xs
xsm
sm
md
lg

กับดัก ‘ศุกร์ 13’ ล้มกระดานแก้ รธน. เพื่อไทย-เสื้อแดงเหมือนจะชนะแต่แพ้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กลุ่มเสื้อแดงปทุมธานีบุกประท้วงหน้าศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 16 ก.ค. ที่ผ่านมา (ภาพจากเว็บไซต์โพสต์ทูเดย์)
ASTVผู้จัดการออนไลน์ - การผูกเงื่อนปมในคำวินิจฉัยของศาลฯ ส่งผลต่อแผนการแก้ไข รธน.เสมือนถูกบังคับให้เดินเข้าสู่กับดักล้มกระดาน เพราะคำชี้แนะของศาลหากจะแก้ทั้งฉบับควรทำประชามติก่อนเป็นไปได้ยากที่เพื่อไทยจะได้เสียงหนุนท่วมท้น แต่หากถอยกลับแก้รายมาตราเจอเกม ปชป.ตีรวนบวกมวลชนนอกสภาปลุกม็อบต้านลากยาวแน่ เสียงเฮของเสื้อแดง-เพื่อไทยหลังคำวินิจฉัยที่เหมือนจะชนะ แต่แท้จริงกลับพ่ายแพ้

คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันศุกร์ที่ 13 ก.ค.ที่ผ่านมา เรียกเสียงเฮจากคนเสื้อแดงและพลพรรคเพื่อไทยรวมถึงฝ่ายสนับสนุนถ้วนหน้า เพราะว่าศาล “ยกคำร้อง” เนื่องจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามมาตรา 291 ซึ่งนำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ไม่เป็นการกระทำที่ต้องห้ามตามมาตรา 68 ที่จะล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

แต่ก็ใช่ว่าพรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาลจะสามารถเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญได้อย่างปลอดโปร่ง แม้ศาลจะไม่ได้ห้ามการลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 วาระ 3 แต่เพราะ “คำแนะนำ” ของศาลรัฐธรรมนูญที่ว่าหากต้องการแก้ทั้งฉบับ “ควร” ทำประชามติ นั้นทำให้กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นอันต้องหยุดชะงักโดยปริยาย และหนทางข้างหน้าอาจมีสภาพไม่ต่างจากการถูกล้มกระดาน ไม่ว่าจะเดินหน้า ถอยหลัง ก็ล้วนแต่มีอุปสรรคขวากหนาม

เวลานี้ ฝ่ายผู้ถูกร้อง คือพรรคเพื่อไทย รัฐบาล รัฐสภา รวมถึงกลุ่มคนเสื้อแดง ฐานมวลชนของพรรคเพื่อไทยต่างคร่ำเคร่งอยู่กับการตีความคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเพื่อหาช่องทางแก้รัฐธรรมนูญให้สำเร็จ โดยเฉพาะกลุ่มคนเสื้อแดงซึ่งยอมรับไม่ได้กับ “ผลไม้พิษ” ที่เกิดจากต้นไม้ที่มีพิษ จำต้องโค่นล้มให้ได้

กล่าวสำหรับฟากรัฐบาลนั้น นายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร บอกชัดเจนว่า ต้องรอการตีความของคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อวางหลักปฏิบัติก่อนเดินหน้า ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกาขอให้รัฐบาลรอคำวินิจฉัยส่วนตัวและส่วนกลางของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญให้ชัดเจนเสียก่อนค่อยดำเนินการใดๆ

ส่วนพรรคเพื่อไทย กำลังชั่งใจอยู่ระหว่าง หนึ่ง เดินหน้าลงมติแก้ไขมาตรา 291 ในวาระ 3 ให้รู้แล้วรู้รอดกันไป เพราะศาลฯ ไม่ได้ห้ามชัดๆ แต่อย่างใด กับ สอง ถอนวาระสาม แล้วเสนอยกร่างใหม่แก้ไขรายมาตรา เพื่อเลี่ยงการทำประชามติตามคำแนะนำของศาลฯ

ขณะที่พรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งท่องคาถาปลอดภัยไว้ก่อน ขอให้ทำประชามติเสียก่อนค่อยเดินหน้าลงมติในวาระ 3

ส่วนท่าทีของรัฐสภา ต้องรอการประชุมร่วมเสียก่อน อย่างไรก็ตาม สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา มีความเห็นว่า ทางออกที่ดีที่สุดไม่ก่อให้เกิดปัญหาและความยุ่งยาก คือให้ ส.ส. และ ส.ว.ยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่เป็นรายมาตรา

แต่สำหรับกลุ่มคนเสื้อแดง ฮาร์ดคอร์ที่เล่นบทเผาบ้านเผาเมืองมาก่อน ออกโรงหนุนให้เดินหน้าลงมติวาระ 3 ต่อทันที

อาจสรุปได้ว่า ทางเลือกหลังคำวินิจฉัยของศาลฯ มีอยู่ 3 แนวทาง คือ 1) เดินหน้าลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ในวาระ 3 ต่อไป 2) ถอนมติแล้วยกร่างแก้ไขใหม่เป็นรายมาตรา และ 3) ทำประชามติก่อนและหลังลงมติวาระ 3

บนทางสามแพร่งนี้ ขึ้นอยู่กับว่าฝ่ายผู้ถูกร้องจะเลือกเดินเส้นทางไหน และประเมินผลได้ผลเสียอย่างไร

หากเลือกทางแรก เดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ตามเสียงเรียกร้องของกลุ่มคนเสื้อแดง ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก จาตุรนต์ ฉายแสง หนึ่งในทีมยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย ขบวนที่ต่อต้านอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ และโจมตีมาอย่างต่อเนื่อง นับแต่ศาลฯ รับคำร้องของฝ่ายผู้ร้อง เรื่อยมาจนถึงคำวินิจฉัยว่า ศาลฯ มีอำนาจรับพิจารณาคดี เชื่อขนมกินได้เลยว่าจะเกิดความวุ่นวายตามมา ดังที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ส่งเสียงเตือนว่า หากดึงดันเลือกทางนี้ไม่พ้นที่จะมีคนไปร้องต่อศาลฯ อีก และคราวนี้สุ่มเสี่ยงต่อการถูกยุบพรรคอย่างยิ่ง

ที่สำคัญ ต้องไม่ลืมว่ากลุ่มพันธมิตรฯ ได้ยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญฯ ร้อง ส.ส.-ส.ว. 416 คน หนุนแก้รัฐธรรมนูญฯ เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง ซึ่งศาลฯ ได้ให้ผู้ถูกร้องทำหนังสือชี้แจงต่อศาล แม้ว่าศาลฯ จะมีคำวินิจฉัย 5 คำร้องเรียนไปเมื่อวันศุกร์ที่ 13 ก.ค. ที่ผ่านมาแล้ว แต่ถือว่าเป็นคนละกรณีกัน

หากเลือกทางที่สอง ถอนวาระ 3 แล้วเสนอชื่อยกร่างใหม่แก้ไขเป็นรายมาตรา ซึ่งเป็นแนวทางที่หลายฝ่ายสนับสนุน เพราะสามารถเลี่ยงทำประชามติตามคำแนะนำของศาลฯ แต่การแก้ไขรายมาตราจะมีปัญหาว่าต้องใช้เวลามากขึ้น และมีสิทธิ์ที่จะถูกลากเกมจากการตีรวนของฝ่ายค้านและต้องผ่านกระบวนการแก้ไขหลายขั้นตอน แม้ว่าพรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาลจะกุมเสียงข้างมากในสภาก็ตาม

ไม่นับว่า แม้จะถอยกลับมาแก้ไขรายมาตรา จะไม่ถูกมวลชนนอกสภา เช่น กลุ่มคนเสื้อหลากสี หรือกลุ่มพันธมิตรฯ เคลื่อนไหวคัดค้านกดดัน โดยเฉพาะการแก้ไขมาตราที่ลดทอนอำนาจศาล รวมทั้งการล้างความผิดให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี

หากถามใจ “นายใหญ่” ในต่างแดน ทางเลือกนี้แม้จะเป็นทางเลือกที่ดี ประนีประนอมที่สุด แต่ใช้เวลามากที่สุด ไม่ทันใจคนไกลที่เฝ้ารอความหวังกลับบ้าน

ส่วนทางเลือกสาม ที่ต้องทำประชามติตามคำแนะนำของศาล ปัญหาที่ยังไม่ชัดคือ ทำก่อนลงมติแก้ไขมาตรา 291 วาระที่ 3 หรือทำหลังจากลงมติแก้ไขเสร็จแล้ว อีกทั้งการทำประชามติยังมีกระบวนการที่ยุ่งยาก สิ้นเปลืองงบประมาณ ที่ต้องใช้เงินไม่น้อยกว่า 2,000 ล้านบาท

นอกจากนั้น การทำประชามติ ทางฝ่ายกฎหมายของพรรคเพื่อไทยชี้ว่าต้องใช้เสียงสนับสนุนมากถึง 21 ล้านเสียง ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากที่จะได้เสียงสนับสนุนมากขนาดนั้น เพราะคะแนนเสียงหนุนเพื่อไทยจริงๆ แล้วมีเพียง 15 ล้านเสียงเท่านั้น แม้ช่วงคะแนนนิยมสูงสุดยังมีเพียง 19 ล้านเสียง โอกาสที่จะผ่านประชามติ 21 ล้านเสียงตามมาตรา 165 ของรัฐธรรมนูญ จึงยาก

อย่างไรก็ตาม การทำประชามติยังมีความเห็นไม่ต้องตรงกัน เพราะฝ่ายคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เห็นว่าหากจะทำประชามติ ต้องกลับไปแก้ไขมาตรา 291 เพิ่มกระบวนการทำประชามติและให้ กกต.เป็นผู้ดำเนินการเสียก่อน ส่วนมาตรา 165 นั้นเป็นการทำประชามติในเรื่องการบริหารประเทศของคณะรัฐบาล

หลังสิ้นเสียงวินิจฉัยคดีของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไม่นาน เสียงเฮค่อยๆ เงียบหาย เสียงเกรี้ยวกราดค่อยๆ ดังขึ้นๆ เพราะฝ่ายผู้ถูกร้องเพิ่งรู้ตัวว่าถูกต้อนเข้าสู่กับดัก ความยินดีปรีดาที่คิดว่าชนะแล้ว...แท้จริงกลับพ่ายแพ้
แม้วฉีก รธน.ไม่ได้-ถดถอยคุมเกมลำบาก!!
แม้วฉีก รธน.ไม่ได้-ถดถอยคุมเกมลำบาก!!
หากพิจารณากันเฉพาะหน้าตรงนี้ทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญในอนาคตจะมีอุปสรรคมากขึ้น นั่นคือจะไม่เป็นผลบวกเฉพาะ ทักษิณ เมื่อโอกาสริบหรี่มันก็เป็นไปได้ว่าจะหันหัวเรือมาที่การเสนอร่างพระราชบัญญัติลบล้างความผิด(ชื่อปรองดองตบตา) อีกรอบ ซึ่งสาระสำคัญก็ไม่ต่างจากการยกเลิกรัฐธรรมนูญมาตรา 309 นั่นแหละ แต่การเสนอพระราชบัญญัติมันง่ายกว่าใช้แค่เสียงข้างมากก็ทำได้แล้ว ที่สำคัญรวบรัดได้ทันใจ และที่น่าจับตาก็คือร่างกฎหมายดังกล่าวยังคาอยู่ในวาระด่วนอันดับแรก เมื่อสภาเปิดประชุมก็สามารถหยิบขึ้นมาพิจารณาทันทีก็ได้
กำลังโหลดความคิดเห็น