อปี”

ทั้งนี้ คณะนักวิชาการเสนอให้รอผลการประเมินทางสุขภาพกรณีศึกษาผลกระทบจากความตกลงการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรปต่อการเข้าถึงยา ที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ซึ่งเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบด้านสาธารณสุขของประเทศโดยตรงกำลังดำเนินการอยู่ ซึ่งจะแล้วเสร็จในเดือน มิ.ย. 56 เพื่อให้ผู้มีอำนาจในการเจรจานำไปใช้เป็นข้อมูลในการต่อรองให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศไทย

เช่นเดียวกับความเห็นของหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ปลายเดือน ส.ค.กระทรวงสาธารณสุขได้ทำหนังสือถึงกระทรวงพาณิชย์ แสดงความห่วงใยอย่างยิ่งต่อประเด็นข้อเรียกร้องการเปิดการเจรจาการค้าเสรีกับสหภาพยุโรป “ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงอย่างรุนแรงต่อการบริหารจัดการยาและเวชภัณฑ์ภาครัฐ อันเกี่ยวพันโดยตรงถึงชีวิตและสุขภาพของประชาชน”

***สธ.ชี้ขยายอายุ-เพิ่มความคุ้มครองสิทธิบัตรยากระทบหนักแน่

กระทรวงสาธารณสุขได้ชี้ให้เห็นถึงปัญหา โดยกรณี พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ. 2535 ที่มีการแก้ไขขยายอายุการคุ้มครองสิทธิบัตรจาก 15 ปี เป็น 20 ปี และการเพิ่มความคุ้มครองสิทธิบัตรยา ส่งผลให้เกิดความพลิกผันของมูลค่าการใช้จ่ายยาในประเทศ ระหว่างยานำเข้าและมีสิทธิบัตรกับยาผลิตในประเทศ

จากเดิมที่มูลค่าการใช้ยานำเข้าอยู่ที่ 34% และมูลค่าการใช้ยาผลิตในประเทศอยู่ที่ 66% ของมูลค่าการใช้ยาทั้งประเทศ แต่ปัจจุบันมูลค่าการใช้ยานำเข้าอยู่ที่ 77% ขณะที่มูลค่าการใช้ยาที่ผลิตในประเทศเหลือเพียงแค่ 23% เท่านั้น จากมูลค่ายาของทั้งประเทศอยู่ที่ 1.4 แสนล้านบาท (ข้อมูลปี 2554) ทั้งนี้เนื่องมาจากการนำเข้ายาสิทธิบัตรที่เพิ่มมากขึ้นส่งผลต่องบประมาณภาครัฐ ความยั่งยืนการบริหารจัดการยาและเวชภัณฑ์

นอกจากนี้ ยังส่งผลกระทบต่อการเติบโตและการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมยาภายในประเทศอย่างมาก เกิดการชะลอผลิตยาสามัญใหม่ๆ ทำให้ไม่สามารถแข่งขันได้

“ประเด็นข้อเรียกร้องที่สำคัญจากฝ่ายอียูที่จะส่งผลกระทบโดยตรงอย่างสูงต่อการบริหารจัดการยาและเวชภัณฑ์ภาครัฐซึ่งจะเกี่ยวพันกับปัญหาอุปสรรคการเข้าถึงยาของประชาชน ประกอบไปด้วย

1) การขยายอายุการคุ้มครองสิทธิบัตรอย่างน้อย 5 ปี

2) การคุ้มครองข้อมูลในรูปแบบการได้รับสิทธิพิเศษเพียงผู้เดียวเหนือข้อมูลที่ยื่นทะเบียนยาครั้งแรกและครั้งต่อๆ ไป อย่างน้อย 5 ปี หรือ data exclusivity ซึ่งอยู่ในหมวดการเจรจาด้านทรัพย์สินทางปัญญา

๓) การจับ ยึด อายัด หรือทำลายสินค้ายาและเวชภัณฑ์ที่สงสัยว่าอาจจะละเมิดสิทธิบัตรหรือทรัพย์สินทางปัญญาประเภทอื่นๆ ณ จุดผ่านแดน ซึ่งอยู่ในหมวดการเจรจาด้านมาตรการ ณ จุดผ่านแดน (Border Measure)”

ทางด้านกรมทรัพย์สินทางปัญญา นางปัจฉิมา ธนสมบัติ อธิบดีกรมฯ ก็ได้ให้สัมภาษณ์ กล่าวถึงความพยายามของกรมเจรจาฯ ที่เร่งให้มีการเริ่มเจรจาเอฟทีเอกับสหภาพยุโรปว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ต้องทำอย่างรอบคอบ และหากไทยไปยอมรับความตกลงที่เกินไปกว่าทริปส์ตามที่สหภาพยุโรปต้องการ จะนำไปสู่การแก้กฎหมายซึ่งประเทศสมาชิกอื่นๆ ขององค์การการค้าโลกจะมาเรียกร้องขอใช้ประโยชน์ด้วย อย่างไรก็ตาม จากนั้นไม่นานหน่วยงานเหล่านี้พยายามหลีกเลี่ยงการให้ความคิดเห็นหรือแสดงจุดยืนทางวิชาการในเรื่องดังกล่าวต่อสาธารณะอีก

***ซีพี-พรีม่า ออกหน้าหนุนข้อตกลงเอื้อบริษัทยาข้ามชาติ

หลังจากที่ตกเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ทั้งสื่อกระแสหลักและโซเชียลเน็ตเวิร์ก กรมเจรจาฯ ต้องจัดการประชุมกลุ่มย่อยใน 7 ประเด็น โดยประเด็นทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวข้องกับเรื่องยานั้นจัดประชุมวันที่ 7 ก.ย. 2555

กรมเจรจาฯ ได้นำเสนอส่วนหนึ่งของ (ร่าง) กรอบการเจรจาฉบับใหม่ ด้วยข้อความที่แตกต่างไปจากที่เคยเสนอคณะอนุเอฟทีเอในคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ธ.ค. 53 ระบุว่า “ให้ระดับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาสอดคล้องกับระดับการคุ้มครองตามความตกลงขององค์การการค้าโลก และ/หรือความตกลงใดๆ ที่ไทยเป็นภาคี” โดยให้เหตุผลว่า เป็นไปตามกรอบการเจรจาอาเซียน-สหภาพยุโรปที่เคยผ่านความเห็นชอบของรัฐสภา

แต่ในการขยายความระหว่างการประชุม อธิบดีกรมเจรจาการค้าฯ ระบุว่า (ร่าง) กรอบดังกล่าวอนุญาตให้เจรจาความตกลงที่เกินไปกว่าความตกลงทริปส์ได้ เพราะในความตกลงทริปส์ขององค์การการค้าโลกเป็นมาตรการขั้นต่ำ จึงนับเป็นความสอดคล้อง ซึ่งตัวแทน อย. ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม และอุตสาหกรรมยาในประเทศไม่เห็นด้วย มีเพียงนายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล ที่ปรึกษาอาวุโส กลุ่มธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ในฐานะตัวแทนสภาหอการค้าไทย และนางอำพร เจริญสมศักดิ์ ตัวแทนสมาคมพรีม่าซึ่งเป็นบริษัทยาข้ามชาติที่สนับสนุนเต็มตัว

ความเคลื่อนไหวของตัวแทนซีพีที่ใช้ฐานะสภาหอการค้าไทย และพรีม่า น่าสนใจยิ่ง เพราะจากนั้นไม่นานทั้งสองหน่วยงานนี้ได้จับมือกับกรมเจรจาฯ ขอหารือกับสมาคมไทยอุตสาหกรรมผลิตยาแผนปัจจุบัน (TPMA) เพื่อให้ยอมรับการเยียวยาหากต้องยอมรับทริปส์พลัส

อย่างไรก็ตาม ภายหลังการประชุมไม่นาน ผู้สื่อข่าวรายงานจากกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ สมาคมไทยอุตสาหกรรมผลิตยาแผนปัจจุบัน (TPMA) ซึ่งเป็นผู้ผลิตยาชื่อสามัญในประเทศ ได้ทำหนังสือที่ ท.032/2555 ลงวันที่ 22 ต.ค. 55 ถึงอธิบดีกรมเจรจาฯ เพื่อแสดงจุดยืนของสมาคมต่อการเปิดเขตการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป (EU) และไทย-สมาคมการค้ายุโรป (EFTA) ระบุว่า สินค้ายาสำเร็จรูปที่นำมาจำหน่ายในประเทศไทยส่วนใหญ่นำเข้าจากสหภาพยุโรป (EU-EFTA) และสหรัฐฯ แต่ประเทศหลักที่ไทยส่งยาออกไปไม่ใช่ประเทศเหล่านี้

ดังนั้น ในหมวดสินค้ายาในรูปวัตถุดิบ สินค้ายาสำเร็จรูป และของเสียจากเภสัชภัณฑ์ประเทศไทยจะไม่ได้ประโยชน์จากการเจรจาเอฟทีเอแต่อย่างใด จึงขัดต่อหลักการและวัตถุประสงค์ของการเจรจาเอฟทีเอที่ว่าจะส่งเสริมให้การค้าระหว่างกันสูงขึ้น ทางสมาคมฯ จึงไม่เห็นด้วย
 
 “เพราะนอกจากประเทศไทยจะไม่ได้ประโยชน์อะไรจากความตกลงดังกล่าวแล้ว กลับเป็นการเอื้อประโยชน์ให้สินค้ายาฯ มีปริมาณและมูลค่านำเข้าที่สูงขึ้น ประกอบกับถ้าหากกรมเจรจาฯ ยอมรับข้อผูกพันที่มากกว่าความตกลงทริปส์ หรือทริปส์พลัส ก็จะทำให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงและใหญ่หลวงต่อระบบสาธารณสุขของประเทศ"


*** “บุญทรง” อ้างมั่วฟังความเห็นรอบด้าน ดึงดันเดินหน้า

ปลายเดือน ต.ค. นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.พาณิชย์ ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า กระทรวงพาณิชย์กำลังเร่งทำกรอบการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ไทย-สหภาพยุโรป (อียู) ให้เสร็จเพื่อเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา และเสนอให้รัฐสภาพิจารณาตามมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญ โดยน่าจะเริ่มเปิดการเจรจากับอียูอย่างเป็นทางการได้ในต้นปี 56 และอ้างว่าได้เปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนแล้ว รวมถึงกลุ่มยาที่คัดค้านการเปิดเจรจา

แต่อีกกลุ่มประเด็นที่มีความห่วงกังวลไม่แพ้กันคือสินค้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ นายธีระ วัชรปราณี ผู้จัดการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า กล่าวว่า การที่รัฐมนตรีพาณิชย์อ้างว่าได้รับฟังความเห็นทุกฝ่ายแล้วนั้น ไม่เป็นความจริง เพราะตามที่กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศได้นัดหมายเพื่อรับฟังความเห็นเมื่อวันที่ 20 ก.ย.ที่ผ่านมาเป็นไปอย่างกระชั้นชิด จดหมายเชิญส่งมาวันเดียวกับที่นัดรับฟังราวกับไม่ได้ต้องการรับฟังจริงๆ ทางเครือข่ายงดเหล้าจึงทำหนังสือขอให้นัดประชุมใหม่ แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีการเปิดรับฟัง ทางเครือข่ายฯ จึงจะร้องเรียนไปยังคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎร

“เราไม่ได้ต่อต้านการค้าเสรี แต่เราคิดว่าการที่รัฐบาลเป็นนักประชาธิปไตยต้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชนตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่มาพูดตลอดเวลาว่าอียูต้องการลดภาษีแอลกอฮอล์ให้ได้ 90% ดังนั้นต้องรับเงื่อนไขนี้”

“กรมเจรจาฯ ไม่เคยเอาความเห็นของประชาชนไปพิจารณาว่าควรกำหนดให้สินค้าแอลกอฮอล์และบุหรี่เป็นสินค้าทำลายสุขภาพ แม้แต่ในการประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียนที่ไทยเป็นเจ้าภาพก็ยังมีจุดยืนเช่นนี้ให้ถอดสินค้าทำลายสุขภาพเหล่านี้ออกจากการเจรจา นอกจากนี้ เราไม่อยากเห็นกรมเจรจาฯ ทำให้รัฐบาลตกอยู่ในภาวะหมิ่นเหม่ต่อรัฐธรรมนูญ เพราะไม่เคยนำกรอบเจรจาฯ รับฟังความคิดเห็นของประชาชนก่อนเข้ารัฐสภา ทั้งที่เมื่อจะเริ่มเจรจาอียู-อาเซียนยังนำกรอบไปรับฟังความคิดเห็น”

*** สภาที่ปรึกษาฯ ย้ำส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ-สังคมวงกว้าง

22 พ.ย.55 สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้ทำความเห็นและข้อเสนอแนะ เรื่อง “การจัดทำความตกลงทางการค้าเสรีระหว่างไทยกับสหภาพยุโรปที่จะมีผลกระทบต่อการเข้าถึงยา” เสนอต่อคณะรัฐมนตรี

“รัฐบาลต้องมีการจัดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อ (ร่าง) กรอบเจรจาฯ อย่างทั่วถึงก่อนเสนอให้รัฐสภาพิจารณา เพื่อให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 190 อย่างเคร่งครัด ดังนั้น ขอให้กระทรวงพาณิชย์นำผลการรับฟังความคิดเห็นที่คณะกรรมการเพื่อรับฟังความคิดเห็นต่อการเจรจาเอฟทีเอไทย-สหภาพยุโรป ซึ่งแต่งตั้งตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2553 เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีเพื่อนำไปสู่การร่างกรอบเจรจาฯ ที่สะท้อนความเห็นที่ผ่านการรับฟังอย่างกว้างขวางมาแล้ว

ให้กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงการต่างประเทศกำหนดให้ (ร่าง) กรอบการเจรจาฯ ระบุอย่างชัดเจนให้ระดับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาต้องไม่เกินไปกว่าความตกลงว่าด้วยสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวข้องกับการค้าขององค์การการค้าโลก กฎหมายไทย หรือความตกลงใดๆ ที่ไทยเป็นภาคีอยู่ ทั้งนี้เป็นไปตามยุทธศาสตร์แห่งชาติด้านยา พ.ศ. 2555-2559 และความเห็นและข้อเสนอแนะของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ชุดที่ 2 เรื่อง “การเจรจาจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) ระหว่างประเทศไทยกับสหรัฐอเมริกา” เพราะข้อเรียกร้องต่างๆ ใกล้เคียงกับของสหภาพยุโรป

ให้รอผลการประเมินผลกระทบทางสุขภาพกรณีศึกษาผลกระทบจากข้อตกลงการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรปต่อการเข้าถึงยา ที่อยู่ระหว่างการศึกษาของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการกำหนดแนวทางในการเจรจาที่ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ

และต้องจัดให้มีการศึกษาเปรียบเทียบผลดีผลเสียในภาพรวมทางเศรษฐกิจอย่างเร่งด่วน ซึ่งสะท้อนสภาวะวิกฤตเศรษฐกิจในสหภาพยุโรปที่ได้มีการเปลี่ยนแปลง ทำให้การคาดการณ์ผลได้กับสหภาพยุโรปซึ่งไม่ได้เป็นไปตามที่เคยศึกษาไว้ เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการเจรจา โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านสวัสดิการของเกษตรกร แรงงาน และผู้มีรายได้น้อย”

นายอนันต์ เมืองมูลไชย สมาชิกสภาที่ปรึกษาฯ กล่าวว่า ถึงแม้ว่าการทำเอฟทีเอกับสหภาพยุโรปจะส่งผลทางบวกต่อจีดีพีของไทยตามรายงานการวิจัยของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) อีกทั้งกรมเจรจาฯ ให้เหตุผลที่ต้องเร่งเปิดเจรจาเอฟทีเอกับอียูเพื่อรักษาสิทธิพิเศษทางการค้า (Generalized System of Preferences : GSP) ที่ผู้ส่งออกไทยเคยได้รับอยู่และมีโอกาสจะถูกตัดสิทธินี้ในปลายปีหน้าเพราะเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางค่อนข้างสูง 3 ปีติดต่อกัน คิดเป็น 2,562 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 79,422 ล้านบาท) อีกทั้งเพื่อนบ้านของไทยในอาเซียน เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย เจรจาใกล้ได้ข้อยุติแล้ว แต่งานวิจัยดังกล่าวทำก่อนที่อียูจะประสบวิกฤตเศรษฐกิจที่ยังหาทางออกไม่ได้ อาจต้องมีการทบทวน

“หากดูวิกฤตเศรษฐกิจของสหภาพยุโรปในขณะนี้ ที่อำนาจทางเศรษฐกิจและกำลังซื้อลดลงอย่างมาก และยังไม่ถึงจุดต่ำสุดของวิกฤตเศรษฐกิจ รายงานของทีดีอาร์ไอในเชิงตัวเลขผลได้อาจไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน จึงไม่ควรใช้เป็นข้อมูลประกอบการกำหนดนโยบายที่มีผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมในวงกว้างอย่างรอบคอบและแม่นยำ ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อพิจารณาจากผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการผูกขาดข้อมูลทางยา (Data Exclusivity) ซึ่งเป็นหนึ่งในข้อเรียกร้องที่มากเกินกว่าความตกลงทริปส์ที่สหภาพยุโรปต้องการมากที่สุด เพียงข้อเรียกร้องเดียวก็จะทำให้ค่าใช้จ่ายด้านยาของไทยจะสูงขึ้นถึง 81,356 ล้านบาท/ปี รัฐบาลของท่านนายกฯ ยิ่งลักษณ์ที่ให้ความสำคัญต่อการลดความเหลื่อมล้ำจึงต้องระมัดระวังในการเจรจาอย่างยิ่ง”

***ยูเอ็นแนะเลี่ยงรับข้อตกลงทริปส์พลัส

จากเอกสารของสภาที่ปรึกษาได้หยิบยกงานศึกษาและประสบการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในต่างประเทศ พบว่า “หลังจากที่จอร์แดนทำเอฟทีเอกับสหรัฐฯ และต้องยอมรับข้อเรียกร้องที่เกินกว่าความตกลงทริปส์เมื่อปี พ.ศ. 2546 ราคายาเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 และเพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ ยาในตลาดร้อยละ 79 ไม่มียาชื่อสามัญเข้ามาแข่งขันได้ ทำให้ต้นทุนการรักษาพยาบาลสูงขึ้น และราคายาแพงกว่าอียิปต์ซึ่งเป็นเพื่อนบ้านถึง 8 เท่า

ในโคลอมเบีย หลังจากที่สหภาพยุโรปบังคับให้มีการผูกขาดข้อมูลยา 10 ปี ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายด้านยาของประเทศเพิ่มขึ้น 340 ล้านเหรียญสหรัฐ (10,200 ล้านบาท) /ปี

นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยที่ศึกษาข้อมูลจาก 224 ประเทศระหว่างปี ค.ศ. 2006-2008 พบว่า การเพิ่มความเข้มงวดในการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาไม่ได้มีผลต่อการวิจัยและพัฒนา แต่มีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อการเสียชีวิตของทารกในประเทศนั้นๆ

ดังนั้น จะเห็นได้ว่าหน่วยงานของสหประชาชาติ เช่น องค์การอนามัยโลก (World Health Organization : WHO), โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme : UNDP) และโครงการโรคเอดส์แห่งสหประชาชาติ (United Nations AIDS : UNAIDS) รวมทั้งการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (United Nations Conference on trade and Development : UNCTAD) ได้ออกเอกสารแนะนำ (Briefing Paper) แก่ประเทศกำลังพัฒนาให้พยายามหลีกเลี่ยงการยอมรับข้อตกลงด้านทรัพย์สินทางปัญญาที่เกินไปกว่าความตกลงทริปส์ โดยเฉพาะการผูกขาดข้อมูลยา (Data Exclusivity) และให้คงมาตรการยืดหยุ่นตามความตกลงทริปส์ในกฎหมายของประเทศให้มากที่สุดเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาสาธารณสุข

แม้แต่สภายุโรปก็เคยมีข้อมติห้ามมิให้คณะกรรมาธิการยุโรปไปบีบบังคับให้ประเทศกำลังพัฒนาต้องยอมรับข้อตกลงที่เกินไปกว่าความตกลงทริปส์ เพราะเกรงผลกระทบจะเกิดแก่ประเทศกำลังพัฒนาในการแก้ปัญหาสาธารณสุขในประเทศ

และล่าสุด นายคาเรล เดอ กุช ประธานคณะกรรมาธิการการค้าของสหภาพยุโรปซึ่งกำลังเจรจาการค้าเสรีหรือเอฟทีเอกับอินเดีย แต่เกิดความชะงักงันมากกว่าครึ่งปี สาเหตุจากที่ฝ่ายอินเดียไม่ยอมรับข้อเรียกร้องของสหภาพยุโรปที่ต้องการให้อินเดียปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาเกินไปกว่าความตกลงทริปส์ในองค์การการค้าโลก ได้เขียนบทความลงนิตยสาร Government Gazette ของอังกฤษ ฉบับเดือนตุลาคม ค.ศ. 2012 ระบุว่า สหภาพยุโรปจะไม่กดดันให้อินเดียต้องแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินทางปัญญาในด้านนี้แล้ว เพื่อป้องกันผลกระทบทางลบที่จะเกิดต่อการเข้าถึงยารักษาโรคในราคาที่เหมาะสมทั้งที่อินเดียและที่อื่นๆ ทั่วโลก”

***แฉกรมเจรจาการค้าฯ พูดอย่างทำอย่าง

นอกเหนือจากประเด็นเนื้อหา ประเด็นการปฏิบัติตามขั้นตอนมาตรา 190 ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันก็ยังเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งนับตั้งแต่รัฐธรรมนูญประกาศใช้ กระทรวงพาณิชย์ได้ดำเนินการอย่างรอบคอบมาโดยตลอดและไม่เป็นอุปสรรคใดๆ ต่อการเจรจาเอฟทีเอต่างๆ ที่ผ่านมา แต่ขณะนี้กลับพบว่า กรมเจรจาฯ จะไม่ดำเนินตามขั้นตอนที่เคยปฏิบัติมาก่อน

จากเอกสารของกรมเจรจาฯ ที่ชี้แจงขั้นตอนตามมาตรา 190 ที่แจกแก่สื่อมวลชนหลังจากที่นายกฯ ยิ่งลักษณ์ ประกาศเจตนารมณ์เข้าร่วมเจรจาความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) ร่วมกับนายบารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เมื่อสัปดาห์ก่อน

“ขั้นตอนก่อนการเสนอตามมาตรา 190 ต้องใช้เวลาในการเจรจา ซึ่งมีขั้นตอนรายละเอียดสรุปได้ดังนี้
ก่อนเสนอตามมาตรา 190
1. ศึกษาผลประโยชน์และผลกระทบในการเข้าร่วมเจรจา
2. รับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐและเอกชน
3. จัดทำร่างกรอบการเจรจาความตกลงเพื่อเสนอ ครม. และรัฐสภาให้ความเห็นชอบตามมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญปี 2550
หลังผ่านมาตรา 190
4. หลังจากรัฐสภาให้ความเห็นชอบแล้ว ไทยต้องแจ้งความจำนงการเขาร่วมเจรจา และรอฉันทามติจากประเทศสมาชิก TPP 11 ประเทศ
5. จึงจะมีการประกาศการเข้าร่วมการเจรจาอย่างเป็นทางการ หลังจากนั้น ครม.จะแต่งตั้งหัวหน้าคณะเจรจา
6. กำหนดกลยุทธ์ท่าทีในการเจรจา และการเตรียมความพร้อมร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง”

หากย้อนกลับไปดูการปฏิบัติของกรมเจรจาฯ ที่ผ่านมา โดยเฉพาะการเริ่มเจรจาเอฟทีเอระหว่างอาเซียนกับสหภาพยุโรปจะพบว่าแตกต่างไปจากที่ระบุในเอกสาร

นายจักรชัย โฉมทองดี ผู้ประสานงานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอวอตช์) ชี้ว่า มีความพยายามโกหกใน 2 ขั้นตอน 

“ขั้นตอนที่กรมเจรจาฯ ได้ชี้แจงเมื่อวานนี้พยายามโกหกใน 2 ขั้นตอน คือ ไม่ยอมนำร่างกรอบการเจรจามารับฟังความคิดเห็นประชาชนและศึกษาผลกระทบโดยหน่วยงานที่เป็นกลางก่อนการเสนอขอความเห็นชอบจากรัฐสภา ทั้งที่เคยปฏิบัติมาในรัฐบาลก่อนๆ

“นอกจากนี้ ฝ่ายเจรจาควรทำคือ ให้มีการหารือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง พร้อมให้ข้อมูลแก่ฝ่ายนิติบัญญัติระหว่างการเจรจา หลังจากนั้นต้องนำผลการเจรจา (ร่างความตกลง) มาจัดรับฟังความเห็นประชาชนและศึกษาผลกระทบโดย หน่วยงานที่เป็นกลางก่อนการเสนอข้อความเห็นชอบจากรัฐสภาเพื่อแสดงเจตนาผูกพัน”

คำถามสำคัญจึงอยู่ที่ เหตุใดกรมเจรจาฯ และรัฐบาลจึงไม่ต้องการนำ (ร่าง) กรอบเจรจาฯ เอฟทีเอระหว่างไทยกับอียูไปรับฟังความคิดเห็นดังเช่นที่เคยปฏิบัติมา แม้ในช่วงรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ซึ่งมาจากการปฏิวัติรัฐประหารยังเปิดโอกาสให้ภาคส่วนต่างๆ ได้มีส่วนร่วมในการพิจารณาความตกลงระหว่างประเทศที่จะส่งผลกระทบทั้งต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ด้านสังคม และกระทบต่อประชาชนทั้งประเทศอย่างกว้างขวาง

เหตุใด การเจรจาเอฟทีเอไทย-อียู จึงเป็นไปเพื่อกลุ่มผลประโยชน์เดิมๆ ขณะที่ผลเสียจะกระจายไปทั้งแผ่นดิน

ขณะเดียวกัน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างพยายามหลีกเลี่ยงการให้ความเห็น โดยเฉพาะกรมทรัพย์สินทางปัญญา ท่องคาถาบทเดียว “กรมฯ พร้อมปฏิบัติตามนโยบายรัฐบาล หากเป็นเช่นนี้ก็ต้องแก้กฎหมาย” ขณะที่ท่าทีของ อย.หลังจากได้รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขคนใหม่ เลขาฯ อย.คนใหม่ ก็เดินหน้าถามความเห็นทุกฝ่าย “หากรับ จะเยียวยาเช่นไร” ไม่มีอีกแล้วจุดยืนทางวิชาการที่เคยแข็งแกร่ง

ที่น่ากังวลอย่างยิ่งในขณะนี้ก็คือ ร่างกรอบเจรจาฯ กำลังจ่อคิวเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.ใน 1-2 สัปดาห์ข้างหน้า โดยที่ร่างกรอบทั้งฉบับไม่เคยเปิดเผย ไม่เคยนำไปรับฟังความคิดเห็น
กำลังโหลดความคิดเห็น