xs
xsm
sm
md
lg

ลงทุนในพันธบัตรออมทรัพย์พิเศษของกระทรวงการคลัง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ในช่วงระหว่างวันที่ 3-14 กันยายน พ.ศ. 2555 ที่กำลังจะถึงนี้ กระทรวงการคลังจะเปิดให้มีการจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์พิเศษ (Saving Bond) ในวงเงิน 80,000 ล้านบาทแก่ประชาชนโดยทั่วไปที่สนใจลงทุนในตราสารหนี้ ซึ่งจุดเด่นที่สำคัญของพันธบัตรออมทรัพย์รุ่นที่กำลังจะเปิดขายนี้ คือการนำระบบไร้ใบหลักทรัพย์ (Scrip less) มาใช้ตั้งแต่ขั้นตอนของการจองซื้อ โดยกระทรวงการคลังมีความตั้งใจที่จะเพิ่มความสะดวกสบายในการซื้อตราสารหนี้ของประชาชนให้มากที่สุด และระบบ Scrip less ที่ว่านี้มีลักษณะอย่างไร เราลองมาติดตามกันดูค่ะ

ในอดีตที่ผ่านมา กระทรวงการคลังได้ออกพันธบัตรออมทรัพย์เพื่อขายให้ประชาชนอย่างต่อเนื่อง และจากข้อมูลเราพบว่า ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 เป็นต้นมา กระทรวงการคลังทำการออกพันธบัตรออมทรัพย์ไปแล้วรวม 72 รุ่น หรือคิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 665,000 ล้านบาท แต่ทั้งนี้พันธบัตรออมทรัพย์ทุกรุ่นที่เคยออกมาแล้วนั้นจะใช้วิธีขายผ่านธนาคารที่เป็นตัวแทนจำหน่าย โดยประชาชนที่ต้องการซื้อจะต้องไปต่อแถวหรือเข้าคิวที่สาขาของธนาคารที่เป็นตัวแทนฯ ในวันและเวลาที่กำหนดไว้ เมื่อทำการซื้อที่ธนาคารสาขาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว กระทรวงการคลังจะจัดส่งใบหลักทรัพย์ (Scrip) ไปให้ตามที่อยู่ที่ผู้ซื้อได้แจ้งเอาไว้ต่อไป และหลังจากนั้น หากผู้ถือพันธบัตรออมทรัพย์ต้องการขาย (หรือมีความต้องการใช้เงิน) ก่อนที่พันธบัตรจะครบกำหนดไถ่ถอน ก็จะต้องนำใบหลักทรัพย์ที่ได้ไปติดต่อที่ธนาคารสาขาเพื่อทำการขายคืนก่อนกำหนด ด้วยวิธีการเช่นนี้ จะเห็นได้ว่ามีความยุ่งยาก และอาจจะไม่สามารถเข้าถึงประชาชนที่ไม่มีเวลาไปเข้าแถวต่อคิวเพื่อทำการซื้อในช่วงเวลาที่กำหนดไว้ด้วยค่ะ

แต่สำหรับพันธบัตรออมทรัพย์พิเศษรุ่นที่กำลังจะเปิดขายนี้ ประชาชนที่มีความสนใจสามารถไปทำการลงทะเบียนเพื่อเปิดบัญชีในการซื้อพันธบัตรผ่านสาขาของธนาคารที่เป็นตัวแทนจำหน่ายทั้ง 4 ธนาคาร คือ ธนาคารกรุงเทพ กรุงไทย กสิกรไทย และไทยพาณิชย์ ได้ตั้งแต่วันที่ 27 สิงหาคม 2555 เป็นต้นไป และเมื่อทำการลงทะเบียนเสร็จเรียบร้อยแล้วเราจะได้รับสมุดบัญชีสำหรับการลงทุนในพันธบัตรออมทรัพย์ (หน้าตาคล้ายๆ กับสมุดบัญชีเงินฝาก) มาเก็บไว้ค่ะ จากนั้นในช่วงระหว่างวันที่ 3-14 กันยายน 2555 ที่เป็นช่วงของการเปิดขายพันธบัตรออมทรัพย์ ประชาชนที่ทำการลงทะเบียนไว้แล้วสามารถทำการซื้อพันธบัตรโดยทำรายการผ่านตู้ ATM ของธนาคารที่ตนเองได้ไปทำการลงทะเบียนไว้ได้ทันที โดยที่ระบบจะหักเงินในบัญชีเงินฝากเพื่อนำไปชำระเป็นค่าซื้อพันธบัตรต่อไป

และเมื่อเรานำสมุดบัญชีสำหรับการลงทุนในพันธบัตรออมทรัพย์ที่ได้รับมาในตอนแรกไปปรับปรุงรายการ (คล้ายๆ กับการเอาสมุดบัญชีเงินฝากไปอัปเดต) ก็จะปรากฏรายละเอียดเกี่ยวกับพันธบัตรรุ่นที่ซื้อ อัตราดอกเบี้ย วันที่ครบกำหนดไถ่ถอน และรายละเอียดเกี่ยวกับการจ่ายดอกเบี้ยระบุเอาไว้ และหากวันใดที่ต้องการขายก็สามารถไปทำรายการขายผ่านตู้ ATM ได้เช่นเดียวกับตอนที่ทำรายการซื้อค่ะ จะเห็นได้ว่าการนำระบบ Scrip less มาใช้ในครั้งนี้ถือเป็นทางเลือกใหม่แก่ประชาชนที่ทำการลงทุนในพันธบัตรออมทรัพย์ และเป็นการสร้างพื้นฐานที่มั่นคงให้ระบบการซื้อขายตราสารหนี้ภาครัฐของนักลงทุนรายย่อยในอนาคตด้วย

นอกจากนี้แล้ว ระบบ Scrip less ยังช่วยลดความเสี่ยงในเรื่องของใบพันธบัตรชำรุด สูญหาย ถูกทำลาย โดยเมื่อถึงวันครบกำหนดไถ่ถอนผู้ถือพันธบัตรก็จะได้รับดอกเบี้ยและเงินต้นผ่านบัญชีเงินฝากของตนเองโดยไม่ต้องเดินทางไปไถ่ถอนพันธบัตรด้วยตัวเองเหมือนในอดีตที่ผ่านมา และยังช่วยลดต้นทุนด้านเอกสาร และขั้นตอนของการจัดการข้อมูลต่างๆ ของหน่วยงานทั้งหมดที่เกี่ยวข้องอีกด้วยค่ะ

สำหรับลักษณะของพันธบัตรออมทรัพย์พิเศษของกระทรวงการคลังรุ่นนี้จะมีมูลค่าที่ตราไว้ (Par Value) หน่วยละ 1,000 บาท มีอายุ 6 ปี และจะจ่ายดอกเบี้ยให้ผู้ถือ (Coupon) ปีละ 3.99% ซึ่งหากนำไปเทียบกับพันธบัตรรัฐบาลรุ่นปกติที่มีอายุคงเหลือประมาณ 6 ปี ปัจจุบันให้ผลตอบแทนอยู่ที่ประมาณปีละ 3.35% ยังถือได้ว่าพันธบัตรออมทรัพย์รุ่นนี้ค่อนข้างน่าสนใจ เนื่องจากผลตอบแทนที่จะได้รับอยู่ในระดับที่สูงกว่ากันถึง 0.65% (3.99-3.35%) ต่อปีค่ะ

โดยกระทรวงการคลังได้กำหนดช่วงระยะเวลาของการจำหน่ายเอาไว้ 3 ช่วงด้วยกัน คือ ช่วงแรกระหว่างวันที่ 3-4 กันยายน สำหรับผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป และซื้อได้ไม่เกิน 2 ล้านบาท ช่วงที่สอง ระหว่างวันที่ 5-7 กันยายน 2555 สำหรับประชาชนทั่วไป (ไม่จำกัดอายุ) และซื้อได้ไม่เกิน 2 ล้านบาท และช่วงที่สาม ระหว่างวันที่ 8-14 กันยายน สำหรับประชาชนทั่วไป (ไม่จำกัดอายุ) และไม่จำกัดวงเงินในการซื้อ ซึ่งนักลงทุนท่านใดที่มีความสนใจ ขอแนะนำให้ไปทำการลงทะเบียนไว้เนิ่นๆ ได้ตั้งแต่วันที่ 27 สิงหาคมเป็นต้นไป เพื่อจะได้สามารถทำการซื้อผ่านตู้ ATM ในช่วงระยะเวลาที่กำหนดไว้ได้ทันทีค่ะ

โดยพอพิศ ยอดแสง
ฝ่ายวิจัยและพัฒนา
สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย


กำลังโหลดความคิดเห็น