xs
xsm
sm
md
lg

บทสรุปผู้บริหาร “โครงการศึกษาการสร้างความปรองดองแห่งชาติ” ของสถาบันพระปกเกล้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

การวิจัยนี้มุ่งตอบคําถามของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ สภาผู้แทนราษฎรว่า “อะไรคือรากเหง้าของความขัดแย้งทางการเมืองที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน และมีปัจจัยหรือกระบวนการใดที่ทําให้คนในสังคมสามารถกลับมาอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ?” โดย

(๑) การทบทวนแนวคิดและทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขความขัดแย้ง กระบวนการสร้างความปรองดอง และความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน ร่วมกับการศึกษากฎหมาย รูปแบบ และกลไกที่เกี่ยวข้องซึ่งเคยมีการนําไปใช้ในการแก้ไขความขัดแย้งและสร้างความปรองดองทั้งในประเทศไทยและในต่างประเทศ

(๒) การสรุปบทเรียนจากเวทีประชาเสวนาหาทางออกซึ่งสถาบันพระปกเกล้าได้ดําเนินการในทุกภูมิภาคทั่วประเทศโดยให้ประชาชนหลายภาคส่วนร่วมกันเสวนาหาทางออกของประเทศไทยร่วมกันในช่วงเดือนธันวาคม ๒๕๕๓ - มิถุนายน ๒๕๕๔

(๓) การศึกษาประสบการณ์การแก้ไขความขัดแย้งและการสร้างความปรองดองในต่างประเทศ ซึ่งคัดเลือกมา ๑๐ กรณีศึกษาจากหลากหลายทวีปในบริบทที่แตกต่างกัน ได้แก่ เกาหลีใต้ โคลอมเบีย ชิลี โบลิเวีย โมร็อกโก เยอรมนี รวันดา สหราชอาณาจักร (กรณีไอร์แลนด์เหนือ) อินโดนีเซีย (กรณีอาเจะห์) และแอฟริกาใต้

(๔) การประมวลวิเคราะห์ข้อมูลปรากฏการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองในสังคมไทยตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองสู่ระบอบประชาธิปไตยจนถึงปัจจุบัน และ

(๕) การสัมภาษณ์เชิงลึกผู้เกี่ยวข้อง จํานวน ๔๗ คน ซึ่งประกอบด้วยนักการเมืองอาวุโส ผู้มีบทบาทสําคัญในเหตุการณ์ความขัดแย้ง ผู้มีบทบาทเกี่ยวข้องกับกระบวนการสร้างความปรองดอง และผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ โดยใช้คําถามปลายเปิดสําหรับการสัมภาษณ์แบบกึ่งโครงสร้าง (Semi-structured Interview) ๒ ครั้ง โดยมีระยะเวลาในการศึกษาวิจัยทั้งสิ้น ๑๒๐ วัน

ผลการศึกษาแบ่งออกเป็น ๒ ส่วน

ส่วนที่หนึ่งคือ รากเหง้าของความขัดแย้งทางการเมืองไทย และ

ส่วนที่สองคือ ข้อเสนอกระบวนการสร้างความปรองดองในชาติ

๑. รากเหง้าของความขัดแย้งทางการเมืองไทย

สําหรับประเด็นรากเหง้าของความขัดแย้งทางการเมืองไทย พบว่าปัญหาใจกลางคือมุมมองที่แตกต่างกันต่อความเป็นประชาธิปไตยของประเทศที่เกี่ยวข้องกับระบบการจัดการอํานาจและทรัพยากรในสังคม ระหว่างฝ่ายหนึ่งที่ให้น้ำหนักต่อการเลือกตั้งซึ่งความชอบธรรมของผู้บริหารประเทศอยู่ที่ ‘เสียงข้างมาก’ ของประชาชน กับอีกฝ่ายหนึ่งที่ให้น้ำหนักต่อ ‘คุณธรรมจริยธรรม’ ของผู้บริหารประเทศมากกว่าความเป็นตัวแทนของคนส่วนใหญ่

โดยทั้งสองมุมมองนี้ ต่างก็มีทั้งกลุ่มที่เชื่อมั่นอย่างแรงกล้าในมุมมองของตนกับกลุ่มที่อิงอยู่กับความเชื่อนั้นเพื่อแสวงหาและรักษาอํานาจตลอดจนผลประโยชน์ส่วนตน ทั้งหมดได้ส่งผลให้ความขัดแย้งทางความคิดนี้มีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น ซึ่งปัญหาใจกลางที่กล่าวไปแล้วนี้ได้เกิดขึ้นท่ามกลางบริบทของปัญหาพื้นฐานในสังคมไทย คือ ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม อันเป็นเงื่อนไขที่ตอกย้ำให้ความแตกต่างทางความคิดทางการเมืองกลับกลายเป็นความแตกแยกและแหลมคมมากยิ่งขึ้น

มูลเหตุแห่งความขัดแย้งข้างต้นได้ขยายตัวไปสู่วงกว้างมากขึ้นจากการสะสม ‘ความรู้สึก’ ของทั้งสองฝ่ายว่า อีกฝ่ายหนึ่งได้ใช้อํานาจที่ไม่เป็นธรรมในการดําเนินการตามความเชื่อข้างต้นและ/หรือผลประโยชน์ของตน อาทิ การแทรกแซงกลไกการตรวจสอบการใช้อํานาจรัฐ หรือการรัฐประหาร และถึงที่สุด ได้ขยายตัวเป็นความขัดแย้งรุนแรงในทุกระดับของสังคมไทยจากการระดมฐานมวลชนเพื่อสนับสนุนฝ่ายตน และจากการเสนอข่าวของสื่อบางส่วนที่มิได้เน้นการนําเสนอข้อคิดเห็นที่ครอบคลุมทุกแง่มุม

๒. ข้อเสนอกระบวนการสร้างความปรองดองในชาติ

ความแตกแยกทางความคิดอย่างกว้างขวางในสังคมไทยที่ยืดเยื้อยาวนาน สะท้อนให้เห็นความจริงที่ว่าไม่มีความคิดเห็นของฝ่ายใดที่ถูกหรือผิดไปเสียทั้งหมด ท่ามกลางสภาวะความขัดแย้งในปัจจุบันที่แต่ละฝ่ายยังคงยึดมั่นอยู่ในจุดยืน (Position) ของตนเอง สิ่งที่ต้องริเริ่มดําเนินการโดยเร็วคือการสร้างบรรยากาศแห่งการปรองดองด้วยการเปิดพื้นที่ให้ทุกฝ่ายได้มีโอกาสถกเถียงแลกเปลี่ยนในวงกว้าง ต่อข้อเสนอ ทางเลือก และความเป็นไปได้ต่างๆในการสร้างความปรองดองในชาติ ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความเข้าใจระหว่างกันมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้แต่ละฝ่ายสามารถก้าวออกจากจุดยืนที่แตกต่างกันมาสู่จุดร่วมที่จะนําไปสู่การอยู่ร่วมกันอย่างสันติได้

ด้วยเหตุนี้ ข้อเสนอที่ได้จากการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องซึ่งยังคงมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันอยู่นั้น จึงมีลักษณะเป็นทางเลือกที่ยังมิใช่คําตอบสุดท้าย โดยขอให้ทุกฝ่ายให้ความร่วมมือในการสร้างความปรองดองบนพื้นฐานของความจริงจังและจริงใจด้วยกระบวนการพูดคุย (Dialogue) ใน ๒ ระดับ คือ ๑.)ระดับตัวแทนทางการเมืองและกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียโดยตรง และ ๒) ระดับประชาชนในพื้นที่ในลักษณะของ “เวทีประเทศไทย” ซึ่งจะทําให้สังคมได้ร่วมกันแสวงหาทางออกต่อความขัดแย้งทางการเมืองปัจจุบัน และออกแบบภาพอนาคตของประชาธิปไตยไทย ตลอดจนกติกาทางการเมืองที่ยอมรับได้ร่วมกัน

ทั้งนี้ เนื้อหาสาระของการพูดคุยแลกเปลี่ยน ซึ่งถือเป็นหัวใจสําคัญของการปรองดองนั้น มีอย่างน้อย ๖ ประเด็น โดยแบ่งเป็นระยะสั้น ๔ ประเด็นเพื่อทําให้ความแตกแยกและบาดแผลที่เกิดขึ้นกับสังคมและปัจเจกบุคคลกลับคืนสู่สภาวะปกติโดยเร็ว และระยะยาว ๒ ประเด็นเพื่อป้องกันความรุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้นจากความแตกต่างของมุมมองต่อประชาธิปไตย และเป็นการวางรากฐานของประเทศสู่อนาคต

ในระยะสั้น มีประเด็นที่สังคมควรต้องพิจารณาร่วมกัน ดังต่อไปนี้

(๑) การจัดการกับความจริงของเหตุการณ์รุนแรงที่นํามาซึ่งความสูญเสีย โดยการสนับสนุนส่งเสริมบทบาทของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ให้ดําเนิน การค้นหาความจริงให้แล้วเสร็จภายในหกเดือน และควรเปิดเผยข้อเท็จจริงของเหตุการณ์โดยไม่ระบุตัวบุคคลในระยะเวลาที่เหมาะสมกับสถานการณ์และบริบททางสังคม โดยวัตถุประสงค์ของการเปิดเผยนั้นจะต้องเป็นไปเพื่อให้สังคมเรียนรู้บทเรียนที่เกิดขึ้นในอดีตและป้องกันมิให้เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นอีกในอนาคต

(๒) การให้อภัยแก่การกระทําที่เกี่ยวข้องผ่านกระบวนการนิรโทษกรรมคดีที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมืองโดยรวมถึงกลุ่มผู้ชุมนุมทุกฝ่าย เจ้าหน้าที่รัฐและผู้บังคับบัญชา ตลอดจนผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในการรักษาความสงบเรียบร้อย โดยมีความเป็นไปได้อย่างน้อย ๒ ทางเลือก

ทางเลือกที่หนึ่ง - ออกพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมคดีที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมืองทั้งหมดทุกประเภท ทั้งคดีการกระทําความผิดตามพระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.๒๕๔๘ และคดีอาญาที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง อาทิ การทําลายทรัพย์สินของรัฐหรือเอกชน หรือการทําให้เกิดอันตรายแก่ร่างกายและชีวิต

ทางเลือกที่สอง - ออกพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมคดีที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมืองเฉพาะคดีการกระทําความผิดตามพระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.๒๕๔๘ เท่านั้น โดยคดีอาญาที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง เช่น การทําลายทรัพย์สินของรัฐหรือเอกชน หรือการทําให้เกิดอันตรายแก่ร่างกายและชีวิต จะไม่ได้รับการยกเว้น

ทั้งนี้ ทั้งสองทางเลือก ให้ยกเว้นกรณีความผิดที่เกี่ยวเนื่องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยให้กรณีดังกล่าวดําเนินไปตามกระบวนการยุติธรรมและนิติประเพณี

(๓) การเสริมสร้างความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมให้เป็นไปตามหลักนิติธรรมและเป็นการ ลดเงื่อนไขของข้อกล่าวอ้างว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมในส่วนของการดําเนินการกับผู้ถูกกล่าวหาโดยกระบวนการตรวจสอบของคณะกรรมการตรวจสอบการกระทําที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) โดยมีความเป็นไปได้อย่างน้อย ๓ ทางเลือก

ทางเลือกที่หนึ่ง - ดําเนินคดีกับผู้ถูกกล่าวหาด้วยกระบวนการยุติธรรมตามปกติที่มีอยู่ โดยให้เฉพาะผลการพิจารณาของ คตส. สิ้นผลลง และโอนคดีทั้งหมดให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดําเนินการใหม่ แต่ไม่กระทบถึงคดีที่ถึงที่สุดแล้ว

ทางเลือกที่สอง - ให้เพิกถอนผลทางกฎหมายที่ดําเนินการโดย คตส. ทั้งหมด และให้ดําเนินการตามกระบวนการยุติธรรมปกติ โดยให้ถือว่าคดีดังกล่าวไม่ขาดอายุความ

ทางเลือกที่สาม - ให้เพิกถอนผลทางกฎหมายที่ดําเนินการโดย คตส. ทั้งหมด และไม่นําคดีที่อยู่ระหว่างกระบวนการและที่ตัดสินไปแล้วมาพิจารณาใหม่อีกครั้ง

ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นทางเลือกใด จะต้องไม่มีการฟ้องร้อง คตส. ในเวลาต่อมา เนื่องจากถือว่าการกระทําของ คตส. เป็นไปตามหน้าที่ที่กําหนดไว้ในขณะนั้น

(๔) การกําหนดกติกาทางการเมืองร่วมกัน ซึ่งอาจรวมถึงการแก้ไขกฎหมายหรือรัฐธรรมนูญ โดยทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องควรพิจารณาหาข้อสรุปร่วมกันต่อประเด็นที่อาจจะถูกมองว่าขัดต่อหลักนิติธรรมและความเป็นประชาธิปไตย และต้องหลีกเลี่ยงการสร้าง “ความยุติธรรมของผู้ชนะ” ในแง่ที่ผู้มีอํานาจรัฐเป็นผู้ตัดสินชี้ขาดโดยไม่ฟังเสียงที่เห็นต่าง อนึ่ง ประเด็นที่ต้องพิจารณาอาจรวมถึงการถ่วงดุลอํานาจระหว่างฝ่ายบริหาร ฝ่าย นิติบัญญัติ และองค์กรอิสระ การตรวจสอบการใช้อํานาจรัฐ การตรวจสอบองค์กรอิสระ การได้มาซึ่งบุคคลที่เข้าดํารงตําแหน่งในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ หรือการยุบพรรคการเมือง

ในระยะยาว มีประเด็นที่สังคมควรต้องพิจารณาร่วมกัน ดังต่อไปนี้

(๑) การออกแบบภาพอนาคตของการปกครองระบอบประชาธิปไตยไทยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งเป็นหลักการที่ทุกฝ่ายยอมรับและยึดถือร่วมกัน โดยการเปิดพื้นที่ให้มีการพูดคุยกันถึงลักษณะความเป็นประชาธิปไตยของไทยที่คนในสังคมยังมีความเห็นแตกต่างกันอยู่ อันถือเป็นปัญหาใจกลางของความขัดแย้งทางการเมืองไทยในปัจจุบัน ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความเห็นพ้องในหลักการและกติกาทางการเมืองของระบอบประชาธิปไตยไทย

(๒) การวางรากฐานของประเทศเพื่อสร้างความเป็นธรรมในสังคม โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม และการเสริมสร้างวัฒนธรรมความเป็นพลเมืองและความทนกันได้ (Tolerance) ในการอยู่ร่วมกันบนความแตกต่าง ทั้งนี้ ทุกฝ่ายจะต้องร่วมกันสร้างบรรยากาศแห่งการปรองดอง โดยรัฐบาลควร

(๑) แสดงเจตจํานงทางการเมืองชัดเจน รวมทั้งมีแนวทางที่เป็นรูปธรรมที่จะสร้างความปรองดองในชาติโดยเร็ว

(๒) สร้างความตระหนักแก่สังคมให้ทุกภาคส่วนเห็นความสําคัญของการสร้างความปรองดองในชาติ และ (๓) มีคําอธิบายต่อเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงทั้งในรูปของตัวเงินและความรู้สึก อาทิ การให้เกียรติผู้สูญเสียทุกฝ่าย หรือการสร้างสัญลักษณ์เพื่อเป็นที่รําลึกถึงบทเรียนต่อเหตุการณ์ทางการเมืองของสังคมไทย ในส่วนของผู้เกี่ยวข้องนั้น

(๑) ทุกฝ่ายควรงดเว้นการกระทําใดๆ ที่ทําให้ผู้คนรู้สึกว่าอยู่ในสังคมที่ไม่เคารพกฎหมายและหลักนิติรัฐ อาทิ การใช้มวลชนในการเรียกร้องหรือกดดันด้วยวิธีการอันผิดกฎหมาย และ

(๒) ควรลดความหวาดระแวงระหว่างกลุ่มต่างๆ ในสังคมโดยยุติการเคลื่อนไหวใดๆ ที่อาจถูกตีความได้ว่าเป็นความพยายามที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อสถาบันพระมหากษัตริย์

(๓) สื่อมวลชนควรสนับสนุนกระบวนการสร้างความปรองดองและหลีกเลี่ยงการสร้างความขัดแย้งใหม่โดยนําเสนอความคิดเห็นทางการเมืองจากฝ่ายต่างๆอย่างรอบด้าน

และ (๔) สังคมไม่ควรรื้อฟื้นเอาผิดกับการทํารัฐประหารที่ผ่านมาในอดีตและต้องหามาตรการในการป้องกันมิให้เกิดการรัฐประหารอีกในอนาคต พร้อมทั้งกําหนดโทษของการกระทําดังกล่าวไว้ในประมวลกฎหมายอาญา

อย่างไรก็ตาม การดําเนินการดังที่กล่าวมาจะประสบผลสําเร็จได้ต้องอาศัยปัจจัยสําคัญอย่างน้อย ๓ ประการ คือ

(๑) เจตจํานงทางการเมืองของผู้มีอํานาจรัฐที่จะสร้างความปรองดองโดยคํานึงถึงประโยชน์ของส่วนรวมเป็นสําคัญ

(๒) กระบวนการสร้างความปรองดองจะต้องมีพื้นที่ให้กับกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงและประชาชนจากทุกภาคส่วนในสังคมไทยได้มีโอกาสในการแสดงความคิดเห็นต่อทางออกและแนวทางป้องกันมิให้ความขัดแย้งกลับกลายเป็นความรุนแรงในอนาคต

และ (๓) ปัญหาใจกลางซึ่งเป็นเหตุแห่งความขัดแย้งจะต้องได้รับการแก้ไขและแปรเปลี่ยนเป็นพลังในการพัฒนาประชาธิปไตยที่พึงปรารถนาของประเทศไทย

อนึ่ง คณะผู้วิจัยมีข้อเสนอแนะให้คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ สภาผู้แทนราษฎร ริเริ่มกระบวนการพูดคุยร่วมกันเพื่อให้ได้ข้อสรุปเบื้องต้นโดยไม่ใช้เสียงข้างมากในการตัดสิน หลังจากนั้นจึงขยายผลการพูดคุยสู่พรรคการเมืองของตน กลุ่มผู้สนับสนุน และสังคมใหญ่ เพื่อให้ผู้คนทั้งสังคมที่ไม่ว่าจะมีความเห็นทางการเมืองแบบใด เกิดความตระหนักว่า สังคมไทยจะปรองดองกันได้ก็ต่อเมื่อทุกฝ่ายได้มีส่วนร่วมในการถกเถียงถึงความเป็นไปได้ต่างๆ ผ่านกระบวนการพูดคุยที่สามารถนํามาซึ่งทางออกที่ยอมรับได้ร่วมกัน

กล่าวโดยสรุปแล้ว การที่กระบวนการสร้างความปรองดองในชาติจะบรรลุเป้าหมายได้นั้น ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะต้องก้าวข้ามไปให้ไกลกว่าการถกเถียงกันเพียงแค่ในข้อกฎหมาย กล่าวคือ ต้องพิจารณาให้กว้างและลึกลงถึงเหตุแห่งความขัดแย้ง คํานึงถึงมิติความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มพลังต่างๆในสังคม รวมถึงการมีกระบวนการในการแก้ไขปัญหาและสร้างความปรองดองที่ทุกฝ่ายในสังคมให้การยอมรับ ภายใต้บรรยากาศของความเป็นประชาธิปไตยที่ทําให้ทุกฝ่ายรู้สึกว่ามีบทบาทและพื้นที่ในการเสวนาถกเถียงถึงภาพอนาคตของประเทศ อันเป็นเสมือนหลักหมุดปลายทางที่ทุกฝ่ายจะร่วมเดินทางไปภายใต้กติกาที่สังคมเห็นพ้องต้องกัน

สรุปสาระสําคัญของการสร้างความปรองดองในชาติ

๑. ใครขัดแย้งกับใคร? มุมมองต่อความเป็นประชาธิปไตยที่แตกต่างกันในแง่ของระบบการจัดการอํานาจและทรัพยากรในสังคม ระหว่างประชาธิปไตยเน้นเสียงข้างมาก กับ ประชาธิปไตยเน้นคุณธรรมจริยธรรม

๒. ขัดแย้งกันเรื่องอะไร?

ชั้นความเชื่อ ความเชื่อที่แตกต่างต่อระบบการจัดการอํานาจและทรัพยากรในสังคม

ชั้นผลประโยชน์ - การแสวงหาและรักษาอํานาจและผลประโยชน์ที่อิงกับความเชื่อ

๓. ความขัดแย้งขยายตัวได้อย่างไร? การใช้อํานาจของ ‘ทั้งสองฝ่าย’ เพื่อดําเนินการตามความเชื่อข้างต้นและ/หรือให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์ ของตนเองในลักษณะที่ทําให้อีกฝ่ายรู้สึกว่าไม่เป็นธรรม

๔. จะปรองดองกันได้อย่างไร? กระบวนการพูดคุย (Dialogue) ใน ๒ ระดับ เพื่อเปิดพื้นที่ให้สังคมได้แลกเปลี่ยนถกเถียงต่อข้อเสนอ ทางเลือก และความเป็นไปได้ต่างๆ พร้อมทั้งร่วมกันออกแบบภาพอนาคตของประชาธิปไตยไทยและ กติกาทางการเมืองที่เห็นพ้องต้องกัน

๕. ตัวอย่างประเด็นที่ควรพูดคุยกัน

๑) การจัดการกับความจริงของเหตุการณ์รุนแรงที่นํามาซึ่งความสูญเสีย

๒) การให้อภัยแก่การกระทําที่เกี่ยวข้องผ่านกระบวนการนิรโทษกรรมในคดีที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง

๓) การเสริมสร้างความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมให้เป็นไปตามหลักนิติธรรมและเป็นการลด

เงื่อนไขของข้อกล่าวอ้างว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมในส่วนของการดําเนินการกับผู้ถูกกล่าวหาโดยกระบวนการตรวจสอบของคณะกรรมการตรวจสอบการกระทําที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.)

๔) การกําหนดกติกาทางการเมืองร่วมกัน

๕) การออกแบบภาพอนาคตของการปกครองระบอบประชาธิปไตยไทยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

๖) การวางรากฐานของประเทศเพื่อสร้างความเป็นธรรมในสังคม
กำลังโหลดความคิดเห็น