xs
xsm
sm
md
lg

4 องค์กรหวั่น “นายกฯ ปู” เร่งเจรจาการค้า-รับทริปส์พลัส

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

4 องค์กรด้านการเข้าถึงการรักษาสากล ทำหนังสือถึง “ยิ่งลักษณ์” หวั่นเร่งเจรจาการค้า-รับทริปส์พลัส ทำลายศักยภาพด้านยาของไทย ด้าน เอฟทีเอ ว็อทช์ จี้ รัฐบาลเปิดเผยข้อมูลประกอบการตัดสินใจประกาศเจตนารมณ์ร่วม TPP

วันนี้ (19 พ.ย.) เครือข่ายผู้มีเชื้อเอชไวอี/เอดส์ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (Asia Pacific Network of People Living with HIV/AIDS - APN+), องค์การหมอไร้พรมแดน ฝ่ายการรณรงค์เพื่อการเข้าถึงยา (Medecins sans Frontieres Access Campaign), สหพันธ์การเตรียมความพร้อมในการรักษาสากล(International Treatment Preparedness Coalition - ITPC) และองค์เพื่อการรักษา (TREAT Asia) ได้ทำหนังสือถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 16 พ.ย.2555 ระบุว่า ทั้ง 4 องค์กรวิตกกังวลต่อการที่รัฐบาลจะเปิดการเจรจาการค้าเสรีกับสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป ในกรอบต่างๆ จากประสบการณ์ที่ผ่านมา การเจรจาเหล่านี้จะบังคับให้ประเทศต่างๆ ต้องรับการคุ้มครองด้านทรัพย์สินทางปัญญาให้เข้มงวดไปกว่าความตกลงด้านทรัพย์สินทางปัญญาขององค์การการค้าโลก หรือที่เรียกว่า ทริปส์พลัส ซึ่งนั่นจะบ่อนทำลายศักยภาพของประเทศไทยในการผลิตยาชื่อสามัญทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ

ดังนั้น ขอให้นายกรัฐมนตรีใส่ใจและพิจารณาผลของการประชุมระดับภูมิภาคว่าด้วยการใช้มาตรการยืดหยุ่นในความตกลงทริปส์เพื่อการเข้าถึงยาต้านไวรัสในเอเชีย ซึ่งจัดขึ้นเมื่อ 29-31 พ.ค.ที่ผ่านมา ณ กรุงเทพมหานคร โดยมีหน่วยราชการและภาคประชาสังคมจากประเทศ กัมพูชา, จีน, อินเดีย, อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, พม่า, ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และไทย เข้าร่วมประชุม

ด้านนายจักรชัย โฉมทองดี ผู้ประสานงานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอ ว็อทช์) กล่าวว่า ขอเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรี ผู้รับผิดชอบ ออกมาชี้แจงผลดีผลเสียที่ได้พิจารณาและนำมาสู่ข้อสรุปในการแสดงเจตจำนงค์ เข้าร่วม TPP ภายในหนึ่งสัปดาห์ เพราะจนถึงขณะนี้สังคมยังไม่ทราบเลยว่า คณะรัฐมนตรีตัดสินใจบนฐานข้อมูลใด

“ขั้นตอนที่กรมเจรจาฯได้ชี้แจงเมื่อวานนี้ พยายามโกหกใน 2 ขั้นตอน คือ ไม่ยอมนำร่างกรอบการเจรจามารับฟังความคิดเห็นประชาชนและศึกษาผลกระทบโดยหน่วยงานที่เป็นกลางก่อนการเสนอขอความเห็นชอบจากรัฐสภาทั้งที่เคยปฏิบัติมาในรัฐบาลก่อนๆ นอกจากนี้ฝ่ายเจรจาควรทำคือ ให้มีการหารือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง พร้อมให้ข้อมูลกับฝ่ายนิติบัญญัติระหว่าง การเจรจา หลังจากนั้น ต้องนำผลการเจรจา (ร่างความตกลง) มาจัดรับฟังความเห็นประชาชนและศึกษาผลกระทบโดย หน่วยงานที่เป็นกลางก่อนการ เสนอข้อความเห็นชอบจากรัฐสภาเพื่อแสดงเจตนาผูกพัน”
กำลังโหลดความคิดเห็น