xs
xsm
sm
md
lg

เอฟทีเอ อียู-ไทย เอาชีวิตคนไทยไปแลกกับผลประโยชน์กลุ่มทุน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ที่ประชุม ครม.เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2555 ได้เห็นชอบร่างกรอบการเจรจาความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ไทย-สหภาพยุโรป ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ พร้อมมอบหมายให้นายโอฬาร ไชยประวัติ ประธานผู้แทนการค้าไทย เป็นหัวหน้าคณะการเจรจา และให้คณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) ไปติดตามความคืบหน้าการเจรจา โดยระบุว่า การเจรจาดังกล่าว ต้องเป็นไปอย่างระมัดระวัง โดยมีประเด็นที่เป็นห่วง 3 เรื่อง คือ การมีข้อผูกพันทางด้านทรัพย์สินทางปัญญาที่อาจก่อให้เกิดการผูกขาดทางการเกษตรอย่างครบวงจร รวมถึงอุปสรรคต่อการใช้มาตรการสิทธิเหนือสิทธิบัตรยา และการเข้าถึงยาที่จำเป็นของประชาชน,การเปิดเสรีสินค้าแอลกอฮอล์และบุหรี่ ที่อาจส่งเสริมให้เกิดการบริโภคมากขึ้น และการสูญเสียฐานทรัพยากรของประเทศ รวมถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

แม้การเจรจาเอฟทีเอไทย-อียูจะเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2550 แต่ความเคลื่อนไหวที่น่าวิตกกังวลว่าจะมีการไปยอมรับข้อเจรจาที่จะส่งผลกระทบต่อประเทศชาติได้เกิดขึ้นในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมาในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์นี่เอง

กล่าวคือ มีความเคลื่อนไหวจากทางรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเร่งเปิดการเจรจาเอฟทีเอไทย-อียู โดยเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา นางศรีรัตน์ ฐาปานะ อธิบดีกรมเจรจาการค้าระกว่างประเทศ ขณะนั้น นำทีมข้าราชการเดินทางไปทำ scoping exercise กับทางสหภาพยุโรป ณ กรุงบรัสเซลส์ ซึ่งขณะนี้ยังคงเป็นความลับภายในกรมเจรจาฯ แม้กรมเจรจาฯ จะอ้างว่าเป็นการหารือทั่วไป

แต่น่าแปลกใจว่า ทันทีที่กลับมาได้มีการนัดประชุมระดับสูงเพื่อพิจารณาเตรียมการเปิดการเจรจาการค้าเสรีของไทยในวันที่ 9 ส.ค.โดยมีนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯ เป็นประธาน ซึ่งภายหลังการประชุม นายกิตติรัตน์ รองนายกฯ ให้สัมภาษณ์ว่า จะนำร่างกรอบเจรจาเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาตามมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 โดยไม่มีการจัดประชาพิจารณ์ร่างกรอบฯ อีก

ตามเอกสารของกรมเจรจาฯ ประเด็นที่มีความอ่อนไหวในการเจรจาประกอบไปด้วย เครื่องดื่มแอลกอฮอล์-บุหรี่, ทรัพย์สินทางปัญญา, การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ, นโยบายการแข่งขันทางการค้า และการเปิดตลาดสินค้าบริการ แต่ความเห็นของกรมเจรจาฯ ในฐานะฝ่ายเลขาฯ ที่ปรากฏอยู่ในเอกสารที่หลุดรอดออกมา สร้างความกระอักกระอ่วนใจแก่ทุกฝ่ายอย่างยิ่ง

โดยเฉพาะเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาที่เสนอให้ไทยมีท่าทียืดหยุ่นและอาจยอมรับข้อเรียกร้องที่มีลักษณะทริปส์พลัสของสหภาพยุโรป โดยให้เหตุผลว่าไม่มีผลกระทบและประเด็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์-บุหรี่ ที่เสนอให้ทบทวนมติ ครม. เดือน ก.ค.53 ที่ว่าด้วยยุทธศาสตร์นโยบายแอลกอฮอล์ระดับชาติของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เพื่อเปิดทางให้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่เป็นสินค้าที่ต้องเจรจาการค้าเสรีกับสหภาพยุโรป ทำให้สังคมเฝ้าจับตาความเคลื่อนไหวนี้อย่างกัดไม่ปล่อยมากยิ่งขึ้น

เมื่อวันที่ 4 กันยายน นักวิชาการด้านเภสัชศาสตร์ การแพทย์ การสาธารณสุข การพัฒนาสังคม การคุ้มครองผู้บริโภค และการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน 84 คนได้ทำหนังสือถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯ ระบุว่า ข้อสรุปของกรมเจรจาฯ เป็นการสรุปที่บิดเบือนจากความเป็นจริง และไม่ได้มีการใช้องค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องที่มีอยู่ ซึ่งจะชี้นำทิศทางที่ผิดพลาดให้แก่ผู้กำหนดนโยบาย โดยเฉพาะกับรัฐบาลที่มีนโยบายสำคัญในการลดความเหลื่อมล้ำในระบบสุขภาพ

“การคุ้มครองข้อมูลทดสอบยาหรืออีกนัยหนึ่งคือ การผูกขาดข้อมูลการขึ้นทะเบียนตำรับยา (data exclusivity) เป็นการสร้างระบบการผูกขาดทางการตลาดยาขึ้นใหม่ ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็น “สิทธิบัตรอำพราง” เพื่อเพิ่มการผูกขาดของสิทธิบัตรที่มีอยู่เดิม โดยอาจมีระยะเวลาการผูกขาดเพิ่มมากขึ้นถึง 10 ปี

และจากประสบการณ์ในหลายประเทศ เช่น โคลอมเบีย หลังจากที่สหภาพยุโรปบังคับให้มีการผูกขาดข้อมูลยา 10 ปี ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายด้านยาของประเทศเพิ่มขึ้นถึง 340 ล้านเหรียญสหรัฐ (10,200 ล้านบาท) ซึ่งสอดคล้องกับผลการวิจัยในไทยที่พบว่าถ้าปล่อยให้มีการผูกขาดข้อมูลการขึ้นทะเบียนตำรับยาตั้งแต่ปี พ.ศ.2550 (ซึ่งเป็นปีที่ทำการศึกษา) ทำให้ค่าใช้จ่ายด้านยาของไทยในอีกห้าปีข้างหน้า (พ.ศ.2556) จะสูงถึง 81,356 ล้านบาทต่อปี”


ประเด็นข้อเรียกร้องที่สำคัญจากฝ่ายอียูที่จะส่งผลกระทบโดยตรงอย่างสูงต่อการบริหารจัดการยาและเวชภัณฑ์ภาครัฐซึ่งจะเกี่ยวพันกับปัญหาอุปสรรคการเข้าถึงยาของประชาชน ประกอบไปด้วย

1) การขยายอายุการคุ้มครองสิทธิบัตรอย่างน้อย 5 ปี

2) การคุ้มครองข้อมูลในรูปแบบการได้รับสิทธิพิเศษเพียงผู้เดียวเหนือข้อมูลที่ยื่นทะเบียนยาครั้งแรกและครั้งต่อๆ ไป อย่างน้อย 5 ปี หรือ data exclusivity ซึ่งอยู่ในหมวดการเจรจาด้านทรัพย์สินทางปัญญา

3) การจับ ยึด อายัด หรือทำลายสินค้ายาและเวชภัณฑ์ที่สงสัยว่าอาจจะละเมิดสิทธิบัตรหรือทรัพย์สินทางปัญญาประเภทอื่นๆ ณ จุดผ่านแดน ซึ่งอยู่ในหมวดการเจรจาด้านมาตรการ ณ จุดผ่านแดน (Border Measure)”


ทั้งนี้ คณะนักวิชาการเสนอให้รอผลการประเมินทางสุขภาพกรณีศึกษาผลกระทบจากความตกลงการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรปต่อการเข้าถึงยาที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ซึ่งเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบด้านสาธารณสุขของประเทศโดยตรงกำลังดำเนินการอยู่ ซึ่งจะแล้วเสร็จในเดือน มิ.ย.56 เพื่อให้ผู้มีอำนาจในการเจรจานำไปใช้เป็นข้อมูลในการต่อรองให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศไทย

เช่นเดียวกับความเห็นของหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ปลายเดือน ส.ค.กระทรวงสาธารณสุขได้ทำหนังสือถึงกระทรวงพาณิชย์ แสดงความห่วงใยอย่างยิ่งต่อประเด็นข้อเรียกร้องการเปิดการเจรจาการค้าเสรีกับสหภาพยุโรป “ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงอย่างรุนแรงต่อการบริหารจัดการยาและเวชภัณฑ์ภาครัฐ อันเกี่ยวพันโดยตรงถึงชีวิตและสุขภาพของประชาชน”

ทางด้านกรมทรัพย์สินทางปัญญา นางปัจฉิมา ธนสมบัติ อธิบดีกรมฯ ก็ได้ให้สัมภาษณ์ กล่าวถึงความพยายามของกรมเจรจาฯ ที่เร่งให้มีการเริ่มเจรจาเอฟทีเอกับสหภาพยุโรปว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ต้องทำอย่างรอบคอบ และหากไทยไปยอมรับความตกลงที่เกินไปกว่าทริปส์ตามที่สหภาพยุโรปต้องการ จะนำไปสู่การแก้กฎหมายซึ่งประเทศสมาชิกอื่นๆ ขององค์การการค้าโลกจะมาเรียกร้องขอใช้ประโยชน์ด้วย อย่างไรก็ตาม จากนั้นไม่นานหน่วยงานเหล่านี้พยายามหลีกเลี่ยงการให้ความคิดเห็นหรือแสดงจุดยืนทางวิชาการในเรื่องดังกล่าวต่อสาธารณะอีก

หลังจากที่ตกเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ทั้งสื่อกระแสหลักและโซเชียลเน็ตเวิร์ก กรมเจรจาฯ ต้องจัดการประชุมกลุ่มย่อยใน 7 ประเด็น โดยประเด็นทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวข้องกับเรื่องยานั้นจัดประชุมวันที่ 7 ก.ย.2555

กรมเจรจาฯ ได้นำเสนอส่วนหนึ่งของ (ร่าง) กรอบการเจรจาฉบับใหม่ ด้วยข้อความที่แตกต่างไปจากที่เคยเสนอคณะอนุเอฟทีเอในคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ธ.ค. 53 ระบุว่า “ให้ระดับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาสอดคล้องกับระดับการคุ้มครองตามความตกลงขององค์การการค้าโลก และ/หรือความตกลงใดๆ ที่ไทยเป็นภาคี” โดยให้เหตุผลว่า เป็นไปตามกรอบการเจรจาอาเซียน-สหภาพยุโรปที่เคยผ่านความเห็นชอบของรัฐสภา

แต่ในการขยายความระหว่างการประชุม อธิบดีกรมเจรจาการค้าฯ ระบุว่า (ร่าง) กรอบดังกล่าวอนุญาตให้เจรจาความตกลงที่เกินไปกว่าความตกลงทริปส์ได้ เพราะในความตกลงทริปส์ขององค์การการค้าโลกเป็นมาตรการขั้นต่ำ จึงนับเป็นความสอดคล้อง ซึ่งตัวแทน อย. ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม และอุตสาหกรรมยาในประเทศไม่เห็นด้วย มีเพียงนายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล ที่ปรึกษาอาวุโส กลุ่มธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ในฐานะตัวแทนสภาหอการค้าไทย และนางอำพร เจริญสมศักดิ์ ตัวแทนสมาคมพรีม่าซึ่งเป็นบริษัทยาข้ามชาติที่สนับสนุนเต็มตัว

ความเคลื่อนไหวของตัวแทนซีพีที่ใช้ฐานะสภาหอการค้าไทย และพรีม่า น่าสนใจยิ่ง เพราะจากนั้นไม่นานทั้งสองหน่วยงานนี้ได้จับมือกับกรมเจรจาฯ ขอหารือกับสมาคมไทยอุตสาหกรรมผลิตยาแผนปัจจุบัน (TPMA) เพื่อให้ยอมรับการเยียวยาหากต้องยอมรับทริปส์พลัส

อย่างไรก็ตาม ภายหลังการประชุมไม่นาน ผู้สื่อข่าวรายงานจากกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ สมาคมไทยอุตสาหกรรมผลิตยาแผนปัจจุบัน (TPMA) ซึ่งเป็นผู้ผลิตยาชื่อสามัญในประเทศ ได้ทำหนังสือที่ ท.032/2555 ลงวันที่ 22 ต.ค. 55 ถึงอธิบดีกรมเจรจาฯ เพื่อแสดงจุดยืนของสมาคมต่อการเปิดเขตการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป (EU) และไทย-สมาคมการค้ายุโรป (EFTA) ระบุว่า สินค้ายาสำเร็จรูปที่นำมาจำหน่ายในประเทศไทยส่วนใหญ่นำเข้าจากสหภาพยุโรป (EU-EFTA) และสหรัฐฯ แต่ประเทศหลักที่ไทยส่งยาออกไปไม่ใช่ประเทศเหล่านี้

ดังนั้น ในหมวดสินค้ายาในรูปวัตถุดิบ สินค้ายาสำเร็จรูป และของเสียจากเภสัชภัณฑ์ ประเทศไทยจะไม่ได้ประโยชน์จากการเจรจาเอฟทีเอแต่อย่างใด จึงขัดต่อหลักการและวัตถุประสงค์ของการเจรจาเอฟทีเอที่ว่าจะส่งเสริมให้การค้าระหว่างกันสูงขึ้น ทางสมาคมฯ จึงไม่เห็นด้วย

“เพราะนอกจากประเทศไทยจะไม่ได้ประโยชน์อะไรจากความตกลงดังกล่าวแล้ว กลับเป็นการเอื้อประโยชน์ให้สินค้ายาฯ มีปริมาณและมูลค่านำเข้าที่สูงขึ้น ประกอบกับถ้าหากกรมเจรจาฯ ยอมรับข้อผูกพันที่มากกว่าความตกลงทริปส์ หรือทริปส์พลัส ก็จะทำให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงและใหญ่หลวงต่อระบบสาธารณสุขของประเทศ"


กำลังโหลดความคิดเห็น