xs
xsm
sm
md
lg

เร่งรัดเจรจาเอฟทีเอไทย-อียู ไม่สนข้อคิดเห็นสาธารณะ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการออนไลน์ - ความพยายามในการเร่งเปิดการเจรจาเอฟทีเอไทย-สหภาพยุโรปไม่เคยลดละ แน่นอนว่าข้อคิดเห็นสาธารณะและข้อเสนอแนะดังกล่าวไม่เคยถูกนำไปพิจารณาประกอบ และไม่เคยถูกส่งกลับไปให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาแต่อย่างใด

วิกฤตยูโรโซนสะท้อนผ่านตัวเลขเศรษฐกิจที่ชี้ชัดถึงกำลังซื้อที่หดหายของสหภาพยุโรปมากที่สุด คือ สถิติการค้าขายระหว่างประเทศที่เปิดเผยโดยสำนักงานศุลกากรของจีนตั้งแต่เดือนมกราคม ถึงเดือนสิงหาคมในปี 2555 นี้ พบว่ากลุ่มประเทศคู่ค้าใหญ่ที่สุด 4 อันดับแรกของจีน คือ สหภาพยุโรป หรืออียู สหรัฐฯ อาเซียน และญี่ปุ่น พบว่าอียูมีตัวเลขการค้าลดลงร้อยละ 1.9 เลวร้ายยิ่งกว่าญี่ปุ่นซึ่งเผชิญปัญหาข้อพิพาทน่านน้ำกับจีนที่ลดลงร้อยละ 1.4 ผิดกับอาเซียนและสหรัฐฯ ที่มีปริมาณการค้ากับจีนเพิ่มขึ้น

ดังนั้นจึงไม่ต้องแปลกใจว่า ขณะนี้ความเคลื่อนไหวด้านการเจรจาการค้าการลงทุนของสหภาพยุโรปจึงเป็นไปเพื่อการเปิดตลาดใหม่ๆ ให้แก่ธุรกิจของตัวเอง หรืออาจมีนักวิเคราะห์หลายคนมองว่าสหภาพยุโรปกำลังหาเสื้อชูชีพ แล้วประเทศใดเหมาะจะเป็นเสื้อชูชีพให้สหภาพยุโรปพ้นวิกฤตนี้ได้?

ประเทศไทยร่วมกับอาเซียนเริ่มเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA) กับสหภาพยุโรป ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 ก่อนหน้าที่วิกฤตยูโรโซนจะเริ่มเด่นชัด ในขณะนั้นสหภาพยุโรปไม่ได้ดำเนินนโยบายการเจรจาการค้าระดับทวิภาคีเท่ากับที่สหรัฐฯ สมัยจอร์จ บุช (ผู้ลูก) ทำ แต่เลือกที่จะใช้การเจรจาระหว่างภูมิภาค

ความตกลงดังกล่าวมีสาระสำคัญครอบคลุมการเปิดตลาดสินค้า การค้าภาคบริการ และการลงทุน รวมทั้งความร่วมมือในด้านต่างๆ ซึ่งการเจรจาดำเนินไปถึง 7 รอบ แต่ไม่สามารถหาข้อยุติได้ในระดับการเปิดตลาดสินค้าและบริการ การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐและนโยบายการแข่งขันทางการค้า โดยเฉพาะทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งครั้งนั้นอาเซียนมีเสียงเอกฉันท์ที่จะไม่รับข้อเรียกร้องของสหภาพยุโรปที่เกินไปกว่าความตกลงทริปส์ใน WTO คือการไม่รับทริปส์พลัสนั่นเอง

ในที่สุด มี.ค. 2552 ทั้งสองฝ่ายได้มีการประกาศพักการเจรจา โดยสหภาพยุโรปอ้างว่าไม่ได้รับ mandate ให้เจรจากับพม่า ซึ่ง ณ ขณะนั้นยังไม่มีแววเป็นประชาธิปไตย จากนั้นสหภาพยุโรปได้เปลี่ยนแนวทางการเจรจาเป็นแบบทวิภาคีกับประเทศที่พร้อมก่อน โดยเริ่มเจรจากับสิงคโปร์ตั้งแต่ มี.ค. 2553 และเริ่มจีบประเทศอื่นๆ เช่น มาเลเซีย เวียดนาม และไทย

นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ได้จัดรับฟังความคิดเห็นต่อการเจรจาเอฟทีเอไทย-สหภาพยุโรปหลายครั้ง ส่วนหนึ่งเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2553 ที่ได้แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อรับฟังความคิดเห็น โดยคณะกรรมการมีภารกิจหลักในการรวบรวมข้อมูล ความเห็นเกี่ยวกับความเป็นไปได้ ผลดีผลเสียในการจัดทำความตกลงการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรปเพื่อให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา และภารกิจของคณะกรรมการจะสิ้นสุดเมื่อได้เสนอความเห็นดังกล่าวต่อคณะรัฐมนตรี

ต่อมาได้มีมติแต่งตั้งคณะอนุกรรมการรับฟังความเห็น 4 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มภาครัฐ กลุ่มภาคการเกษตร กลุ่มธุรกิจเอกชน และกลุ่มภาคประชาสังคม เพื่อจัดการรับฟังความคิดเห็นทั่วประเทศ แต่จนถึงขณะนี้ความเห็นของคณะกรรมการชุดดังกล่าวไม่เคยถูกส่งกลับให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา

สรุปข้อคิดเห็นจากการรับฟัง

ภาพรวม
•การไม่เจรจากับสหภาพยุโรปอาจทำให้ไทยเสียเปรียบคู่แข่งทางการค้าในตลาดสหภาพยุโรป แต่การเจรจากับสหภาพยุโรปต้องระมัดระวัง เพราะไทยมีอำนาจการต่อรองน้อยกว่า และสหภาพยุโรปมีกฎเกณฑ์ทางการค้าและการลงทุน บางเรื่องที่อาจมีความแตกต่างกันในแต่ละประเทศสมาชิก (multi-layer) ซึ่งจะเป็นอุปสรรคต่อการเข้าสู่ตลาดของสินค้า บริการ และการลงทุนของไทย

•การเปิดเสรีด้านบริการสามารถก่อให้เกิดประโยชน์ด้านการพัฒนาเทคโนโลยี และเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค แต่ศักยภาพด้านการแข่งขันของภาคบริการไทยยังไม่พร้อม จึงควรเปิดเสรีอย่างค่อยเป็นค่อยไป

•หากมีการเจรจาต้องมีการรองรับอย่างรอบด้าน ไทยควรเตรียมความพร้อมภายในประเทศทั้งในด้านกฎหมาย กฎระเบียบ โครงสร้าง กลไก และมาตรการรองรับ เพื่อให้การเจรจาเป็นประโยชน์มากที่สุด โดยเฉพาะจะต้องเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม มาตรการรองรับ ปรับตัว และเยียวยาของภาครัฐควรจะเข้าถึงง่ายและได้ผลจริงในทางปฏิบัติ

ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ

•สินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูป : ไก่แปรรูป อาหารทะเลแช่เย็น แช่แข็ง และแปรรูป ข้าว แป้งมันสำปะหลัง และน้ำตาล
•สินค้าแฟชั่น : อัญมณี และเครื่องประดับ สิ่งทอ เสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่ม และเครื่องใช้ไฟฟ้า/อิเล็กทรอนิกส์
•สาขาบริการที่จะได้รับประโยชน์ ได้แก่ การท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง : ที่พักโรงแรม ร้านอาหาร และสปา การบริการสุขภาพ สาขาบันเทิงและโสตทัศน์ และสาขาการรับ-ส่งสินค้าระหว่างประเทศ
•สาขาบริการที่เปิดเสรีแล้วจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศและผู้บริโภค แต่อาจมีผลกระทบต่อผู้ประกอบการภายในโดยเฉพาะรายย่อย ได้แก่ บริการโทรคมนาคม และบริการการศึกษา
•กลุ่มที่สนับสนุนการเจรจาแต่ขอเวลาปรับตัว และขอรับมาตรการช่วยเหลือจากรัฐ สำหรับสินค้าบางรายการในกลุ่มสินค้ายานยนต์ เหล็กและผลิตภัณฑ์ พลาสติกและปิโตรเคมี เคมีภัณฑ์ และเครื่องหนัง และผลิตภัณฑ์
•จะช่วยยกระดับมาตรฐานสินค้าภายในประเทศ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค ประชาชน และการส่งออกสินค้าของไทย
• ความร่วมมือเพื่อการถ่ายทอดเทคโนโลยี และการพัฒนามาตรฐานสินค้า รวมทั้งด้านทรัพย์สินทางปัญญา มาตรฐานแรงงาน และสิ่งแวดล้อม การลงทุน และการร่วมทุนในสาขาธุรกิจบันเทิง การจัดตั้งห้องปฏิบัติการด้านมาตรฐาน การขนส่งพัสดุภัณฑ์ทางอากาศ และการลงทุน เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เทคโนโลยีสะอาด และลดก๊าซเรือนกระจก

ข้อห่วงกังวล

•กลุ่มที่ไม่พร้อมแข่งขัน/มีความอ่อนไหวสูง ได้แก่ ยารักษาโรค ชิ้นส่วนยานยนต์ เยื่อและกระดาษ ไม้บางและวัสดุแผ่นไม้อัด เครื่องสำอาง นม เนื้อวัว เนื้อหมู เครื่องในสัตว์ บุหรี่ สาขาบริการโทรคมนาคม การเงิน การธนาคาร ไปรษณีย์ การขนส่งสินค้าทางทะเล มัคคุเทศก์ และคลังสินค้า

•การเปิดเสรีสินค้าและบริการที่ยังมีความเห็นต่าง ได้แก่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ภาคประชาสังคมเห็นว่าไม่ควรเปิดเสรีเพราะมีผลกระทบทางสังคม แต่ผู้ประกอบการบางส่วนเห็นว่าอาจช่วยป้องกันการนำเข้าแบบผิดกฎหมาย) และบริการลอจิสติกส์ การเปิดเสรีจะช่วยให้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากสหภาพยุโรป อย่างไรก็ตาม จะต้องระมัดระวังผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทยที่ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการรายย่อย ซึ่งธุรกิจมีการแข่งขันสูงมาก

•โครงสร้าง/กลไก ภายในประเทศทำให้เกษตรกรถูกเอารัดเอาเปรียบ และไม่สามารถแข่งขันได้

•การลงทุน และการเข้าถึงฐานทรัพยากรที่เป็นผลจากการเปิดเสรีจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ชีววิถี ชุมชน และฐานทรัพยากรของประเทศ

•ไม่สนับสนุนการเปิดเสรีการลงทุนที่เกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติ (ที่ดิน น้ำ ป่าไม้ เหมืองแร่ และพันธุ์พืช) รวมทั้งที่เกี่ยวกับภาคการเกษตร (การทำนา ธุรกิจพืชและเมล็ดพันธุ์) และที่เกี่ยวกับบริการสาธารณสุข และร้านขายยา
•สหภาพยุโรปมีมาตรฐานสินค้า และกฎระเบียบที่หลากหลาย เข้มงวด และซับซ้อน ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญในการเข้าสู่ตลาดของสินค้าเกษตร และอุตสาหกรรมของไทย

•ในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาต้องไม่มีข้อผูกพันเกินกว่าที่ตกลงแล้วในองค์การการค้าโลก และในเรื่องการเกษตรและจุลชีพประเทศไทยต้องไม่เข้าเป็นภาคีภายใต้สนธิสัญญา UPOV 1991 ซึ่งเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิของนักปรับปรุงพันธุ์ และสนธิสัญญาบูดาเปสต์ที่คุ้มครองการจดสิทธิบัตรจุลชีพ ซึ่งจะส่งผลกระทบให้เกิดการผูกขาดการเกษตรอย่างครบวงจร และกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ และวิถีชีวิตของชุมชนและเกษตรกรรายย่อย ส่วนในเรื่องของยาและเวชภัณฑ์ จะต้องไม่มีการผูกขาดข้อมูลทางยา (data exclusivity) การขยายการคุ้มครองสิทธิบัตรยา และจะต้องไม่เป็นอุปสรรคต่อการใช้มาตรการใช้สิทธิหนือสิทธิบัตรยา และการเข้าถึงยาจำเป็นของประชาชน

ข้อเสนอแนะ/มาตรการรองรับจากการรับฟัง

•การเตรียมความพร้อม

1. ควรศึกษา และทบทวนผลกระทบของการเปิดเสรีทางการค้าในกรอบต่างๆ ที่ผ่านมาของไทยว่า มีปัญหาอุปสรรค ผลดี และผลเสียอย่างไร เพื่อเป็นบทเรียนสำหรับการจัดทำความตกลงการค้าเสรีฉบับต่อไปในอนาคต โดยให้องค์กรกลางเป็นผู้บริหารการศึกษาวิจัย พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้ภาคประชาสังคม ภาคธุรกิจ และประชาชนทั่วไปมีส่วนร่วมในการศึกษาวิจัยด้วย
(ภาคประชาสังคมมีข้อเสนอว่า ควรที่จะพิจารณาหยุดการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรีเพิ่มเติมอย่างน้อย 5 ปี เพื่อเตรียมความพร้อม และศึกษาวิจัยข้อมูลให้รอบด้าน ตลอดจนการฟื้นฟู ชดเชย/เยียวยาความเสียหายให้แก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้าที่ผ่านมา)

2. ภาครัฐควรปรับกลไกภายในประเทศ และสร้างขีดความสามารถให้เกษตรกรแข่งขันได้ และพร้อมสำหรับการเปิดเสรี เช่น ด้านการตลาด (ช่องทางการตลาดและช่องทางการกระจายสินค้าเกษตร) ด้านการพัฒนาคุณภาพผลผลิตให้ได้คุณภาพเป็นที่ต้องการของตลาด และให้ความรู้เรื่องการเปิดเสรีทางการค้าแก่เกษตรกรอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงได้

•มาตรการที่มิใช่ภาษี

1. มีห้องทดสอบสารเคมีที่ได้มาตรฐาน และเป็นที่ยอมรับในระดับสากล (Good Laboratory Practice)
2. มีการยอมรับผลการตรวจรับรอง และทดสอบซึ่งกันและกัน (MRA)
3. เสริมสร้างความรู้ความสามารถของบุคลากรเฉพาะด้าน รวมถึงในระดับเกษตรกร
4. พัฒนาด้านการวิจัยและพัฒนา

5. ควรเจรจาผลักดันให้มีกลไกความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรม ในเรื่องการให้ความช่วยเหลือทางวิชาการแก่ผู้ประกอบการไทย การแลกเปลี่ยนความรู้ และเทคโนโลยี ตลอดจนระบบการเตือนภัยล่วงหน้า และกลไกการหารือในประเด็นเทคนิค ก่อนที่สหภาพยุโรปจะกำหนดมาตรการที่มิใช่ภาษีใหม่ๆ
6. จัดตั้งกลไกหารือภาครัฐระหว่างหน่วยงานด้านมาตรฐานและสุขอนามัย

•การลงทุน

- ไม่ให้นำข้อพิพาทที่เกี่ยวกับการลงทุนสาธารณะเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการ และระมัดระวังไม่ควรให้มีข้อบทการลงทุน และข้อบทอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะด้านการคุ้มครองการลงทุนที่จะจำกัดอำนาจของรัฐในการออกระเบียบ และกฎหมายที่จะกระทบต่อสิทธิของนักลงทุนและการลงทุน และที่จะนำไปสู่การฟ้องร้องรัฐโดยเอกชน

•ทรัพย์สินทางปัญญา

1. กรอบการเจรจาต้องระบุให้ระดับการคุ้มครองไม่เกินไปกว่าที่ผูกพันไว้ในความตกลงขององค์การการค้าโลก และไม่ลดทอนการใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยาของประเทศ
2. ให้มีที่ปรึกษาด้านทรัพย์สินทางปัญญาในการเจรจา และให้นักวิชาการภาคประชาสังคมและภาคธุรกิจเข้าร่วมสังเกตการณ์การเจรจา
3. ควรให้สหภาพยุโรปถ่ายทอดเทคโนโลยี และความร่วมมือ เพื่อพัฒนาระบบทรัพย์สินทางปัญญาไทย โดยเฉพาะความรู้เรื่องสิทธิบัตร
4. ควรจัดทำฐานข้อมูลทรัพย์สินทางปัญญาด้านภูมิปัญญาท้องถิ่น และวัฒนธรรมอย่างเร่งด่วน

•แรงงานและสิ่งแวดล้อม

1. ไทยควรมีอิสระในการเข้าร่วมเป็นภาคีความตกลง และ/หรืออนุสัญญาระหว่างประเทศด้านแรงงานและสิ่งแวดล้อม
2. ในด้านการลงทุนของสหภาพยุโรปในไทยเสนอให้ใช้มาตรฐานแรงงาน สิ่งแวดล้อม และการคุ้มครองผู้บริโภคเช่นเดียวกับที่สหภาพยุโรปบังคับใช้ในประเทศตนเอง
3. พัฒนาผู้ประกอบการไทยโดยเฉพาะ SMEs ให้มีขีดความสามารถในประเด็นดังกล่าวให้ทัดเทียมกับสหภาพยุโรป

•การมีส่วนร่วม

- เสนอให้จัดตั้งกลไกที่มีอิสระจากกลไกที่ทำหน้าที่ในการเจรจา เพื่อติดตาม ตรวจสอบการเจรจา และผลกระทบที่อาจเกิดจากข้อตกลงการค้าเสรีที่กำลังดำเนินการเจรจา และที่มีผลบังคับใช้แล้ว และทำหน้าที่ในการสื่อสารผลจากการศึกษาติดตาม ตรวจสอบให้ประชาชนได้รับรู้อย่างทั่วถึง รวมทั้งให้สร้างหลักประกันการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม ภาคธุรกิจ และประชาชนทั่วไปในกระบวนการเจรจา (ก่อน ระหว่าง และหลังการเจรจา) โดยให้มีกฎหมายมารองรับ

ความเห็นของคณะกรรมการเพื่อรับฟังความคิดเห็นของทุกภาคส่วนในเรื่องการจัดทำความตกลงการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป

คณะกรรมการฯ เห็นว่าไทยสามารถเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรีกับสหภาพยุโรปได้ แต่มีข้อกังวลที่รัฐบาลควรจะต้องปรับปรุง หรือเปลี่ยนแปลงกลไกภายในประเทศ ตลอดจนการดำเนินการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ และเอกชนให้มีบูรณาการก่อน เช่น กลไกการเจรจา การเตรียมความพร้อม มาตรการเยียวยา กฎระเบียบ มาตรการ กฎหมายที่เกี่ยวข้อง และการศึกษาวิจัย โดยไม่รอให้การเจรจาเริ่มหรือเสร็จสิ้นหรือมีผลบังคับใช้ เพื่อเตรียมความพร้อม ขจัดข้อกังวล และปัญหาความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้น ตามที่ทุกภาคส่วนได้ให้ข้อคิดเห็น และข้อกังวล ดังนี้

•การเตรียมความพร้อมของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องช่วงก่อน ระหว่าง และหลังการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี รัฐบาลจะต้องเตรียมงบประมาณ และมอบหมายหน่วยงานรับผิดชอบ ดังนี้
1. การให้ความรู้ การเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และการมีส่วนร่วมของทุกหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบอย่างมีบูรณาการ

- ส่งเสริม และเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการเปิดการค้าเสรี การพัฒนาความสามารถในการแข่งขัน และการเตรียมความพร้อมให้แก่ผู้ประกอบการ ประชาชน และเกษตรกรอย่างต่อเนื่องและทั่วถึงทั้งในส่วนกลาง และภูมิภาค
- เสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันสำหรับสินค้า/สาขาบริการที่ยังไม่พร้อมในการเปิดเสรี เช่น ด้านการตลาด การพัฒนาคุณภาพการผลิตและสินค้า
- ควรจัดทำโครงการเสริมสร้างศักยภาพผู้บริโภคของไทยให้มีความรู้เท่าทัน และฉลาดในการเลือกบริโภคสินค้า
- ควรเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ความคืบหน้าการเจรจา และผลการเจรจาอย่างทั่วถึงและต่อเนื่อง เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้รับทราบข้อมูล เตรียมความพร้อมและหารือ (dialogue)
- ควรสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่โปร่งใส

2. การศึกษาวิจัย
- มีองค์กรกลางบริหารการทำการศึกษาวิจัยผลกระทบจากการเปิดเสรี
- มีหน่วยงานรับผิดชอบที่เกี่ยวข้องทำการศึกษาวิจัยในภาพรวมอย่างต่อเนื่อง เพื่อเตรียมความพร้อมต่อกระแสโลกาภิวัตน์ และกำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศ
3. การปรับปรุงกลไกภายในประเทศ
- จัดทำแผนปฏิบัติการ (Action Plan) ที่เป็นรูปธรรม เพื่อเยียวยาผู้ที่อาจได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีการค้า
- ปรับปรุงกลไกภายในประเทศให้เกษตรกรได้รับผลประโยชน์จากการเปิดเสรีด้วย
- มอบหมายหรือจัดตั้งหน่วยงานภาครัฐเพื่อดูแล และรับผิดชอบนโยบายทางสังคม (Common Policy) เช่น นโยบายการคุ้มครองผู้บริโภค และนโยบายการแข่งขันทางการค้า

• การเยียวยาผลกระทบ

1. ตั้งงบประมาณ และมอบหมายหน่วยงานรับผิดชอบสำหรับการจัดตั้งกองทุนเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีการค้า โดยอาจรวมกองทุน และโครงการของกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นกองทุนเดียว โดยกำหนดเงื่อนไข และหลักเกณฑ์การใช้กองทุนที่ตอบสนองต่อความต้องการของผู้ที่อาจหรือได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้าอย่างแท้จริง
2. มีมาตรการเยียวยา/รองรับด้านอื่น นอกเหนือจากด้านการเงินให้แก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีการค้า
3. หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องควรกำหนดมาตรการเยียวยา โดยคำนึงถึงความเป็นธรรมระหว่างผู้ที่ได้รับผลประโยชน์ กับผู้ที่ได้รับผลกระทบ เช่น ศึกษาความเป็นไปได้ในการเก็บภาษีจากผู้ที่ได้รับประโยชน์จากการเปิดเสรีการค้า เพื่อมาจัดตั้งกองทุนเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีการค้า

ดังนั้น คณะกรรมการฯ เสนอให้รัฐบาลพิจารณาดำเนินการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรีกับสหภาพยุโรปด้วยความระมัดระวัง และรอบคอบอย่างยิ่ง โดยคำนึงถึงประเด็นที่เป็นความกังวล และข้อเสนอแนะจากการรับฟังความคิดเห็นของทุกภาคส่วนที่คณะกรรมการฯ ได้ประมวลไว้ ดังต่อไปนี้

1. ให้พิจารณาอย่างรอบคอบและระมัดระวังสินค้าที่มีความละเอียดอ่อนและอ่อนไหวด้านสังคมสูง ได้แก่ ยา สุรา บุหรี่ ทั้งนี้ ภาคประชาสังคมและนักวิชาการเห็นว่าไม่ควรนำเข้าสู่การเจรจา แต่ภาคธุรกิจเห็นว่าสามารถนำเข้าสู่การเจรจาได้
2. ระดับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาต้องไม่เกินไปกว่าที่ผูกพันไว้ในความตกลงขององค์การการค้าโลก

3. ไม่สนับสนุนเปิดเสรีการลงทุนที่เกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติ (ที่ดิน น้ำ ป่าไม้ เหมืองแร่ และพันธุ์พืช) รวมทั้งที่เกี่ยวกับภาคการเกษตร (การทำนา ธุรกิจพืช และเมล็ดพันธุ์) และที่เกี่ยวกับบริการสาธารณสุข และไม่สมควรให้มีการใช้กระบวนการอนุญาโตตุลาการในการระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐกับเอกชน ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับนโยบายสาธารณะด้านสิ่งแวดล้อม และสังคม

4. การเปิดเสรีบริการ และการลงทุนที่สามารถส่งผลต่อความมั่นคงของประเทศ อาทิ บริการสาขาโทรคมนาคม และการสื่อสาร การเจรจาสินค้าเกษตรต้องคำนึงถึงความหลากหลายทางการผลิต และบริโภคภายในประเทศ และสวัสดิการของเกษตรกรรายย่อยเป็นสำคัญ โดยต้องไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารในประเทศไทย

5. มาตรการกีดกัน และอุปสรรคทางการค้าที่มิใช่ภาษีทั้งที่เป็นกฎเกณฑ์กลาง และที่แตกต่างกันของแต่ละประเทศสมาชิกที่เป็นอุปสรรคต่อการส่งออก และการเปิดตลาด เช่น มาตรฐานสินค้า มาตรฐานสุขอนามัย และกฎระเบียบด้านการบริการ และการลงทุน

6. กฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้าควรสอดคล้องกับโครงสร้างการผลิตสินค้าของไทยให้มากที่สุด
7. ขอให้มีความร่วมมือ และช่วยเหลือในด้านต่างๆ เช่น วิชาการ เศรษฐกิจ แรงงาน และสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการเสริมสร้างขีดความสามารถของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม และเกษตรกร

ข้อเสนอแนะที่รอบคอบรอบด้านเช่นนี้ถูกนำไปซุกอยู่มุมใดในกระทรวงพาณิชย์ไม่มีใครรู้ แต่จนบัดนี้มันไม่เคยถูกส่งกลับไปให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา ทว่า ความพยายามในการเร่งเปิดการเจรจาเอฟทีเอไทย-สหภาพยุโรปไม่เคยลดละ แน่นอนว่า ข้อคิดเห็นสาธารณะและข้อเสนอแนะดังกล่าว ไม่เคยถูกนำไปพิจารณาประกอบ
จับตารัฐบาลปูนิ่มอ้ารับเอฟทีเอไทย-อียู เปิดช่องผูกขาดสิทธิบัตรยา นำเข้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์-บุหรี่
จับตารัฐบาลปูนิ่มอ้ารับเอฟทีเอไทย-อียู เปิดช่องผูกขาดสิทธิบัตรยา นำเข้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์-บุหรี่
ความตกต่ำที่เกิดขึ้นจากวิกฤตยูโรโซนทำให้สหภาพยุโรปเร่งรัดการเจรจาเอฟทีเอเพื่อเปิดตลาดใหม่ กระตุ้นเศรษฐกิจ และประเทศไทยเป็นหนึ่งในเป้าหมาย ซึ่งเวลานี้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ได้แสดงท่าทีชัดเจนว่าพร้อมเปิดรับข้อตกลงทั้งการเปิดทางผูกขาดสิทธิบัตรยาที่จะสร้างผลกระทบและความเสียหายใหญ่หลวงไม่แพ้เอฟทีเอไทย-สหรัฐฯ รวมทั้งการเปิดตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์-บุหรี่ ซึ่งขณะนี้ร่างกรอบเจรจาฯ กำลังจ่อคิวเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.ใน 1-2 สัปดาห์ข้างหน้า โดยที่ร่างกรอบทั้งฉบับไม่เคยเปิดเผยและไม่เคยนำไปรับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้าน
กำลังโหลดความคิดเห็น