xs
xsm
sm
md
lg

“เอา-ไม่เอา” นาซา! พิสูจน์ ‘ยิ่งลักษณ์’เพื่อชาติฤาพวกพ้อง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เครื่องบินอีอาร์-2 (ภาพจากอินเทอร์เน็ต)
“เอา-ไม่เอา” นาซาสำรวจชั้นบรรยากาศไทย รวมความคิด 2 ฝ่ายสังคมหนุน-ต้าน ฝ่ายหนุนเห็นว่างานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์สำคัญ ขณะที่ฝ่ายต้านห่วงผลประโยชน์ทับซ้อนและปัญหาตกเป็นเบี้ยความมั่นคง “สหรัฐฯ-จีน” ด้านนักวิชาการความมั่นคงเชื่อโครงการด้านวิทยาศาสตร์ดี แต่หนีความกังวลเรื่องความมั่นคงไม่ได้ แนะ “ยิ่งลักษณ์” ใช้ฝีมือทางการทูต พร้อมจี้รัฐบาลชี้แจงให้ชัดโครงการตั้งศูนย์ผู้ประสบภัยที่จะมีทหารสหรัฐฯ เข้ามาเกี่ยว

     ถึงแม้ว่า อัชพร จารุจินดา เลขาธิการกฤษฎีกา จะกล่าวเปิดช่องให้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร สามารถที่จะพิจารณาเรื่องที่องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐฯ หรือนาซา ขอใช้สนามบินอู่ตะเภา เพื่อขอจอดอากาศยานขึ้นบินเพื่อสำรวจสภาพชั้นบรรยากาศ โดยการพิจารณาของที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้เลย เพราะงานวิจัยด้านวิชาการจะไม่เข้าข่ายกฎเกณฑ์ของรัฐธรรมนูญมาตรา 190 วรรค 2 ที่จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับความมั่นคงและต้องผ่านที่ประชุมของรัฐสภา
แต่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันที่ 26 มิ.ย.ที่ผ่านมา รัฐบาลกลับไม่กล้าที่จะเดินหน้าชนกระแสสังคมที่ต่อต้านอย่างรุนแรง และเลือกที่จะลดกระแสด้วยการที่ ครม. มีมติให้เปิดประชุมสภาฯ สมัยวิสามัญ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 179 เพื่อเปิดอภิปรายทั่วไปในที่ประชุมร่วมเพื่อให้ที่ประชุมรัฐสภาอภิปรายแสดงความคิดเห็นดังกล่าวแทน
     จึงเป็นการชัดเจนแล้วว่าโครงการศึกษาว่าด้วยการก่อตัวของเมฆที่อาจมีผลกระทบต่อสภาพอากาศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ SEAC4RS (Southeast Composition,Cloud,Climate Coupling Regional Study) ครั้งนี้ที่นาซาต้องการคำตอบของไทยภายในสิ้นเดือนมิถุนายนนี้ เพื่อมาทำโครงการในช่วงมรสุมคือเดือนสิงหาคม-กันยายน พ.ศ. 2555 ไม่น่าจะทันและอาจต้องเลื่อนโครงการเป็นปีหน้า
     อย่างไรก็ดี ในช่วง 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่าได้มีผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ออกมาแสดงความเห็นในเรื่องนี้เป็น 2 ฝ่ายอย่างชัดเจน โดยทั้งฝ่ายสนับสนุนและคัดค้าน ต่างมีหลักการและเหตุผลมาสนับสนุน
     สิ่งที่สำคัญที่สุดการกระทำใดๆ ของรัฐบาลจะต้องไม่ทำให้อธิปไตยของไทยต้องถูกคุกคามเพียงเพื่อผลประโยชน์ของคนเพียงกลุ่มเดียว
     ทีมข่าว 'Special Scoop' ได้รวบรวมประเด็นดังกล่าวมานำเสนอให้สังคมได้ตระหนักและเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินเรื่องนี้เพราะประชาชนคนไทยทุกคนคือเจ้าของอธิปไตยอย่างแท้จริง

นักวิทยาศาสตร์ตบเท้าหนุนนาซา
     โดยฝ่ายที่เห็นประโยชน์จากการเข้าสำรวจครั้งนี้ เริ่มเป็นที่สนใจอย่างมากหลังจากนักวิทยาศาสตร์ชื่อดังอย่าง ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา นักวิทยาศาสตร์ผู้เคยมีส่วนร่วมในโครงการอวกาศไวกิ้งขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (National Aeronautic and Space Administration - NASA) ออกมาการันตีว่าโครงการนี้เป็นโครงการที่ดี โดยมองว่าโครงการนี้จะช่วยในเรื่องการวางแผนการรับมือจากภัยพิบัติทางธรรมชาติได้ เนื่องจากนาซาเข้ามาศึกษาเรื่องดิน ฟ้า อากาศ และชั้นบรรยากาศ
     อีกทั้งยังจะได้ข้อมูลจากทางนาซาอีกมาก อาทิ ข้อมูลพายุสุริยะสามารถนำมาคาดการณ์การเกิดแผ่นดินไหว ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยสามารถนำมาวางแผนรับมือได้ หรือหากมีความเข้าใจข้อมูลก็จะสามารถช่วยในเรื่องของน้ำท่วมได้เป็นอย่างดี
   ขณะที่จุฬาลงกรณ์ม  หาวิทยาลัย ได้จัดเสวนาเรื่องนี้ในวันที่ 25 มิถุนายน 2555 โดยมีนักวิชาการจาก 3 สถาบันออกมาแสดงจุดยืนผ่านการจัดเสวนา “นาซาจะมาทำอะไรที่อู่ตะเภา” โดยคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
     โดยนักวิทยาศาสตร์จาก 3 สถาบันเห็นด้วยที่จะให้นาซาเข้ามาใช้อู่ตะเภาเพื่อสำรวจชั้นบรรยากาศ
     เริ่มจาก รศ.ดร.เสริม จันทร์ฉาย จากภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้มีประสบการณ์วิจัยละอองลอย (aerosol) กว่า 10 ปี และได้ประสานงานกับองค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) ในการศึกษาชั้นบรรยากาศมาหลายครั้ง
เขาเชื่อว่าโครงการดังกล่าวจะสร้างประโยชน์ให้แก่ประเทศไทยในด้านการศึกษาสภาพฝุ่นละอองในอากาศ เนื่องจากละลองลอยหรือฝุ่นละอองนั้นมีผลกระทบทางบรรยากาศ ต่อภูมิอากาศโลกเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีพฤติกรรม “ชอบเผา”
     ในการทำข้อมูลครั้งนี้ประเทศไทยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเอง และปกติก็ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก สำหรับการขึ้นบินแต่ละครั้งคือประมาณ 45 ล้านบาท ทั้งยังต้องใช้อุปกรณ์ที่มีราคาสูง ถือว่าโครงการนี้จะเป็นประโยชน์กับประเทศไทย อีกทั้งยังมองว่าเป็นโครงการที่มีความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้
     ส่วน ดร.นริศรา ทองบุญชู จากภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ผู้มีประสบการณ์ร่วมบินกับนาซาเพื่อเก็บตัวอย่างชั้นบรรยากาศในปี 2544 และ 2548 กล่าวว่าจากการศึกษาของนาซาจะทำให้เราทราบถึงกลไกการกระจายตัวของฝุ่นละออง ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อภัยแล้งหรือน้ำท่วม หากยังไม่มีการศึกษาก็อาจส่งผลกระทบให้เกิดความเสียหายรุนแรงก็เป็นได้
     อีกทั้งยังนำข้อมูลเหล่านั้นมาใช้ในการจัดการสภาพอากาศของเขตอุตสาหกรรมแหลมฉบังและมาบตาพุด ทั้งยังเป็นโอกาสที่นักวิจัยรุ่นใหม่จะได้รับประสบการณ์ระดับโลก
     ขณะที่ บุศราศิริ ธนะ อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า สาเหตุที่นาซาเข้ามาศึกษาในช่วงนี้เพราะไทยอยู่ระหว่างได้รับอิทธิพลมรสุมตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นสภาพอากาศที่เหมาะสมในการตรวจ และฝุ่นควันที่ลอยในอากาศหรือละอองลอยที่ลอยไปในอากาศหลายๆ แห่งจะคาดการณ์ก๊าซเรือนกระจกได้ตรงกับความจริงที่สุด ทั้งนี้ในภูมิภาคเอเชียจะมีฝุ่นละอองอยู่3-4ประเภท ที่เรียกว่าละอองลอย ประกอบด้วย
     1.ละอองเกลือที่เกิดจากทะเล 2.ละอองที่เกิดจากทราย 3.ละอองที่เกิดจากการเผาไหม้ ซึ่งการตรวจของนาซาในครั้งนี้จะทำให้เราสามารถทราบขนาดของละอองลอยที่ก่อตัวเป็นก้อนเมฆ และเมฆที่เกิดขึ้นแต่ละก้อนจะทำให้เกิดเป็นฝนหรือไม่ หรือจะเป็นลูกเห็บ ถ้าโครงการนี้สามารถดำเนินการได้ก็จะดีในแง่อุตุนิยมวิทยาสามารถพยากรณ์อากาศได้อย่างแม่นยำ
     นักวิทยาศาสตร์อีกคนหนึ่งที่ออกมาแสดงความคิดเห็นในช่วงนี้ด้วยคือ ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผอ.สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือ สทอภ.หรือจิสด้า กล่าวว่า ประเทศไทยยังไม่สามารถเก็บข้อมูลในลักษณะนี้ได้ และไม่มีเครื่องมือที่มีศักยภาพเพียงพอ เป็นโอกาสที่จะได้ข้อมูล และได้ทำงานร่วมกับนักวิชาการระดับนานาชาติ
     ขณะที่สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของภาคประชาชนต่อเรื่องนี้เช่นกัน โดยผลสำรวจออกมาว่า ประชาชนร้อยละ 63.5 เห็นว่าควรที่จะให้นาซาเข้ามาใช้สนามบินอู่ตะเภา และช่วยศึกษาด้านการก่อตัวของชั้นบรรยากาศโลก ขณะที่ร้อยละ 36.5 ไม่เห็นด้วย

ปชป.ค้านหัวชนฝา-เชื่อทักษิณเอี่ยวผลปย.
     ส่วนฝ่ายไม่เห็นด้วยที่โดดเด่นยังเป็นพรรคประชาธิปัตย์ ที่แม้ว่า กษิต ภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจะยืนยันว่า รัฐบาลสมัยพรรคประชาธิปัตย์เองก็เป็นคนสนับสนุนเรื่องนี้ ในที่ประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน แต่พรรคประชาธิปัตย์ก็ยังยืนยันที่จะปฏิเสธ และคัดค้านประเด็นดังกล่าวอย่างถึงที่สุด
     โดย ชวนนท์ อินทรโกมาสุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และมัลลิกา บุญมีตระกูล รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ได้เป็นผู้ที่ติดตามเรื่องนี้ และแถลงการณ์เรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง โดยเสนอให้ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรตอบคำถาม 5 ประเด็น ได้แก่
     1.ทำไมต้นเรื่องเข้า ครม.จึงเป็นนายปึ้ง-สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รมว.การต่างประเทศ ทั้งๆ ที่เจ้าภาพคือ กระทรวงวิทยาศาสตร์ และส่งเรื่องเร่งรัดเข้าจ่อ ครม.เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2555 เพื่อเอาเข้าอนุมัติ 12 มิถุนายน 2555 แล้วจากนั้นเมื่อมีผู้ท้วงติงเหตุใดจึงเปลี่ยนซีนมาเป็น GISTDA กับปลอดประสพ จากกระทรวงวิทยาศาสตร์
     2.ทำไมต้องมีบริษัทพลังงาน น้ำมัน ร่วมขบวนอยู่อย่างพิรุธ ซึ่งในแผนปฏิบัติการเหล่านี้ออกมาตั้งแต่เมื่อใด ใครดำเนินการแทรกเข้าไป นักวิทยาศาสตร์รู้ไหม GISTDA รู้หรือไม่
     3.เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวพันไทย สหรัฐอเมริกา เพื่อนบ้าน และจีน เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ และความมั่นคง คุณจะปฏิเสธไหม
     4.สหรัฐฯ ยืนยันเป็นลายลักษณ์อักษรว่า “จะดำเนินการตามกฎหมายไทยอย่างเคร่งครัด” เขาเคารพกฎหมายไทย แต่รัฐบาลไทยเคารพอธิปไตยและกฎหมายชาติตัวเองหรือไม่ และ
     5.นายกรัฐมนตรีควรไปค้นอ่านบันทึกที่ “วิเทศสโมสร กระทรวงการต่างประเทศ เวลา 10.00-12.30 น. เหตุการณ์วันที่ 27 พ.ค. 2555” เรื่องที่นาซาก็ตอบไม่ได้ โดยตัวแทนนาซาคือ Dr. Hal Maring ถึงกับอึ้งและตอบคำถามผู้อำนวยการสำนักยุทธศาสตร์ความมั่นคงระหว่างประเทศ สภาความมั่นคงแห่งชาติ ไม่ได้ และไม่เคยตอบมาจนบัดนี้ใช่หรือไม่ ต่อคำถามที่ว่าเหตุใดการสำรวจเมฆจึงมีบริษัทด้านพลังงานธุรกิจสัมปทานน้ำมัน-พลังงานอันดับ 3 ของโลก (เชฟรอน) ร่วมขบวนอยู่ด้วย
     โดยพรรคประชาธิปัตย์ยังตั้งข้อสงสัยถึงการเร่งรัดในการพิจารณาเรื่องดังกล่าว โดยมองว่าประเด็นนี้น่าจะมีเบื้องหลังเกี่ยวกับผลประโยชน์ด้านน้ำมันเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยมีข้อสังเกตเรื่องของแผนที่สำรวจที่คร่อมแผนที่ประเทศไทยแล้วล้ำไปคร่อมสำรวจในบริเวณอ่าวไทยที่เต็มไปด้วยน้ำมันดิบ, ทำไมบริษัทเชฟรอนที่เป็นบริษัทพลังงานขุดเจาะน้ำมันของสหรัฐอเมริการ่วมในขบวนสำรวจก้อนเมฆด้วย, มีข่าวว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เพิ่งพบปะเจรจากับทหารของสหรัฐฯ ก่อนหน้านี้ที่ประเทศสิงคโปร์ และมีข้อมูลว่า คนใกล้ชิด พ.ต.ท.ทักษิณ มีพฤติกรรมโอนหุ้น-เปลี่ยนกรรมการหลังตั้งบริษัทพลังงานที่เกี่ยวโยงกับกลุ่มเชฟรอนไปก่อนหน้านี้
     ขณะที่ สุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานเครือข่ายการเมืองสีเขียว หรือกลุ่มกรีน เป็นอีกผู้หนึ่งที่มองว่าเรื่องนี้อาจมีความลับซ่อนอยู่ โดยได้โพสต์ข้อความในทวิตเตอร์ส่วนตัว ระบุว่า ที่รัฐบาลไม่นำเรื่องนี้เข้าสภาฯ ตั้งแต่แรกตามมาตรา 190 นั้นเป็นเพราะกลัวความลับที่ซ่อนอยู่แตกหรือไม่ ทั้งๆ ที่รัฐบาลมีเสียงข้างมากในสภาฯ แต่พอเรื่องนี้จะมีการฟ้องไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ กลับมีมติ ครม.ให้ใช้มาตรา 179 อภิปรายทั่วไปแต่ไม่ลงมติ เพื่อหนีมาตรา 190 เป็นเพียงแผนใช้รัฐสภาเป็นแค่ตรายางหรือไม่

ระวังปัญหาความมั่นคง
     ทั้งนี้ ประเด็นนี้ยังเป็นเรื่องเกี่ยวกับความมั่นคงที่หลายฝ่ายมองว่า ไทยอาจจะถูกสหรัฐอเมริกาใช้เป็นเบี้ยในกระดานชิงอำนาจในสังคมโลกได้ โดย “วอชิงตันโพสต์” หนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ ออกมาวิเคราะห์ก่อนหน้านี้ว่า โครงการดังกล่าวเป็นยุทธศาสตร์ของรัฐบาล บารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ที่จะย้อนกลับมาใช้ฐานทัพเก่าของสหรัฐฯ ในภูมิภาคเอเชีย เพื่อสกัดกั้นการขยายอิทธิพลทางทหารของจีน
     ขณะที่ รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยถึงมติ ครม.นำเรื่องการขอใช้อู่ตะเภาขององค์การนาซาเข้าสภาฯ ว่า ถือเป็นทางออกที่ดี แต่ถ้าหากนำเรื่องเข้ารัฐสภาต้องทำให้เกิดความชัดเจนว่ารายละเอียดเป็นอย่างไร
ทั้งนี้มองว่านักวิทยาศาสตร์ต้องทำความเข้าใจว่ายุคปัจจุบันความมั่นคงระหว่างประเทศก็มีความสำคัญมากขึ้น ซึ่งจะต้องตัดสินใจให้รอบคอบด้วย มองว่าหากมีการเข้ามาศึกษาสภาพอากาศของนาซา โดยศักยภาพของไทยอาจจะเสียเปรียบ อาจจะไม่ใช้ความรู้ข้อมูลที่ได้มาไปพัฒนาอย่างจริงจัง แม้แต่สหรัฐฯ เองก็ยังไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่
     กรณีความมั่นคงนี้ ทางทีม “Special Scoop” ได้ติดต่อขอสัมภาษณ์นักวิชาการด้านความมั่นคง พ.อ.ดร.ธีรนันท์ นันทขว้าง ผู้เชี่ยวชาญด้านยุทธศาสตร์ทางการทหาร
     พ.อ.ดร.ธีรนันท์ นันทกว้าง กล่าวว่า ทุกเรื่องที่เกี่ยวกับความเคลื่อนไหวของมหาอำนาจนั้น สามารถตีความเป็นเรื่องของความมั่นคงได้หมด เพราะเรื่องของความมั่นคงสามารถรวมอยู่ในเนื้อเดียวกันกับเรื่องทุกเรื่องได้อยู่แล้ว เพียงแต่ว่ารัฐบาลไทยจะต้องพิจารณาเรื่องนี้อย่างละเอียด โดยใช้หลักทางการทูตระหว่างประเทศที่มีชั้นเชิงดีพอ
     โดยเฉพาะยุทธศาสตร์ของไทยจะต้องชัดเจน เช่น เดิมไทยเคยวางยุทธศาสตร์กับสหรัฐฯ ไว้ว่าเป็นภาพความร่วมมือทางการทหาร ส่วนจีนเป็นในภาพของความร่วมมือทางด้านสังคมวัฒนธรรม
ดังนั้น การปฏิเสธสหรัฐอเมริกาเลยก็ทำได้ แต่สหรัฐฯ ก็จะไม่สนใจเพราะว่าสหรัฐฯ ได้เข้าใช้พื้นที่ในประเทศเวียดนาม กัมพูชา และกำลังจะเข้าพม่า ในเรื่องความร่วมมือด้านต่างๆ อยู่แล้ว รวมถึงไทยก็มีโครงการที่สหรัฐฯ เข้ามาในมิติความมั่นคงอย่างอื่นอยู่แล้ว
     ขณะที่จีน ไทยไม่แคร์จีนก็ไม่ได้เช่นกัน เพราะจีนก็เป็นมหาอำนาจและมีความร่วมมือกับไทยหลายด้านในเวลานี้ ดังนั้น ประเทศไทยสามารถดำเนินการทางการทูตเพื่อสร้างความเข้าใจกับทั้งสองฝ่ายได้ เช่น แม้ไทยจะร่วมมือกับนาซาเพื่อสำรวจสภาพอากาศ แต่ไทยก็ร่วมมือกับจีนในด้านการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงซึ่งเป็นผลดีกับเศรษฐกิจทั้งสองฝ่ายได้ เป็นต้น

จี้ชี้แจงศูนย์ผู้ประสบภัยให้ชัด
     สำหรับปัญหาที่พบมากที่สุดในประเด็นนี้ ที่เกิดความกังวลไปอย่างกว้างขวางนั้นเป็นเพราะเรื่องนี้มี 2 เรื่องอยู่ด้วยกัน และรัฐบาลไม่ยอมชี้แจงรายละเอียดที่มาตั้งแต่ต้น คือโครงการสำรวจสภาพอากาศของนาซา และโครงการจัดตั้งศูนย์บรรเทาสาธารณภัยในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (เอชเอดีอาร์) ที่จะมีประโยชน์ในเรื่องของการช่วยเหลือผู้ประสบภัยในภูมิภาคนี้ได้ทันเวลา และมีเครื่องมือสนับสนุนที่พร้อมดำเนินการ เช่น การเกิดสึนามิ, อุทกภัย ฯลฯ
     พ.อ.ดร.ธีรนันท์กล่าวว่า เรื่องการสำรวจสภาพอากาศของนาซานั้น ดูแล้วเป็นกรอบงานทางด้านวิทยาศาสตร์ล้วนๆ และมีกรอบเวลาที่ชัดเจน เป็นกรอบเวลาระยะสั้นคือ 2 เดือน สิงหาคม-กันยายน นั้น รวมกับการยืนยันของนักวิทยาศาสตร์ที่เข้าไปมีส่วนร่วมในโครงการนี้ว่าเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของชาติไทยจริงนั้น ไม่ใช่เรื่องที่น่าเป็นห่วง
     แต่ทุกครั้งที่มีการพูดถึงโครงการของนาซา จะมีโครงการจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยติดมาด้วย ซึ่งคนในสังคมไทยนั้นไม่เห็นรายละเอียด ซึ่งเรื่องที่มีทหารเข้าไปเกี่ยวข้อง จะสร้างความกังวลให้แต่ละประเทศได้ เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน โดยความมั่นคงสมัยใหม่ หรือพลวัตความมั่นคงจะเป็นเรื่องของทหารที่เป็นหน่วยช่วยเหลือคนซึ่งเป็นที่รับรู้กัน
     ดังนั้น ถ้ารัฐบาลอยากให้สังคมเกิดความชัดเจน จะต้องอธิบายในส่วนของโครงการจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยให้ชัดเจน ทั้งเรื่องวัตถุประสงค์ ใครจะเข้ามาบ้าง กรอบระยะเวลาเป็นอย่างไร เพื่อตอบปัญหาของสังคม ควบคุมความวิตกกังวลของคนไทย และป้องกันความเข้าใจผิดในประเด็นความมั่นคงระหว่างประเทศได้ด้วย
     ทั้งนี้ มองว่าโครงการของนาซาก็มีประโยชน์ต่อประเทศไทย แม้ว่าหลายเรื่องจะกลายเป็นประเด็นทางการเมือง เช่น ประเด็นที่ว่านาซาจะใช้เครื่องบินจารกรรม ซึ่งความจริงแล้วเครื่องบินเหล่านั้นเป็นเครื่องบินที่ใช้มาตั้งแต่ประมาณช่วงปี ค.ศ. 1960 ซึ่งทุกวันนี้ปลดประจำการแล้ว และทางการทหารนำมาใช้ในด้านการสำรวจแทน ซึ่งข้อดีคือสามารถบินได้สูงถึง 7 หมื่นฟิต ขณะที่เครื่องบินพลเรือนบินได้ความสูงแค่ 4 หมื่นฟิต ซึ่งเวลาถ่ายภาพทางอากาศจะสามารถถ่ายได้กว้างกว่า แต่ก็ทำให้คนกังวลเรื่องของการสำรวจประเทศขึ้นมาได้เช่นกัน
     ดังนั้น ไม่ว่ารัฐบาลจะตอบรับหรือปฏิเสธย่อมต้องใช้เทคนิคด้านการทูตมาผสานความกังวลด้านความมั่นคง
     ทั้งนี้ มองว่าการที่ ครม.มีมติเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญเพื่ออภิปรายเรื่องนี้อย่างกว้างขวางนั้น เพราะว่าฝ่ายการเมืองคิดว่าเรื่องนี้มีช่องโหว่ทางกฎหมาย ซึ่งรัฐบาลยังไม่กล้าดำเนินการอนุมัติเองด้วยมติครม. คณะทำงานจึงตัดสินใจใช้วิธีการเข้าสู่การอภิปรายของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 179 ดังกล่าว เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้มาตรา 190 เท่านั้น

จับตาท่าทีสหรัฐฯ
     อย่างไรก็ดี ท้ายที่สุดแล้ว เมื่อรัฐบาลไทยใช้วิธีผลักเรื่องนี้เข้าสภาฯ จึงต้องรอดูท่าทีของสหรัฐอเมริกาว่าจะทำอย่างไรต่อไป
     “ถ้าเขาไม่ได้แคร์ไทย สหรัฐฯ ก็สามารถตอบรับไปใช้ประเทศอินโดนีเซียทดลองโครงการนี้แทนได้ทันที แต่หากสหรัฐฯ ยังต้องการใช้พื้นที่อู่ตะเภาของไทยในการสำรวจอากาศ สหรัฐฯ ก็จะยินยอมที่จะรอกระบวนการพิจารณาของไทยต่อไป” พ.อ.ดร.ธีรนันท์ ระบุ
     ดังนั้น ทีม special scoop คิดว่าไม่ว่าโครงการนี้จะเกิดขึ้นหรือไม่ก็ตาม แต่เรื่องของ “การเมือง การทูต และการทหาร” ยังเป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องตัดสินใจให้รอบคอบที่สุด และต้องตัดสินใจบนผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลัก ถ้าตัดสินใจอิงประเทศมหาอำนาจประเทศใดประเทศหนึ่งเพราะความสัมพันธ์ส่วนตัว หรือเหตุผลเบื้องลึกด้านผลประโยชน์อะไรก็ตามที่ไม่ใช่ผลประโยชน์ส่วนรวม หรือถ้าไม่มีผลประโยชน์ส่วนตัวเข้ามาเกี่ยวข้อง ก็ต้องระวังที่จะต้องไม่บริหารโดยละเลยหลักการทางการทูตที่ดี แม้โครงการบางโครงการจะเป็นผลประโยชน์กับประเทศไทย แต่กลับเป็น “ดาบสองคม” ที่ทำลายประเทศไทยไปในอีกทางหนึ่งโดยไม่รู้ตัว
     การตัดสินใจด้านการบริหารจัดการงานต่างประเทศครั้งนี้ จึงเป็นบทพิสูจน์ฝีมือ “ยิ่งลักษณ์”โดยตรง!
ชาร์ทวิเคราะห์ปัญหาความมั่นคง จากเฟซบุ๊คของ พ.อ.ดร.ธีรนันท์ นันทขว้าง
ชาร์ทวิเคราะห์ปัญหาความมั่นคง จากเฟซบุ๊คของ พ.อ.ดร.ธีรนันท์ นันทขว้าง
สนามบินอู่ตะเภา (ภาพจากอินเทอร์เน็ต)
กำลังโหลดความคิดเห็น