xs
xsm
sm
md
lg

เอกชนเสนอทางออกหลังข้าวไทยเสียแชมป์ “เลิกจำนำข้าว” (ตอนที่3)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


รัฐบาลดันทุรังสานต่อโครงการ “รับจำนำข้าว” ต่อ แม้เสียแชมป์ส่งออกข้าว ขณะที่ภาคเอกชนเสนอทางรอดข้าวไทย เจ้าสัวซีพีแนะส่งตัวแทนคุยเวียดนาม เอาประสบการณ์ลงทุนปลูกข้าวในประเทศเพื่อนบ้านขายทั่วโลก พร้อมยกระดับข้าวไทยเป็นเกรดคุณภาพ ด้านสมาคมผู้ส่งออกเผยทางรอดข้าวไทยคือรัฐหยุดรับจำนำข้าว ก่อนชาวนาเร่งปลูกด้อยคุณภาพเข้าโครงการ ส่วนโรงสีประเมินทิศทางข้าวไทยลดลงเรื่อยๆ เกษตรกรหันไปปลูกพืชเศรษฐกิจอื่น

6 เดือนแรกของปี 2555 ยอดการส่งออกข้าวของไทยทำได้เพียง 3.45 ล้านตัน ลดลง 45% เมื่อเทียบกับปีก่อน มูลค่าส่งออกรวม 71,438 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนที่มีมูลค่ารวมกว่า 107,644 ล้านบาท คิดเป็น 34% หากคิดเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐลดลง 35% ทำให้ประเทศไทยเสียตำแหน่งแชมป์ส่งออกข้าว โดยตกลงมาอยู่อันดับ 3 รองจากอินเดียและเวียดนาม โดยอินเดียส่งออกได้ 3.61 ล้านตัน เวียดนามส่งออกได้ 3.52 ล้านตัน ซึ่งตลาดส่งออกข้าวที่สำคัญคือ แอฟริกาใต้ 55% รองลงมาคือ อาเซียน 14% และตะวันออกกลาง 12%

ขณะที่รัฐบาลแสดงจุดยืนและให้ความมั่นใจต่อแนวทางการสร้างตลาดข้าวคุณภาพของไทย โดยยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และบุญทรง เตริยาภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ออกมาให้ความเชื่อมั่นในตัวเลขการส่งออกปีนี้ น่าจะทำได้ไม่ต่ำกว่า 8.5 ล้านตัน ด้วยการส่งออกข้าวจากผู้ค้ารายใหญ่และการขายแบบรัฐบาลต่อรัฐบาล (จีทูจี) หรือเดินหน้าพูดคุยกับต่างประเทศ และจะไม่ทบทวนเรื่องนโยบายรับจำนำข้าว

สวนทางกับปริมาณข้าวที่อยู่ในสต๊อกเป็นจำนวนมากที่นับวันจะมีคุณภาพที่ต่ำลง ขณะที่แนวทางการระบายข้าวกลับยังไม่เห็นเป็นรูปธรรม

จากที่ ASTV ผู้จัดการรายวัน ได้ตามเรื่องข้าวมาแล้ว 2 ตอน “3 ประเทศ” จับมือล้มแชมป์ส่งออกข้าวไทย! ม.หอการค้าฯ ชี้ “ปู” ตัวการ “เกษตรไทย” พ่ายต่างชาติ (ตอนที่ 1) และ ผู้ส่งออกโวย “ยิ่งลักษณ์” ทำลายอุตฯ ข้าวไทย เคราะห์ซ้ำ!ต่างชาติย้อมแมวข้าวผสมตีตรา “หอมมะลิไทย” (ตอนที่ 2)

ในตอนนี้ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ผู้ประกอบการ และภาครัฐ ตั้งแต่ระดับผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือซีพี ผู้ผลิตอาหารรายใหญ่ของประเทศ, นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ส่งออกข้าว ผู้ส่งออกข้าว, โรงสี เพื่อสะท้อนทางออกของปัญหาข้าวไทยที่ประสบอยู่อย่างรอบด้าน พร้อมแนวทางการเดินหน้าหลังเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

เจ้าสัวซีพีแนะไทยส่งตัวแทนคุยเวียดนาม
เชื่อ ขายข้าวทีหลัง ‘ราคาดีกว่า’
 

นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) กล่าวว่า ตนมองว่าการเปิดเสรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี อย่างเต็มรูปแบบในปี 2558 จะเป็นโอกาสมากกว่าวิกฤต แม้บางคนจะมองเป็นวิกฤต เช่น กลัวจะขายข้าวไม่ได้ กลัวพม่าจะแย่งตลาดส่งออกข้าวจากไทย ซึ่งพม่าเคยเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ที่สุดในเอเชีย ถ้าประเทศเขาสงบ เขาปลูกข้าวแน่นอน เพราะเป็นพืชที่ให้ผลตอบแทนเร็วที่สุด

“เราห้ามเขาปลูกข้าวไม่ได้ แต่ถ้าเป็นผม ผมจะไปซื้อข้าวจากพม่ามาขายทั่วโลก แล้วเอาพื้นที่ปลูกข้าวมาปลูกพืชที่มีค่ามากกว่าข้าว ทำไมเราต้องไปปลูกข้าวแข่งกับเขา แข่งอย่างไรก็แพ้ แม้จะขายถูกลง เพราะเขาไม่เคยได้ ถ้าได้บาทหนึ่งก็ถือว่าได้แล้ว แต่เราเคยได้ 10 บาท จู่ๆ จะให้ลดเหลือบาทหนึ่ง เราเสียดาย”

ดังนั้น วันนี้เราต้องศึกษาว่า อะไรที่เราต้องแข่งกับเวียดนาม อะไรที่ต้องแข่งกับพม่า อะไรที่ต้องแข่งกับเขมร และอะไรที่ต้องแข่งกับลาว แล้วเราจะหลีกเลี่ยงได้อย่างไร อะไรจะทำให้เกิดประโยชน์กับไทย เราเอาของเขาไปขาย ช่วยเขาพัฒนา ดีใจทั้งคู่ แต่ถ้าขายแข่งกับเขาจะมองหน้ากันไม่ติด ถ้าเราไปช่วยเขาขาย ยังไงเขาก็ต้องขายได้ ทำไมปล่อยให้เขาไปขายถูกๆ ไปเสี่ยงราคา ทำให้เราเดือดร้อน เขาปลูกเราก็ต้องขาย

นอกจากนั้นการไปช่วยเขาจะทำให้รู้ข้อมูลของเขาด้วยว่า เขาจะพัฒนาเติบโตไปอย่างไร อะไรที่เราสู้เขาไม่ได้ก็หลีกเลี่ยง เช่น ภาคอีสานปลูกข้าว 1 ครั้งได้ 400-500 กิโลกรัม ทำไมไม่เอาพื้นที่ไปปลูกอ้อยหรือยางพารา ซึ่งยังเร็วเกินไปสำหรับพม่า เขาต้องปลูกข้าวก่อน เพราะปลูก 4 เดือนได้เงินแล้ว

นายธนินท์กล่าวอีกว่า วันนี้ผู้ประกอบการต้องรีบหาข้อมูล และรัฐบาลต้องมีนโยบายที่ชัดเจน ซึ่งไทยจะได้เปรียบเพราะมีประสบการณ์มากกว่า ธุรกิจของเราสำเร็จมาก่อน เราเอาความสำเร็จไปลงทุนกับเขา เช่น ไปผลิตที่ประเทศเขาแล้วเอาไปขายทั่วโลก อย่าคิดว่าต้องผลิตที่เมืองไทยอย่างเดียว วันนี้ไม่ใช่แบบนั้นแล้ว

ส่วนปัญหาราคาข้าวเวียดนามถูกกว่าข้าวไทย ทำให้เสียความสามารถทางการแข่งขัน นายธนินท์เห็นว่าควรแก้ปัญหาโดยการกำหนดราคาข้าวแต่ละเกรดเป็นราคาเดียว แล้วไปตกลงกับเวียดนาม ให้เวียดนามขายข้าวออกไปก่อน ไทยขายทีหลังจะได้ราคาดีกว่าโดยไม่จำเป็นต้องลดราคาข้าวลง ส่วนข้าวที่เหลือก็นำไปแปรสภาพเป็นสินค้าประเภทอื่นได้

สร้างแบรนด์ข้าวไทยคุณภาพ
หยุดแข่ง ‘ดัมป์ราคา’

จากแนวคิดของเจ้าสัวใหญ่ สู่ทิศทางการเดินหน้าของข้าวตราฉัตร แบรนด์ข้าวถุงชั้นนำในกลุ่มเครือเจริญโภคภัณฑ์ ดำเนินงานโดย นายสุเมธ เหล่าโมราพร กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ซี.พี.อินเตอร์เทรด จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่าย “ข้าวตราฉัตร” มองว่า ควรนำจุดแข็งด้านคุณภาพข้าวไทยมาเป็นจุดขายที่แตกต่างจากประเทศที่เข้ามาลงเล่นในสนาม อย่างเวียดนาม กัมพูชา พม่า ฯลฯ ที่มีต้นทุนในการผลิตต่ำกว่าไทย หรือหากรัฐบาลเปิดเสรีในการนำเข้าข้าวเปลือก ในอนาคตอาจนำข้าวราคาถูกจากประเทศเหล่านั้นมาสีที่ประเทศไทย เนื่องจากประเทศไทยยังมีกำลังในการดำเนินการอีกกว่า 60-70% แต่ต้องขึ้นอยู่กับนโยบายรัฐบาล

อย่างไรก็ตาม จากราคาข้าว และต้นทุนของไทยที่สูงขึ้น ประเทศไทยควรเน้นการพัฒนาคุณภาพของข้าว เพื่อยกระดับข้าวไทยให้เป็นสินค้าที่มีคุณภาพจนเป็นที่ต้องการของตลาด เหมือนเป็นแบรนด์ ทำให้เกิดความเชื่อในสินค้า เนื่องจากตลาดข้าวไทยต้องการขายในราคาที่สูง ทั้งนี้ เปรียบเหมือนแบรนด์ซัมซุงของประเทศเกาหลีที่มีการพัฒนาคุณภาพจนเป็นที่ยอมรับ ดีกว่าจะแข่งขันกับประเทศอื่น เพื่อลดราคาสินค้าให้ต่ำลง หากทำสำเร็จก็จะเป็นที่ต้องการของตลาดในที่สุด

“ประเทศไทยควรส่งเสริมให้ชาวต่างประเทศนิยมกินข้าวไทย เหมือนกับที่ประเทศไทยนิยมกินขนมปัง พิซซ่า แฮมเบอร์เกอร์”

เปิด 3 ตลาดข้าวไทยในอาเซียนรุ่ง!
 
กรรมการผู้จัดการใหญ่ ข้าวตราฉัตร กล่าวต่อว่า ตลาดข้าวในประเทศกลุ่มอาเซียนเป็นอีกหนึ่งตลาดที่น่าสนใจ เข้าไปเจาะตลาดหลังเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี โดยเฉพาะ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ที่เป็นผู้นำเข้าข้าวรายใหญ่ในอาเซียน อีกทั้งยังมีกลุ่มประชากรที่มีกำลังในการบริโภคข้าวที่มีคุณภาพอยู่ แต่อดีตประเทศเหล่านั้นจะนำเข้าข้าวผ่านรัฐบาล ไม่เปิดเสรีให้เอกชนนำเข้า ราคาจึงเข้ามามีบทบาทสำคัญในการตัดสินใจ โดยมักนำเข้าข้าวคุณภาพปานกลาง-ต่ำ

ทั้งนี้ หากเปิดเออีซี อยากให้มีการทำข้อตกลงระหว่างกันให้เกิดการค้าข้าวได้อย่างเสรีมากยิ่งขึ้น หากเป็นเช่นนั้นก็จะส่งผลบวกต่อตลาดข้าวไทยเป็นอย่างมาก ส่วนของการไหลของข้าวจากประเทศเพื่อนบ้านสู่ประเทศไทยพบว่ามีอยู่แถวชายแดนบ้างอยู่แล้ว การเกิดเออีซีไม่น่าจะมีผลมากนัก

“ขณะนี้มาเลเซีย และฟิลิปปินส์จะนำเข้าข้าวจากเวียดนามเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเวียดนามจะส่งออกข้าวคุณภาพปานกลาง-ต่ำเป็นส่วนใหญ่อยู่แล้ว หากทำการเปิดเสรีได้จริง เชื่อว่าข้าวหอมมะลิไทยจะเป็นที่ต้องการ และสามารถเข้าไปตีตลาดกลุ่มที่มีกำลังทรัพย์ได้”

เอกชนชี้ รัฐต้องหยุดบิดเบือนตลาด
แนะกลับมาใช้ ‘ประกันราคา-ชดเชย’

ขณะที่ผู้ส่งออกข้าว ถือว่าเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากราคาข้าวที่สูงขึ้นจนเสียรายได้ และลูกค้าจากการส่งออก เนื่องจากคู่ค้าต่างชาติหันไปซื้อข้าวจากประเทศอื่นแทน จนผู้ประกอบการหลายรายที่ไม่มีสายป่านยาวพอต้องทยอยปิดตัวลงในที่สุด หรือหันไปนำข้าวจากประเทศเพื่อนบ้านมาขายแทน เพื่อรักษาตลาดลูกค้าให้คงอยู่

ชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ส่งออกข้าว มองว่า ทางรอดของภาคการส่งออกข้าวไทยในตลาดโลกนั้นขึ้นอยู่กับนโยบายของภาครัฐบาล หากภาครัฐยังเข้ามาบิดเบือนกลไกราคาของตลาดข้าว ด้วยการจำนำข้าวในราคาที่สูงกว่าตลาดมากถึงประมาณ 40-50% ก็จะทำให้ข้าวไทยไม่สามารถทวงคืนส่วนแบ่งทางการตลาดกลับคืนมาได้ และง่ายต่อการทุจริต ทั้งนี้ หากต้องการช่วยเหลือเกษตรกรควรใช้วิธีอื่นมากกว่า มิฉะนั้นการส่งออกข้าวไทยจะถึงกาลอวสาน

สำหรับรูปแบบการช่วยเหลือเกษตรกรแทนการบิดเบือนราคาตลาดอาจใช้รูปแบบ 1. ช่วงที่มีผลผลิตมากอาจใช้การจำนำ แต่ใช้ในระยะเวลาสั้นๆ ประมาณ 3 เดือน อย่างนาปีก็ช่วงเดือน 11 ถึงเดือน 1 และนาปรังช่วงเดือน 3 ถึงเดือน 5 หรือให้ราคาจำนำที่ต่ำลง จาก 15,000 บาทต่อตัน เป็น 11,000 บาทต่อตัน และให้ค่าชดเชยแทน 2. นำระบบประกันรายได้กลับมาใช้ ก็จะทำให้การบิดเบือนราคาตลาดไม่มากจนเกินไป ทั้งนี้ต้องเข้าใจว่าประเทศไทยผลิตข้าวเพื่อขายต่อ ไม่ได้ใช้รับประทานแต่ในประเทศเท่านั้น ซึ่งปกติจะส่งออกอยู่ที่ปีละ 10 ล้านตัน

ชาวนาเพิ่มรอบปลูก-คุณภาพข้าวต่ำ

ทั้งนี้ ระบบการจำนำข้าวยังส่งผลให้คุณภาพข้าวของไทยนับวันจะลดต่ำลง เนื่องจากชาวนาต้องการเพิ่มผลผลิต แต่ไม่เน้นด้านคุณภาพ เนื่องจากรัฐบาลรับซื้อหมด ไม่ว่าจะคุณภาพแบบไหน อย่างข้าวหอมมะลิก็หันมาใช้ปุ๋ยเคมี ทำให้ความหอมอโรมาหายไป หรือหอมไม่นาน และมีบางส่วนหันมาปลูกข้าวที่สามารถเก็บเกี่ยวได้ในเวลาเพียง 75-80 วัน จากปกติที่ต้องปลูก 120 วัน ซึ่งเป็นข้าวที่ไว้ปลูกหนีน้ำ และมีคุณภาพต่ำกว่าปกติแทน เพราะจะได้รอบมากขึ้น

“ตลาดพรีเมียม หรือติดที่ว่าต้องรับประทานแต่ข้าวไทยเท่านั้น มีเพียงแค่หยิบมือเดียว และส่วนใหญ่จะเป็นตลาดของข้าวหอมมะลิ ซึ่งนับวันจะลดลง เนื่องจากประเทศอื่นพัฒนาคุณภาพของข้าว และราคาถูกกว่ามาก อย่างข้าวหอมมะลิไทยอยู่ที่ 1,100 เหรียญสหรัฐต่อตัน เวียดนามอยู่ที่ 600 เหรียญสหรัฐต่อตัน ด้านข้าวขาว และข้าวนึ่งไม่มีการแบ่งแบรนด์ หรือสู้กันด้านคุณภาพไม่มากเท่าไร”

ขณะที่ประเทศคู่แข่งต่างออกมาแสดงจุดยืน และเดินหน้าพัฒนาพันธุ์ข้าว เพื่อใช้แย่งส่วนแบ่งจากไทย อย่างเวียดนามได้ส่งเสริมให้มีการทำวิจัย พม่าต้องการกลับมาทวงตำแหน่งผู้ส่งออกข้าวที่เคยเป็นที่ 1 ในอีก 2-3 ปีข้างหน้า และเปิดโอกาสให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในด้านการเกษตรได้ เหมือนกับกัมพูชาที่ส่งเสริมให้เกิดการลงทุน พร้อมวางเป้าหมายในปี 2015 จะส่งออกให้ได้ 1 ล้านตัน

ระบบตลาดข้าวไทยล่ม-รัฐผูกขาด
ระบายสต๊อกข้าวไม่ทันขาดทุนมหาศาล
 

นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ส่งออกข้าว วิเคราะห์ผลจากโครงการจำนำต่อว่า หากภาครัฐยังคงใช้ระบบจำนำข้าวต่อไป ข้าวที่อยู่ในสต๊อก และงบประมาณที่ใช้ก็จะทบไปเรื่อยๆ ตามรอบของการทำนา อย่างอีกไม่นานก็จะถึงช่วงเก็บเกี่ยวนาปี ขณะที่การระบายข้าวของภาครัฐยังไม่เห็นชัดเจนนัก ถือว่าน้อยอยู่มาก และสุดท้ายงบประมาณจะหมด ไม่มีที่เก็บข้าว และหากขายในตอนที่ข้าวมีคุณภาพต่ำลงก็จะต้องขายในราคาที่ขาดทุนมหาศาล ขณะที่ชาวต่างชาติมองแล้วว่าไทยมีสต๊อกข้าวจำนวนมาก และต้องระบายออกมาในที่สุด จึงอาจรอเวลานั้น

ผลจากการจำนำข้าวสะท้อนออกมาจากการที่ ธ.ก.ส.เริ่มออกมาให้ข่าวว่า หากรัฐบาลจะดำเนินโครงการรับจำนำข้าวนาปีทุกเม็ดรอบใหม่ ที่จะเริ่มในเดือนตุลาคม 2555 นั้น จะเกินขีดความสามารถของ ธ.ก.ส. ที่จะระดมเงินมาใช้

อย่างไรก็ตาม การที่ผู้ส่งออกจะรวมตัว เพื่อเสนอแนวทางการแก้ปัญหายอดการส่งออกที่ลดลงนั้น ก็อาจมีเสียงไม่เพียงพอ เนื่องจากเป็นเพียงเอกชนกลุ่มเดียว และมักจะถูกมองในทางลบ ด้านโรงสี และเกษตรกรจะได้ราคาดีจากการจำนำข้าว เนื่องจากรัฐบาลรับซื้อทั้งหมดในราคาสูง จึงอาจไม่ขับเคลื่อนในทิศทางเดียวกัน ทั้งนี้ในระยะยาวจะส่งผลให้ระบบตลาดล่มสลาย เนื่องจากรัฐเข้ามาเป็นเจ้ามือเพียงรายเดียว ผู้ประกอบการไม่สามารถซื้อได้ในราคานี้

ทั้งๆ ที่หากดูจากภาพรวมของยอดขายข้าวในช่วงธันวาคม 2554 ที่ลดลงกว่า 60% เมื่อเทียบจากปีที่ผ่านมา และตลาดข้าวที่เสียไปนั้น เป็นเรื่องน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง และไม่มีทางออก ราคาปัจจุบันจะไม่สามารถนำมาแข่งกับคู่แข่งได้ และการที่จะมุ่งไปที่ตลาดพรีเมียมเพียงอย่างเดียวนั้น ถือว่าเป็นตลาดที่เล็กมาก และเมื่อเทียบกับปริมาณข้าวที่ไทยต้องการส่งออกก็ไม่อาจทดแทนได้ ทั้งนี้อยากให้มองภาพรวมทั้งระบบ และมองการณ์ไกล

ผล ‘จำนำข้าว’ บีบผู้ส่งออก
ช่วยต่างชาติทำตลาด

ส่วนการปรับตัวของผู้ส่งออกข้าว หากรัฐบาลยืนกรานจะเดินหน้าโครงการจำนำต่อ ก็อาจออกมาในรูปแบบของการนำข้าวต่างประเทศ อาทิ เวียดนาม กัมพูชา เขมร พม่า ฯลฯ มาขายแทนข้าวไทย เนื่องจากผู้ซื้อไม่มีกำลังทรัพย์ในการซื้อข้าวในราคาสูง แต่ผู้ส่งออกข้าวไทยก็ต้องรักษาลูกค้าที่สั่งสมไว้ ดีกว่าจะปล่อยให้ลูกค้าไปซื้อจากเจ้าอื่นแทน หรืออาจต้องเข้าไปลงทุนยังประเทศอื่น ซึ่งมองว่าการจำนำข้าวในราคาสูงเหมือนเป็นการผลักให้ผู้ส่งออกไทยไปลงทุนยังประเทศเพื่อนบ้าน หรือไปทำตลาด ไปสร้างความเชื่อมั่นในคุณภาพข้าวให้แก่ประเทศอื่นแทน ส่วนผู้ประกอบการที่มีสายป่านไม่มากก็อาจต้องปิดตัวลง

“เมื่อผู้บริโภคข้าวได้ลองรับประทานข้าวจากประเทศอื่นแล้ว แม้คุณภาพจะสู้ประเทศไทยไม่ได้ แต่เนื่องจากสู้ราคาไม่ไหว ก็หันไปซื้อข้าวประเทศอื่น จะส่งผลในระยะยาวให้เกิดความเคยชิน และจะกลับมารับประทานข้าวไทยยากขึ้น แค่ 6 เดือนก็อาจไปติดที่อื่นได้เลย อาทิ ภัตตาคารในฮ่องกง, โรงแรมต่างประเทศที่ต้องใช้ข้าวเป็นจำนวนมาก”

หากต้องการแก้ปัญหาโดยการส่งเสริมให้เกษตรกร ชาวนาหันไปปลูกพืชเศรษฐกิจอย่างอื่นแทนนั้น มองว่าเป็นเรื่องยาก เนื่องจากคนไทยมีวัฒนธรรม ประเพณีการปลูกข้าวมาแต่ในอดีต การจะเปลี่ยนพฤติกรรม และความเชื่อเป็นเรื่องยาก แต่ก็มีบ้างที่หันไปปลูกพืชอย่างอื่นแทน แต่ไม่ทั้งหมด ส่วนการที่จะส่งเสริมให้ไทยเป็นฮับในการส่งออกข้าว หรือนำข้าวจากประเทศเพื่อนบ้านไปขายนั้นก็เป็นเรื่องที่ทำได้บ้างในบางพื้นที่ อย่างพื้นที่ชายแดนเขมรที่มีการลักลอบนำเข้ามาบ้าง แต่อย่างเวียดนามขณะนี้มีความชำนาญในหลายด้าน ไม่จำเป็นต้องผ่านไทยเพื่อให้เสียราคา


ชาวนาหันไปปลูกพืชเศรษฐกิจแทน

 

นายชาญชัย รักษ์ธนานนท์ นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย มองทิศทางข้าวไทยว่าจะลดลงเรื่อยๆ เนื่องจากเกษตรกรหันไปปลูกพืชเศรษฐกิจอื่นที่ได้ราคาดีกว่า อย่าง อ้อย, ยางพารา, ข้าวโพด, มันสำปะหลัง เนื่องจากเมื่อเทียบผลผลิตและต้นทุนต่อไร่ที่สามารถเก็บเกี่ยวได้ถือว่าคุ้มกว่าปลูกข้าว อาทิ อ้อย ลงทุนรอบเดียวสามารถเก็บเกี่ยวได้มากถึง 2-3 รอบเลย ส่วนข้าวเป็นพืชที่มีความเสี่ยงสูง ทั้งเรื่องน้ำมาก และน้ำแล้ง นับวันจะลดลงกว่า 10% มากว่า 6 ปีแล้วในภาคอีสาน เมื่อดูจากการกรีดยางพารา

สำหรับความต้องการข้าวในตลาดโลกถือว่ายังมีความต้องการที่มาก โดยเฉพาะเมื่อดูจากภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นจากประเทศใหญ่ อย่างประเทศจีน และอเมริกา ก็จะส่งผลให้ราคาพืชและข้าวสูงขึ้น ขณะที่ประเทศคู่แข่งอย่างเวียดนามมีขีดความสามารถในการส่งออกได้ไม่เกิน 4-4.5 ล้านตัน และในหลายประเทศมีพื้นที่ที่ไม่สามารถขยายได้มากไปกว่านี้แล้ว ขณะที่ประเทศไทยมีเทคโนโลยีที่ดีกว่า แม้ต้นทุนเรื่องค่าแรงจะสูงกว่า แต่เมื่อนำมาทดแทนการใช้แรงงานก็จะถือว่าไม่ต่างกันมาก

ส่วนต้นทุนที่ไทยเสียเปรียบคู่แข่งก็คือ 1. ชาวนาเช่าพื้นที่เพาะปลูกกว่า 70% ราคาประมาณ 1,000-1,500 บาทต่อไร่ต่อรอบ 2. การชลประทานที่ไม่ทั่วถึง มีเพียง 20 กว่าเปอร์เซ็นต์เท่านั้น ขณะที่เวียดนามมีกว่า 80% ซึ่งทั้ง 2 เรื่องนี้ ภาครัฐควรเข้ามาดูแล ก็จะเป็นการเพิ่มผลผลิตได้เท่าตัว และลดต้นทุนได้เป็นอย่างมาก

“ผลผลิตทางการเกษตรประเทศไทยจะได้รับประโยชน์มากถึง 80% ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมไทยได้ประโยชน์จริงๆ เพียง 20% จึงอยากให้ความสำคัญต่อภาคการเกษตรมากยิ่งขึ้น”

ไทยศูนย์คลังสำรองข้าวของโลก
 

นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย เล่าต่อว่า ไทยจะก้าวเป็นคลังสำรองข้าวของโลก เพื่อดูแลความมั่นคงด้านอาหาร มีหน้าที่เป็นผู้ดูแล และเก็บข้าวให้แก่ทั่วโลก ไม่ว่าจะซื้อข้าวมาจากประเทศไหน ประเทศไทยก็จะเป็นผู้ดูแลให้ เพียงแค่จ่ายค่าจัดการเท่านั้น ก็จะไม่ขาดแคลนอาหาร เนื่องจากเรามองเห็นช่องทางว่าหลายประเทศประสบปัญหาในด้านนี้ อาทิ ฟิลิปปินส์เป็นผู้นำเข้าข้าวรายใหญ่ และเมื่อเกิดความร่วมมือระหว่างไทยกับอาเซียน โดยเฉพาะเมื่อเปิด AEC ก็จะก้าวเป็นศูนย์กลางการส่งออกข้าว, การจัดระเบียบทางการค้า, การทำตลาดร่วมกัน และการกำหนดราคาอย่างเป็นธรรม

อย่างไรก็ตาม การปรับสมดุลการเพาะปลูกในประเทศก็เป็นสิ่งสำคัญ หากมีการเพาะปลูกมาก หรือมีปริมาณข้าวในตลาดมาก ก็อาจส่งเสริมให้ปลูกพืชประเภทอื่นแทน อาทิ ผลไม้ เพราะการจะให้ชาวนาขายข้าวในราคาถูก ขาดทุน หรือลดคุณภาพแข่ง ก็ไม่ใช่ทางออกที่ถูกต้อง ทั้งนี้ กระบวนการในการดูแลต้องโปร่งใส และเป็นธรรม ก็จะลดการขาดทุนได้อย่างมหาศาล


ภาครัฐฯเดินหน้าร่วมมือค้าข้าว
โมเดลเดียวกับยางพารา

นางนารีณัฐ รุณภัย รองเลขาธิการและโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2551 ที่ราคาข้าวในตลาดโลกสูงขึ้น ส่งผลให้หลายประเทศส่งเสริมให้มีการผลิตพืชเกษตร และปลูกข้าวในประเทศมากขึ้น เพื่อความมั่นคงทางอาหาร อาทิ บรูไน และอินโดนีเซีย แต่ก็ยังคงมีหลายประเทศต้องนำเข้าข้าวอยู่ เพราะปริมาณการปลูกยังไม่เพียงพอต่อการบริโภคในประเทศ อย่างในเอเชีย ประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ จะนำเข้าข้าวเป็นส่วนใหญ่ แต่จะเน้นซื้อข้าวในราคาไม่สูง ซึ่งมักนำเข้าจากเวียดนาม ส่วนข้าวไทยที่มีราคาสูงกว่าประเทศอื่นอยู่ขณะนี้ จะส่งขายยังสิงคโปร์ ฮ่องกงมากกว่า

อย่างไรก็ตาม ปีนี้แนวโน้มการส่งออกข้าวถือว่าลดลง เมื่อดูจาก 5 เดือนที่ผ่านมา อาจทำให้ภาพรวมในปีนี้ไทยต้องเสียแชมป์การส่งออกข้าว ซึ่งขณะนี้กระทรวงพาณิชย์เร่งหาตลาดส่งออกข้าวอยู่ และจะส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือระหว่างกันในอาเซียน เนื่องจากในปี 2015 จะรวมตัวเป็นตลาดเดียวกัน การขายข้าวก็จะมีการร่วมมือ ตกลงระหว่างกัน ให้อยู่ในทิศทางเดียวกัน อาทิ ลดการส่งออก, การบริหารจัดการสต๊อกข้าว ฯลฯ เหมือนกับความร่วมมือในด้านยางพาราที่มีไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย เป็นผู้ขายรายใหญ่ในอาเซียน
กำลังโหลดความคิดเห็น