xs
xsm
sm
md
lg

‘TDRI-จุฬาฯ’ ชี้เหตุสินค้าเกษตรดิ่งเหว! ปชป.พบหลักฐานทุจริตเอื้อ ‘เขมร’-เตรียมถล่ม ‘ยิ่งลักษณ์’ ในศึกอภิปราย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รศ.ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
 
2 ปัจจัยสำคัญฉุดราคาสินค้าเกษตรไทยดิ่งเหว ทั้งปัญหาน้ำมัน-เศรษฐกิจโลกชะลอ กระทบราคา ‘ยางพารา-มันสำปะหลัง-อ้อย’ ประธานทีดีอาร์ไอ แนะรัฐต้องเร่งเพิ่มประสิทธิภาพแรงงานไทย-เน้นผลิตสินค้าคุณภาพป้อนตลาดบน ขณะที่นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ ชี้ทางรอดภาคการเกษตรไทย ต้อง ‘แปรรูป-ขยายความต้องการในประเทศ-ใช้ในโครงการรัฐฯ’ หวังแก้ปัญหายั่งยืน ด้านพรรค ปชป.เตรียมชูปัญหาราคาพืชตกต่ำขึ้นอภิปรายไม่ไว้วงใจรัฐบาลยิ่งลักษณ์ หลังเดินหน้ารวบรวมหลักฐานการทุจริตในโครงการจำนำของรัฐที่เอื้อประโยชน์สินค้าเกษตรของกัมพูชา

ประเด็นราคาสินค้าเกษตรตกต่ำส่งผลต่อรายได้ของประเทศ และเกษตรกรเป็นอย่างมาก จะเห็นได้จากราคายางพาราที่ต่ำลงเหลือเพียง 76 บาทต่อกิโลกรัม จากที่เคยสูงเกิน 100 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนหนึ่งมาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกในหลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศคู่ค้าหลักของไทย อย่างประเทศจีน ยุโรป และอเมริกา ขณะที่ราคาน้ำมันปาล์มตกลงเหลือเพียง 4 บาทต่อกิโลกรัม จากที่เคยเฉลี่ยอยู่ที่ 5.76 บาทต่อกิโลกรัม เป็นต้น

รวมถึงประเด็นที่เกิดจากนโยบาย และวิธีการจัดการของรัฐบาลที่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาพืชล้นตลาดได้อย่างตรงจุด ตัวอย่างเช่นการจัดการเรื่องหอมแดงที่ปล่อยให้เน่า ชี้ให้เห็นถึงความไม่พร้อมในการจัดเก็บ หรืออย่างโครงการจำนำข้าวที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แทบจะกลายเป็นการซื้อผูกขาดตลาดข้าวไทย ด้วยราคาที่สูงจนพ่อค้าไม่สามารถแข่งขันได้ หรือสูงกว่าประเทศคู่แข่งมากเกิน 140-150 เหรียญสหรัฐต่อตัน

เมื่อราคาพืชผลทางเกษตรตกต่ำจึงเป็นเรื่องเร่งด่วนที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์จะต้องเร่งหาวิธีการแก้ปัญหา ขณะที่นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ ได้เสนอทางออกไว้และพรรคประชาธิปัตย์เองก็เตรียมการนำปัญหาสินค้าเกษตรตกต่ำ เป็นหัวข้อสำคัญในการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่กำลังจะมีขึ้นในเร็วๆ นี้
 
‘แปรรูปพืชเกษตร’ ทางออกยั่งยืน
 

รศ.ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า สินค้าภาคการเกษตรในปัจจุบันกำลังเกิดภาวะผันผวนกระทบทั่วโลก ดังนั้นรัฐบาลต้องวางแผนรับมือปัญหาสินค้าเกษตร ซึ่งแนวทางแก้ปัญหาในระยะยาวที่ยั่งยืน การทำการตลาดไม่ควรพึ่งพาตลาดส่งออกเพียงอย่างเดียว และโดยเฉพาะไม่ควรพึ่งพาการส่งออกไปยังประเทศใดประเทศหนึ่งมากจนเกินไป ควรหาช่องทางอื่นในการรองรับ อย่างการแปรรูปพืชผลทางการเกษตรเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม หรือขยายความต้องการในประเทศเป็นสำคัญ

ตัวอย่างเช่น ปัญหายางพาราตกต่ำ เกิดจากการที่ไทยพึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก โดยประเทศจีนเป็นประเทศคู่ค้ารายสำคัญ เมื่อประเทศจีนชะลอเศรษฐกิจลง ความต้องการจึงน้อยลงตามมา

ขณะเดียวกันประเทศจีนยังสามารถผลิตยางพาราได้เองเพิ่มมากขึ้น โดยมีการปลูกยางพาราบริเวณตอนใต้ของประเทศ และไปลงทุนยังลาวตอนเหนือ ในพม่าตอนกลางและเหนือ
ส่วนตลาดรองในการส่งออกยางพาราของไทยอย่างยุโรป และอเมริกาก็ประสบปัญหา ลดการนำเข้าลง น้ำมันลดราคา จึงกระทบมาก

ดังนั้น หากรัฐบาลนำยางพารามาแปรรูปก็จะเพิ่มความต้องการ และเพิ่มมูลค่าได้สูงขึ้นมาก อาทิ การแปรรูปเพียง 10% มีมูลค่าเท่ากับการส่งออกสูงถึง 90% พร้อมทั้งส่งเสริมให้โครงการของรัฐนำยางพาราไปใช้ อาทิ การทำถนน หากนำยางพาราไปผสมเพียง 5-10% ก็จะช่วยให้ถนนทนทานขึ้นถึง 5-10 ปี หรือการนำไปแปรรูปเป็นสนามหญ้าเทียมใช้ในสนามกีฬาต่างๆ หรืออยู่ในช่วงที่เกิดน้ำท่วมมีความต้องการใช้รองเท้าบูต ก็สามารถนำมาแปรรูปได้

สำหรับการแปรรูปสินค้าเกษตรนั้น จะเห็นผลต้องใช้เวลา 3-4 ปี แต่จะได้ผลผลิตที่คุ้มค่าในระยะยาว ส่วนในระยะสั้นอาจอยู่ในรูปแบบของการแปรรูปในระดับชุนชน อาทิ ทำขาเก้าอี้ ก็สามารถทำได้ ซึ่งเมื่อแปรรูปสินค้าแล้วก็ทำการส่งออกในรูปสินค้าแปรรูปได้ หรือทำการค้าแบบจีทูจี (รัฐบาลต่อรัฐบาล)

“เคยเสนอโครงการแปรรูปสินค้าเกษตรในยุครัฐบาลทักษิณ ชินวัตร โดยเสนอให้แปรรูปเป็นถุงยางอนามัย ส่งไปยังประเทศจีน รวมทั้งการเจรจาการค้าแบบจีทูจี เนื่องจากจีนมีจำนวนประชากรมาก และมีความต้องการสูง ก็จะสร้างรายได้เข้าประเทศปีละ 140,000 ล้านบาท หรือแปรรูปเป็นจุกนมส่งขายยังประเทศมุสลิม” รศ.ดร.ณรงค์ระบุและบอกด้วยว่า ประเทศมาเลเซียก็ไม่เน้นการส่งออกยางพารา แต่เน้นการแปรรูปใช้ในประเทศ

 
คาดราคา‘ยางพารา-มันสำปะหลัง-อ้อย’ลด
 

สอดคล้องกับ รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) วิเคราะห์ว่าราคาพืชผลทางการเกษตรหลักๆ ในระยะสั้น และระยะกลางของไทยจะได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายนอกอยู่ 2 ปัจจัยหลักๆ ปัจจัยแรกคือ การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน และยุโรป คาดว่าประเทศในแถบตะวันตกจะชะลอตัวทางเศรษฐกิจไปอีกสักพักใหญ่ หรือประมาณ 1-3 ปี

ขณะที่การฟื้นตัวของอเมริกากำลังฟื้นอย่างช้าๆ แต่สัญญาณยังคงไม่ดีเท่าที่ควร อาทิ อัตราการว่างงานลดลงช้ามาก เป็นต้น ซึ่งปัจจัยการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของประเทศยักษ์ใหญ่ ย่อมส่งผลให้ความต้องการด้านพลังงานลดน้อยลง ส่งผลให้ราคาน้ำมันลดลงตามไปด้วย

เมื่อราคาน้ำมันลดต่ำลง เนื่องจากเศรษฐกิจจีนชะลอตัว ความต้องการเรื่องรถยนต์ และยางพาราที่ใช้แทนยางสังเคราะห์จึงลดลงตามไปด้วย และยังส่งผลให้มันสำปะหลังและอ้อยที่ใช้ทำเอทานอลเป็นที่ต้องการน้อยลง เนื่องจากราคาน้ำมันถูก การจะนำไปใช้ทำเอทานอลก็อาจไม่คุ้ม ทั้งนี้ อาจสรุปได้ว่า พืชทั้ง 3 ตัวนี้มีความสัมพันธ์กับราคาน้ำมัน และการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของโลก โดยเฉพาะจีน

ทั้งนี้ การที่ประเทศจีนมีความต้องการน้อยลง ย่อมส่งผลกระทบโดยตรงต่อการส่งยางพาราของไทย เนื่องจากในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนขยายตัวมาก มีความต้องการสูง ทำให้คนไทยหันไปปลูกยางพาราเป็นจำนวนมาก เนื่องจากขายได้ราคาดี และปริมาณการส่งออกสูง อีกทั้งรัฐบาลหลายยุคยังส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกยางพารา จึงมีจำนวนยางพาราในตลาดมาก เกิดเป็นภาวะฟองสบู่ ขณะที่รัฐบาลไทยไม่สามารถกำหนดราคายางพาราได้ เพราะกลไกทางการตลาดขึ้นอยู่กับอุปสงค์ และอุปทาน ซึ่งคาดว่าตลาดยางพาราน่าจะชะลอตัวไปอีกสักระยะหนึ่ง

“รัฐบาลไม่ควรออกนโยบายส่งเสริมให้ปลูกยางพารามากจนเกินไป เพราะยางพาราเป็นพืชที่มีความเสี่ยงสูง และมีอายุยาว ไม่สามารถเร่งเก็บผลผลิต แล้วตัดโค่นได้ในระยะสั้น ไม่เหมือนอย่างข้าวที่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้เร็วกว่า ซึ่งการสนับสนุนด้านราคา ก็เป็นการบิดเบือนกลไกทางการตลาด ส่งผลต่อการตัดสินใจของเกษตรกร เพราะเกษตรกรไม่ได้ตัดสินใจจากภาวะทางการตลาดอย่างแท้จริง”

 
‘จำนำข้าว’ แก้ไม่ถูกทาง
 

ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย กล่าวอีกว่า ในส่วนของโครงการจำนำข้าวของรัฐบาล เป็นโครงการที่รับซื้อข้าวโดยไม่ได้เน้นเรื่องคุณภาพ จึงได้ข้าวคุณภาพต่ำ ในราคาที่สูง และต้องการขายในราคาสูง สุดท้ายหากข้าวล้นสต๊อกก็อาจขายในราคาที่ถูก ซึ่งปริมาณข้าวจะเพิ่มขึ้นตามฤดูเก็บเกี่ยว ทั้งนี้มองว่ารัฐบาลไม่ควรทำหน้าที่เป็นพ่อค้า ไม่ควรเก็งกำไร เพราะรัฐบาลใช้ภาษีประชาชนในการรับมือกับความเสี่ยงที่เกิดขึ้น เป็นหน้าที่ของพ่อค้าที่ใช้เงินของตัวเองในการเสี่ยงเก็งกำไร

อย่างไรก็ดี รศ.ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ กล่าวถึงโครงการรับจำนำข้าวว่า เกษตรกรได้รับเงินจากการจำนำข้าวเปลือกจริง เพียง 8,000-9,000 บาทต่อตัน มีเพียง 1 ใน 100 ที่ได้รับ 15,000 บาทต่อตัน เนื่องจากไม่มีลานตากข้าว จึงมีความชื้นมากกว่า 14% ซึ่งการแก้ปัญหาเกษตรกรรมด้วยการจำนำในราคาสูงเพียงอย่างเดียว ไม่ใช่ทางออกที่เหมาะสม แต่ควรให้ในราคาที่เหมาะสม ทำควบคู่กับการลดต้นทุนทางการผลิต เพราะต้นทุนปุ๋ย ยา เพิ่มขึ้นเร็วกว่าราคาข้าวเสียอีก

ส่วนราคามันสำปะหลังตกลง เนื่องจากประเทศไทยพึ่งพาการส่งออกสูงถึง 70% โดยมีตลาดใหญ่คือยุโรป ควรนำมันสำปะหลังมาผสมเป็นอาหารวัว หรือนำไปผลิตเป็นแก๊สโซฮอล์ หรือไปผลิตเป็นพลาสติกในรูปต่างๆ ซึ่งถือเป็นการแปรรูปใช้ในประเทศต่อไป
 
ระวัง ‘ภัยแล้ง-น้ำท่วม’
 

ขณะเดียวกัน รศ.ดร.นิพนธ์บอกว่า ยังมีอีกปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อสินค้าเกษตรที่รัฐบาลไม่ควรมองข้าม คือ ปัญหาภัยแล้งที่กำลังเกิดขึ้นในหลายประเทศ จะส่งผลต่อราคาพืชผลทางการเกษตรบางประเภทในระยะสั้น อย่างในอเมริกาที่ประสบภัยแล้ง ส่งผลให้ผลผลิตข้าวโพดในบางพื้นที่ลดลงถึง 30% และมีผลให้ราคาข้าวโพดสูงขึ้นประมาณ 30% เช่นกัน

โดยข้าวโพดจะนำมาทำเอทานอล และเลี้ยงสัตว์ ทั้งนี้ราคาจะขึ้นอยู่กับนโยบายของอเมริกาด้วย หากมีการส่งเสริมให้นำมันสำปะหลังไปใช้ทำเอทานอลก็จะช่วยให้ราคามันสำปะหลังไม่อ่อนลง ก็จะถือว่าเป็นการหนุนกัน ระหว่างอุปสงค์ อุปทาน ที่เปลี่ยนแปลงไป
 
แต่หากราคาข้าวโพดสูงขึ้น ก็จะส่งผลต่อต้นทุนการเลี้ยงสัตว์ ทำให้ราคาเนื้อสัตว์สูงขึ้นตามไปด้วย ซึ่งประเทศไทยเป็นผู้นำเข้าข้าวโพด เพื่อใช้เลี้ยงสัตว์ และอาจทำให้ในปีต่อไปเกษตรกรเอาพื้นที่ที่ปลูกข้าวสาลีไปปลูกข้าวโพดแทน ก็จะส่งผลให้ราคาข้าวสูงขึ้น ซึ่งถือเป็นโชคดีของประเทศไทย หากเป็นเช่นนั้นตลาดข้าวไทยอาจมีโอกาสและราคาสูงขึ้นก็เป็นได้ ขณะที่ภัยแล้งยังเกิดขึ้นที่บางพื้นที่ของประเทศจีน และอินเดียด้วย

ในส่วนของปัญหาภัยแล้งนั้น รศ.ดร.ณรงค์ให้ความเห็นว่า ภายใน 10 ปี ผลจากภาวะโลกร้อนจะทำให้คาดการณ์เรื่องฤดูกาล และภัยธรรมชาติยาก จะเกิดภาวะแล้งและท่วม แต่ไม่สามารถรู้ได้ว่าจะเกิดในพื้นที่ไหน และในระยะยาวปริมาณความต้องการทางอาหารจะเพิ่มขึ้นตามจำนวนประชากรที่สูงขึ้น อาหารอาจขาดแคลน หรือสูงขึ้นได้ และในอนาคตการทำการเกษตรในประเทศไทยจะเป็นของเอกชนรายใหญ่เข้าครอบครอง หรืออาจถึงขั้นผูกขาด จะเห็นได้จากการที่ชาวนาไม่ได้ถือครองที่ดิน แต่เป็นนายทุน และชาวต่างชาติ

ต่างชาติแห่ลงทุนด้านการเกษตร
 

ขณะที่ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย มองว่า จำนวนพืชผลทางการเกษตรในระยะยาว คาดว่าจะมีผลผลิตจำนวนมาก สืบเนื่องจากการตื่นตัวของหลายประเทศ และหลายองค์กรจากทั่วโลกในการวิจัย และพัฒนาพืชผลทางการเกษตร เริ่มจากยุคคอมมูนิตี้บูมในปี 2008 ที่เกิดวิกฤตทางอาหารขึ้น ส่งผลให้ราคาข้าวไทยสูงถึงประมาณ 1,000 เหรียญต่อตัน เนื่องจากประเทศอินเดียงดการส่งออก และประเทศฟิลิปปินส์ซื้อข้าวมากเกินไป ฯลฯ

จากเหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลให้รัฐบาลทั่วโลก และองค์กรต่างๆ อาทิ ธนาคารโลก, องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ Food and Agriculture Organization (FAO) ฯลฯ เริ่มหันมาให้ความสำคัญ และมาลงทุนทางด้านการเกษตร โดยเฉพาะการวิจัยและพัฒนา รวมถึงระบบชลประทานต่างๆ ซึ่งจะส่งผลในระยะยาวให้ผลผลิตทางการเกษตรต่อไร่สูงขึ้น

ในส่วนของประเทศไทยควรเพิ่มประสิทธิภาพทางด้านแรงงาน เพิ่มผลผลิตต่อเกษตรกรมากกว่าการเพิ่มผลผลิตต่อไร่ เนื่องจากค่าจ้างแรงงานสูง และมีพื้นที่ดินจำนวนมาก อีกทั้งควรคำนึงถึงสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งคาดว่าจะเข้าสู่ยุคแล้ง

“ภาคเอกชนหันมาสนใจด้านการเกษตร โดยให้ความสำคัญในการวิจัย และพัฒนาประสิทธิภาพ หรือในระดับรัฐบาลก็ให้ความสำคัญ ส่งเสริมให้มีการลงทุน อย่างจีนเข้าไปลงทุนด้านการเกษตรในแอฟริกา, ลาว, เขมร และเริ่มจะเกิดดอกออกผลบ้างแล้ว รวมถึงประเทศในกลุ่มอาหรับก็เข้าลงทุนในประเทศด้อยพัฒนา และแอฟริกาด้วย”

รศ.ดร.นิพนธ์ สรุปให้เห็นถึงปัญหาด้านสินค้าการเกษตรว่า ในระยะสั้นถึงระยะกลางปัจจัยทางด้านการเติบโตทางเศรษฐกิจของโลก และภัยแล้งจะส่งผลต่อราคาพืชผลทางการเกษตร มีผลต่ออุปสงค์ และอุปทาน แต่ในระยะยาวจำนวนพืชการเกษตรจะมีในตลาดมากขึ้น ราคาจะต่ำลง ทั้งนี้ต้องดูจำนวนอัตราประชากรที่เพิ่มมากขึ้นควบคู่กันไป และในส่วนของประเทศไทยควรเน้นคุณภาพของพืชผลทางการเกษตร เนื่องจากค่าแรงที่สูง และหากต้องการขายในราคาที่สูง จึงควรจับตลาดบน ซึ่งมีความต้องการสินค้าที่ดีต่อสุขภาพ ปลอดภัย และไร้สารพิษ เป็นต้น
นายกรณ์ จาติกวณิช รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพฯ
 
ปชป.ชูปัญหาราคาพืชตกต่ำขึ้นอภิปราย
 

ด้านพรรคประชาธิปัตย์เห็นว่าปัญหาเรื่องราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำเป็นปัญหาใหญ่ ที่ส่งผลต่อเกษตรกร และความเป็นอยู่ของประชาชนจำนวนมาก จึงจะหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นเป็นหนึ่งในประเด็นยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หลังรัฐบาลแถลงผลงาน 1 ปีของรัฐบาล
นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เงา พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงนโยบายในส่วนของการเกษตรว่า การบริหารงาน และเชิงนโยบายด้านการเกษตรของรัฐบาลชุดนี้ล้มเหลวทั้งหมด ตั้งแต่โครงสร้างทางการเกษตร ปัจจัยการผลิต ผลผลิต ด้านการวิจัยและพัฒนา จะเห็นได้จากผลงานที่สะท้อนออกมาในระยะเวลา 7 เดือนที่เข้าแทรกแซง ถือว่าไม่ประสบผลสำเร็จ และยังประสบปัญหาราคาพืชผลทางการเกษตรที่ต่ำลง

โดยเฉพาะโครงการจำนำข้าวที่มีปัญหาใน 3 เรื่องใหญ่ๆ คือ 1. เป็นการลดศักยภาพ จากเดิมที่มีการแข่งขันอย่างเสรี 2. การที่รัฐบาลประกาศซื้อข้าวทุกเม็ด นำไปสู่ปัญหามีการนำข้าวด้อยคุณภาพเข้ามาสวมสิทธิ์ ส่งผลกระทบต่อชื่อเสียงของประเทศในอนาคต 3. รัฐบาลต้องเข้าดูแลเชิงโครงสร้าง และแท้จริงแล้วชาวนาไม่ได้รับเงินเต็มจำนวน เช่น ข้าวเปลือก 15,000 บาทต่อตัน ได้จริงเพียง 10,400-12,000 บาทต่อตัน ซึ่งเป็นการเอารัดเอาเปรียบจากเรื่องความชื้น โกงน้ำหนัก และใบประทวน คนที่ได้ประโยชน์จากเรื่องนี้คือ โรงสี และนักการเมือง อาทิ โรงสีบางโรงไม่ได้อยู่ในโครงการจำนำ แต่ก็มาสวมรอย, ออกใบประทวนซ้ำซ้อน, มีการสีข้าวเป็นข้าวสาร แล้วรอราคาดี และนำออกขายต่อเอากำไรภายหลัง

ส่วนของราคายางพาราก็ลดต่ำลงเหลือเพียง 76 บาทต่อกิโลกรัม จากเดิมในยุครัฐบาลอภิสิทธิ์ ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 140 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่ราคาปาล์มน้ำมันก็น่าเป็นห่วง เหลือเพียง 4 บาทต่อกิโลกรัม ทั้งที่ราคาตลาดโลกยังดีอยู่ เนื่องจากรัฐบาลอนุมัติให้นำเข้า
“แม้ราคาผลผลิตทางการเกษตรจะขึ้นอยู่กับความผันผวนของตลาดโลก แต่รัฐบาลต้องดูแลเอาใจใส่อย่างจริงจัง รัฐบาลมีหน้าที่บริหาร และคาดการณ์ตลาดให้เกิดผลกระทบต่อเกษตรกรน้อยที่สุด ต้องบริหารดีมานด์ ซัปพลายให้เหมาะสม ครบวงจร เพื่อประโยชน์สูงสุด ปัจจุบันกลับซ้ำเติมด้วยต้นทุนด้านขนส่งที่มีผลจากราคาน้ำมัน และก๊าซที่สูงขึ้น” รัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เงา พรรคประชาธิปัตย์ ระบุ

‘ก.พาณิชย์-เกษตร’ ล้มเหลว
 

ส่วน นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์เงา พรรคประชาธิปัตย์ บอกว่า การจัดการปัญหาด้านสินค้าเกษตร เกี่ยวข้องกับกระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงเกษตรฯ ดังนั้นรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ (นายบุญทรง เตริยาภิรมย์) และ รมช.เกษตรฯ (นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ) พรรคเพื่อไทย ยังมองประเด็นปัญหาไม่ออก ไม่มีศักยภาพในการแก้ไขปัญหาอย่างแท้จริง โดยการบริหารงานส่วนใหญ่จะเน้นเล่นการเมืองมากกว่า ส่วนทีมเศรษฐกิจดูเหมือนจะไม่เป็นไปตามที่หวัง และรัฐบาลชุดนี้ก็ไม่มีศักยภาพที่จะไปเปลี่ยนกลไกทางการตลาดได้ การที่รัฐบาลจะคุมตลาดทั้งหมดจึงทำไม่ได้ และยังทำให้ระบบประเทศมีปัญหาด้วย

โดยเฉพาะปัญหาของสินค้าทางการเกษตรเป็นสินค้าที่มีอายุ เก็บไว้นานก็จะเสื่อมคุณภาพ หรือเน่าเสีย อย่างการจำนำข้าวในราคาสูง โดยกู้เงินมาใช้ เชื่อว่าในอนาคตจะไปไม่รอด ซึ่งจะกลายเป็นหนี้สาธารณะ และส่งผลต่อความเชื่อมั่นของประเทศ
ดังจะเห็นได้จากโครงการจำนำข้าว 1 ปีที่ผ่านมา เป็นโครงการที่ใช้เงินจำนวนมาก ประมาณ 2.6 แสนล้านบาท มีข้าวร่วมโครงการประมาณ 17.2 ล้านตันข้าวเปลือก ซึ่งคาดว่าจะขาดทุนประมาณ 1 แสนล้านบาท แต่มีเงินถึงมือเกษตรกรประมาณ 37% เท่านั้น

ส่วนเงินจำนวนมหาศาลกลับไปอยู่ที่โรงสี โกดัง นักการเมือง ข้าราชการ ในรูปแบบของการเอาเปรียบ สวมสิทธิ์ หรือการที่เอาข้าวเก่ามาเวียนเทียน อีกทั้งหากมีการเปิดประมูลอีกก็อาจเกิดกรณีรับเงินใต้โต๊ะเกิดขึ้นได้ โดยพ่อค้าข้าวใกล้ชิด

“ทางประชาธิปัตย์อยู่ในช่วงเก็บข้อมูล และลงพื้นที่ไปตรวจดูข้าว แต่ก็ถูกอ้างให้ไปตรวจโกดังอื่นแทน แต่ทางเราก็เข้าไปตรวจ จึงพบความไม่โปร่งใสในหลายจุด เหมือนเป็นการเปิดให้โกงตามใจชอบ ไม่ว่าจะเป็นการขโมยไปขาย พบข้าวหายไป การกระทำเช่นนี้เป็นการสั่งการของระดับใหญ่” นพ.วรงค์ ระบุ

นอกจากนี้ยังมีพืชเศรษฐกิจที่พบความไม่ชอบมาพากลก็คือ การจำนำมันสำปะหลังที่มียอดรวมทั้งหมด 9.43 ล้านตัน โดยปกติจะเริ่มที่เดือนพฤศจิกายน-เมษายน จะเป็นช่วงเก็บเกี่ยว แต่กลับมียอดจำนำเพียง 4.40 ล้านตัน แต่ครั้งนี้รัฐบาลเปิดให้เริ่มจำนำเดือนกุมภาพันธ์-มิถุนายน ซึ่งมียอดจำนำหลังเดือนเมษายน ที่เป็นช่วงหลังฤดูเก็บเกี่ยวสูงถึง 5.03 ล้านตัน ทั้งนี้ มองว่าการจำนำครั้งนี้มีการสวมสิทธิ์จากมันสำปะหลังของเขมรเยอะมาก สร้างความเสียหายให้แก่เกษตรกรกว่า 5 แสนครัวเรือน เป็นต้น


กำลังโหลดความคิดเห็น