xs
xsm
sm
md
lg

ผู้แทนยุโรปดอดพบ “โต้ง” เร่งเจรจาดัน FTA ไทย-อียูเข้า ครม.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต
ผู้แทนยุโรปเตรียมดอดพบ “กิตติรัตน์” เร่งเจรจา FTA ไทย-อียู ด้านกลุ่ม FTA Watch หวั่นกรอบร่างเจรจาใหม่ถูกดันเข้า ครม.ทั้งที่ไม่ผ่านการรับฟังความเห็น เตรียมจัดทัพไซเบอร์จี้ตรวจสอบการเจรจาในประเด็นอ่อนไหว ขณะที่สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจฯ วอน ครม.จัดรับฟังความเห็นร่างกรอบเจรจาใหม่ ส่วนนักวิชาการเชื่อ กรมเจรจาฯไม่น่ารีบลักไก่เหมือนเดิม เหตุเปลี่ยนอธิบดีแล้ว และเป็นการสร้างภาระให้รัฐบาล

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มศึกษาเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) จะเตรียมใช้การรณรงค์ผ่านสังคมออนไลน์ ในวันที่ 29 พ.ย.นี้ เพื่อเรียกร้องให้มีการตรวจสอบร่างกรอบเจรจาใหม่ FTA ไทย-สหภาพยุโรป ซึ่งมีรายงานมาว่า ขณะนี้ร่างกรอบเจรจาใหม่ได้ถูกส่งไปยังสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรีแล้ว ซึ่งจะเตรียมนำเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.ภายใน 1-2 สัปดาห์นี้ ทั้งที่ร่างกรอบเจรจาดังกล่าวไม่ได้ผ่านการรับฟังความคิดเห็นของภาคประชาสังคม มีความสุ่มเสี่ยงต่อการละเมิดมาตรา 190 ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ผิดไปจากกระบวนการเจรจาการค้าเสรีแบบเดิม ทั้งที่สมัยรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ยังนำร่างกรอบเจรจา EU-ASEAN FTA เข้ารับฟังความคิดเห็น

นอกจากนี้ ทราบมาว่า ผู้ช่วยผู้แทนการค้าสหภาพยุโรปเตรียมจะเข้าพบ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 29 พ.ย.นี้ เพื่อเร่งการเจรจาด้วย เป็นสัญญาณว่า มีความพยายามในการเร่งเจรจา FTA ไทย-อียู FTA Watrch จึงจะรณรงค์ผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ก ให้มีการตรวจสอบการเจรจาให้มีความรอบคอบมากขึ้น โดยเฉพาะประเด็นอ่อนไหวต่างๆ ทั้งเรื่องยา ทรัพย์สินทางปัญญา เหล้า ฯลฯ” แหล่งข่าว FTA Watch กล่าว

รศ.จิราพร ลิ้มปานานนท์ สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า กรมเจรจาฯได้ประชุมกลุ่มย่อย เพื่อนำเสนอร่างกรอบเจรจา FTA ไทย-อียู ขึ้นมาใหม่ เมื่อวันที่ 7 ก.ย.ที่ผ่านมา แต่กลับไม่มีการใช้ข้อคิดเห็นหรือข้อห่วงใยจากหน่วยงานต่างๆ ที่ได้มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นหลายครั้งมาพิจารณา ซึ่งกรอบใหม่ของกรมเจรจาคือ ให้ระดับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาสอดคล้องกับระดับการคุ้มครองตามความตกลงขององค์การการค้าโลก และ/หรือความตกลงใดๆ ที่ไทยเป็นภาคี แต่อนุญาตให้เจรจาความตกลงที่เกินไปกว่าทริปส์พลัสได้ และไม่มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ ส่วนกระแสข่าวที่ว่า จะมีการนำเสนอต่อรัฐสภาทั้งที่ยังไม่มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นนั้น คงเป็นไปได้ยาก เนื่องจากสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจฯ เพิ่งออกหนังสือเมื่อวันที่ 22 พ.ย.ที่ผ่านมา ไปยัง ครม.เพื่อให้ให้มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นก่อน แต่ยังไม่ทราบว่าหนังสือดังกล่าวจะเข้า ครม.เมื่อใด

รศ.จิราพร กล่าวอีกว่า หาก ครม.มีคำสั่งให้กรมเจรจาฯนำกรอบใหม่มาเปิดรับฟังความคิดเห็นจริง ก็ต้องจับตาว่ากรมเจรจาฯจะมีการกระทำแบบเดิมหรือไม่ คือร่างกรอบเจรจาขึ้นมาใหม่โดยไม่พิจารณาข้อห่วงใยจากหน่วยงานต่างๆ ซึ่งตรงนี้อยู่ที่พลังสังคมต้องออกมาเรียกร้องและเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ซึ่งตนเชื่อว่า พลังสังคมน่าจะช่วยยับยั้งการนำร่างกรอบเจรจาใหม่ที่ไม่ผ่านการรับฟังความคิดเห็น หรือไม่มีการพิจารณาตามข้อห่วงใยเข้าสู่รัฐสภาได้

ด้าน นายบัณฑูร เศรษฐศิโรฒม์ ผู้อำนวยการสถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า การจะนำร่างกรอบเจรจาใหม่ซึ่งเป็นแบบเร่งรัดและไม่กว้างขวางเข้าสู่รัฐสภา ต้องทำให้ได้รับการยอมรับจากกลุ่มคนที่มีข้อห่วงใยก่อน ทั้งกลุ่มที่เห็นว่ามีการยอมเจรจาข้อตกลงที่เกินไปกว่าทริปส์พลัส หรือกลุ่มที่เห็นว่าไม่มีการพิจารณาเรื่องยา เหล้า บุหรี่ แล้วนำไปกำหนดกรอบเจรจาเลย ตรงนี้เป็นขั้นตอนตามกระบวนการเจรจาการค้าเสรี ตามมาตรา 190 ซึ่งจะช่วยให้ผู้เจรจามีอำนาจการต่อรองกับสหภาพยุโรปมากขึ้น และเป็นเกราะกำบังจากกลุ่มนักการเมืองหรือนายทุนพรรคด้วย ทำให้ผู้เจรจามีความสบายใจ เพราะเป็นกรอบเจรจาที่ภาคประชาสังคมเห็นด้วย

นายบัณฑูร กล่าวอีกว่า ส่วนที่หลายฝ่ายหวั่นว่าต่อให้มีการรับฟังความคิดเห็นแล้ว แต่ยังคงไม่มีการนำข้อติดเห็นห่วงใยไปพิจารณา แล้วนำเข้าสู่รัฐสภาเลยก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม รัฐสภาเองก็มีชุดคณะกรรมาธิการหลายชุดในการตรวจสอบร่างดังกล่าว ว่า มีความครบถ้วน และจัดทำถูกต้องตามขั้นตอนหรือไม่ หากมีขั้นตอนผิดไปจากรัฐธรรมนูญกำหนดก็จะส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา ที่สำคัญ การเร่งผลักดันกรอบเจรจาเข้าสภาในขณะนี้ไม่ถือว่ามีประโยชน์ เพราะเป็นการสร้างภาระให้รัฐบาล เนื่องจากหลายฝ่ายจับตามองเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด

“ส่วนที่ก่อนหน้านั้นมีการเร่งนำเข้ารัฐสภานั้น เชื่อว่า เกิดจากปัจจัยภายในของกรมเจรจาฯเอง ที่อธิบดีคนเก่าพยายามเร่งสร้างผลงานก่อนออกจากตำแหน่ง แต่ตอนนี้คาดว่าไม่น่าจะมีการเร่งนำเข้าสู่รัฐสภาแต่อย่างใด น่าจะมีการเปิดรับฟังความคิดเห็น ทำไปตามกระบวนการขั้นตอน เพราะหากมีการเร่งดำเนินการจะเป็นการสร้างภาระให้รัฐบาล นอกจากนี้ ยังมีข้อเรียกร้องให้พิจารณาผลประโยชน์ของการทำ FTA ใหม่ด้วย เนื่องจากยุโรปกำลังอยู่ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ” นายบัณฑูร กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น