xs
xsm
sm
md
lg

ไทยอ่านเกมไม่ขาด คบอเมริกันขัดใจจีน

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวการเมือง


ช่วงนี้เป็นเวลาแห่งความปลื้มใจของยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ภาพและบทบาทของตัวเองจะปรากฏบนเวทีการเมืองระหว่างประเทศรวมถึงในสื่อต่างประเทศจำนวนมาก กับการได้จับมือกับผู้นำสองประเทศมหาอำนาจของโลกคือ

บารัก โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาที่จะมาไทยในช่วง 18-19 พ.ย.นี้และนายเหวิน เจีย เป่า นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่ก็จะมาไทยในวันที่ 21 พ.ย.คล้อยหลังโอบามาสามวันเช่นกัน

สำหรับการมาเยือนประเทศไทยของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในเรื่องมาตรการรักษาความปลอดภัย ผู้นำสหรัฐฯพบว่า สหรัฐฯมีการเตรียมการมาเป็นอย่างดี จนบางช็อตหลายคนดูจะหมั่นไส้ด้วยซ้ำ ที่อเมริกาเล่นส่งเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ หลายสิบนาย เข้าไปเดินดูตามตึกทุกซอกทุกมุมในทำเนียบรัฐบาลรวมถึงการสำรวจพื้นที่รอบทำเนียบรัฐบาลแทบทุกจุดโดยเฉพาะตึกสูงรอบทำเนียบรัฐบาลและไม่ได้ทำกันแค่วันเดียวแต่ทำกันหลายวัน

สหรัฐฯ เป็นผู้วางแผนการรักษาความปลอดภัยให้กับโอบามาในช่วงการมาไทย 18-19 พ.ย. ทั้งหมด ฝ่ายเจ้าหน้าที่ไทยได้แต่เป็นผู้รับแผนไปปฏิบัติ และข้อมูลหลายอย่างฝ่ายสหรัฐฯ ก็ปิดลับเกือบหมด เช่นสถานที่พัก ของโอบามาและคณะ -จุดและเส้นทางที่โอบามาจะเดินทางในช่วงอยู่ไทยสองวัน หลังเครื่องบินแอร์ ฟอร์ซ วัน ของ โอบามา ลงจอดที่ไทย

แม้จะมีการสนธิกำลังร่วมกันระหว่างสหรัฐกับไทยที่จัดเต็ม ขนกำลังทั้งจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ -ศูนย์รักษาความความปลอดภัย(ศรภ.)- กองบัญชาการกองทัพไทย-กองทัพอากาศ ที่ร่วมกันส่งกำลังเจ้าหน้าที่จำนวนมากมาดูแลความปลอดภัยให้โอบามา ทั้งตำรวจคอมมานโด -หน่วยปฏิบัติการพิเศษของกองทัพอากาศ-สไนเปอร์รักษาความปลอดภัยที่จะส่งไปเฝ้าตามตึกสูงรอบทำเนียบรัฐบาลและที่พักของโอบามา แต่แผนหลักการดูแลความปลอดภัยทั้งหมด ทางสหรัฐฯ จะจัดการเอง

ดูแล้วช่วง 18-19 พ.ย.นี้ ระบบการจราจรอะไรต่างๆ ในกรุงเทพมหานครในจุดที่โอบามาจะเดินทางหรือเข้าพัก คงวุ่นวายพอสมควร แต่ก็ต้องเข้าใจว่าเพื่อความปลอดภัยของผู้นำต่างประเทศที่มาไทย หากมีการวางแผนอะไรกันมาดีคงไม่มีผลกระทบอะไรมากนักสำหรับคนไทยในช่วงที่โอบามาเยือนไทย

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าติดตามวิเคราะห์ก็คือ การมาไทยของสองผู้นำมหาอำนาจโลกอย่างจีนและสหรัฐฯในช่วงไล่เลี่ยกัน ดูแล้ว ก็เป็น เกมในกระดานของสองมหาอำนาจโลก ที่กำลังเล่นเกมอำนาจการเมืองระหว่างประเทศเพื่อแย่งชิงการนำในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งด้านการเมือง-การทหาร-เศรษฐกิจ-การลงทุน

การมาไทยของผู้นำสหรัฐและจีน รวมถึงการพยายามเล่นบทบาทว่าให้ความสำคัญกับประเทศไทยอย่างมาก ดูแล้วก็คือลีลาการฑูตระหว่างประเทศที่จีนกับสหรัฐฯต้องทำ หลังช่วงหลังสหรัฐฯให้ความสำคัญอย่างมากกับอาเซียนโดยเฉพาะด้านความมั่นคงและเศรษฐกิจเห็นได้จากที่โอบามาไปเยือนพม่าเพื่อพบกับทั้งพลเอกเต็ง เส่ง ประธานาธิบดีพม่าและออง ซาน ซูจี หลังพม่าที่มีทรัพยากรทางธรรมชาติมหาศาลเปิดประเทศต้อนรับนักลงทุนต่างชาติ

“ทีมข่าวการเมือง”เชื่อว่า คนส่วนใหญ่ก็รู้อยู่แล้วว่าที่ผู้นำสหรัฐและจีน มาไทยก็เป็นปฏิทินการเมืองระหว่างประเทศที่ต้องมาไทยอยู่แล้ว โดยเฉพาะโอบามาที่จะต้องแวะไทยก่อนจากนั้นจึงจะไปพม่าและไปกัมพูชาเพื่อร่วมประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (East Asia Summit - EAS) ในช่วง 20-21 พ.ย.

การมาไทยของผู้นำมหาอำนาจอย่างจีนกับสหรัฐฯ จึง ไม่ได้เกี่ยวกับการนิยมชมชอบการทำงานของยิ่งลักษณ์แต่อย่างใด รัฐบาลไม่มีสิทธิ์เอาเรื่องนี้มาอวดอ้างว่าเป็นความสำเร็จของรัฐบาลได้ แต่สิ่งสำคัญ ที่หลายคนกำลังจดจ้องและเฝ้าตรวจสอบกันอยู่ ก็คือ แล้วบทบาทของไทย จะรักษาจุดถ่วงดุลของตัวเองอย่างไร ในการไม่ทำให้จีนและสหรัฐฯ มองว่าไทยเอนเอียงไปยังฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมากเกินไป

หลังก่อนหน้านี้ก็มีข่าวว่าจีนเองก็ดูจะไม่สบายใจต่อการที่ไทยดูจะตอบรับกับสหรัฐฯมากเกินเหตุโดยเฉพาะกับกรณีก่อนหน้านี้ที่จะให้สหรัฐฯใช้สนามบินอู่ตะเภาของไทยเพื่อทำภารกิจภายใต้ความร่วมมือระหว่าง นาซากับองค์การมหาชนด้านอวกาศของประเทศไทย (จิสดา)ในการสำรวจเมฆ จนหน่วยงานของรัฐบางแห่งเคยทำหนังสือถึงคณะรัฐมนตรีให้ข้อมูลเรื่องนี้เอาไว้แล้ว ก่อนที่สุดท้ายโครงการดังกล่าวจะถูกเลื่อนไปไม่มีกำหนด

ตรงนี้ “ทีมข่าวการเมือง”ก็ต้องขอให้ประชาชนช่วยติดตามดูด้วยว่า ในการหารือเรื่องต่างๆ ของยิ่งลักษณ์กับโอบามาและเหวิน เจีย เป่า ที่แม้กำลังจะพ้นจากอำนาจไปแล้วแต่ก็ยังมีบทบาทการเมืองสูงในจีน รัฐบาลไทย จะมีการนำประเด็นอะไรไปคุยกับสองประเทศมหาอำนาจ โดยเฉพาะกรอบหรือข้อตกลงต่างๆ ทั้งด้านเศรษฐกิจ-การค้า-การลงทุนและความมั่นคง

เพราะจากมติคณะรัฐมนตรีเมื่อ 12 พ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งครม.ได้เห็นชอบตามข้อเสนอกระทรวงกลาโหมในเรื่อง “แถลงการณ์วิสัยทัศน์ร่วมว่าด้วยการเป็นพันธมิตรด้านการป้องกันประเทศ ไทย - สหรัฐ 2012 ( 2012 Joint Vision Statement For the Thai-U.S Defense Alliance )” เพื่อให้พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหม นำไปหารือร่วมและลงนามกับ leon E. Panetta รมว.กลาโหมของสหรัฐฯ

ก็พบว่าในส่วนนี้ ได้รับความสนใจจากหลายฝ่ายอย่างมากว่า หลังไทยกับสหรัฐฯร่วมกันลงนามในแถลงการณ์ดังกล่าวแล้ว จะมีผลดี-ผลดีอย่างไรต่อประเทศไทยโดยเฉพาะด้านความมั่นคง

แม้ฝ่ายทหารจะบอกว่าแถลงการณ์ร่วมดังกล่าวไม่ได้มีอะไรเป็นพิเศษ เป็นเรื่องของการกระชับความสัมพันธ์ทางการทหารและความมั่นคงของไทยกับสหรัฐฯให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นก็เท่านั้นเองและเรื่องนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของการร่วมแสดงความยินดีในโอกาสครบรอบสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ 180 ปี

แต่หลายคนโดยเฉพาะนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ระหว่างประเทศหรือนักสังเกตุการณ์ความมั่นคงของไทย บอกว่าประเด็นสำคัญที่ต้องจับตามองคือแล้วพัฒนาการความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างทหารไทยกับสหรัฐฯหลังจากสหรัฐฯ ประกาศตัวต่อประชาคมโลกว่า จะให้ความสำคัญกับเรื่องความมั่นคงในภูมิภาคอาเซียนมากขึ้น โดยเฉพาะหลังโอบามากลับมาเป็นประธานาธิบดีรอบที่ 2 จะเป็นอย่างไร สหรัฐฯจะใช้ไทยเป็นศูนย์กลางในการขอเข้ามามีบทบาทด้านการทหารมากขึ้นในอาเซียน หรือจะมองไทยเป็นแค่ทางผ่านในขณะที่สหรัฐฯกำลังแสดงตัวให้เห็นชัดว่าต้องการขยายอิทธิพลทางการเมืองและการทหารรวมถึงทางเศรษฐกิจเข้ามาในภูมิภาคอาเซียนหลังจากทิ้งไปร่วมสิบปี

ที่สำคัญคือแล้วปฏิกริยาหรือความรู้สึกของจีน ที่สัมพันธ์ทางการเมือง-การฑูตและเศรษฐกิจกับประเทศไทย มีประวัติแน่นแฟ้นกว่าสหรัฐฯอย่างมาก เรียกได้ว่าเป็นประเทศพี่ประเทศน้องกันเลยทีเดียว จะรู้สึกอย่างไร หลังจากเห็นการกระชับสัมพันธ์ทางทหารให้แน่นแฟ้นมากขึ้นของไทยกับสหรัฐ

ตรงนี้คือสิ่งที่หลายคนจับตามอง แม้จากข่าวที่สื่อนำเสนอพบว่า แถลงการณ์ร่วมดังกล่าวเป็นเพียงกรอบกว้างๆ ไม่ได้มีการผูกมัดอะไรกัน

เช่นการพูดถึงวิสัยทัศน์การเป็นพันธมิตรทางทหารในศตวรรษที่ 21ของไทยกับสหรัฐฯ ที่เน้นย้ำว่าไทยและสหรัฐฯจะยืนยันความเป็นหุ้นส่วนด้านความมั่นคงในภูมิภาคโดยจะแสวงหาความร่วมมือร่วมกันมากขึ้นเพื่อป้องกันและต่อต้านภัยคุกคามรูปแบบใหม่

“ทีมข่าวการเมือง”เห็นด้วยว่า ไทยเราเป็นประเทศอิสระ ไม่ได้เป็นลูกไล่ของใคร เราต้องมีเกียรติและศักดิ์ศรี ไม่จำเป็นต้องสนใจความรู้สึกของสหรัฐหรือจีน หากเราจะมีการดำเนินการทางเมืองหรือการฑูตระหว่างประเทศอย่างใดอย่างหนึ่ง หากรัฐบาลคิดว่าสิ่งที่ทำ เป็นผลดีต่อส่วนรวม ไม่ได้ทำให้ไทยเสียเปรียบ

แต่ที่”ทีมข่าวการเมือง”ขอเน้นย้ำก็คือ เพราะเราไม่รู้ว่ายิ่งลักษณ์ ชินวัตรและสุรพงษ์ โตวิจักษ์ชัยกุล รมว.ต่างประเทศรวมถึงพล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหม จะมีสติปัญญาและความสามารถในการอ่านเกมการเมืองระหว่างประเทศ ไล่ทันประเทศอื่นหรือไม่โดยเฉพาะกับมหาอำนาจอย่างจีนและสหรัฐฯ เพราะหากอ่านเกมไม่ขาด ก็อาจทำให้ไทยตกอยู่ในความขัดแย้งในเวทีการเมืองระหว่างประเทศ

ที่สำคัญ เราก็ไม่รู้ว่า สิ่งที่รัฐบาลจะไปเจรจาหรือทำความตกลงใดๆ กับประเทศต่างๆ อย่าง สหรัฐฯจะเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ส่วนรวมหรือจะมีอะไรแอบแฝงหรือไม่ ?

อย่างล่าสุดที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์กำลังโดนวิจารณ์อย่างหนักในเวลานี้กับการที่ครม.เมื่อวันที่ 12 พ.ย.ที่ผ่านมาเห็นชอบเรื่องถ้อยแถลง เรื่องประกาศการเข้าร่วมเจรจาความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิกหรือ Trans-Pacific Partnership (TPP)

ซึ่งครม.จะให้ยิ่งลักษณ์ นายกรัฐมนตรีนำไปคุยกับโอบามา โดยที่เนื้อหาสาระสำคัญหลายอย่างใน TPP ถึงกับมีเสียงวิจารณ์ว่าอาจทำให้ไทยเสียอธิปไตยทางเศรษฐกิจบางอย่างให้กับสหรัฐฯโดยไม่รู้ตัวแถมยังเป็นข้อตกลงที่จะทำให้ไทยต้องไปเปิดการเจรจากับสหรัฐฯใหม่ในหลายเรื่องหากมีการบังคับใช้กรอบ TPP ทั้งเรื่องการส่งออกหรือนำเข้าสินค้าอุตสาหกรรม- การลงทุน- มาตรการด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช-ทรัพย์สินทางปัญญา-โทรคมนาคม ซึ่งตอนนี้เริ่มพูดกันแล้วว่าหากรัฐบาลยิ่งลักษณ์ไม่ดูทุกอย่างให้รอบคอบ คิดแต่จะเอาใจสหรัฐฯ อาจทำให้เกิดผลกระทบกับระบบเศรษฐกิจของประเทศหลายอย่างเพียงเพื่อเอาใจสหรัฐฯ

เช่นการต้องเปิดเสรีทางการเงิน100% รวมถึงการที่คนไทยจะต้องซื้อยาจากต่างประเทศในราคาที่แพงขึ้นหลายเท่าตัว ซึ่งจะกระทบกับคนไทยจำนวนมากแน่นอน

แม้TPP จะมีข้อดีเช่นกันโดยเฉพาะกับการส่งออก แต่เมื่อหลายประเทศแม้แต่ในสหรัฐฯก็มีการประท้วงต่อต้านไม่เห็นด้วยกับเรื่อง TPP

แล้วเหตุใด ยิ่งลักษณ์จะต้องเอาใจสหรัฐฯถึงกับจะออกหน้าบอกว่าพร้อมจะพิจารณาเรื่อง TPP จริงอยู่ว่ายังเหลืออีกหลายขั้นตอน ตอนนี้จะยังไม่มีผลใดๆ แต่เมื่อมีข่าวว่าหน่วยงานราชการบางแห่งที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับเรื่องนี้ ก็ดูจะไม่เห็นด้วย

จึงควรที่ยิ่งลักษณ์ ต้องคิดให้รอบคอบ อย่าให้ใครพูดได้ว่า ที่รัฐบาลรีบร้อนจะทำเพื่อเอาใจสหรัฐฯ ก็เพราะต้องการตอบแทนและเอาใจ สหรัฐฯที่ออกวีซ่าให้ ทักษิณ ชินวัตร พี่ชายได้เข้าอเมริกาและเป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจกัน !!!


กำลังโหลดความคิดเห็น