นายกฯ เข้าร่วมประชุมอาเซียนยุ่น ยันไทยพร้อมเป็นหุ้นส่วนพัฒนาร่วม ชูญี่ปุ่นมีบทบาทโยงนักลงทุนสู่ภูมิภาค เผยทุกชาติเห็นพ้องเร่งแผนตั้งประชาคมอาเซียนให้ทัน พร้อมรับรองปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และการเจรจาหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ ตั้งชาวญวนเป็นเลขาฯ แทน “สุรินทร์” ขณะที่สยามดันความร่วมมือข้าว-ยางพารา-ปราบยาเสพติดระหว่างพรมแดน-เร่งอนุสัญญาต้านค้ามนุษย์ ชูใช้เป็นที่เก็บข้าวสำรอง และอวยท่าน้ำลึกทวาย ก่อนประชุมร่วมโสมขาว ผสานความเชื่อมโยงต่างๆ
วันนี้ (19 พ.ย.) ที่ราชอาณาจักรกัมพูชา เมื่อเวลา 09.00 น. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-ญี่ปุ่น ร่วมกับผู้นำจากประเทศอาเซียน และนายโยชิฮิโกะ โนดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้ขออาเซียนและญี่ปุ่นให้ความสำคัญต่อความร่วมมือด้านความเชื่อมโยงทั้งในภูมิภาคและกรอบอาเซียน+3 ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของการรวมกลุ่มภูมิภาคที่ก่อให้เกิดพลวัตทางเศรษฐกิจ ซึ่งญี่ปุ่นถือที่บทบาทที่สำคัญในฐานะนักลงทุนตามแผนแม่บทการเชื่อมโยงอาเซียน ด้วยเทคโนโลยี เงินทุน และประสบการณ์ขับเคลื่อนโครงการสาธารณูปโภคต่างๆ ที่เชื่อมโยงอาเซียน รวมทั้งโครงการเสริมภายใต้กรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขง-อาเซียน ไทยพร้อมเป็นหุ้นส่วนพัฒนากับญี่ปุ่น ส่งเสริมเงินทุนเพื่อการพัฒนาจำนวน 77 ล้านเหรียญสหรัฐ พัฒนาระบบภาษีตามเขตชายแดน ลดค่าใช้จ่ายด้านลอจิสติกส์ และการจัดตั้ง ASEAN Single Window บริหารจัดการภัยพิบัติ ลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน แนะนำระบบบริหารจัดการน้ำด้วยเทคโนโลยีระดับสูงและระบบฟื้นฟูภัยพิบัติอาเซียนและญี่ปุ่น การจัดตั้งความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-ญี่ปุ่น (AJCEP) และแผนยุทธศาสตร์ร่วมมือเศรษฐกิจ 10 ปี ระหว่างอาเซียน-ญี่ปุ่น สร้างโอกาสการลงทุนใหม่ๆให้แก่ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก ขณะที่ญี่ปุ่นรับเป็นเจ้าภาพการจัดการประชุมสุดยอดอาเซียน-ญี่ปุ่น (ASEAN-Japan Commemorative) ในปีหน้า
ทั้งนี้ ผลการหารือในที่ประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 21 ทุกประเทศต่างเห็นพ้องเร่งรัดการดำเนินการตามแผนงานจัดตั้งประชาคมอาเซียนทั้ง 3 เสาหลัก ให้ทันตามเป้าหมายปี 2558 ทั้งการรักษาสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาค การปรับกฎระเบียบให้สอดคล้องกัและการอนุวัติความตกลงทางเศรษฐกิจเพื่อการรวมตัวเป็น AEC การลดมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี การลดช่องว่างด้านการพัฒนา การบริหารจัดการภัยพิบัติ การสร้างความรู้สึกร่วมกันของความเป็นอาเซียน รวมทั้งการให้คู่เจรจามาสนับสนุนการสร้างประชาคมอาเซียน กำหนดวันบรรลุเป้าหมายการเป็นประชาคมอาเซียนในวันที่ 31 ธ.ค. 58 ตามแผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงในอาเซียนที่ประชุมเห็นว่า ความท้าทายที่สำคัญสุด คือการระดมทุนให้เพียงพอนอกเหนือจากกองทุนโครงสร้างพื้นฐานอาเซียน (ASEAN Infrastructure Fund : AIF) จำเป็นระดมทุนอื่นๆ จากประเทศนอกภูมิภาคและภาคเอกชน ส่งเสริมกลไกประสานงานกับคู่เจรจา ADB และธนาคารโลก พร้อมกันนี้ที่ประชุมยินดีต่อการรับรองปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ซึ่งจะเป็นก้าวสำคัญของอาเซียนในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในภูมิภาค นอกจากนี้อาเซียนจะประกาศการเจรจา Regional Comprehensive Economic Partnership ซึ่งจะเป็น FTA ระดับภูมิภาคที่ครอบคลุมตลาดครึ่งหนึ่งของโลก
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้แต่งตั้งนายเลอ ลวง มินห์ (Le Loung Minh) เป็นเลขาธิการอาเซียนปี 2556-2560 สืบต่อจาก ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ ซึ่งจะหมดวาระการดำรงตำแหน่งลงในปีนี้ สำหรับประเด็นที่ประเทศไทยได้ผลักดันในที่ประชุมครั้งนี้ ได้แก่ การริเริ่มและส่งเสริมความร่วมมือด้านข้าวและยางพาราเพื่อให้ราคามีเสถียรภาพและส่งออกได้มากขึ้น การผลักดันให้มีความร่วมมือข้ามพรมแดนระหว่างหน่วยงานด้านยาเสพติดเพื่อส่งเสริมการสร้างอาเซียนปลอดยาเสพติด การเร่งรัดการพิจารณาอนุสัญญาเรื่องการต่อต้านการค้ามนุษย์ในอาเซียน รวมทั้งผลักดันการจัดทำแผนปฏิบัติการในเรื่องนี้เพื่อปูทางไปสู่การจัดทำอนุสัญญาที่มีผลผูกพันทางกฎหมาย การแสดงความพร้อมในการเป็นสถานที่เก็บสำรองข้าวในการบรรเทาภัยพิบัติ และสนับสนุนให้ประเทศอาเซียนอื่นเข้าร่วมในโครงการท่าเรือน้ำลึกทวาย
ต่อมาเวลา 10.15 น. น.ส.ยิ่งลักษณ์เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-เกาหลี ครั้งที่ 15 กับนายอี มยอง-บัก ประธานาธิบดีสาธารณรัฐเกาหลี และผู้นำอาเซียน ในการพัฒนาสานต่อความร่วมมือความเชื่อมโยง (Connectivity) ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจภูมิภาค โดยนายกฯขอให้ตระหนักการเชื่อมโยงด้านสาธารณูปโภค ซอฟต์แวร์พัฒนาการเชื่อมโยงองค์กรต่างๆ ที่มีความสำคัญด้านระบบภาษีและศุลกากรตามแนวชายแดน พัฒนาระบบการสื่อสารโทรคมนาคม นายกฯได้เชิญสาธารณรัฐเกาหลีจัดตั้งคณะทำงานพิเศษ (Task Force) เพื่อเชื่อมกับคณะกรรมาธิการการเชื่อมโยงอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี ส่งเสริมการค้าและการลงทุนบนพื้นฐานเศรษฐกิจสีเขียว เขตการค้าเสรีอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี (ASEAN - ROK FTA) ที่มีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่ปี ค.ศ. 2007 ตระหนักถึงศักยภาพของเขตการค้า อำนวยความสะดวกทางการค้า เพิ่มการค้าการบริการ การลงทุนระหว่างอาเซียนและสาธารณรัฐเกาหลี ผ่านศูนย์อาเซียน-เกาหลี (ASEAN - Korea Centre) ในกรุงโซล จัดการฝึกอบรมสำหรับผู้ประกอบการ SMEs ด้านความมั่นคง การมีส่วนร่วมกับประชาคมระหว่างประเทศ เกี่ยวกับคาบสมุทรเกาหลีที่ปลอดจากอาวุธนิวเคลียร์ สงบ และมั่นคง โดยสนับสนุนให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องใช้การเจรจาอย่างสันติ ผ่านการเจรจาหกฝ่าย หรือ Six-Party Talk ไทยและอาเซียนพร้อมทำงานร่วมกันกับประชาคมระหว่างประเทศสนับสนุนการทำงานของ UNSC ในประเด็นนิวเคลียร์เกาหลีเหนือ เพื่อความสงบสุขอย่างยั่งยืนในคาบสมุทรเกาหลีและภูมิภาค
นอกจากนี้ มีรายงานเพิ่มเติมว่า ที่ประชุมยังได้มีการทบทวนพัฒนาความร่วมมือด้านการเงินภายใต้มาตรการริเริ่มเชียงใหม่ การสำรองข้าวฉุกเฉิน นายกฯหารือถึงทิศทางในอนาคตของกรอบความร่วมมืออาเซียน +3 แลกเปลี่ยนความเห็นในประเด็นภูมิภาค ระหว่างประเทศ สร้างความเข้มแข็งการเป็นหุ้นส่วนเชื่อมต่อทางเศรษฐกิจ โดยการจัดทำหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค ซึ่งเขตการค้าเสรี 3 ประเทศ คือ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี จะสร้างความเข้มแข็งให้กับการรวมตัวของตลาดเอเชียตะวันออก ขณะที่ไทยสนับสนุนการจัดตั้งองค์กรสำรองข้าวฉุกเฉินอาเซียน +3 เพื่อเป็นกลไกให้ความช่วยเหลือส่งข้าวแก่ประเทศในสถานการณ์ฉุกเฉิน ในฐานะเลขาธิการถาวรขององค์กรสำรองข้าวฉุกเฉินอาเซียนบวกสาม (APTERR) พัฒนากรอบความร่วมมือประเทศผู้ผลิตข้าวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหารและการส่งออก พัฒนาแหล่งพลังงานทางเลือก พลังงานทดแทน เพื่อส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน