xs
xsm
sm
md
lg

การแข่งขันด้านดอกเบี้ยเงินฝาก และผลประโยชน์ต่อผู้มีเงินออม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ในระยะนี้ นักลงทุนหรือผู้มีเงินออมหลายท่านคงจะได้เห็นโฆษณาหรือคำเชิญชวนเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์เงินฝาก ที่ธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่งต่างแข่งขันกันด้วยข้อเสนอของอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าปกติหลายเท่าตัว ทั้งๆที่ในสภาวะปัจจุบัน อัตราดอกเบี้ยภายในประเทศไทยยังไม่ได้มีแนวโน้มว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด และแน่นอนว่าการแข่งขันนี้ ในท้ายที่สุดแล้วย่อมเกิดผลประโยชน์กับผู้มีเงินออมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ทั้งนี้เราจำเป็นต้องพิจารณาและศึกษาถึงรายละเอียดเงื่อนไขของการฝากเงินในแต่ละรูปแบบอย่างละเอียดรอบคอบเสียก่อนครับ

โดยทั่วไปแล้ว การฝากเงินสำหรับผู้มีเงินออมในปัจจุบันอาจแบ่งได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือเงินฝากออมทรัพย์ (Saving Deposits) และเงินฝากประจำ (Fixed Deposit) โดยที่การฝากแบบออมทรัพย์ จะอนุญาตให้ทำการฝากถอนได้ตลอดเวลา ซึ่งธนาคารจะคิดดอกเบี้ยตามจำนวนเงิน และตามจำนวนวันที่นำไปฝากไว้

ทั้งนี้ผู้ฝากเงินจะได้รับการยกเว้นให้ไม่ต้องเสียภาษีหากดอกเบี้ยที่ได้รับนั้นมีมูลค่าไม่เกิน 20,000 บาทต่อปี (แต่ถ้าได้รับดอกเบี้ยเกินกว่า 20,000 บาทต่อปี ดอกเบี้ยทั้งหมดจะถูกนำมาคิดภาษีทั้งจำนวนครับ) ในขณะที่การฝากแบบประจำ จะมีระยะเวลาของการฝากที่แน่นอน (เช่น 1 ปี หรือ 2 ปี) ซึ่งหากมีการถอนเงินออกไปก่อนระยะเวลาที่กำหนด ผู้ฝากจะไม่ได้รับดอกเบี้ยเลย (หรืออาจจะได้ดอกเบี้ยที่อัตราอื่นๆ ที่ไม่ใช่อัตราดอกเบี้ยของการฝากประจำ ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของธนาคารแต่ละแห่ง) นอกจากนี้แล้วดอกเบี้ยเงินฝากประจำยังต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% อีกด้วยครับ เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว หากสมมุติให้ดอกเบี้ยเงินฝากประจำถูกกำหนดไว้ที่ 4% ต่อปี ในท้ายที่สุดแล้วจะมีค่าเหลือให้กับผู้ฝากเงินเพียง 3.4% ต่อปีเท่านั้นครับ เนื่องจากอีก 0.6% ถูกหักเป็นภาษีไปแล้วนั่นเอง

แต่ด้วยเงื่อนไขของการฝากเงินแบบออมทรัพย์ที่มีความผ่อนปรนมากกว่า จึงมีผลทำให้ดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์อยู่ในระดับที่ต่ำกว่าด้วยเช่นกัน ซึ่งปัจจุบันการฝากออมทรัพย์ให้ดอกเบี้ยโดยเฉลี่ยที่ประมาณ 0.75% ต่อปี ในขณะที่การฝากประจำแบบ 1 ปี และ 2 ปี ให้ดอกเบี้ยเฉลี่ยที่ประมาณ 2.75% และ 3.125% ต่อปีตามลำดับ แต่ทั้งนี้ ต้องไม่ลืมว่าตัวเลขดังกล่าวนี้ยังไม่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายครับ ซึ่งเมื่อพิจาณาถึงผลทางภาษีเรียบร้อยแล้วจะพบว่าการฝากแบบประจำให้ผลตอบแทนกับผู้ฝากเฉลี่ยที่ประมาณ 2.35% และ 2.65% สำหรับการฝากแบบ 1 ปี และ 2 ปี ซึ่งสูงกว่าการฝากออมทรัพย์ประมาณ 1.75% ต่อปีเลยทีเดียว

แต่ในปัจจุบัน ด้วยการแข่งขันแย่งเงินฝากของนาคารพาณิชย์หลาย ๆ แห่งทั้งในส่วนของการฝากประจำและฝากออมทรัพย์ มีผลทำให้ผู้มีเงินออมมีทางเลือกที่จะเพิ่มผลตอบแทนของการฝากเงินให้สูงขึ้นกว่าเดิม เริ่มจากการแข่งขันในส่วนของเงินฝากออมทรัพย์ ระหว่างธนาคารขนาดใหญ่ 2 แห่ง ที่ใช้ชื่อเรียกอย่างน่าดึงดูดใจว่า “บัญชีเงินฝากแบบไม่ประจำ” โดยให้ดอกเบี้ยอยู่ที่ประมาณ 3% ต่อปี ซึ่งถือว่าสูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝากประจำในปัจจุบันเสียอีกครับ และที่สำคัญเงินฝากประเภทนี้ไม่ถูกหักภาษีอีกด้วย แต่ทั้งนี้ผู้ฝากเงินจำเป็นต้องศึกษาและยอมรับกับเงื่อนไขต่างๆ ที่ธนาคารกำหนดไว้ เช่น การอนุญาตให้ถอนเงินได้เพียงเดือนละไม่เกิน 2 ครั้ง พร้อมกับไม่อนุญาตให้มีบัตร ATM และช่วงเวลาของการเปิดบัญชีเพื่อให้ได้อัตราดอกเบี้ยที่ระดับดังกล่าว เป็นต้น ซึ่งเมื่อพิจารณาโดยภาพรวมแล้วก็ยังถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับการลงทุนในช่วงเวลานี้

ขณะที่การแข่งขันในส่วนของเงินฝากประจำ ก็มีความน่าสนใจไม่แพ้กันครับ โดยธนาคารหลายแห่งมักจะใช้ข้อความเชิญชวนถึงอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่ผู้ฝากเงินจะได้รับ ซึ่งมีตั้งแต่ 4% ต่อปี จนมาถึง 9.99% ต่อปี ซึ่งหากพิจารณาแต่เพียงตัวเลขดังกล่าว อาจทำให้ผู้ฝากเงินส่วนใหญ่เข้าใจผิดเกี่ยวกับผลตอบแทนที่ตนเองจะได้รับ เนื่องจากในความเป็นจริงแล้ว ตัวเลขดอกเบี้ยในระดับที่ค่อนข้างสูง มักเป็นอัตราดอกเบี้ยแบบขั้นบันได (ตัวอย่างเช่น เดือนที่ 1 ได้ 9% เดือนที่ 2 ได้ 7% และจะลดลงไปเรื่อยๆ จนถึงเดือนสุดท้าย) โดยธนาคารส่วนใหญ่จะเน้นสื่อสารเฉพาะในรายละเอียดของดอกเบี้ยสูงสุด พร้อมกับแสดงผลตอบแทนเฉลี่ยตลอดระยะเวลาของการฝากเงินประกอบเอาไว้เป็นเพียงตัวเลขเล็กๆ ซึ่งในประเด็นนี้ ผู้ฝากเงินต้องใช้ความละเอียดรอบคอบในการพิจาณาด้วยครับ อย่างไรก็ตาม ดอกเบี้ยเงินฝากประจำที่ธนาคารพาณิชย์จำนวน 4 - 5 แห่งแข่งขันกันอยู่ในปัจจุบันซึ่งเฉลี่ยแล้วอยู่ที่ประมาณ 3.70% ต่อปี (หรือประมาณ 3.15% ต่อปี เมื่อหักภาษี ณ ที่จ่ายไปแล้ว) ยังถือได้ว่าเป็นทางเลือกที่ค่อนข้างน่าสนใจเมื่อเทียบกับดอกเบี้ยฝากประจำโดยทั่วไป

นอกจากนี้แล้ว หากพิจารณาเปรียบเทียบกับการลงทุนในตราสารหนี้ด้วยระยะเวลาของการลงทุนประมาณ 1 - 2 ปี อาจกล่าวได้ว่าการฝากเงินไว้กับธนาคารฯ ที่แข่งขันกันเรื่องของอัตราดอกเบี้ยในปัจจุบัน ทั้งแบบประจำและออมทรัพย์ น่าจะให้ผลตอบแทนที่อยู่ในรูปของตัวเงินในระดับที่ดีกว่าครับ (ผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลอายุ 1 ปี เมื่อยังไม่หักภาระภาษีอยู่ที่ประมาณ 3.10%) แต่อย่างไรก็ตาม ผู้มีเงินออมจำเป็นต้องพิจารณาถึงความเสี่ยงจากการฝากเงินซึ่งอยู่ในระดับที่สูงกว่าด้วยเช่นกัน เนื่องจากปัจจุบัน ผู้ฝากเงินจะได้รับความคุ้มครองเงินต้นจำกัดไว้เพียงไม่เกิน 50 ล้านบาทต่อ 1 บัญชี และลดลงเหลือเพียงไม่เกิน 1 ล้านบาทต่อ 1 บัญชีในช่วงอีก 3 ปีข้างหน้า ในขณะที่พันธบัตรรัฐบาลที่ถึงแม้ว่าจะไม่มีผู้รับประกันเงินต้นก็ตาม แต่ก็ยังมีกระทรวงการคลังในฐานะของรัฐบาล ที่คอยดูแลชำระเงินต้นให้กับผู้ลงทุนอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งปัจจัยด้านความเสี่ยงของการลงทุน ถือเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้มีเงินออมต้องพิจารณาควบคู่ไปกับตัวเลขผลตอบแทน ในทุกๆครั้งก่อนที่จะตัดสินใจลงทุนครับ

โดยสุชาติ ธนฐิติพันธ์
สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย
www.thaibma.or.th
suchart@thaibma.or.th, 02-252-3336 Ext.113
กำลังโหลดความคิดเห็น