xs
xsm
sm
md
lg

0.46% เพื่อชดเชยหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ กับผลกระทบต่อผู้มีเงินออม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา นักลงทุนหลายท่านน่าจะทราบข่าวเกี่ยวกับการโยกหนี้จำนวน 1.14 ล้านล้านบาท ของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) จากเดิมที่กระทรวงการคลังเคยรับหน้าที่ดูแล ไปไว้กับธนาคารแห่งประเทศไทยให้เป็นผู้รับผิดชอบภาระหนี้ทั้งในส่วนของดอกเบี้ยและเงินต้นทั้งหมด โดยกระทรวงการคลังให้เหตุผลว่า หนี้ก้อนดังกล่าวเกิดขึ้นเนื่องจากการที่รัฐบาลยื่นมือเข้าไปให้ความช่วยเหลือสถาบันการเงินที่มีปัญหาสภาพคล่องในช่วงปี 2540 เพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อ และเพื่อหลีกหนีจากวิกฤติความเชื่อมั่นของประชาชนผู้ฝากเงิน ที่อาจนำไปสู่การล่มสลายของระบบสถาบันการเงินในประเทศในช่วงเวลานั้น โดยตัวเลขหนี้ของกองทุนฟื้นฟูฯ ที่เกิดขึ้นในปี 2540 อยู่ที่ประมาณ 1.3 ล้านล้านบาท แต่เมื่อเวลาผ่านมาเกือบ 15 ปี กลับพบว่ายอดหนี้ยังคงเหลืออยู่ที่ประมาณ 1.14 ล้านล้านบาท หรือลดไปเพียง 1.63 แสนล้านบาทเท่านั้น ในขณะที่แต่ละปี รัฐบาลมีภาระที่จะต้องจ่ายในส่วนของ“ดอกเบี้ย” เพียงอย่างเดียวคิดเป็นเงินหลายหมื่นล้านบาท และเคยสูงถึง 6.7 หมื่นล้านบาทในปี 2551 ครับ

ประกอบกับข้อเท็จจริงที่ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นในปี 2540 นั้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการดำเนินนโยบายการเงินที่นำไปสู่การลอยตัวค่าเงินบาทเมื่อวันที่ 2 ก.ค. 2540 และตามมาด้วยหนี้ของกองทุนฟื้นฟูฯ ที่เข้ามาให้ความช่วยเหลือสถาบันการเงินที่ได้รับผลกระทบจากการลอยตัวค่าเงินในที่สุด ซึ่งสุดท้ายแล้ว ไม่ว่าภาระหนี้ของกองทุนฟื้นฟูฯ จะเกิดขึ้นเพราะใครหรือจำเป็นต้องโอนไปไว้กับใครหรือไม่ก็ตาม แต่ประเด็นเร่งด่วนที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันหาข้อสรุปในตอนนี้ก็คือ จะทำอย่างไรเพื่อที่จะลดภาระของรัฐบาลที่ต้องนำงบประมาณรายจ่ายปีละหลายหมื่นล้านบาท มาชดเชยให้กับดอกเบี้ยของหนี้ก้อนนี้ แทนที่จะนำไปสร้างประโยชน์หรือพัฒนาประเทศในด้านอื่นๆ

โดยแนวทางแก้ไขปัญหาล่าสุดที่นำมาใช้ คือการบังคับให้ธนาคารพาณิชย์ นำส่งค่าธรรมเนียมคิดเป็น 0.47% ของฐานเงินที่รับจากประชาชนไปให้กับธนาคารแห่งประเทศไทย โดยค่าธรรมเนียม 0.47% นี้ จะถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ซึ่งส่วนแรกหรือ 0.01% ต่อปีของฐานเงินฝาก จะถูกส่งให้กับสถาบันคุ้มครองเงินฝาก ในขณะที่ 0.46% ของยอดเงินจะถูกนำไปใช้ชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยของกองทุนฟื้นฟูฯทั้งนี้ ยอดเงินที่จัดเก็บ 0.46% รวมถึงเงินที่ประชาชนนำมาฝากไว้กับธนาคารพาณิชย์ เงินที่ได้รับจากการออกตราสารหนี้ (ยกเว้นตราสารหนี้ด้อยสิทธิ) เงินที่ได้จากการขายตั๋ว B/E ให้ประชาชน และเงินที่ได้รับจากการทำธุรกรรมกู้ยืม (Private Repo) กับบุคคลและเอกชนที่ไม่ใช่สถาบันการเงินด้วยกัน เป็นต้น และด้วยการเรียกเก็บเงินในอัตราดังกล่าว ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยคาดว่าจะสามารถนำไปชำระหนี้ของกองทุนฟื้นฟูฯ ได้หมดภายในระยะเวลา 24 ปีครับ

แต่ในมุมของประชาชนผู้มีเงินออมอาจมองว่าอัตราค่าธรรมเนียมที่ ธปท. เรียกเก็บจากธนาคารพาณิชย์ตามแนวทางนี้อยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูง และอาจจะมีผลทำให้ธนาคารพาณิชย์ผลักภาระดังกล่าวมาให้กับผู้ฝากหรือผู้กู้เงินในอนาคตหรือไม่ (ผ่านการลดดอกเบี้ยเงินฝาก หรือเพิ่มดอกเบี้ยเงินกู้) ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ธนาคารพาณิชย์เคยต้องนำส่งค่าธรรมเนียมในอัตรา 0.40% (เฉพาะจากเงินฝากที่รับจากประชาชน) ให้กับสถาบันคุ้มครองเงินฝากมาเป็นระยะเวลานานแล้ว ดังนั้นการที่ต้องแบกรับค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้นจากเดิมอีก 0.07%จึงไม่น่าจะมีผลโดยตรงที่ทำให้ธนาคารพาณิชย์ต้องปรับลดดอกเบี้ยเงินฝาก หรือเพิ่มดอกเบี้ยเงินกู้ในช่วงเวลานี้ครับ

แต่ประเด็นสำคัญที่ผู้มีเงินออมต้องให้ความสนใจในช่วงเวลานับจากนี้ไป น่าจะอยู่ที่เรื่องของการรับประกันเงินฝากที่จะเริ่มจำกัดไว้เพียงแค่ไม่เกิน 1 ล้านบาทต่อ 1 บัญชี ในวันที่ 11 ส.ค. 2555 ซึ่งจะมีผลทำให้ผู้ฝากเงินจำเป็นต้องหาช่องทางใหม่ๆ แทนที่จะฝากเงินส่วนที่เกิน 1 ล้านบาทไว้กับธนาคารพาณิชย์โดยแลกกับอัตราดอกเบี้ยที่ค่อนข้างต่ำ อีกทั้งยังไม่ได้รับความคุ้มครองในกรณีที่ธนาคารเกิดปัญหาอีกด้วย โดยในปีที่ผ่านมาธนาคารหลายแห่งพากันออกตั๋วแลกเงิน (ตั๋ว B/E) ที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝากประมาณ 0.4% -0.5% เพื่อจูงใจไม่ให้ผู้ฝากเงิน ย้ายเงินฝากของตนเอง (ส่วนที่เกิน 1 ล้านบาท) ไปไว้กับธนาคารอื่น โดยผลตอบแทนของตั๋ว B/E ที่สูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝาก ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่ธนาคารไม่ต้องนำส่งค่าธรรมเนียม 0.4% ของเงินที่ได้รับจากการขายตั๋ว B/E ไปให้กับสถาบันคุ้มครองเงินฝาก หรือในอีกความหมายหนึ่งก็คือ ผู้ลงทุนในตั๋ว B/E จะไม่ได้รับความคุ้มครองเงินต้นด้วยนั่นเองครับ

ซึ่งจากแนวทางเรียกเก็บค่าธรรมเนียมแบบใหม่ที่ถูกนำมาบังคับใช้ จะเห็นว่าการขายตั๋ว B/E ให้กับผู้มีเงินออม จะมีผลทำให้ธนาคารต้องนำส่งค่าธรรมเนียมในอัตรา 0.46% ให้กับ ธปท. เพื่อนำไปชำระหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ และเมื่อเป็นเช่นนี้แล้วธนาคารพาณิชย์จึงไม่อาจจะเสนอผลตอบแทนของตั๋ว B/E ให้อยู่ในระดับที่สูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝากได้เหมือนกับที่เคยเป็นมาในอดีตครับ ภาพของการแข่งขันกันออกตั๋ว B/E อย่างรุนแรงเพื่อรักษาฐานลูกค้าเงินฝากของตนเองจึงน่าจะชะลอตัวลงไป แต่อย่างไรก็ตาม ธนาคารพาณิชย์ยังจำเป็นต้องหาช่องทางใหม่ๆ เพื่อรักษาฐานเงินฝากของตนเอง เช่นตัวอย่างของการเริ่มออกหุ้นกู้ด้อยสิทธิมากขึ้น (ไม่ต้องนำส่ง 0.47% ให้กับ ธปท.)ในช่วง 4 - 5 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งจากสถานการณ์ต่างๆเหล่านี้ อาจสรุปได้ว่าในช่วงเวลานับจากนี้ไป น่าจะถือเป็นโอกาสที่ดีสำหรับผู้มีเงินออม ที่น่าจะมีทางเลือกของช่องทางการลงทุนใหม่ๆ ซึ่งให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าเงินฝากมาให้ตัดสินใจเลือกลงทุนมากขึ้น ซึ่งสุดท้ายแล้วจะเป็นการเลือกลงทุนในช่องทางใดก็ตามนั้น จะต้องพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบอยู่บนพื้นฐานของความเสี่ยง และระยะเวลาของการลงทุนที่ยอมรับได้ครับ

สุชาติ ธนฐิติพันธ์
ฝ่ายวิจัยและพัฒนาตลาด
สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย
www.thaibma.or.th
suchart@thaibma.or.th, 02-252-3336 Ext.113
กำลังโหลดความคิดเห็น