หลังจากการผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 25 ก.ค. ที่ผ่านมา ที่มีมติออกมาให้คงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 3% ซึ่งเป็นไปตามที่ตลาดคาด แต่มติของคณะกรรมการแต่ละท่านกลับออกมาอย่างไม่เป็นเอกฉันท์ โดยคณะกรรมการ 2 ใน 7 เสียง มีมติให้ลดดอกเบี้ยลง 0.25%
ในขณะที่อีก 5 เสียงให้คงดอกเบี้ยที่ 3% ซึ่งทำให้หลายฝ่ายเริ่มมีการปรับมุมมองว่าดอกเบี้ยอาจมีโอกาสปรับลดลงได้ในปีนี้ ซึ่งรวมไปถึงตลาดตราสารหนี้ได้สะท้อนมุมมองดังกล่าวผ่านการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ยในตลาด โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย อายุ 10 ปี ปรับตัวลดลงจากประมาณ 3.8% ในช่วงไตรมาส 1 มาอยู่ที่ 3.3% เนื่องจากนักลงทุนเข้าซื้อเก็งกำไรในพันธบัตรระยะยาว ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นทรงตัวอยู่ที่ประมาณ 3% ทำให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยระหว่างพันธบัตร 10 ปี และ 1 ปี หดแคบลงจาก 0.7% เหลือเพียง 0.3% ในปัจจุบัน
TISCO Wealth มองว่าส่วนต่างดอกเบี้ยระยะสั้น - ยาว อยู่ในระดับต่ำเกินไปในปัจจุบัน ไม่คุ้มกับความเสี่ยงหากดอกเบี้ยปรับขึ้นและเราเชื่อว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะทรงตัวที่ 3% ในปีนี้ อีกทั้งยังมีโอกาสปรับขึ้นในปีหน้า เนื่องจาก
1.แรงกดดันเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันและสินค้าเกษตรจะเป็นปัจจัยให้กนง. พิจารณาปรับดอกเบี้ยขึ้นในปีหน้าราคาสินค้าเกษตรและราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วงไตรมาสสองทำให้อัตราเงินเฟ้อปัจจุบันอยู่ในระดับต่ำ อย่างไรก็ดี ในเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา เราได้เห็นราคาสินค้าเกษตรพุ่งขึ้นอย่างมากจากวิกฤติภัยแล้งในสหรัฐ โดยราคาข้าวสาลี ข้าวโพด และถั่วเหลือง ในตลาดโลกปรับตัวเพิ่มขึ้น 37%, 40% และ 20% ตามลำดับ และการฟื้นตัวของราคาน้ำมันซึ่งปรับตัวเพิ่มขึ้นราว 15% จากจุดต่ำสุดในเดือน มิ.ย. การเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ดังกล่าวจะเพิ่มความกดดันเงินเฟ้อในช่วงครึ่งหลังของปี
2.ปริมาณการประมูลพันธบัตรที่สูง จะกดดันให้ดอกเบี้ยพันธบัตรระยะยาวปรับตัวขึ้นรัฐบาลมีแผนการออกประมูลพันธบัตรจำนวนมากเพื่อใช้ในการลงทุนปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานและป้องกันน้ำท่วม ซึ่งการประมูลพันธบัตรดังกล่าวจะเป็นการเพิ่มปริมาณพันธบัตรในตลาดและเป็นแรงกดดันให้ดอกเบี้ยพันธบัตรระยะยาวปรับตัวสูงขึ้น
3.การเติบโตที่แข็งแกร่งของยอดสินเชื่อธนาคาร จะทำให้ธนาคารต้องแข่งกันระดมเงินฝากผ่านการให้โปรโมชั่นดอกเบี้ยพิเศษมากขึ้น
เราจึงยังแนะนำให้นักลงทุนเน้นลงทุนในเงินฝากและตราสารหนี้ระยะสั้นอายุไม่เกิน 1 ปี เพื่อรอลงทุนใหม่เมื่อครบอายุในปีหน้าเมื่อดอกเบี้ยปรับขึ้น และแนะนำให้หลีกเลี่ยงกองทุนเปิดตราสารหนี้ที่มีอายุเฉลี่ยของตราสารเกินกว่า 1 ปี ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะขาดทุนจากการตีราคาตลาดหากดอกเบี้ยปรับขึ้น
โดยคมศร ประกอบผล, AFPTTM
Wealth Manager
บลจ. ทิสโก้ จำกัด